Monday, November 27, 2006

ปิดฉากเทศกาลหนังวิทย์

ปิดฉากเทศกาลหนังวิทย์: ฟิล์มไทยไม่ได้ “กล่อง”

ปิดฉากเทศกาลหนังวิทย์ 6 วันยอดคนดูร่วมหมื่น พร้อมมอบรางวัลฟิล์มยอดเยี่ยม 5 รางวัล ภาพยนตร์ไทยยังห่างชั้นไม่ได้ “กล่อง” ส่งท้ายด้วยรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในเมืองไทย เตรียมเสนอสาธารณชน ส.ค.50

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 (Science Film Festival 2006) ได้ปิดลงแล้วเมื่อค่ำวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ โดยมี นายปฐม แหยมเกตุ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มร.อาร์โน รีเดล (Mr.Arno Riedel) อัครราชทูตออสเตรีย มร.ยอร์ก เบนดิกซ์ (Mr.York Bendix) ตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนี มร.ปาสคาล เลอ เดิงฟ์ (Mr.Pascal Le Deunff) ตัวแทนจากสถานทูตฝรั่งเศส มาร่วมงาน โดยตลอดเทศกาลระหว่างวันที่ 21-26 พ.ย.มีการฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 62 เรื่อง จาก 13 ประเทศ และมีนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่สนใจเข้าชมกว่า 10,000 คน

ภายในพิธีปิดงานนั้นได้มีการมอบรางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมให้กับภาพยนตร์ที่เข้าฉายในเทศกาล 5 รางวัล ดังนี้

1.รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์บายเออร์ (BAYER Science Film Award) ได้แก่ “รายการควาร์กส์ แอนด์ โค: ตอนสภาวะอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างนั้นหรือ” (Quarks & Co: Climate Change?) ซึ่งเป็นรายการของเยอรมันที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และมอบรางวัลนี้ในฐานะที่สามารถถ่ายทอดปัญหาหนักๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้เหมาะสมกับผู้ชมทุกวัย

2.รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Ecology Award) ได้แก่ “มด! พลังลึกลับแห่งธรรมชาติ” (Ants!-Nature’s Secret Power) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ใช้เปิดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นี้และได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนดู โดย มร.อาร์โน รีเดล ได้กล่าวขอบคุณที่เลือกหนังเรื่องนี้มาฉายในเทศกาล และหนังดังกล่าวเป็นผลงานองค์กรวิทยุและโทรทัศน์ของออสเตรีย

3.รางวัลภาพยนตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (Film for Children and Youth Award) ได้แก่ “โลกของแมลงปรสิต” (Lice Planet) ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของส่งมีชีวิตเล็กๆ อย่าง “เหา”

4.รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้านการค้นพบ (Discovery Award) ได้แก่ “เบื้องหลังฉากภาพโคริน” (The Mysteries behind Korin) ซึ่งเป็นยภาพยนตร์ของสถานีเอ็นเอชเค (NHK) ของญี่ปุ่นได้รับรางวัลในฐานะที่ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ไขปริศนาและเชื่อมโลกของศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว พร้อมกันนี้ มร.นิมารุ ชิน ผู้อำนวยการสถานีเอ็นเอชเคได้มารับรางวัลด้วยตัวเอง

5.รางวัลภาพยนตร์สำหรับเยาวชนและครอบครัว (Film for Youth and Family Award) ได้แก่ “ชีวิตใหม่ของขยะ” (Magically Simply: a second Life for our Rubbish) ภาพยนตร์สารคดีของฝรั่งเศสที่จะช่วยให้คนดูได้เห็นคุณค่าของการรีไซเคิล และเกิดความคิดที่จะพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม (Science Communication Award 2006) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยให้รางวัลจากการประกวดผลงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ละครเวที สื่อออนไลน์และภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ซึ่ง ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กล่าวว่ารางวัลเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้กับสาธารณชน โดยผลงานของเยาวชนทั้งหมดจะนำเสนอในช่วงเดือน ส.ค.50 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมไบเทค บางนา

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลมีดังนี้ รางวัลที่ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง “บัคกี้บอล บอลมหัศจรรย์แห่งโลกนาโน” โดย นายกิตติพงษ์ วนาทรัพย์ รางวัลที่ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง “Science for Fun” โดย น.ส.อำไพ อินทร์จอหอ และรางวัลที่ 3 ได้แก่ ผลงานเรื่อง “C-60 สิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่” โดย นาย อธิปไตย สุวรรณ ทั้งนี้ผู้เข้าประกวดทั้งหมดจะต้องนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “บัคกี้บอล” หรือ คาร์บอน 60 อะตอม

ส่วนเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นั้นได้จัดขึ้นมาเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับปีนี้ได้นำเสนอภาพยนตร์ทั้งหมด 62 เรื่อง จาก 13 ประเทศ โดยไทยได้ส่งภาพยนตร์เข้าร่วมทั้งหมด 23 เรื่อง อาทิ สึนามิ-ความรู้เพื่อความหวัง สายไหม วิถีไทยสู่สากล เด็กชายวิทยา และพระจันทร์ 140 ดวง เป็นต้น นอกจากนี้เป็นครั้งแรกที่เวียดนามได้ส่งภาพยนตร์เข้าร่วม โดยเข้ามา 1 เรื่องคือ “ไข้หวัดนก โรคระบาดแห่งอนาคต” โดยภาพยนตร์ทั้งหมดแบ่งฉาย 3 สถานที่คือ พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

ที่มา : http://www.manageronline.co.th/

No comments: