Thursday, November 9, 2006

ดาวพุธทรานซิท

“ดาวพุธทรานซิท” ชานเมืองหลวงเห็นชัด ส่วนภูเก็ตอกหัก

ปรากฏการณ์ "ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์" เหนือฟากฟ้าประเทศไทยครึกครื้น ชานเมืองกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราแจ้งผลการสังเกตปรากฏการณ์ตลอด 1 ชั่วโมงชัดเจนดีมาก แม้จะเห็นเพียงช่วงปลายปรากฏการณ์ ขณะที่ชาวภูเก็ตต้องอกหักอดดูเพราะเมฆบัง นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยเผยจะชมได้อีกครั้งในอีก 10 ปีข้างหน้า

เมื่อช่วงเช้า (9 พ.ย.) ที่ผ่านมา หรือราวๆ 02.13 น. ตามเวลาในประเทศไทย คงจะเป็นเวลาที่บรรดานักดาราศาสตร์ทั่วโลกคอยจับจ้องกับการเกิดปรากฎการณ์บนท้องฟ้า ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (ทรานซิท) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก

ในส่วนของประเทศไทยกลุ่มผู้ดูดาวร่วมสังเกตปรากฏการณ์ด้วยกันหลายภาคส่วน กระจายในหลายภูมิภาค หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสังเกตการณ์จากสมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ได้จัดแจงอุปกรณ์ดูดาวนานาชนิดมาร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ตั้งแต่ช่วงฟ้าสาง ณ ดาดฟ้าชั้น 9 อาคารสำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ทว่าบรรยากาศยามเช้ามืดของกรุงเทพฯ วันนี้ไม่ปลอดโปร่งมากนัก อีกทั้งยังมีสิ่งก่อสร้างและอาคารต่างๆ บดบังขอบฟ้าไปแทบทั้งหมด ทำให้เมื่อถึงเวลา 06.15 น. ตามที่มีการคาดการณ์กันไว้ว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ ก็ยังไม่เห็นดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นเหนือขอบฟ้าได้ หากแต่ได้ส่งแสงสีทองมาฉาบฟ้าไว้บ้างแล้ว

อย่างไรก็ดี ในอีกไม่กี่อึดใจต่อมา คือในเวลาประมาณ 06.21 น. ดวงอาทิตย์ก็ได้อวดโฉมให้ทุกคนได้เห็นจางๆ เหนือเส้นขอบฟ้ามาพอสมควร และปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับปรากฏการณ์รานซิทที่ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ช่วยจึงจะมองเห็นได้ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ต้องมีกำลังขยายอย่างน้อย 50 เท่า

และจะเห็นปรากฏการณ์ได้ดีที่สุดที่กำลังขยาย 90 เท่า โดยควรเป็นการสังเกตปรากฏการณ์ทางอ้อมด้วยการนำฉากมารองรับภาพจากกล้องโทรทรรศน์ ที่สำคัญคือ ไม่ควรมองด้วยตาเปล่าเพราะจะเกิดอันตรายต่อสายตาถึงขั้นตาบอดได้

สำหรับปรากฏการณ์รานซิทครั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ในประเทศไทยจะได้เห็นช่วงปลายของปรากฏการณ์ ในระยะที่ดาวพุธเคลื่อนผ่านเข้าไปในดวงอาทิตย์แล้วเมื่อเวลาประมาณ 06.15 น. โดยดาวพุธจะเคลื่อนไปอยู่ที่มุมด้านล่างของดวงอาทิตย์ และค่อยๆ ออกจากดวงอาทิตย์ในเวลา 07.11 น. หรือใช้เวลาผ่านหน้าดวงอาทิตย์ประมาณ 1 ชั่วโมงเต็ม ในบริเวณการสังเกตปรากฏการณ์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยนั้นได้เห็นค่อนข้างชัดเจน

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ทีมสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้สังเกตปรากฏการณ์อยู่นั้น ได้มีการรายงานจากกลุ่มผู้สังเกตปรากฏการณ์จากภูมิภาคอื่นๆ มาเป็นระยะๆ โดยในส่วนของผู้สังเกตการณ์จากฉะเชิงเทรา เผยว่า สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ชัดเจนดีมาก ขณะที่ผู้สังเกตการณ์จากภูเก็ตต้องพบกับความผิดหวังเพราะสภาพบรรยากาศไม่เป็นใจมีเมฆปกคลุมมากจนบดบังปรากฏการณ์ไปทั้งหมด

อ.อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งร่วมสังเกตปรากฏการณ์อยู่ด้วย ให้ข้อมูลว่า การทรานซิทครั้งนี้ถือเป็นอุปราคารูปแบบหนึ่งคล้ายกับการเกิดสุริยุปราคา แต่ดาวพุธมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มากถึงราว 200 เท่า จึงไม่สามารถบดบังแสงอาทิตย์จนเกิดเป็นสุริยุปราคาได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะมีเวลาการเกิดขึ้นเป็นลำดับอนุกรมที่ค่อนข้างชัดเจน คือ จะเวียนเกิดปรากฏการณ์อีกครั้งใน 3 ปี 10 ปี และอีก 33 ปีข้างหน้า

สำหรับปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ลำดับที่ 2 ของอนุกรมการเกิดปรากฏการณ์ โดยครั้งแรกเกิดเมื่อ 3 ปีก่อนในวันที่ 7 พ.ค.2546 ดังนั้นการเกิดครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าคือวันที่ 9 พ.ค.2559

ที่สำคัญปรากฏการณ์นี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาถึงมวล ขนาด และระยะห่างระหว่างดาวพุธ โลก และดวงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการพัฒนาความรู้ทางดาราศาสตร์ต่อไป

ด้านนายพรชัย รังษีธนะไพศาล คณะกรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การสังเกตปรากฏการณ์รานซิทครั้งนี้ ถือว่าเกิดขึ้นค่อนข้างตรงตามที่มีการคำนวณไว้แต่แรก และแม้ว่าในกรุงเทพฯ จะมีบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยนัก เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว บรรยากาศรอบขอบฟ้าจึงมีเมฆหมอกและไอน้ำมาก แต่ก็ถือว่าได้มาชมปรากฏการณ์สมดังตั้งใจ ซึ่งนอกจากจะได้เห็นดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์แล้ว ยังทำให้ได้เห็นจุดดับบนดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธด้วย

ที่มา : manageronline

No comments: