Wednesday, November 8, 2006

เครื่องบินเสียงเบา

นวัตกรรมแห่งอนาคต “เครื่องบินเสียงเบา” บรรเทาทุกข์ทางหู

เอเจนซี/บีบีซีนิวส์ – เสียงอันดังของเครื่องบินทำเอาผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงสนามบินต้องปวดประสาท อย่างล่าสุดกับสนามบินสุวรรณภูมิในบ้านเรามีอันต้องเวนคืนที่ดินและจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ติดสนามบินในระยะอันตราย แต่ในอนาคตข้างหน้าผู้คนอาจจะสบายใจที่อยู่ใกล้ชิดติดสนามบินก็เป็นได้ เมื่อ “เครื่องบินเสียงเบา” ที่ได้พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริง

ทีมนักวิจัยกว่า 40 คนจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) ใช้เวลากว่า 3 ปีร่วมกันสร้างเครื่องบินแบบไร้เสียง “SAX-40” อีกทั้งยังใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเครื่องบินทั่วไป โดยนำเครื่องบินตัวอย่างแสดงที่ลอนดอนเมื่อวันจันทร์ (6 พ.ย.) ที่ผ่านมา

ไอเดียการสร้างเครื่องบินเงียบหรือให้เสียงเบาลงกว่าเดิมนี้เพราะต้องการลดมลภาวะทางเสียงให้แก่ผู้ที่อาศัยรอบๆ สนามบิน ที่ต้องทนรำคาญจากเสียงเครื่องบินขึ้นลงอยู่เสมอ โดยคาดว่าเครื่องบินเสียงเบาลำแรกซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 215 คนจะบินได้จริงประมาณปี 2573

“เสียงอันดังของเครื่องบินเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตัวของสนามบินและการเพิ่มเที่ยวบิน” ศ.เอ็ดวาร์ด ไกรท์เซอร์ (Edward Greitzer) จากเอ็มไอทีกล่าว โดยระบุอีกว่า ถ้าสามารถสร้างเครื่องบินให้ทำเสียงเบาลงกว่าเดิมได้สำเร็จจริงก็จะพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมการบินเลยทีเดียว

การลดเสียงของเครื่องบินนั้นต่างก็เป็นจุดประสงค์สำคัญของเหล่าบริษัทสร้างเครื่องบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่ๆ อย่าง โบอิงหรือแอร์บัส ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องตัดเทคโนโลยีบางอย่างของตัวเองออกไปบ้างเพื่อลดเสียงของเครื่อง ขณะที่ทีมวิจัยของเอ็มไอทีและเคมบริดจ์นั้นออกแบบเครื่องบินขึ้นใหม่ โดยเน้นที่เรื่องเสียงเบาเป็นสำคัญ

เครื่องบิน SAX-40 ที่ทางทีมพัฒนานำมาโชว์นี้ รูปร่างของเครื่องออกแบบให้ปลายปีกโค้งงอ (blended wing) ซึ่งเป็นการออกแบบเครื่องบินยุคใหม่ ที่สร้างความสมดุลระหว่างการใช้เชื้อเพลิงและการปลดปล่อยเสียงรบกวน โดยเครื่องบินลำนี้นอกจากจะเสียงเบากว่าเดิมมากแล้ว ยังใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเครื่องบินทั่วไปอีกด้วย

โมเดลของตัวเครื่องโค้งเข้ารูปในแบบไร้หาง เหมือนกับ “สเต็ลธ” เครื่องบินทหารของสหรัฐฯ เครื่องบินตัวอย่างนี้มีความยาวจากปีกซ้ายถึงขวา 67.5 เมตร จากจมูกถึงหาง 44 เมตร โดยเปรียบเทียบขนาดกับโบอิง 767

เสียงดังที่เกิดขึ้นขณะเครื่องบินขึ้นลงนั้นเนื่องจากการไหลของอากาศที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้พื้นผิวของเครื่องบินเรียบเป็นแผ่นเดียวกัน โดยตัดในส่วนปีกเปิดปิด (wing flaps) และหาง ซึ่งสร้างเสียงรบกวนมากขณะบินขึ้นลง ตัวเครื่องบินทำจากวัสดุผสมน้ำหนักเบา ทำให้เครื่องบินทะยานสู่อากาศด้วยความเร็วที่ต่ำกว่าเครื่องบินทั่วไป และยังช่วยให้นกเหล็กลงจอดได้อย่างเบาเสียงลงกว่าเดิมมาก

ทางด้านริชาร์ด อบูลาเฟีย (Richard Aboulafia) รองประธานทีลกรุ๊ป (Teal Group) ที่ปรึกษาทางด้านการบิน ชี้ว่า หากสามารถสร้างทำเครื่องบินเสียงเบาได้สำเร็จจริงผู้คนต่างพร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้อยู่ใกล้กับสนามบิน สะดวกในการเดินทาง นับเป็นก้าวย่างที่มีมูลค่าทางธุรกิจสูง หากสามารถนำการโดยสารเครื่องบินเข้าสู่เมืองได้

ที่มา : manageronline

No comments: