โลกวิทย์ : พะยูนไม่โง่อย่างที่คิด นักวิทย์พิสูจน์ยืนยันความฉลาด
นักวิทยาศาสตร์จากฟลอริดา ค้นพบความฉลาดที่ซ่อนอยู่ในตัวพะยูน สัตว์ที่ถูกตราหน้าว่าสมองเล็กเท่าลูกเกรฟฟรุต ผลไม้ที่มีขนาดเท่าผลส้มแต่เนื้อเป็นสีม่วง แถมวันๆ ไม่เคยทำอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน มากไปกว่าเคี้ยวเอื้องหญ้าทะเล งานวิจัยล่าสุดได้กู้ชื่อและประกาศให้โลกรู้ว่า พะยูนไม่โง่
ในการทดลอง ทีมงานติดตั้งลำโพงไว้ 8 ตัว ไว้ในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ของห้องปฏิบัติการทางทะเลแห่งฟลอริดา เพื่อทดสอบการฟังแยกเสียงของพะยูน และพบว่า พะยูนที่ชื่อ "ฮิวจ์" สามารถพลิกตัวว่ายน้ำพาร่างยักษ์ขนาด 590 กิโลกรัม พุ่งหาแผ่นป้ายของลำโพงที่เปิดเสียงเรียกได้อย่างถูกต้อง
ผลการทดสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พะยูนไม่ได้โง่ไปเสียทุกเรื่อง นักวิจัยยืนยันว่า การที่สัตว์กินพืชอย่างพะยูนนี้มีพัฒนาการทางปัญญาไปอย่างช้าๆ ก็เนื่องมาจากการที่พวกมันใช้ชีวิตอย่างสบาย ไร้อุปสรรคอื่นใดนอกจากใบพัดเรือ
โรเจอร์ รีป นักประสาทวิทยา คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยฟลอริดา อธิบายว่า พะยูนเป็นสัตว์ที่มีชีวิตสุขสบายไม่ถูกกดดัน ทำให้ขาดการพัฒนาพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว และพวกมันพอใจกับการใช้ชีวิตด้วยการนอนนิ่งๆ โดยไม่ทำอะไร
แม้การทดลองจะแสดงว่า สัตว์น้ำขนาดยักษ์นี้มีความสามารถด้านการฟัง พอที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกับเรือ แต่นักวิจัยก็ยังไม่แน่ใจว่า ทำไมพะยูนจึงเสียชีวิตจากการชนกับเรืออยู่เรื่อย อาจจะเป็นเพราะพะยูนโผล่ขึ้นมาหายใจขณะนอนหลับ หรืออาจจะเคยชินกับเสียงเรือ ทำให้การทดลองต้องดำเนินต่อไป
เรื่องขนาดของสมองยังเป็นอีกปริศนาหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า รอยหยักในสมองสัมพันธ์กับความฉลาด เห็นได้จากสมองของโลมาและมนุษย์ แต่นักวิจัยจากห้องทดลองสัตว์น้ำแห่งนี้คัดค้านว่า รอยหยักในสมองไม่ใช่เรื่องตายตัว และการที่สมองพะยูนไม่มีรอยหยักนั้น ก็ไม่ได้แปลว่ามันโง่ และยืนยันว่า "สมองพะยูน มีความซับซ้อนภายในไม่ต่างจากสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ"
ฮิวจ์และพี่ชาย "บัฟเฟห์" ใช้เวลาตั้งแต่เกิดเมื่อปี 2541 อยู่ภายในห้องปฏิบัติการทางทะเล และแสดงให้เห็นว่า พะยูนมีการเรียนรู้ เมื่อพะยูนสองพี่น้องถูกสอนให้มีปฏิกิริยากับเสียงผิวปากและหยุดตรงที่กำหนดใต้น้ำ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังต้องการแยกแยะว่า พะยูนสามารถแยกสีและวัตถุต่างๆ ได้อย่างไร รวมถึงการได้ยินและประสาทสัมผัสเป็นอย่างไร
ส่วนการทดสอบความสามารถในการมอง ตาเล็กจิ๋วของฮิวจ์และพี่ชาย "บัฟเฟห์" มองเห็นไม่ชัดนัก แม้พวกมันจะเห็นสีและลวดลายแปลก แต่ตามมาตรฐานของพะยูนนั้น ฮิวจ์มีมาตรฐานการมองต่ำกว่าปกติ ความสามารถในการมองเห็นแคบมาก แต่ประสาทหูและประสาทสัมผัสกลับใช้งานได้ดีกว่า
นอกจากนี้ นักวิจัยยังค้นพบว่า ใบหน้าและร่างกายของพะยูนปกคลุมด้วยขนที่ไวต่อการสัมผัส ซึ่งช่วยให้พวกมันสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ใต้น้ำ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment