Tuesday, November 21, 2006

หุ่นยนต์กู้ภัยตึกถล่ม

สจล.ร่วมขบวนคิดหุ่นยนต์กู้ภัยตึกถล่ม ติดกล้องวิดีโอปรับทิศทางค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึก

ทีมนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์สมองกลปฏิบัติการหาผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ ติดเซ็นเซอร์ตรวจอุณหภูมิชีวิต ส่งข้อมูลเบื้องต้นสู่เจ้าหน้าที่ภาคสนามเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต
แม้ว่าหุ่นยนต์กู้ภัยต้นแบบจะได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีหลายแห่ง แต่หุ่นยนต์ตัวล่าสุดที่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สจล. พัฒนาขึ้นมาได้เพิ่มความสามารถให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน ทั้งในส่วนของมุมมองภาพจากกล้องดิจิทัล และระบบแผนที่บอกตำแหน่งผู้รอดชีวิต

นายสมหมาย ไชษราษฎร์ กล่าวว่า หุ่นยนต์กู้ภัยที่ทีมวิจัย สจล.ปรับปรุงให้กล้องวิดีโอหมุนซ้าย-ขวาได้ 60 องศา และยังยกขึ้นลงได้ 30 องศา หุ่นยนต์กู้ภัยมีขนาดกว้างประมาณ 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต ขับเคลื่อนด้วยล้อตีนตะขาบ และมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับทิศทางสำหรับสร้างแผนที่แสดงที่หมาย หรือตำแหน่งผู้รอดชีวิต

หุ่นยนต์ดังกล่าวควบคุมการทำงานด้วยระยะไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย ปัจจุบันมีระยะปฏิบัติการ 300 เมตรในพื้นที่โล่ง ข้อมูลภาพและเสียง รวมทั้งข้อมูลอุณหภูมิในร่างกายของผู้ประสบภัย จะถูกส่งมายังทีมงานกู้ภัย เพื่อให้กลุ่มผู้ช่วยเหลือทราบอาการเบื้องต้นของผู้รอดชีวิต และสามารถเตรียมอุปกรณ์ความพร้อมต่างๆ ในการช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและทันเวลา
นักศึกษา กล่าวว่า หุ่นยนต์กู้ภัยสามารถดัดแปลงให้ทำงานได้หลายรูปแบบ เช่น การขนย้ายระเบิดซึ่งมีความเสี่ยงสูงหากมนุษย์ต้องไปสัมผัสหรือใกล้ชิด การค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดในการค้นหา เพราะหากใช้อุปกรณ์อย่างอื่นที่มีขนาดใหญ่ อาจเป็นอันตรายต่อผู้รอดชีวิตได้" สมหมาย กล่าว

"สิ่งที่ทีมวิจัยต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีก คือ แบตเตอรี่ที่ต้องเพิ่มระยะเวลาในการทำงานให้นานขึ้นจากเดิมเพียง 40-50 นาทีเท่านั้น และรัศมีการควบคุมที่ไกลยิ่งขึ้น รวมถึงแขนกลที่ประยุกต์เข้าไปเพิ่มเติมภายหลังเพื่อใช้หยิบจับวัตถุ ซึ่งปัจจุบันยังทำงานเป็นจังหวะ ไม่คล่องแคล่วเหมือนแขนมนุษย์จริง และยังขาดลำโพงเพื่อใช้สื่อสารระหว่างหุ่นยนต์กับผู้ประสบอุบัติภัย" ดำรงค์ชัย แท่นทอง ผู้ร่วมทีมวิจัยหุ่นยนต์กู้ภัย กล่าวเสริม

ทีมวิจัยหวังว่าการพัฒนาหุ่นยนต์จากสถาบันต่างๆ สุดท้ายแล้วสามารถนำไปปฏิบัติงานร่วมกับมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ แพทย์ ทหาร ตำรวจ และคาดว่าหากมีการประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยตัวที่สมบูรณ์แบบที่สุดออกมาใช้งานจริงได้เพราะอุปกรณ์ที่ใช้โดยมากเป็นวัตถุที่หาได้ในประเทศอยู่แล้ว

ที่มา : komchadluek

No comments: