Thursday, November 9, 2006

ม.สุรนารีสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเกษตร

ม.สุรนารีสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเกษตรนำร่องจ่ายกระแสไฟป้อนฟาร์มในมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีทุ่มงบประมาณ 20 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนระดับภูมิภาค เล็งพัฒนาสู่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่สามารถผลิตพลังงานป้อนหน่วยงานในองค์กรได้เบ็ดเสร็จ

รศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลเฉลิมพระเกียรติเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ ขนาดกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์ อาศัยเชื้อเพลิงจากของเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษไม้ แกลบ กะลา ซังข้าวโพด และเหง้ามันสำปะหลัง ขีดความสามารถในขณะนี้มีกำลังไฟฟ้ารองรับชุมชนได้ถึง 200 ครัวเรือน

โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร และหัวหน้าหน่วยวิจัยวิศวกรรมพลังงาน สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ที่เริ่มงานวิจัยด้านพลังงานทดแทนตั้งแต่ปี 2546 ใช้งบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท โดยใช้ผลผลิตเกษตรกรรมและ วัสดุที่เหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
เบื้องต้นทีมวิจัยได้ออกแบบระบบชิ้นส่วนและสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก 5-10 กิโลวัตต์ ขึ้นก่อน เพื่อทดสอบระบบ และพบว่าสัดส่วนขององค์ประกอบของก๊าซชีวมวลได้ มีค่าความร้อนเพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นต้นกำลังขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทดแทนการใช้น้ำมันได้

จากนั้นได้วิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งนำไปสู่การร่วมมือกับนักวิจัยจากบริษัท ซาตาเกะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น และจัดสร้างเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบขนาดกำลังผลิต 100 กิโลวัตต์ ใช้งานภายในบริเวณฟาร์มมหาวิทยาลัยเมื่อปีที่แล้ว โดยเตรียมศึกษารายละเอียด ปรับปรุงและทดสอบระบบที่เหมาะสม ก่อนนำไปใช้งานในเชิงการค้าหรือส่งเสริมให้เป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป
ส่วนขั้นตอนต่อไปจะเป็นการวิจัยเทคนิคบริหารจัดการโรงไฟฟ้าด้านการจัดการวัตถุดิบ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกไม้โตเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียงปีครึ่ง ก็สามารถหมุนเวียนตัดมาป้อนได้ตลอดปี

ที่มา : komchadluek

No comments: