ส่งหุ่นกู้ระเบิดฝึกงานภาคใต้ ทีมสร้างชี้ปี50พัฒนาให้อัจฉริยะยิ่งขึ้น
ผลงานหุ่นยนต์กู้ระเบิดจากรั้วเกษตรศาสตร์ เตรียมเดินทางลงใต้เพื่ดทดสอบประสิทธิภาพ ทีมวิศวกรผู้สร้างเล็งพัฒนาต่อให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น ระบุสามารถดัดแปลงให้วิ่งตรวจสอบระเบิดใต้ท้องรถ ตรวจหาทุ่นระเบิดที่ฝังลึกใต้ดิน รวมทั้งเป็นหุ่นยนต์พ่นยาฆ่าแมลงได้ด้วย
รศ.ดร.ณัฏฐกา หอมทรัพย์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประยุกต์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด" กล่าวว่า ทีมงานประสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด และวางแผนจะนำไปทดสอบความสามารถในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หุ่นยนต์ต้นแบบนี้ หนักประมาณ 50 กิโลกรัม ขนาด 60x110x100 เซนติเมตร ถือว่ากะทัดรัด สามารถปฏิบัติงานในที่แคบและเคลื่อนย้ายง่าย ตัวหนึ่งใช้ล้อสำหรับพื้นที่ขรุขระและพื้นที่ราบ และอีกตัวหนึ่งใช้ตีนตะขาบสำหรับพื้นที่ที่ต้องใช้การปีนป่ายหรือลาดเอียง ทั้งสองแบบใช้ชุดควบคุมมอเตอร์ ที่ควบคุมได้จากระยะไกล ทั้งแบบมีสายและไร้สาย รัศมีไม่น้อยกว่า 300 เมตร
ผู้ใช้สามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เช่น แขนกลยกน้ำหนักได้ประมาณ 5 กิโลกรัม ปืนฉีดน้ำความดันสูงสำหรับยิงทำลายวัตถุต้องสงสัย กล้องวิดีโอส่งภาพมายังชุดควบคุมทันทีที่ระดับ 30 ภาพต่อวินาที รวมทั้งแผงวงจรหลักของระบบสมองกลฝังตัวที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐาน มีระบบติดต่อแบบไร้สายที่เป็นระบบเดียวกับอินเทอร์เน็ต จึงสะดวกในการส่งภาพและควบคุม
ในปี 2550 คณะวิจัยจะพัฒนาตัวหุ่นยนต์ให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น เช่น สามารถควบคุมเส้นทางแบบอัตโนมัติ ติดตั้งโปรแกรมเก็บและแสดงข้อมูล ท่าทางการเคลื่อนที่ของแขนกล การบีบจับใช้อุปกรณ์วัดแรงป้อนกลับ และภาพที่ส่งกลับจะพัฒนาให้สามารถสร้างเป็นภาพ 3 มิติ เพื่อความสะดวกและชัดเจนในการจับเป้าหมาย เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนคน
นอกจากนี้ หุ่นดังกล่าวยังสามารถดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในทางอื่น เช่น หุ่นวิ่งใต้ท้องรถเพื่อตรวจสอบหาวัตถุระเบิด ติดตั้งตัวตรวจจับโลหะเพื่อตรวจหาทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ในดิน หรือใช้เป็นหุ่นยนต์พ่นยาฆ่าแมลงในด้านการเกษตรก็ได้
โครงการพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดนี้ มี นายถิระภัทธ จิระนรวิชย์ นายเมธา ผลภาษี และนายพิระณัฐ วิรุณหะ เป็นทีมนักวิจัยหลัก โดยความร่วมมือจากกองวิชาวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนนายเรืออากาศ และทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
Friday, November 24, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment