Wednesday, November 8, 2006

เครื่องบินไร้เสียง

มะกัน – ผู้ดีเร่งสร้างเครื่องบินไร้เสียง แก้ปัญหาเสียงเครื่องบินขึ้น-ลง

ปัญหาเครื่องบินขึ้นลงเสียงดังสร้างความรำคาญและทำลายสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้สนามบินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก มหาวิทยาลัยอังกฤษและสหรัฐ จึงระดมนักวิจัย 40 คน มาช่วยกันออกแบบเครื่องบินใหม่ตั้งแต่ตัวเครื่องยันเครื่องยนต์ให้เพลาเสียงลง

เครื่องบินไอพ่นรุ่นใหม่นี้ เรียกว่า "ไอพ่นเก็บเสียง" สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 215 คน และคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในปี 2573 หรืออีก 24 ปี เป็นผลงานคิดค้นโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แห่งอังกฤษ และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์แห่งสหรัฐ 40 ชีวิต ที่ร่วมกันใช้เวลา 3 ปี พัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ให้เสียงเบาลงเหลือพอๆ กับเสียงเครื่องซักผ้า หรือเสียงเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วไป

ปัญหาเสียงดังเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถขยายสนามบิน และเพิ่มเที่ยวบินได้ และเป็นปัญหาที่ถูกร้องเรียนมาก ถ้าสามารถพัฒนาเครื่องบินเก็บเสียงได้เท่ากับเป็นการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมการบิน

ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างเช่น โบอิ้ง และแอร์บัส และผู้ผลิตเครื่องยนต์ไอพ่น ต่างให้ความสนใจพัฒนาเครื่องบินที่เสียงเงียบ แต่บริษัทเหล่านี้ยังคงยึดติดกับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต่างจากที่ทีมนักวิจัยของเอ็มไอทีที่คิดออกแบบใหม่หมดทั้งลำเพื่อหาทางทำให้เสียงเครื่องบินเบาลง

เครื่องบินพาณิชย์ปัจจุบันมีลำตัวเป็นแท่งกระบอกยาวมีปีกกลางลำ แต่เครื่องบินไอพ่นเก็บเสียงออกแบบต่างไปคนละเรื่อง และดูคล้ายกับเครื่องบิน "ล่องหน" ที่กองทัพสหรัฐใช้งานสอดแนม ตอนท้ายของเครื่องไม่มีหางเสือสำหรับรักษาสมดุล แต่ออกแบบให้ปลายปีกสองข้างทำหน้าที่รักษาการทรงตัวแทน

เครื่องบินไอพ่นเก็บเสียงที่ออกแบบไว้มีลำตัวยาว 98 เมตร ปีกยาว 44 เมตร เริ่มสยายตั้งแต่หัวเครื่องไปถึงหาง เทียบแล้วมีขนาดพอกับเครื่องโบอิ้ง 767 การออกแบบเครื่องบินในลักษณะดังกล่าวยังช่วยให้เครื่องบินยกตัวลอยอยู่ได้โดยใช้ความเร็วต่ำ ดังนั้นเวลาลงจอดเสียงจะเบาลง นอกจากนี้ เครื่องบินเก็บเสียงยังไม่ใช้ครีบปีกที่กระดกขึ้นลงเหมือนที่ใช้กับเครื่องบินโดยสารปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวการแผดเสียงลั่นทุ่ง

สองมหาวิทยาลัยชั้นนำยังช่วยกันออกแบบระบบเครื่องยนต์ที่กินเชื้อเพลิงน้อยลง และเสียงเงียบขึ้น โดยแทนที่จะยัดเอาเครื่องยนต์ไอพ่นใส่ไว้ในกระบอกใต้ปีก แต่เครื่องบินเก็บเสียงจะมีเครื่องยนต์สามตัววางไว้กลางลำและหาง เครื่องยนต์เหล่านี้ดูดอากาศจากบนปีกเข้าเครื่องจึงช่วยเก็บเสียงเวลาเครื่องบินทะยานขึ้นจากลู่วิ่ง

ที่มา : .komchadluek

No comments: