Tuesday, November 14, 2006

ดูหนัง "โลกร้อน" ก่อน "สิ้นโลก"

ดูหนัง "โลกร้อน" ก่อน "สิ้นโลก" ในเทศกาลหนังวิทยาศาสตร์

ก่อนที่กระแสภาพยนตร์เรื่อง "แอน อินคอนวีเนียน ทรูธ" เรื่องราวภาวะโลกร้อน โดยมี อัล กอร์ ผู้อกหักจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นตัวเดินเรื่อง จะสร้างปรากฏการณ์หนังสารคดีจนเป็นที่กล่าวขานในกลุ่มคนดูหนังชาวไทยนั้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เคยนำมาฉายใน "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 1" มาแล้ว เมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ดี ปัญหาโลกร้อนยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกรณีแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น หรือเห็นได้ชัดกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการทำลายสมดุลธรรมชาติของมนุษย์ หากสื่อที่นำเสนอปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังยังไม่เห็นชัดเจนนักในบ้านเรา จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งที่ 2 โดยสถาบันเกอเธ่ สถานทูตฝรั่งเศส และสถาบันเพื่อการส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระหว่างวันที่ 21-26 พฤศจิกายนนี้ มีภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่องทีเดียวที่เจาะความจริงอันน่าสะพรึงกลัวนี้

วิลฟรีด เอ็กชไตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ หนึ่งในองค์กรที่คัดเลือกภาพยนตร์มาฉาย แจกแจงว่า ด้วยมนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวิทยา จึงได้หยิบยกประเด็นหนังสารคดีภาวะโลกร้อนที่น่าสนใจและควรรับรู้มาเป็นหนึ่งในจุดเด่นของงาน และหวังว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะเป็นสะพานที่ดีในการเชื่อมคนไทยให้ก้าวไปสู่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยพยายามคัดเลือกภาพยนตร์ที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ เพื่อให้คนไม่กลัวความรู้

ขณะที่ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แจกแจงว่า เมื่อปีที่ผ่านมา แม้จะมีภาพยนตร์ลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่คนไทยยังคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว ปล่อยให้การแก้ปัญหาเป็นภาระของประเทศที่เจริญๆ แต่จริงๆ แล้ว ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อมของตัวเอง สิ่งที่คนไทยควรตระหนักเป็นอันดับแรก คือปัญหาน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งนอกจากจะเห็นผลเสียชัดเจนและรวดเร็วแล้ว ปัญหานี้ยังโยงใยถึงภาวะโลกร้อนอีกด้วย

"ปัญหาเล็กๆ เมื่อรวมกันก็เป็นปัญหาใหญ่ เราตัดไม้ก็มีผล อินโดนีเซียเผาป่าก็มีผล ป่าของเราเมื่อ 75 ปีก่อน มีป่า 75% แต่เดี๋ยวนี้เหลือไม่ถึง 20% ปีนี้น้ำฝนไม่ได้มากไปกว่าปีอื่น แต่กลับมีน้ำท่วมครั้งใหญ่แผ่นดินถล่มทลายมากกว่าปีอื่นๆ ผลเหล่านี้มันใกล้ตัว เห็นได้ชัดเจน เราต้องช่วยกันทุกฝ่ายทุกคน เช่น ถ้าให้รัฐบาลออกกฎว่าให้รถเก่ากว่า 10 ปีเลิกวิ่ง มันก็ช่วยได้ทันที" ดร.สวัสดิ์ บอกเล่า

สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับการหยิบยกให้เป็นหนึ่งในจุดเด่นของเทศกาลนี้ คือเรื่อง "ไคลเมท อิน ไครซิส : วอร์นนิ่ง ฟอร์ม ฟิวเจอร์" ในชื่อไทยว่า วิกฤติการณ์อากาศ : คำเตือนจากอนาคต จากโปรดักชั่นของสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค ประเทศญี่ปุ่น กับคำเตือนที่ว่าโลกอาจพบโศกนาฏกรรมจากภาวะโลกร้อน ด้วยการคำนวณจากนักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยนำเสนอภาพของเหยื่อโลกร้อนให้เห็นจะจะ

ขณะที่ "ดิ ไอซ์ ริเวอร์ส ออฟ เดอะ ไวท์ คอร์ดีเยร่า" เทือกเขาหิมะคอร์ดีเยร่า : ธารน้ำแข็ง ถ่ายทอดธารน้ำแข็งละลายที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามหุบเขา รวมทั้งแนวโน้มที่อาจก่อภัยพิบัติ รวมไปถึงการขาดแคลนน้ำในอนาคต เช่นเดียวกับประเด็นในเรื่อง "ควาร์กส์ แอนด์ โค : ไคลเมท เชนจ์?" รายการควาร์กส์ แอนด์ โค ตอนสภาวะอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างนั้นหรือ จากสถานีโทรทัศน์ดับเบิลยูดีอาร์ เยอรมนี ที่กระตุ้นให้คนตระหนักว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นในหลายร้อยปีที่ผ่านมา แถมระดับน้ำทะเลยังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าใครยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน สถานีโทรทัศน์จากเยอรมนีช่องนี้ได้เสนอไว้ ในตอน "ไนน์ แอนด์ อะ ฮาล์ฟ : ไคลเมท เชนจ์" เก้าครึ่ง : ตอนสภาวะอากาศที่อาจทำให้โลกเปลี่ยน ที่อธิบายโดยใช้ตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายว่าโลกร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีหนังอย่าง "ดีพาร์ทเจอร์ ฟอร์ม ออยล์-เอเนอร์จี ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์" ลาก่อนน้ำมัน มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต เสนอประเด็นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ลดความเสี่ยงกับภาวะเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง "ลิสซึน, ลิสซึน แมน" มนุษย์เอ๋ยจงฟัง ที่เล่าว่า ภาวะโลกร้อนคือภัยคุกคามโลกอันสวยงาม ควรเร่งแก้ไขโดยพิจารณาถึงความหมายของความเจริญก้าวหน้ากันอีกครั้ง หรือความหวังในการพยายามหาสิ่งประดิษฐ์ป้องกันภาวะโลกร้อนกับเรื่อง "เดอะ เกรท วอร์มมิ่ง-เอาเออร์ ชิลเดรนส์ แพลนเนต" ภาวะโลกร้อน ตอนโลกของลูกหลานของเรา ที่ได้เสียงดาราหนุ่ม คีอานู รีฟส์ มาบรรยายตลอดเรื่อง ฯลฯ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ส่งเสียงเรียกร้องว่า โปรดอย่ารอให้ความวิบัติมาเยือนเสียก่อน โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราเองนั่นแหละ ที่อาจเป็นต้นตอจริงแท้ของปัญหา

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 2 ประกอบด้วยหนังวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ 61 เรื่อง จาก 13 ประเทศ จัดฉายสามแห่ง ได้แก่ ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย องค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เทคโนธานี คลองห้า และพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพฯ โดยเกือบทุกเรื่องพากย์และบรรยายไทย

ดูรายละเอียด รอบฉายของหนังได้จากเวบไซต์ขององค์กรผู้จัด เช่น www.goethe.de/sciencefilmfestival หรือ โทร.0-2287-0942-4 ต่อ 22, 0-2392-4021 ต่อ 3306, 3311

ที่มา : komchadluek

No comments: