โคราชซิ่งรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ฝีมือ มทร.อีสานช่วยชาติรับมือน้ำมันแพง
มทร.นครราชสีมาอวดโฉมรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ ผลงานจากการค้นคว้าวิจัยกว่า 3 ปี ใช้ทุนเพียง 9 หมื่นบาท เผยสร้างรุ่นต้นแบบออกมา 4 คัน สำหรับศึกษาใช้งานภายในมหาวิทยาลัย หากไม่มีข้อขัดข้องจะส่งเสริมให้เอกชนผลิตจำหน่าย ชี้ต้นทุนเชื้อเพลิงถูกกว่าเติมน้ำมันเกือบ 90%
นายชิติสรรค์ วิชิโต หัวหน้าโครงการรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา กล่าวว่า ทีมงานประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหรือแบบ 2 ที่นั่ง วิ่งด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์แทนเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี และทุนค้นคว้าวิจัย 9 หมื่นบาท
ส่วนประกอบหลักของรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว มีมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง แบตเตอรี่ 24 โวลต์ และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 50 วัตต์ จำนวน 2 แผง เพื่อรับและเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ส่งไปจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และในวันที่มีแสงแดดไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนในการชาร์จประจุให้แบตเตอรี่ได้อีกทางหนึ่ง
ทางโครงการได้ผลิตรถพลังแสงอาทิตย์แล้ว 4 คัน ให้อาจารย์ขับไปสอนหนังสือ และบุคลากรใช้ขับส่งเอกสารภายในมหาวิทยาลัย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งาน ก่อนที่จะส่งเสริมสู่ภาคเอกชน
"ทีมงานได้ออกแบบให้ผู้ขับขี่สามารถปรับความเร็วของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงได้ เพื่อเพิ่มความเร็วในการขับขี่ อีกทั้งโครงสร้างของรถออกแบบให้สร้างได้ง่าย โดยไม่ต้องมีแชสซิส ทำให้มีน้ำหนักเบาและมีส่วนประกอบน้อย ในส่วนของข้อต่อต่างๆ ได้เลือกใช้บุช เพลา ตลับลูกปืน โช้คอัพ ดิสเบรก และกระทะล้อ ที่หาอะไหล่ได้ง่ายตามท้องตลาด และราคาถูก" หัวหน้าโครงการ กล่าว
จากผลการทดลองพบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นขณะใช้งานรถไฟฟ้าเล็กนี้ เปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หากใช้งานวันละ 5 กิโลเมตรเท่ากัน จะเสียค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 4.55 บาท และ 10 บาท สำหรับรถใช้น้ำมัน หรือถ้าใช้งานถึงวันละ 20 กิโลเมตร รถยนต์ไฟฟ้าจะเสียค่าใช้จ่ายแค่ 4.60 บาท ส่วนการใช้น้ำมันเสียค่าใช้จ่ายถึง 40 บาท
"การใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถประหยัดเงินค่าน้ำมันได้ถึง 45.5 และ 88.5% ตามลำดับ นอกจากจะช่วยประหยัดค่าน้ำมันแล้ว ยังเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในสถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว ตามความสะดวกได้อย่างดีอีกด้วย" นายชิติสรรค์ กล่าว
ที่มา : komchadluek
Monday, November 27, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment