จับก๊าซพิษฝังดินแก้ปัญหาโลกร้อนขังคุกคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน
ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดาเสนอเทคนิคใหม่แก้ปัญหาภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนจนน้ำแข็งขั้วโลกละลาย แนะให้จับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใส่ถังแล้วยัดลงใต้ดินลึกนับพันเมตรไม่ปล่อยให้ออกมาปกคลุมบรรยากาศโลก
ศ.ดร.โยอิชิ คายะ จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อโลก (RITE) ประเทศญี่ปุ่น ได้เสนอให้โรงไฟฟ้าให้แยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซธรรมชาติก่อนที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไม่เหลือก๊าซพิษก่อปัญหาโลกร้อน
"ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกจากก๊าซธรรมชาติจะถูกนำมาเก็บไว้ในภาชนะบรรจุแล้วนำไปเก็บไว้ใต้ดิน จากนั้นจะนำไปฝังไว้ใต้ดินที่ระดับความลึก 1,000 เมตร โดยสามารถใช้บ่อน้ำมันที่หมดแล้วเป็นที่เก็บ" นักวิชาการญี่ปุ่น กล่าวในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 2006 โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และมหาวิทยาลัยเกียวโต ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดที่กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตยังได้กล่าวถึงเทคโนโลยีอนาคตโดยใช้ดาวเทียมโซลาร์เซลล์โคจรอยู่นอกโลกเพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยิงเป็นลำแสงเลเซอร์หรือไมโครเวฟมายังโลก แม้แนวทางดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนสูงมาก แต่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลออสเตรเลียประกาศใช้งบประมาณ 46.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างระบบเก็บและดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากก๊าซที่โรงไฟฟ้าปล่อยออกมา
เจ้าของโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติกอร์ดอน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ กล่าวว่า จะใช้ระบบดังกล่าวเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 125 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับก๊าซ 2 ใน 3 ส่วนที่โรงก๊าซจะปล่อยออกมาในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้โจมตีการปล่อยก๊าซโลกร้อน อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ
แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของออสเตรเลียมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการใช้ของเมืองใหญ่ที่มีประชากร 1 ล้านคน นานกว่า 800 ปี ส่งผลให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาแทรกแซงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการขุดเจาะ โดยมีการกำหนดมาตรการในโครงการเพื่อนำไปสู่ทางออกด้านเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
นอกจากสองประเทศดังกล่าวแล้ว แคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้จัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมอบหมายให้กระทรวงน้ำมันรับผิดชอบภาพรวมในโครงการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝังดิน
ที่มา : komchadluek
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment