Monday, November 27, 2006

ญี่ปุ่นหนุนจับก๊าซโลกร้อนฝังดิน

ญี่ปุ่นหนุนจับก๊าซโลกร้อนฝังดิน

นักวิชาการด้านพลังงานจากญี่ปุ่น หนุนจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใส่ถัง ฝังใต้ดินแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ขณะที่นักวางแผนพลังงานไทยหนุนใช้พลังงานทางเลือกผสมผสานทั้งไฟฟ้าพลังน้ำ และพลังลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ยอมรับอนาคตหนีไม่พ้นต้องพึ่งนิวเคลียร์ แต่ต้องใช้เวลากว่า 10 ปีสร้างความเข้าใจกับประชาชน

ศ.ดร.โยอิชิ คายะ จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อโลก ( RITE ) ประเทศญี่ปุ่น ได้เสนอเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซธรรมชาติที่เป็นมีเทน ก่อนที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าสะอาด

"ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่แยกจากก๊าซธรรมชาติจะถูกนำมาเก็บไว้ในภาชนะบรรจุแล้วนำไปเก็บไว้ใต้ดิน จากนั้นจะนำไปฝังไว้ใต้ดินที่ระดับความลึก 1,000 เมตร โดยสามารถใช้บ่อน้ำมันที่หมดแล้วเป็นที่เก็บ" นักวิชาการญี่ปุ่น กล่าวในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 2006 โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และมหาวิทยาลัยเกียวโต ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตยังได้กล่าวถึงเทคโนโลยีอนาคตโดยใช้ดาวเทียมโซลาร์เซลล์โคจรอยู่นอกโลกเพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยิงเป็นลำแสงเลเซอร์หรือไมโครเวฟมายังโลก แม้แนวทางดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนสูงมาก แต่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง

อูเว ฟริสเช นักวิจัยจากสถาบันโอเอโก เยอรมนี ได้เสนอรายงานการวิจัยเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตพลังงานด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยกล่าวว่า แอลกอฮอล์ที่ได้จากชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพ และยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศในการส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลไปยังต่างประเทศ

"ประเทศที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวล ได้แก่ ประเทศที่ตั้งอยู่ในอเมริกาใต้ บางส่วนในทวีปแอฟริกา เอเชียอาคเนย์ และออสเตรเลีย" ส่วนประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มผลิตพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ภายในประเทศมากกว่า นอกจากนี้ เขายังมองเห็นความจำเป็นในการบริหารพื้นที่เพาะปลูกระหว่างพืชสำหรับทำเชื้อเพลิงและพืชสำหรับเลี้ยงประชากรให้เหมาะสม

ด้าน ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการนโยบายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ในราว 10-15 ปีข้างหน้า ไทยอาจจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน มีความจำเป็นต้องพัฒนาวิศวกรด้านนิวเคลียร์ และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการปัญหาขยะนิวเคลียร์

นักวิชาการไทยยังได้กล่าวถึงพลังงานหมุนเวียนอย่างเช่น พลังงานลม โดยชี้ว่าแนวชายฝั่งทะเลของไทยเหมาะสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใช้เสาความสูง 50 เมตร นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาไม้โตเร็วอย่างเช่น ยูคาลิปตัส แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับชุมชนที่ห่างไกล

ที่มา : bangkokbiznews

No comments: