Friday, November 30, 2007

เริ่มแล้วดาราศาสตร์โอลิมปิกครั้งที่ 1 ไทยประเดิมเจ้าภาพ

ไอโอเอเอ - ประเทศไทยรับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกฯ ครั้งที่ 1 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พร้อมส่งเสริมให้นักเรียนสนใจในดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น

มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ฯ (สอวน.), ศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์, สมาคมดาราศาสตร์ไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1 (The 1st International Olympiad on Astronomy and Astrophysics: IOAA) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.– 9 ธ.ค.50 โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก 22 ประเทศทั่วโลก

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 29 พ.ย.50 ตัวแทนผู้เข้าร่วมแข่งขันแต่ละประเทศได้เริ่มทยอยเดินทางมาถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ประเทศศรีลังกา ยูเครน เบลารุส พม่า และโบลิเวีย ตามลำดับ โดยมีตัวแทนคณะกรรมการดำเนินงานจากประเทศไทยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จากนั้นคณะนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขันเข้าพักที่สำนักบริการวิชาการ (UNISERV) มช. และคณะหัวหน้าทีมของแต่ละประเทศเข้าพักที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้วันที่ 30 พ.ย.50 มีตัวแทนผู้เข้าร่วมแข่งขันทยอยเดินทางถึงประเทศไทยอีกจนครบ 22 ประเทศ เพื่อลงทะเบียนในเวลาประมาณ 08.00 น ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว ในเวลาประมาณ 17.00 น.

IOAA ได้ก่อตั้งขึ้นมาให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศ สำหรับจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาสนใจและศึกษาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสครบ 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในวโรกาสครบ 84 พรรษาของสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สามารถติดตามรายละเอียดการแข่งขันเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ioaa.info/ioaa2007/

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000142587

Thursday, November 29, 2007

แบตเตอรี่อนาคตบางกว่ากระดาษ แหล่งพลังงานอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง

นักวิจัยสหรัฐคิดค้นแบตเตอรี่แบบใหม่พิมพ์ลงบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เลย ให้กำลังไฟฟ้ามากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป เหมาะกับอุปกรณ์ประเภทใช้แล้วทิ้ง

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใช้สารเคมี "ซิงก์-คาร์บอน" แบบเดียวกับที่ใช้ทำแบตเตอรี่ทั่วไปมาพิมพ์เป็นแผ่นบางวางลงบนพื้นผิวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ป้ายอิเล็กทรอนิสก์ และจอภาพขนาดเล็ก

พวกเขาทดลองพิมพ์แบตเตอรี่แผ่นบางด้วย "หมึกท่อนาโนคาร์บอน" เริ่มจากชั้นแรกสำหรับทำหน้าที่เป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้า แล้วทับด้วยหมึกท่อนาโนอีกชั้นผสมกับแมงกานีส ออกไซด์ และอิเล็กโทรไลต์ ทำหน้าที่เป็น "แคโทรด" หรือขั้วลบให้ประจุไฟฟ้าวิ่งออกจากแบตเตอรี่ และทับด้วยแผ่นฟอยล์สังกะสีเป็นชั้นที่สาม แต่รวมกันแล้วแผ่นแบตเตอรี่ยังมีขนาดหนาไม่ถึงมิลลิเมตร

โดยหลักการแล้ว หากต้องการกระแสไฟฟ้ามากขึ้นสามารถเพิ่มชั้นท่อนาโนคาร์บอนลงไปได้อีก กระแสไฟฟ้าที่ได้จากชั้นท่อนาโนคาร์บอนที่ซ้อนกันจำนวนมากให้กำลังไฟฟ้ามากกว่าเทคนิคเดิมที่ซ้อนวางด้วยแผ่นโลหะ กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบใหม่ยังไม่ชะลอกระบวนการเคมีไฟฟ้าที่ใช้ผลิตกระแสไฟด้วย

นักวิจัยกล่าวว่า แบตเตอรี่อย่างบางไม่ต่างจากแบตเตอรี่ปกติเว้นแต่เปลี่ยนมาใช้โครงสร้างเล็กระดับนาโนเมตรแทนโลหะและขั้วนำไฟฟ้าอย่างที่ใช้กันอยู่เท่านั้น ถ้าออกแบบให้ดี แบตเตอรี่บางสามารถให้กำลังไฟได้มากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปในขนาดเท่ากัน ซึ่งเหมาะกับอุปกรณ์ประเภทพกพาติดตัวอย่างมาก

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้คิดค้นตัวเก็บประจุที่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากมายโดยใช้เทคนิคหมึกท่อนาโนคาร์บอนอย่างเดียวกัน และมีแผนจะผนวกตัวเก็บประจุเข้ากับแบตเตอรี่สำหรับใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องการกำลังไฟสูงขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

มือนาโนตรึงเม็ดเลือดไขปริศนายามะเร็ง-มาลาเรีย

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ถ่ายทอดความรู้ให้นักวิจัยไทยในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เผยผลงานมือจิ๋วระดับนาโนเมตรตรึงเม็ดเลือดแดงเพื่อวัดความยืดหยุ่น ใช้ประโยชน์ในห้องแล็บผลิตและทดสอบฤทธิ์ยา รวมทั้งวินิจฉัยโรคมาลาเรียและมะเร็ง

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ครั้งที่ 6 ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์จาก 44 ประเทศเข้าร่วม เชิญ ศ.ดร.ซูบรา ซูเรซ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา ถ่ายทอดผลงานความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจวัดความยืดหยุ่นของเม็ดเลือดแดงสำหรับใช้ประโยชน์ในห้องแล็บผลิตยา และตรวจวินิจฉัยโรคเลือดบางชนิด

ศ.ดร.ซูบรากล่าวว่า ในคนทั่วไปเม็ดเลือดแดงมีขนาด 8 ไมครอน เมื่อต้องเคลื่อนที่ผ่านเส้นเลือดขนาดต่างๆ ซึ่งเล็กสุดอยู่ที่ 2 ไมครอน เม็ดเลือดแดงจะบีบตัวเพื่อที่จะผ่านเส้นเลือดขนาดเล็กได้

แต่กรณีผู้ป่วยมาลาเรียเชื้อมาลาเรียจะทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของหลอดเลือดเปลี่ยนแปลง เม็ดเลือดไม่สามารถบีบตัวเข้าสู่หลอดเลือด ทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตัน หรือกรณีผู้ป่วยมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะทำปฏิกิริยาให้เม็ดเลือดยืดหยุ่นมากเกินไป จนสามารถไหลผ่านออกนอกเส้นเลือด และเป็นสาเหตุให้เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกาย

จากองค์ความรู้ดังกล่าวศ.ดร.ซูบรา จึงคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์วิเคราะห์การยืดหยุ่นของเม็ดเลือด โดยสร้างตัวยึดขนาดจิ๋วหรือระดับนาโนเมตร ยึดติดเม็ดเลือดแดงที่ได้จากการเจาะเลือด แล้วยิงเลเซอร์เพื่อให้ตัวยึดยืดออก จากนั้นก็ตรวจวัดหาความผิดปกติในการยืดหยุ่น เปรียบเทียบการยืดหยุ่นที่เกิดในร่างกาย ประโยชน์ที่จะได้จากการยึดเม็ดเลือดนี้ สามารถใช้ในการวิจัยทดสอบยา และพัฒนาสู่การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งและมาลาเรีย

"ทีมงานจะพัฒนาตัวยึดจิ๋วนี้ให้เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดแบบเคลื่อนที่ เพื่อรองรับการใช้งานในห้องแล็บให้สะดวกมากขึ้น" ศ.ดร.ซูบรา กล่าว

ศ.ดร.ศกรณ์มงคลสุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า สถาบันกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มีความร่วมมือทางวิชาการกันอยู่แล้ว ในส่วนของ ศ.ดร.ซูบรา จะเป็นโครงการอนาคตที่จะร่วมกันทดสอบยา ในกลุ่มยาต้านมะเร็งและยาต้านมาลาเรีย โดยใช้ชุดตรวจวัดความยืดหยุ่นของเม็ดเลือดนี้ เป็นอุปกรณ์หลักในการทดสอบฤทธิ์ยา

ที่มา: หลังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, November 28, 2007

หุ่นยนต์กีตาร์ตั้งสายได้เองเหมือนมืออาชีพ

นักเล่นกีตาร์เป็นคงเคยหงุดหงิดที่ตั้งสายไม่เหมือนเพลงต้นฉบับเสียทีผู้ผลิตกีตาร์ชั้นนำของสหรัฐเลยพัฒนากีตาร์รุ่นใหม่ สามารถปรับสายกีตาร์ได้เองเมื่อเปลี่ยนสาย และยังมีปุ่มปรับเสียงพิเศษ 6 ปุ่ม ให้กดเลือกตามใจชอบ

หลังจากวิจัยอยู่นาน15 ปี กิบสัน กีตาร์ ได้ฤกษ์เปิดตัวหุ่นยนต์กีตาร์ไฟฟ้าตัวแรกของโลกสามารถตั้งสายกีตาร์ได้เองเสร็จสรรพ พร้อมวางตลาดเดือนหน้าต้อนรับปีใหม่ จับตลาดทั้งนักเล่นกีตาร์ และพวกอยากรู้อยากเห็นที่ชอบสะสมของแปลก

ผู้บริหารบริษัทกิบสันบอกว่า หุ่นยนต์กีตาร์ไม่ได้ช่วยให้บรรเลงกีตาร์ได้เก่งขึ้น แต่ช่วยให้นักเล่นกีตาร์ทั่วไปมีระบบตั้งสายที่ทันสมัยล้ำยุค พร้อมปุ่มพิเศษ 6 ปุ่ม ที่ตั้งสายให้เหมือนกับเพลงต้นฉบับอย่างเช่น เพลงวูดู ไชลด์ ที่บรรเลงโดย จิมิ เฮนดริก และเพลงโกอิง ทู แคลิฟอร์เนีย ฝีมือกีตาร์ชั้นเทพ เลด เซฟปลิน และเพลงเซอร์เคิล เกม โดยโจนี มิเชล

หุ่นยนต์กีตาร์รุ่นนี้เหมาะตั้งแต่มือสมัครเล่นที่มีปัญหาตั้งสายกีตาร์ไปจนถึงมืออาชีพซึ่งเวลาไปแสดงสดมักต้องอาศัยช่างเทคนิคคอยปรับเสียงกีตาร์ให้เล่นได้หลากหลายโทนเสียง พวกมืออาชีพเหล่านี้ใช้วิธีตั้งเสียงที่แปลก ทำให้คนที่อยากเล่นเสียงกีตาร์แบบนั้นบ้างไม่สามารถปรับเสียงให้ออกมาได้เหมือนเพลงต้นฉบับ

เป็นเรื่องธรรมดาที่นักเล่นกีตาร์มักเจอกับปัญหาตั้งสายไม่ได้ดังใจบางครั้งอุณหภูมิในห้องที่เปลี่ยนไปก็ทำให้เสียงที่ตั้งไว้แปร่งได้เหมือนกัน

แต่ใช่ว่าทุกคนยินดีปรีดากับหุ่นยนต์กีตาร์ไฟฟ้าที่ช่วยทำให้การตั้งสายเป็นเรื่องง่ายนักเล่นกีตาร์รายหนึ่งบอกว่า ถ้าแค่ตั้งสายซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานยังทำไม่ได้ก็อย่าไปเล่นมันเลยดีกว่า และหุ่นยนต์กีตาร์ทำให้คนขี้เกียจเกินไป

กิบสันตั้งใจวางจำหน่ายหุ่นยนต์กีตาร์รุ่นพิเศษ4,000 ตัว ในต้นเดือนหน้า ในราคาเกือบ 9 หมื่นบาท แล้วค่อยออกรุ่นมาตรฐานตามมาทีหลังต้นปี 2551 จำหน่ายทั่วโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ฐานปล่อยพร้อม 98% แต่กำหนดใหม่ยิง "ธีออส" 9 ม.ค.51


เปลี่ยนกำหนดส่ง "ธีออส" อีกครั้งเป็น 9 ม.ค.ปีหน้า "ชาญชัย" ระบุเหตุฐานปล่อยจรวดยังไม่เรียบร้อยตามที่ต้องการ แต่แจงฝรั่งเศสรายงานฐานปล่อยพร้อมแล้ว 98% อย่างไรก็ดีกำหนดส่งยังอยู่ในช่วงเวลาตามสัญญา หากเลยกำหนดไทยมีสิทธิปรับแต่เท่าไหร่ยังไม่ทราบ ชี้หากส่งดาวเทียมขึ้นไประเบิดกลางอากาศฝรั่งเศสต้องรับผิดชอบสร้างใหม่เสปกเดิม พร้อมให้บริการข้อมูลดาวเทียมสปอตอย่างต่อเนื่อง

ยังต่องรอกันต่อกับ "ธีออส" ดาวเทียมทรัพยากรดวงแรกของไทยที่ได้มาด้วยการแลกเงินไปกว่า 6,000 ล้านบาทเพื่อว่าจ้างให้บริษัทแอสเทรียม เอส.เอ.เอส.ของฝรั่งเศสเป็นผู้สร้างและส่งดาวเทียม โดยกำหนดใหม่ในส่งดาวเทียมดังกล่าวเข้าสู่วงโคจรคือ 9 ม.ค.2551 หลังจากก่อนหน้านี้กำหนดไว้ประมาณ 4 ธ.ค.นี้ ณ ฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศยัชนี (Yahni) ชายแดนประเทศรัสเซีย นับเป็นครั้งที่ 5 ของการกำหนดปล่อยดาวเทียมดวงนี้

นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ ผู้อำนวยการโครงการดาวเทียมธีออส สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ระบุว่ากำหนดครั้งใหม่สำหรับปล่อยดาวเทียมธีออสนี้ยงอยู่ในช่วงเวลาของการปล่อยตามสัญญาคือระหว่าง 19 ก.ค.50-19 ม.ค.51 ซึ่งการเลื่อนออกไปครั้งนี้ก็สบายๆ ไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่ถ้าเลยกำหนดโดยไม่มีเหตุอันควรทางฝรั่งเศสต้องถูกปรับตามสัญญาแต่เป็นเท่าไหร่นั้นยังบอกไม่ได้ แต่หากมีเหตุสุดวิสัยก็ต้องดูกันอีกที

"ขณะนี้ได้ส่งวิศวกรไทย 2 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์ที่ฐานปล่อยจรวดร่วมกับวิศวกรฝรั่งเศส 10 คน โดยตัวแทนวิศวกรไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์ที่ฐานปล่อยตามตารางซึ่งจัดเวียนสำหรับวิศวกรในโครงการ 20 คน" นายชาญชัยกล่าว

สาเหตุที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมธีออสขึ้นไปตอนนี้ นายชาญชัยแจงว่าต้องดูให้ทุกอย่างพร้อมและเรียบร้อยทุกอย่าง ซึ่งตอนนี้ที่ฐานปล่อยยังไม่เรียบร้อยและครบถ้วนสมบูรณ์ตามกำหนด แต่ล่าสุดทางฝรั่งเศสแจ้งมาว่าพร้อมแล้ว 98% พร้อมให้ข้อมูลว่าฐานปล่อยธีออสในรัสเซียได้ปล่อยดาวเทียมแล้ว 3 ดวงในปีนี้ซึ่งดวงล่าสุดเป็นของสหรัฐอเมริกาซึ่งปล่อยไปเมื่อ 7 ก.ค. และกำหนดให้เว้นระยะในการปล่อยดาวเทียมแต่ละดวง 30-35 วัน

นอกจากนี้หากฝรั่งเศสส่งดาวเทียมธีออสขึ้นไปแล้วเกิดความเสียหายหรือเกิดระเบิดขึ้น นายชาญชัยกล่าวว่าทางบริษัทแอสเทรียมต้องรับผิดชอบในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ตามรูปแบบเดิมและยิงกลับขึ้นไปใหม่ และระหว่างนั้นไทยก็สามารถรับข้อมูลดาวเทียมสปอต 5 (SPOT5) ของฝรั่งเศสต่อเนื่องจนกว่าจะได้ดาวเทียมดวงใหม่

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000141428

ไอซีทีเปิดเว็บไซต์รวมพระราชกรณียกิจ"ในหลวง"

เปิดเว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ ให้ประชาชนได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและพระราชดำริของในหลวงผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

เวลา 14.00 น. วันที่ 28 พ.ย.ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นประธานเปิดเว็บไซต์ www.ohmpps.go.th หรือ Office of His Majesty’s Principal Private Secretary ของสำนักราชเลขาธิการ ที่ไอซีที ร่วมกับสำนักราชเลาธิการ จัดทำขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศ์ ตลอดจนภารกิจขององคมนตรี ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ทำหน้าที่พัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล คอนเท้นท์ โดยรวบรวมเอกสารตั้งแต่ พ.ศ. 2489 จนถึง พ.ศ. 2550 จากเอกสารที่จัดเก็บในรูปแบบไมโครฟิล์ม สมุดปิดข่าว และหนังสือต่างๆ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นหน้า ส่วนบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (หมาชน) และ ทีโอที ทำหน้าที่จัดหาฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับการทำงาน รวมถึงระบบควบคุมการป้องกัน และการเก็บข้อมูลของสำนักราชเลขาธิการ โดยสำนักราชเลขาธิการจะเพิ่มเติมข้อมูลในทุกส่วนของเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลสำคัญจากหนังสือ ภาพ และวิดีทัศน์ โดยมีเครื่องมือในการสืบค้นเพื่อให้ผู้ใช้เลือกใช้ได้หลากหลาย ทั้งพิมพ์คำค้นหา ประเภทเอกสาร และช่วงวัน เดือน ปี

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=147388&NewsType=1&Template=1

Tuesday, November 27, 2007

"โลกร้อน" กระเทือนถึงพืช-ผักและสรรพสัตว์บนโต๊ะอาหาร


เอเยนซี - นักวิทยาศาสตร์ระบุผัก-ผลไม้และเนื้อสัตว์บนโต๊ะอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะ "โลกร้อน" เพราะสภาพอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เมื่อกระแสภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Global warming) กำลังได้รับความสนใจ นักวิจัยต่างพยายามที่จะประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อปศุสัตว์ ผักและธัญพืชอย่างข้าว เพื่อหาทางเสริมความต้านทานโรคและความหลากหลายของสายพันธุ์ที่แข็งแรง ซึ่งคนยากจนทั่วโลกนับพันล้านที่เป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะต้องแบกรับผลกระทบรุนแรงที่จะตามมา

ถือเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายในที่ประชุมเกี่ยวเกษตรกรรมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจบลงไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ เมืองไฮเดอราบัดทางตอนใต้ของอินเดีย

"เวลาที่จะแก้ปัญหาได้ผ่านไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว" จอห์น แมคเดอร์มอตต์ (John McDermott) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติในฐานวิจัยกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา กล่าวถึงสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พร้อมยกตัวอย่างว่าไข้ริฟท์ วัลเลย์ (Rift Valley Fever) หรืออาร์วีเอฟ (RVF) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสมรณะที่แพร่ไปยังแกะ อูฐ วัวควายและคนโดยการถูกยุงกัดนั้นก็โหมเชื้อจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย

แมคเดอร์มอตต์กล่าวอีกว่า ไวรัสไข้อาร์วีเอฟพบในแอฟริกาตะวันออกและเอเชียกลางเพราะมีความหลากหลายทางภูมิอากาศในอาณาเขตที่แห้งแล้งซึ่งช่วยให้พาหะนำโรคอย่างยุง แมลงดูดเลือด เห็บและหมัดนั้นแพร่พันธุ์ได้ดี โดยชี้ให้เห็นว่าหากเราพบโรคต่างๆ ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งไม่เคยพบโรคดังกล่าวอุบติขึ้นก็สันนิษฐานได้ว่าสัตว์บางชนิดได้กระจายไปยังพื้นที่ซึ่งสัตว์เหล่านั้นไม่เคยอาศัยอยู่

สำหรับคนยากจนแล้วปศุสัตว์ก็เปรียบเสมือนธนาคารเงินฝาก ที่เขาเหล่านั้นสามารถใช้แตะเบาๆ ก็สามารถดำรงชีวิตได้จากการขายสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ซึ่งแมคเดอร์มอตต์แจงว่าคนจนเหล่านั้นไม่ได้สร้างรอยเท้าทางนิเวศน์ (ecological footprint) หรือผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ของระบบนิเวศโลกมากนัก แต่ก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องเสี่ยงจากความเสียหายเนื่องจากโรคที่เกิดกับปศุสัตว์ซึ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากการปรากฏการ์ณทางภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ยังศึกษารูปแบบการเพาะปลูกและการเกิดโรคในพืชผักตั้งแต่หัวมันฝรั่ง มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม ไปจนถึงผักใบเขียวจำพวกกะหล่ำและผักโขม เพื่อดูว่าจะสามารถเพาะปลูกท่ามกลางความกดดันซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนและผลข้างเคียงได้อย่างไร ซึ่งแจกกี ฮิวส์ (Jackie Hughes) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฐานวิจัยศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Centre) ในเมืองซั่นหัว ไต้หวัน กล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาด้านน้ำ

"คุณกำลังจะประสบกับพายุไต้ฝุ่น ไซโคลนและเฮอร์ริเคน" ฮิวส์กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่าผู้เพาะปลูกจำเป็นต้องเพาะปลูกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อจัดการกับปัญหาน้องท่วม ใช้ฝนเทียมและระบบป้องกันแมลงกับพืชผลของพวกเขา และอาจต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูก เช่น ย้ายหัวหอมไปยังอีกทีหนึ่ง และย้ายมะเขือเทศกับกะหล่ำปลีไปยังบริเวณที่แห้งมากๆ เป็นต้น

ฮิวส์แจงอีกว่าความสำเร็จในการติดตามผลกะทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อพืชผลทางการเกษตรนั้นมีความสำคัญต่อโลกซึ่งมีประชากรนับพันล้านที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ โดยเธอได้ให้ข้อมูลอีกว่าโดยเฉลี่ยในผู้ใหญ่จะต้องการบริโภคผักประมาณปีละ 74 กิโลกรัมแต่ส่วนใหญ่ก็บริโภคไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่สร้างความเสียหายต่อมะเขือเทศจากโรคอันเนื่องจากสภาพอากาศซึ่งสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่การเพาะปลูกมะเขือเทศ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000140378

8 ดาวแคระขาวประหลาดบนทางช้างเผือก คาร์บอนเต็มชั้นบรรยากาศ


เอเยนซี/สเปซด็อทคอม/แอริโซนายู – นักดาราศาสตร์พบ 8 ดาวแคระขาวชนิดใหม่บนทางช้างเผือก ชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยคาร์บอนต่างจากตำราเดิมที่ดาวชนิดนี้จะต้องมีไฮโดรเจนและฮีเลียม เตรียมค้นหาที่มาการดับของดวงดาวว่ามวลน้อยหรือซูเปอร์โนวา

ดาวแคระขาว (white dwarf) ถือเป็นจุดจบของดาวฤกษ์กว่า 97% ในเอกภพ รวมถึงดวงอาทิตย์ของเราในอีก 5 พันล้านปีด้วย เมื่อก๊าซฮีเลียมอันเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ใจกลางดาวหมดลง จึงเกิดการระเบิดพัดพาเอาผิวด้านนอกไป ดาวยุบตัวเหลือเพียงแกนดาวที่อัดแน่นกลายเป็น "ดาวแคระขาว" ส่องแสงสลัวๆ ขนาดใหญ่กว่าโลกของเราเพียงเล็กน้อย พร้อมกับกลุ่มก๊าซปกคลุมชั้นบรรยากาศไว้บางๆ เป็นก๊าซไฮโดรเจน 80% และก๊าซฮีเลียมอีก 20%

ทีมของ ดร.ปาทรีก ดูฟูร์ (Patrick Dufour) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ จากหอดูดาวสตีวาร์ด (Steward Observatory) มหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) สหรัฐฯ เผยว่า พวกเขาได้ค้นพบดาวแคระขาว 8 ดวงที่มีคุณสมบัติต่างออกไป โดยมีอุณหภูมิ 18,000-23,000 เคลวิน (เทียบกับพื้นผิวดวงอาทิตย์มีประมาณ 5,780 เคลวิน) ที่สำคัญคือแทบไม่มีร่องรอยของก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซฮีเลียมเลย

มีเพียงแต่แกนกลางที่เป็นเศษเถ้าถ่านซึ่งประกอบด้วยคาร์บอนและออกซิเจนที่เหลือจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในสัดส่วนพอๆ กันเท่านั้น ขณะที่เถ้าถ่านบางส่วนก็ลอยปกคลุมชั้นบรรยากาศเอาไว้

“ช่างเหนือความคาดหมายจริงๆ เพราะดาวแคระขาวที่เราเคยค้นพบ ไม่อุดมไปด้วยไฮโดรเจน ก็ฮีเลียมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การค้นพบครั้งนี้ไม่ใช่ จึงนับเป็นการค้นพบดาวฤกษ์ชนิดใหม่ไปเลย” ดูฟูร์กล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วมวลของดาวฤกษ์ 85% จะหายไปหลังจากที่มันยุบตัว และอาจเป็นได้ว่าจะสูญเสียไฮโดรเจนและฮีเลียมจนหมดไปในขั้นนี้

ขณะที่การวิจัย ณ เวลานี้พบว่า มีดาวแคระขาว 2-3 ดวงเท่านั้นที่กล่าวได้ว่าไม่มีก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเหลืออยู่เลย

ทั้งนี้ ดูฟูร์ พร้อมทีมวิจัยอีก 3 คน คือ ศ.เจมส์ ลีเบิร์ท (James Liebert) และนักวิจัยอื่นๆ อีกจากมหาวิทยาลัยมอนทรีอัล (the Université de Montréal) ประเทศแคนาดา และจากหอดูดาวปารีส (Paris Observatory) ประเทศฝรั่งเศส ได้ตีพิมพ์รายงานผลการค้นพบลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) ฉบับวันที่ 22 พ.ย.

เดิมทีลีเบิร์ทค้นพบดาวแคระขาวชนิดใหม่นี้ตั้งแต่ปี 2546 และเรียกว่าดาวประเภทนี้ว่า "ดีคิว" (DQ) และเมื่อมองดีคิวในคลื่นแสงที่ตามองเห็น ทำให้พบว่าชั้นบรรยากาศของดีคิวเต็มไปด้วยฮีเลียมและคาร์บอน ซึ่งการหมุนเวียนความร้อนภายใน ทำให้คาร์บอนจากแกนดาวที่เต็มไปด้วยคาร์บอนและออกซิเจนถูกดึงขึ้นมาที่ชั้นบรรยากาศด้วย

แรกเริ่มดูฟูร์ได้พัฒนาแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ชั้นบรรยากาศของดีคิว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกที่ ม.มอนทรีอัล ในตอนนั้นแบบจำลองของเขาเลียนแบบการเกิดดาวดีคิวแบบเย็นคือมีอุณหภูมิระหว่าง 5,000 - 12,000 องศาเคลวิน โดยอาศัยฐานข้อมูลดาวแคระขาวประมาณ 10,000 ดวงของเอสดีเอสเอส (SDSS : Sloan Digital Sky Survey)

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาดูฟูร์ร่วมงานกับหอดูดาวสตีวาร์ด เขาเขยิบไปอีกขั้นด้วยการสร้างแบบจำลองค้นหาดาวดีคิวที่มีความร้อนสูงกว่าเดิมถึง 24,000 เคลวิน ดูฟูร์ทำแบบจำลองค้นหาดาวดีคิวนับ 200 ดวงที่เต็มไปด้วยคาร์บอนเพียงอย่างเดียว นั่นเพราะไม่เคยมีผู้ใดทำแบบจำลองชั้นบรรยากาศของดาวแคระขาวให้มีปริมาณคาร์บอนมีมากเท่านี้มาก่อน

ในที่สุดเขาก็ค้นพบดาวแคระขาวที่เต็มไปด้วยคาร์บอนตามแบบจำลองที่วิเคราะห์ขึ้นจริง จากฐานข้อมูลของเอสดีเอสเอส

พวกเขาและทีมค้นพบดาวแคระขาวที่ชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยคาร์บอนถึง 8 ดวงเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ณ หอดูดาวอาปาเซ พอยท์

ดาวแคระขาวชนิดใหม่ทั้ง 8 ดวงน่าจะเกิดมาจากดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 8-10 เท่า แต่ยังไม่มากพอให้เกิดมหานวดารา หรือ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) ได้ โดยทั้ง 8 ดวงโคจรอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกห่างจากโลก 1-2 พันปีแสง (1 ปีแสงประมาณ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร)

หนึ่งในดาวฤกษ์ที่นำมาเทียบเคียงได้กับต้นกำเนิดของดาวแคระขาวกลุ่มนี้คือ ดาว “เอช 1504+65” (H 1504+65) ที่คาดว่าเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงจนดันมวลก๊าซที่ห่อหุ้มดาวทั้งหมดออกไป จนเหลือแต่ใจกลางของดวงดาวที่มีคาร์บอนและออกซิเจนเป็นส่วนประกอบอย่างละครึ่ง

“การค้นพบนี้น่าจะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษากำเนิดดาวขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี และเราเชื่อว่าน่าจะมีดาวแคระขาวที่เข้าข่ายที่ว่านี้อีกสักคู่หนึ่งจากดาวแคระขาวที่มีการค้นพบแล้วราว 10,000 ดวงด้วย” ดูฟูร์ กล่าว

ขณะที่การศึกษาระยะต่อไปพวกเขาจะสำรวจดาวแคระขาวทั้ง 8 ด้วยกล้องดูดาวที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมคือเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5 เมตร ณ หอดูดาวเอ็มเอ็มที (MMT Observatory) บนเมาท์ฮอปกินส์ (Mount Hopkins) รัฐแอริโซนา เพื่อระบุว่าดาวแคระขาวที่ค้นพบนี้มาจากดาวฤกษ์ที่หมดอายุขัยเพราะมวลอันจำกัดหรือเพราะซูเปอร์โนวากันแน่

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000138943

ลาดกระบังซิวแชมป์เกมพีซีหนุนเยาวชนและครอบครัวออกกำลังกาย


เกมออกกำลังกายบนเครื่องคอมพิวเตอร์ฝีมือนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คว้ารางวัลที่หนึ่งจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) เล็งเจาะกลุ่มเยาวชน 4-12 ปี และผู้ปกครองเป็นหลัก

นายสนหาญวงศ์ นักศึกษาปริญญาโทจากสาขาวิทยาการสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ร่วมกับเพื่อนพัฒนาเกมพีซีออกกำลังกายสนับสนุนให้เด็กและผู้ใหญ่เคลื่อนไหวร่างกายแทนที่นั่งจับเจ่าเล่นเกมออนไลน์อยู่กับที่

เกมออกกำลังกายที่พัฒนาขึ้นแบ่งออกเป็น4 รูปแบบ ขึ้นอยู่ว่าผู้เล่นต้องการออกกำลังกายแบบไหน การเล่นเกมดังกล่าวคอมพิวเตอร์ของผู้เล่นจำเป็นต้องติดตั้งกล้องเว็บแคมบนจอคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวท่าทางโต้ตอบกับโปรแกรมเกม

เกมแรกเป็นกีฬาต่อยมวยที่ให้ผู้เล่นออกท่าทางการชก หรือหลบหลีกคู่ต่อสู้ในคอมพิวเตอร์ ส่วนเกมที่สองเป็นเกมแข่งวิ่ง ผู้เล่นสามารถเลือกได้ 2 แบบ ได้แก่ เลือกให้กล้องจับภาพการเคลื่อนไหวในท่าวิ่งอยู่กับที่ทั้งตัว หรือให้จับภาพเฉพาะจุดบริเวณเท้าเพียงตำแหน่งเดียว เกมถัดมาเป็นเกมลุกนั่งซึ่งผู้เล่นต้องออกท่าทางในการลุกและนั่งภายในเวลาที่กำหนด

เกมสุดท้ายจะเป็นเกมโยนลูกบาสเกตบอลเข้าห่วงโดยไม่ต้องใช้ลูกบอลจริง แค่ทำท่าทางเหมือนกำลัง "ชู้ต" ลูกบาสให้ลงแป้นที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

เกมแต่ละโหมดสามารถตั้งระดับความยากง่ายได้ต่างกันโดยเวลาที่กำหนดให้เล่นแต่ละครั้งจะอยู่ระหว่าง 30 วินาที ถึง 2 นาที สามารถเล่นทีละคน คำสั่งบนหน้าจอเป็นภาษาไทยเข้าใจง่าย โปรแกรมทำงานโดยนำภาพจากกล้องเว็บแคมไปประมวลผลและแปลงออกมาเป็นคะแนนที่ผู้เล่นสามารถทำได้

"ผู้พัฒนาตั้งเป้าไว้ว่าจะเจาะกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ 4-12 ขวบ และกลุ่มผู้ปกครองเป็นหลัก ผู้ร่วมทีมพัฒนาเกมกล่าวและว่า เกมออกกำลังกายนี้ใช้ต้นทุนเพียง 100 กว่าบาท ก็สามารถซื้อหามาเล่นที่บ้านได้กันทั้งครอบครัว ไม่เพียงได้ออกกำลังกาย แต่ยังเป็นการใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย

เกมออกกำลังกายสามารถคว้ารางวัลที่1 หมวดหมู่บุคคลทั่วไป จากงานไทยแลนด์ แอนิเมชั่น 2007 (TAM 2007) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเมืองทองธานี

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Sunday, November 25, 2007

นิสิตจุฬาฯ คว้าแชมป์สร้างหุ่นยนต์กู้ภัย

ที่เอ็มซีซีมอลล์ เดอะ มอลล์ งาม วงศ์วาน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. มีการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย หรือ Thai land Rescue Robot Championship 2007 ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) โดยในการแข่งขัน รอบสุดท้ายมี 8 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ แต่ละทีมจะส่งหุ่นยนต์ ลงสนามทีมละ 20 นาที สนามการแข่งขันจะจำลองเหตุการณ์เกิดภัยพิบัติและมีผู้ติดอยู่ในซากปรักหักพัง โดยหุ่นยนต์จะต้องลงไปหาผู้เสียชีวิตหรือรอดชีวิตจากเหตุการณ์ บรรยากาศในการแข่งขันเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากแต่ละสถาบันการศึกษาจะขนทีมกองเชียร์มาเชียร์ทีมของตนเองกันอย่างสนุกสนาน

หลังเสร็จสิ้นการแข่งขันผลปรากฏว่า ทีม Plasma-RX จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติล้วนเพียงทีมเดียว เฉือนเอาชนะคู่แข่งคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยปีนี้ไปครอง พร้อมกับได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปป้องกันแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกสมัยที่ 3 หรือ World Robocup Rescue ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะจัดขึ้นกลางปี 2551 โดยทีม Plasma-RX ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศ ได้แก่ทีม CEO MISSION V จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท สำหรับรางวัล Best Technique ได้แก่ทีม Inchoation จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ รางวัล Best Creativity ได้แก่ทีม Miracle จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทรากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยแบบอัตโนมัติ คือไม่ต้องมีคนบังคับเข้าแข่งขันด้วย หากนำไปใช้จริงก็จะเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติยังถือว่าเข้า กฎกติกาของการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ได้เป็นอย่างดี เพราะหุ่นยนต์กู้ภัยจะต้องมี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง และนับเป็นความสำเร็จของการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในประเทศไทย

ด้าน นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว ตัวแทน ทีม Independent จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยโลกสองปีซ้อน กล่าวว่า ในปีนี้ทีม Independent จะไม่เข้าร่วมแข่งขันระดับโลกเพราะต้องการเปิดโอกาสให้รุ่นน้อง อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ Independent ได้ใช้เป็นหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อพัฒนาไปใช้ในการทำงานกู้ภัยของกระทรวงกลาโหม โดยคาดว่าในปีหน้าหุ่นยนต์ตัวใหม่ที่กำลังพัฒนานี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประเทศได้.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link : http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=147022&NewsType=1&Template=1

ชมฝนดาวตกเจมินิดส์ หอดูดาวจัดกิจกรรมรับ

หอดูดาวสิรินธรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดหลังคาโดมให้ประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์อันสวยงามของฝนดาวตกเจมินิดส์
ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ธ.ค.นี้ เผยตกเฉลี่ย 50-80 ดวงต่อชั่วโมง มั่นใจนักดูดาวไม่ผิดหวัง

รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ฝนดาวตก "เจมินิดส์" (Geminids) ที่จะเกิดในครั้งนี้เป็นฝนดาวตกที่ดีสุดของปี และที่ผ่านมาไม่เคยทำให้นักดูดาวผิดหวัง สามารถเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 6-18 ธันวาคม 2550 แต่ช่วงที่ตกมากสุดคือ คืนวันที่ 13 และ 14 ธันวาคม โดยมีอัตราประมาณ 50-80 ดวงต่อชั่วโมง

ฝนดาวตกเจมินิดส์ครั้งนี้ดูได้ตั้งแต่21.00 น. ซึ่งไม่ดึกมากนัก และควรจะนอนดูเพื่อมองเห็นได้ทั่วท้องฟ้า นอกจากนี้ ระหว่างรอดูฝนดาวตกเจมินิดส์ ก็สามารถดูจันทร์เสี้ยวทางทิศตะวันตก หรือดูดาวอังคารที่ขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มดาวคนคู่ได้

ชื่อของฝนดาวตกเจมินิดส์มาจากฝนดาวตกในกลุ่มดาวเจมิไน หรือกลุ่มดาวคนคู่ ที่จะขึ้นเวลาประมาณ 21.00 น. นักดาราศาสตร์ค้นพบฝนดาวตกเจมินิดส์เมื่อปี 2526 ซึ่งเกิดจากฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟทอน และถือเป็นครั้งแรกที่พบว่าดาวเคราะห์น้อยเกี่ยวข้องกับฝนดาวตก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจึงเชิญชวนร่วมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Friday, November 16, 2007

สวิสเปิดตัว"โซลาร์อิมพัลซ์" เครื่องบินพลังแสงอาทิตย์


ต้นแบบเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ "โซลาร์อิมพัลซ์" ของสวิตเซอร์แลนด์จะทำการขึ้นบินในฤดูใบไม้ร่วงของปีหน้า โดยเครื่องบิน "อัลตราไลต์" ลำนี้ได้ย่อส่วนเครื่องบินลงมา มีน้ำหนักเพียง 1.5 ตัน แต่มีความยาวปีกรวมทั้งหมด 262 ฟุต เท่ากับปีกเครื่องบินแอร์บัส A380 ส่วนข้อแตกต่างของ A380 กับ "โซลาร์อิมพัลซ์" คือ A380 บรรจุผู้โดยสารได้ 800 คน มีความเร็วสูงสุดมากกว่า 560 ไมล์ต่อชั่วโมง ขณะที่ "อัลตราไลต์" มีเพียง 1 ที่นั่ง และมีความเร็วเพียง 40 ไมล์ต่อชั่วโมง

โครงการโซลาร์อิมพัลซ์ มีหัวหน้าคือ "อังเดร บอร์ชเวิร์ก" และ "เบอร์ทราน พิกคาร์ด" นักบินและนักผจญภัยชื่อดัง รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คน จาก 6 ประเทศเข้าร่วมโปรเจ็กต์ ใช้เงินทุนประมาณ 70 ล้านยูโร หรือ 3,200 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างสถิติตามอย่าง "ชาร์ลส์ ลินเบิร์ก" นักบุกเบิกด้านเครื่องบิน ที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อ ค.ศ.1927 และชัก เยเกอร์ ผู้สร้างเครื่องบินเร็วกว่าเสียงเมื่อ ค.ศ.1947 ส่วน "โซลาร์อิมพัลซ์" จะเป็นการบินที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และคาดว่าจะทำลายสถิติในหลายด้าน เช่น แอโรไดนามิกส์ ระบบควบคุม การประหยัดพลังงาน วัสดุและโครงสร้าง รวมทั้งการแผ่แผ่นคาร์บอนให้มีความหนาไม่ถึงมิลลิเมตรตลอดความยาว 20 เมตร

นายอังเดร บอร์ชเวิร์ก ผู้บริหารโครงการกล่าวว่า เมื่อใดที่เครื่องบินสร้างเสร็จแล้วจะมีแผงโซลาร์เซลล์ติดอยู่ที่ปีกเครื่องบินรวมพื้นที่ประมาณ 250 ตารางเมตร เพื่อส่งพลังงานไปให้กับเครื่องยนต์ 4 ตัว

พิคคาร์ดมีความเห็นว่า หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการสะสมพลังงานที่ทำให้เครื่องบินลำจิ๋วสามารถบินได้หลังพระอาทิตย์ตก เนื่องจากมีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่พลังงานที่สะสมไว้อาจหมดก่อน พระอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ระหว่างวันเครื่องบินต้องบินสูงเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมง ในระดับที่พอเพียงที่จะเก็บพลังงานแสงอาทิตย์คือ 42,000 ฟุต เพื่อให้บินเหนือเมฆ เพราะถ้าวันใดมีเมฆมากจะเป็นอุปสรรคต่อการสะสมพลังงาน การออกบินแต่ละครั้งต้องมีนักอุตุนิยมวิทยาแนะนำ เพื่อหาเส้นทางที่มีแสงสว่างมากที่สุดและมีหลุมอากาศน้อยที่สุด

ถ้าการสร้างเครื่องบินประสบความสำเร็จลงด้วยดี ในปี 2552 จะมีการทดลองบินโดยไม่หยุดพักเป็นเวลา 36 ชั่วโมง โดยพิกคาร์ดจะเป็นผู้ขับ และปี 2554 มีแผนทำการบินรอบโลก คาดว่าใช้เวลานานประมาณ 4 อาทิตย์ ถึงบินเสร็จ 1 รอบ

รวิกานต์ แก้วประสิทธิ์

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNekUyTVRFMU1BPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd055MHhNUzB4Tmc9PQ==

Thursday, November 15, 2007

สดร.ชวนดูฝนดาวตกลีโอนิดส์ 17 พ.ย. 50


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ หอดูดาวสิรินธร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมร่วมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ในวันที่ 17 พ.ย. 2550 นี้ หลังจากที่ดาวหางเทมเปิล-ทัตเทิล (Comet Temple-Tuttle) ซึ่งเป็นดาวหางคาบสั้น ที่มีคาบวงโคจรรอบละ 33 ปี ได้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ. ศ. 2541 ทิ้งเศษฝุ่นและน้ำแข็งซึ่งเป็นองค์ประกอบของดาวหางเป็นจำนวนมหาศาลไว้ ตามทางโคจรที่ดางหางเคลื่อนที่ผ่าน และทุกปีในราวกลางเดือนพฤศจิกายน โลกจะโคจรตัดกับวงโคจรของดาวหางนี้ ทำให้เกิดฝนดางตกเป็นจำนวนมากทุกปี ในช่วงเวลาดังกล่าว

ในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นี้ ปริมาณของดาวตกจะมีไม่มาก ประมาณ 10 ดวงต่อชั่วโมง ถึงแม้ว่าจำนวนจะน้อย แต่ส่วนมากจะเป็นดาวตกขนาดใหญ่และสว่าง ปีนี้ ดวงจันทร์จะตกประมาณเที่ยงคืน ทำให้ไม่มีแสงจันทร์รบกวนในการดูดาวตกครั้งนี้ แต่อาจมีเมฆปกคลุมในบางพื้นที่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในช่วงต้นของฤดูหนาว

การดูฝนดาวตก ต้องดูในที่มืดและปลอดภัย ควรไปดูกันเป็นกลุ่ม อาจจำเป็นต้องนอนดู เพื่อที่จะได้เห็นท้องฟ้าเป็นมุมกว้าง ไม่จำเป็นต้องจ้องไปทางทิศตะวันออกที่กลุ่มดาวสิงโตกำลังขึ้นในช่วงหลังเที่ยงคืน ซึ่งดาวตกจะพุ่งเข้ามาด้วยความเร็วสูงและเผาไหม้ในอากาศในเราเห็นเป็นดาวตก ถ้าต้องการถ่ายภาพ ก็ต้องใช้กล้องฟิล์มหรือดิจิตัลแบบ SLR เพราะสามารถเปิดหน้ากล้องได้นาน ถ้ามีสายลั่นชัตเตอร์ด้วยก็จะทำให้เปิดหน้ากล้องได้นานเท่าที่ต้องการ แต่ต้องไม่นานจนสว่างไปทั้งภาพ อาจประมาณ 5 นาที ต่อภาพ แล้วค่อยถ่ายใหม่ อย่างไรก็ตาม ขอให้ฝนดาวตกปีนี้ทำให้คนที่ชื่นชอบความงามของดวงดาวได้ประทับใจอีกครั้งกับความสวยงามของท้องฟ้า

ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ครั้งนี้ได้ตั้งแต่เวลา 18.00 – 24.00 น.
ณ หอดูดาวสิรินธร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มา: www.narit.or.th
Link: http://www.narit.or.th/src/newsdetail_nari_inc.php?id=20070041

“แมวกับหมาใครฉลาดกว่ากัน” ชวนหนูๆ ไปพิสูจน์ดูในเทศกาลหนังวิทย์


แมวเหมียวและเจ้าตูบ 2 สัตว์เลี้ยงยอดฮิตที่ประชันความน่ารักและความฉลาดกันมาตลอดกาล ขนาดฮอลลีวูดยังจับประชันบทบาทกันใน “แคท แอนด์ ด็อก” ภาพยนต์การชิงไหวชิงพริบระหว่างหมาและแมวที่ไม่ลงรอยกันได้อย่างสนุกสนาน แล้วเจ้าสี่ขาชนิดไหนกันแน่ ที่ฉลาดกว่ากัน ร่วมค้นหาคำตอบกันได้แล้ววันนี้ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์

“ผจญภัยในโลก ตอน แมวกับสุนัข ใครฉลาดกว่ากัน?” (Abenteuer Erde: Hund oder Kats, er ist kluger?)ภาพยนตร์สาระบันเทิงจากเยอรมนี ที่น่าดูอีกหนึ่งเรื่องในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 3 ให้ทั้งความสนุกสนาน ตื่นเต้น และร่วมลุ้นไปกับเพื่อนสี่ขาที่ต้องเจอบททดสอบต่างๆ นานา เพื่อแข่งขันกันว่า แท้ที่จริงแล้ว “แมวกับสุนัข ใครฉลาดกว่ากัน” กันแน่

เพื่อนบ้านที่เลี้ยงสุนัขและหมาต่างถกเถียงกันเป็นประจำว่า “สัตว์เลี้ยงสุดเลิฟของใครฉลาดกว่ากัน” คนที่เลี้ยงแมวก็ต้องบอกว่าเจ้าเหมียวฉลาดกว่า เพราะจับหนูมาให้ทุกวันบ้างล่ะ ปลดทุกข์ในที่ที่จัดไว้ให้บ้างล่ะ

ส่วนคนที่เลี้ยงหมาก็ต้องบอกว่า เจ้าตูบของเขาฉลาดกว่า และยังฉลาดสุดสุดด้วย

นักวิทยาศาสตร์และนักเรียนช่างสงสัยก็เลยคิดหาวิธีทดสอบสติปัญญาของเพื่อนต่างสายพันธุ์เหล่านี้ เพื่อหาข้อสรุปว่า ใครฉลาดกว่ากัน

บททดสอบแรกเริ่มด้วยการจัดฉากกั้นแมวและสุนัขเอาไว้เป็นรูปหลังคา ที่เผยเป็นช่องว่างเพียงเล็กน้อย แล้วนำอาหารผูกติดกับเชือก ล่อน้องเหมียวและน้องหมาผ่านช่องแคบๆ แล้วดูซิว่าน้องเหมียวกับน้องหมาจะหาวิธีข้ามสิ่งกีดขวางนั้นได้อย่างไร

ถัดมาเป็นการทดสอบการนับเลขโดยให้แมวและสุนัขฟังเสียงเคาะระฆัง แล้วเลือกถ้วยอาหารที่ปิดฝาและมีจำนวนเลขอยู่บนนั้น ใครจะเลือกถูกกันบ้างนะ

นอกจากนี้ ยังทดสอบการฟังคำสั่งต่างๆ จากครูฝึกหรือผู้เลี้ยง ทดสอบหยิบของตามที่เจ้านายสั่ง ฝึกการทรงตัว การแสดง และการดมกลิ่นเพื่อจับโจรผู้ร้าย เป็นต้น

เหล่านี้เป็นบททดสอบเพื่อค้นหาคำตอบว่า ใครจะฉลาดหรือมีความสามารถมากกว่ากัน หรือใครมีไหวพริบที่จะทำให้เจ้านายหันมาเอาใจได้มากกว่ากัน

พร้อมทั้งร่วมย้อนอดีต ไขปริศนาที่มาของสุนัขและแมวว่า กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคย และเพื่อนรู้ใจของมนุษย์มาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วได้อย่างไร

น้องๆ อนุบาล 3 จากโรงเรียนอนุบาลสารินย่านถนนสามเสนกว่า 30 คน ที่มาร่วมหาคำตอบความฉลาดของแมวและหมาผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร สวนจตุจักร ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสนุก แมวกับสุนัขก็น่ารักมากๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเป็ปซี แฮร์รี หรือโรบี และเพื่อนสี่ขาตัวอื่นๆ ที่เข้าร่วมทดสอบความสามารถต่างๆ และแทบทุกครั้งที่เจ้าตัวไหนสอบผ่าน เด็กๆ ก็ปรบมือชมเชยเสียงดังลั่น

ไม่ว่าในภาพยนตร์จะสรุปว่าอย่างไร แต่น้องคิว หรือ ด.ช.คิวทาโร กิ่งพะโยม บอกว่า แมวฉลาดกว่า เพราะที่บ้านน้องคิวเลี้ยงทั้งแมวและหมา แต่แมวเชื่อฟังน้องคิวมากกว่า เวลาที่เขาไม่สบายเขาก็รู้ว่าต้องไปหาหมอและต้องกินยา เวลาสกปรกก็ให้อาบน้ำให้แต่โดยดี

ด้านน้องต้น ด.ช.นิติรัฐ สิทธิเทศานนท์ ก็บอกว่าแมวฉลาดกว่า เพราะเขารักความสะอาดมากกว่าหมา แต่ถ้าจะให้เลี้ยงแมว น้องต้นก็ไม่เลี้ยง เพราะตอนนี้เลี้ยงหนูแฮมเตอร์อยู่

ส่วนน้องออสซี ด.ช.อนิก รมยานนท์ และน้องเนิร์ธ ด.ญ.บุญยาพร ดำรงธรรมวุฒิ บอกว่าหมาฉลาดกว่า เพราะว่าเชื่อฟังคำสั่งมากกว่าแมว และฝึกได้ง่ายกว่า ซึ่งทั้ง 2 คน ชอบตอนที่ให้สุนัขดมกลิ่นอาวุธที่คนร้ายทิ้งๆ ไว้และดมกลิ่นสิ่งของที่ตำรวจให้ผู้ต้องสงสัย 5 คน สัมผัสมากก่อน ซึ่งสุนัขทุกตัวเลือกถูกหมดเลย

ด้านคุณครูพัชรีพงษ์ ศรีจันทร์ กล่าวว่า เพิ่งทราบปีนี้เป็นปีแรกว่ามีเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย จึงสนใจและพาเด็กๆ มาชม โดยให้เด็กๆ เป็นคนเลือกกันเองว่าอยากจะชมเรื่องอะไร

“การมาชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทำให้เด็กๆ ได้ความรู้มากขึ้นจากในห้องเรียน ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าความรู้จะมีอยู่แต่ในห้องเรียนหรือในโรงเรียนเท่านั้น ข้างนอกห้องเรียนหรือสื่อต่างๆ ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้เหมือนกัน และเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่เด็กๆ จะให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ” ครูพัชรีพงษ์ กล่าว

ส่วนคนที่ยังไม่หายสงสัยว่าแมวและสุนัขนั้นใครฉลาดกว่ากันแน่ ร่วมค้นหาคำตอบได้ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ได้ โดยจะฉายอีกครั้งที่พิพิธภัณฑ์เด็กฯ วันที่ 17 พ.ย. เวลา 13.00 น. และวันที่ 23 พ.ย. เวลา 13.00 น.

ส่วนที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) เอกมัย, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และอุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ก เซ็นทรัลเวิร์ลด ก็จัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ เช่นเดียวกัน และสามารถตรวจสอบตารางฉายภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ได้ที่http://www.goethe.de/ins/th/prj/wif/prg/thindex.htm

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000135203

Wednesday, November 14, 2007

นักวิทย์มะกันชี้จักรวาลผอมลงรอ'นาซา'ส่งยานสำรวจพิสูจน์

หลังจากคำนวณกันรอบใหม่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจึงรู้ว่า จักรวาลมีสสารปกติและสสารมืด "น้อยกว่า" ที่เคยคิดกัน เท่ากับว่าจักรวาลมีน้ำหนักลดลง 10-20%

แต่การยืนยันข้อสรุปนี้จำเป็นต้องพึ่งพานาซาในการส่งยานอวกาศไปสำรวจท้องฟ้าเพื่อหาแนวเส้นรังสีเอ็กซ์ของสสารปกติ

บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า"สสารมืด" มาบ้างแล้วแต่ยังงงอยู่ว่าคืออะไรกันแน่ สสารมืดเป็นสสารลึกลับที่มองไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันมีจำนวนมากกว่า "สสารปกติ" ในสัดส่วน 5 ต่อ 1 ทั้งนี้ สสารปกติได้แก่ ฝุ่นอวกาศ ก๊าซ ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ อุกกาบาต น้ำแข็งและอื่นๆ ในจักรวาลที่มองเห็นเป็นตัวตน

การประเมินครั้งล่าสุดมาจากการเฝ้าสังเกตกระจุกกาแล็กซีอะเบล 3112 เมื่อปี 2545 นักดาราศาสตร์ประกาศว่า พวกเขาติดตามร่องรอยของรังสีเอ็กซ์ในกระจุกกาแล็กซี รวมถึงฝุ่นเมฆและก๊าซที่อยู่ระหว่างกาแล็กซี ขณะที่การสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์จันทราของนาซา กลับไม่พบสัญญาณของแสง หรือที่เรียกว่า แนวเส้นการกระจายสเปกตรัม ที่ควรเปล่งออกมาจากอะตอมในกลุ่มเมฆ
ถึงตอนนี้ทีมงานคิดว่ารังสีเอ็กซเรย์ที่พบครั้งนั้น เป็นผลมาจากการปะทะกันระหว่างอิเล็กตรอนและโปรตอนในอวกาศ เมื่อเป็นเช่นนี้นักดาราศาสตร์จึงประเมินน้ำหนักกระจุกกาแล็กซีใหม่

สิ่งที่เกิดขึ้นหมายความว่าเมฆที่เปล่งรังสีเอ็กซ์มีมวลน้อยกว่าที่เราคาดไว้ แม็กซ์โบนาเมนเต นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐ กล่าว

ทฤษฎีสสารมืดได้รับการนำเสนอเพื่ออธิบายว่าทำไมกาแล็กซีถึงเกาะกลุ่มกันโดยไม่หนีแยกจากกัน ทั้งที่หมุนด้วยความเร็วจี๋ ดังนั้น เมื่อกาแล็กซีอะเบลมีสสารปกติน้อยลง สสารมืดจึงมีปริมาณน้อยลงเพื่อดึงกาแล็กซีให้เกาะกลุ่มกัน

นักดาราศาสตร์กล่าวว่าถ้านำหลักดังกล่าวมาอธิบายกระจุกกาแล็กซีอื่น เท่ากับว่าจักรวาลทั้งหมดมีน้ำหนักเบาลง อย่างไรก็ตาม การค้นพบล่าสุดของทีมนี้ จำเป็นต้องส่งยานอวกาศไปส่องท้องฟ้า เพื่อหาแนวเส้นการกระจายรังสีเอ็กซ์ของสสารปกติเพื่อยืนยัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

มจธ.พบเทคนิคประหยัดก๊าซ ส่งต่อความรู้ช่วยผู้ผลิตกุนเชียงลดต้นทุน 60%

มจธ.รับมอบจากกระทรวงพลังงานศึกษาหาวิธีช่วยโรงงานกุนเชียงประหยัดค่าก๊าซหุงต้ม เผยผลทดสอบใน 4 โรงงานนำร่องลดต้นทุนก๊าซได้ 60%

เตรียมติดตั้งระบบเพิ่มในอีก4 โรงงานให้เป็นตัวอย่าง ก่อนขยายทั่วประเทศ

นายวีระพลจิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มอบทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษาหาวิธีช่วยให้โรงงานผลิตกุนเชียงประหยัดต้นทุนค่าก๊าซหุงต้ม

จากการสำรวจโรงงานผลิตกุนเชียงประมาณ107 แห่ง พบส่วนใหญ่ใช้ตู้อบแห้งกุนเชียงประสิทธิภาพต่ำ ทำให้สิ้นเปลืองก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการอบแห้ง ขณะที่ผลผลิตกุนเชียงมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เช่น สี และความชื้น ทำให้ขายได้ในราคาค่อนข้างต่ำ
รศ.ดร.สุวิทย์เตีย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มจธ. กล่าวว่า เตาอบแห้งกุนเชียงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง 3 ด้านหลัก คือ ใส่ฉนวนเพื่อลดความร้อนที่สูญเสียผ่านทางผนัง, เพิ่มระบบควบคุมอุณหภูมิภายในตู้อบให้สามารถปรับอุณหภูมิได้ตามต้องการ และทำช่องระบายอากาศของตู้ ที่สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับปริมาณในการอบแห้ง เพื่อลดความร้อนที่สูญเสียไปกับการระบายมากเกินจำเป็น

ทั้งนี้จากการทดลองปรับปรุงเตาอบแห้งของ 4 โรงงานนำร่อง ได้แก่ โรงงานกุนเชียงนวลจันทร์ จ.สกลนคร หจก.เจ.เอช. เอกคลูซีฟ (กุนเชียงเจ๊ฮวง) จ.นครราชสีมา โรงงานกุนเชียงคุณสุ จ.นครราชสีมา และโรงงานกุนเชียงลิ้มไท้เชียง จ.นครราชสีมา พร้อมทั้งทดลองใช้งานไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และช่วยลดการใช้พลังงานได้จริง

ก่อนหน้าการปรับปรุงเตาอบแห้งกุนเชียงโรงงานแต่ละแห่งมีอัตราการใช้ก๊าซหุงต้มต่อน้ำหนักผลิตภัณฑ์กุนเชียง 0.11-0.13 กิโลกรัมแอลพีจีต่อกิโลกรัมกุนเชียง และภายหลังการปรับปรุงอัตราการใช้ก๊าซหุงต้มเหลือเพียง 0.04-0.07 กิโลกรัมแอลพีจีต่อกิโลกรัมกุนเชียง คิดเป็น 60% หรือประหยัดค่าก๊าซได้ 1.0-1.46 บาทต่อกิโลกรัมกุนเชียง" รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว

มจธ.เตรียมที่จะปรับปรุงเตาอบแห้งกุนเชียงเพิ่มอีกใน4 โรงงาน ได้แก่ โรงงานอาหารดีมีคุณ จ. ฉะเชิงเทรา กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวิหารขาวสามัคคี จ.สิงห์บุรี โรงงานสมพรเฟรชพอร์ค และโรงงานคุณทัศนะ จ.นครปฐม พร้อมทั้งจะเร่งเผยแพร่ข้อมูลให้แก่รายอื่นที่สนใจจะลดการใช้พลังงานต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, November 8, 2007

ไทยจัดแข่งโอลิมปิกดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ส่งเทียบเชิญนักเรียนชั้นมัธยมปลาย 22 ประเทศ ประชันความสามารถบนเวทีโอลิมปิกด้านดาราศาสตร์ครั้งที่ 1

รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เตรียมจัดแข่งขันดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน-9 ธันวาคมนี้ ที่สถานบริการวิชาการ มช. และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

การแข่งขันดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มคาดว่าจะมีผู้เข้าแข่งขันครั้งนี้กว่า 200 คน จาก 22 ประเทศทั่วโลก โดยจำกัดเฉพาะนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย ส่วนรูปแบบการแข่งขันจะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสังเกตการณ์และส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล

"การแข่งขันดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความสามารถด้านดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์สู่ระดับสากลของเยาวชนไทยพร้อมทั้งมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดาราศาสตร์ ตลอดจนวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ที่ร่วมการแข่งขัน

ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่นานาประเทศจะทราบถึงการพัฒนาบุคลากรและวิชาการด้านดาราศาสตร์ของไทยที่กำลังจะก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลในเวทีโลก" รศ.บุญรักษา กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เทคโนประดิษฐ์-สจล.คิดระบบเตือนภัยครอบคลุมทั้งสึนามิ-แผ่นดินไหว

ระบบเตือนภัยคลื่นยักษ์จากการออกแบบของทีมนักศึกษา สจล.รับชนะเลิศจากสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ระบุใช้งานง่ายเตือนได้ทั้งสึนามิและแผ่นดินไหว

ธรรมนูญกวินเฟื่องฟูกุล นักศึกษาปี4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ผลงานระบบเฝ้าระวังภัยสึนามิของทีมงาน ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และช่วยตัดสินใจในการแจ้งเตือนภัยสึนามิจากชายฝั่งทะเล โดย สมาคมสมองกลฝังตัวไทย

โจทย์กำหนดให้ระบบดังกล่าวต้องมีประสิทธิภาพในการรับข้อมูลจากอุปกรณ์เครือข่ายได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วนพร้อมทั้งสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอุปกรณ์และประชาชนได้ทันที

ระบบที่ทีมงานพัฒนาขึ้นและส่งประกวดมีความโดดเด่นที่ใช้งานง่าย และมีศักยภาพที่จะนำไปต่อยอดโดยภาคเอกชน นอกจากจะเตือนภัยสึนามิเป็นภัยพิบัติทางน้ำได้แล้ว ยังสามารถวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้อีกด้วย ทำให้ผลงานได้รับคะแนนสูงสุด" ธรรมนูญกล่าว

ปวงชัยสัตยภิวัฒน์ เพื่อนร่วมทีมกล่าวว่า ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยสึนามิที่ออกแบบนี้ หัวใจของระบบอยู่ที่ตัวเซ็นเซอร์ ซึ่งจะตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนในทุกจุดที่ติดตั้ง จากนั้นจะส่งข้อมูลให้สมองกล ที่ทำหน้าที่ประมวลผลว่าแรงสั่นสะเทือนดังกล่าวเกิดจากอะไร เช่น รถวิ่งผ่านหรือแผ่นดินไหว แล้วจึงส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อวิเคราะห์ระดับความแรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กลางทราบว่า ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร

ระบบเตือนภัยที่ชนะเลิศนี้แบ่งระดับการเตือนเป็น 5 ระดับตามแรงสั่นสะเทือนที่ตรวจวัดได้ โดยระดับแรกจะไม่มีอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย ระดับความรุนแรงถัดมา จะเตือนให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อม และหากเกิดความรุนแรงระดับ 3 ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งให้เจ้าหน้าทราบ เพื่อเตือนประชาชนบริเวณนั้นทราบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว หรือคลื่นสึนามิ

ส่วนระดับ4 เจ้าหน้าที่จะต้องส่งสัญญาณให้ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นอพยพด่วนเพื่อความปลอดภัย และระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสุดท้าย เจ้าหน้าที่จะต้องส่งสัญญาณแจ้งอพยพทันที โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน 1-3 เพราะจะไม่ทันการณ์

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ดาวเคราะห์ใหม่ที่กลุ่มดาวปู เพิ่มขนาดให้อีกระบบสุริยะมีบริวาร 5 ดวง


เอเยนซี/เอพี/บีบีซีนิวส์ – เราอาจไม่ได้อยู่เดียวดายในจักรวาล? ความคิดนี้กำลังก่อตัวขึ้นช้าๆ ทั่วโลก หลังนักดาราศาสตร์เริ่มค้นพบ "ระบบสุริยะ" อื่นๆ แต่ล่าสุด "ระบบสุริยะ" ที่มีความใกล้เคียงกับที่โลกของเราสถิตย์อยู่ ก็ได้เผยโฉมขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่า "ระบบสุริยะ" ที่มีดาวเคราห์ทั้ง 8 นี้หาใช้ระบบหนึ่งเดียวแห่งเอกภาพ และอาจจะไม่ได้มีเพียง "เรา" หนึ่งเดียวในจักรวาลอีกต่อไป

ทีมนักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เผยว่า พวกเขาได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ในกลุ่มดาวปู (Cancer) ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ “55 ปู” (55 Cancri) ที่ห่างจากโลกออกไป 41 ปีแสง อบอุ่นกว่าโลกและมีมวลมากกว่า 45 เท่า ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าคล้ายกับ "ดาวเสาร์" ของเรา

การค้นพบดังกล่าวนำไปสู่ นับเป็นการค้นพบ "ดาวเคราะห์ดวงที่ 5" ของอีก "ระบบสุริยะ" ซึ่งมีดาว 55 ปูเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์

ดาวเคราะห์ใหม่ที่ค้นพบนี้ มีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราเพียงเล็กน้อย แต่มีระยะห่างกับดวงอาทิตย์ของมันพอๆ กับระยะห่างของโลกเรากับดวงอาทิตย์ ขณะที่ดาวเคราะห์อีก 4 ดวงที่เหลือนั้นมีการค้นพบไปก่อนหน้าแล้ว

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแล้วมากกว่า 250 ดวง และรวมถึงระบบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ด้วย

ทว่า เดบรา ฟิชเชอร์ (Debra Fischer) นักดาราศาสตร์จากซานฟรานซิสโก สเตท ยูนิเวอร์ซิตี (San Francisco State University) เผยว่า นับเป็นครั้งแรกทีเดียว ที่มีการค้นพบระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์มากที่สุดถึง 5 ดวง (หากไม่นับระบบสุริยะของเราที่มีดาวบริวาร 8 ดวงแล้ว)

"ทำให้คิดไปได้ว่าน่าจะมีสิ่งมีชีวิต และอาศัยอยู่บนจันทร์บริวารสักดวงของดาวเคราะห์แห่งนี้ด้วย แต่น่าเสียดายที่เครื่องไม้เครื่องมือสำรวจในปัจจุบันยังไม่ทันสมัยพอที่จะนำไปใช้สำรวจวัตถุขนาดเล็กและไกลโพ้น อย่างจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงนั้นได้" ฟิชเชอร์เผย

“ดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์นี้ คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรามาก อีกทั้งน่าจะมีมวลและอายุใกล้เคียงกัน เป็นระบบสุริยะที่ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์มากมาย” ฟิชเชอร์กล่าว

งานศึกษาชิ้นนี้ใช้เวลาถึง 18 ปี ซึ่งผ่านพ้นไปด้วยความระมัดระวังและความพากเพียรอุตสาหะจนกว่าจะค้นพบดาวเคราะห์ทั้ง 5 โดยการสังเกตปรากฎการณ์ดอปเพลอร์ (doppler effect) ซึ่งวัดค่าการส่ายเพียงเล็กน้อยของดาวฤกษ์ โดยดูความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และกว่าจะพบดาวเคราะห์ดวงแรกของระบบดังกล่าว ก็ใช้เวลาไปถึง 14 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์ในระบบอีก 4 ดวงค้นพบระหว่างปี 2539-2547 โดยทั้งหมดอยู่ห่างจากดาว 55 ปูน้อยกว่าระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ดาวดวงที่อยู่ใกล้ที่สุดมีมวลเท่าดาวยูเรนัส โคจรรอบดาวฤกษ์ในเวลาน้อยกว่า 3 วันด้วยระยะห่าง 3.5 ล้านไมล์

ส่วน ดาวเคราะห์ที่เพิ่งพบนี้ อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระบบเป็นอันดับ 4 หรือประมาณ 72 ล้านไมล์ ซึ่งใกล้กว่าโลกกับดวงอาทิตย์ที่ห่างประมาณ 93 ล้านไมล์ แต่ดาวฤกษ์ดังกล่าวเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเราเพียงเล็กน้อย

ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ของตัวเองคาบละ 260 วันด้วยวงโคจรคล้ายๆ ดาวศุกร์

“ถ้ามีจันทร์บริวารโคจรรอบดาวดวงนี้ น่าจะมีลักษณะพื้นผิวที่เป็นหิน แหล่งน้ำหลักๆ ก็น่าจะอยู่ในรูปของทะเลสาบหรือมหาสมุทร ซึ่งน้ำจะทำให้ดวงจันทร์มีมวลมากตามไปด้วย ทว่านั่นคือกุญแจสำคัญไปสู่ชีวิต” คำอธิบายของเจฟฟ์ มาร์ซีย์ (Geoff Marcy) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley)

ทั้งนี้ มาร์ซีย์ซึ่งร่วมทีมค้นพบ ต้องประหลาดใจอย่างยิ่งและเปลี่ยนความคิดใหม่ เมื่อมีอีกระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์ถึง 5 ดวง เพราะขณะนี้พวกเราเชื่อกันว่า ดวงอาทิตย์และหมู่ดาวเคราะห์ที่เราสถิตย์อยู่นั้น เป็นระบบที่ไม่ปกติ แต่การค้นพบดังกล่าวทำให้เห็นว่า "ระบบสุริยะ" ที่โอบล้อมเราอยู่นี้ ไม่ใช่ระบบหนึ่งเดียวในจักรวาล

อย่างไรก็ดี มาร์ซีย์พร้อมด้วยเพื่อนนักดาราศาสตร์อีกจำนวนมากยังเชื่อด้วยว่า น่าจะมีดาวฤกษ์อีกจำนวนมาก ที่เป็นเสมือน "ดวงอาทิตย์" ให้แก่ระบบสุริยะอื่นๆ ในลักษณะนี้ แต่ดาวเคราะห์บริวารที่มีขนาดเล็กทำให้ยากที่จะตรวจพบระบบอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่จะตวรจพบนั้น ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายทศวรรษทีเดียว

ขณะเดียวกัน นักดาราศาสตร์ยังค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบๆ ดาวฤกษ์อีก 2,000 ดวง เพื่อให้พบระบบสุริยะอื่นๆ อีก ผ่านหอดูดาวลิค (Lick Observatory) ในซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงหอดูดาวดับเบิลยู เอ็ม เคกค์ (W.M.Keck Observatory) ในมัวนาเคีย (Mauna Kea) มลรัฐฮาวายด้วย

ทั้งนี้ ดาว 55 ปู หรือ 55 Cancri อันเป็นดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ดวงที่ 5 ในอีกระบบสุริยะนี้ เราสามารถสังเกตได้จากพื้นโลกด้วยกล้องสองตา ยามที่ท้องฟ้าแจ่มใส ในช่วงเวลาปลายปี เช่นนี้

การวิจัยและค้นหาดวงดาวครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา), มูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โดยจะตีพิมพ์ผลการค้นพบลงในวารสารแอสโตรฟิสิกส์ฉบับต่อไป

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000132328

Wednesday, November 7, 2007

ไทยทำชุดตรวจไข้หวัดนก "ไบโอเซ็นเซอร์" ครั้งแรกของโลก


แพทย์ศิริราชประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจไข้หวัดนกหลักการไบโอเซนเซอร์เป็นครั้งแรกในโลก ผสมผสานเทคโนโลยีชีวภาพเข้ากับนาโนเทคโนโลยี ใช้ตัวอย่างน้อย ให้ผลเร็ว โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว พร้อมส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวความสำเร็จการผลิต“ชุดตรวจวินิจฉัยไข้หวัดนกรุ่นใหม่โดยหลักการไบโอเซ็นเซอร์” สู่ภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 7 พ.ย.50 ระหว่างการจัดงานไบโอเอเชีย 2007 ไทยแลนด์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้ ชุดตรวจดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยของ ศ.พญ.ธารารัชต์ ธารากุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะ โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่บริษัท อินโนวา ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ผลิตจำหน่าย เพื่อลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ

ศ.พญ.ธารารัชต์ กล่าวว่า ชุดตรวจไข้หวัดนกนี้ เป็นผลงานต่อยอดมาจากการผลิตโมโนโคนัลแอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทำชุดตรวจให้มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการตรวจแบบปัจจุบัน สามารถตรวจได้ในสัตว์ที่อาจติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ

“ชุดตรวจนี้พัฒนาขึ้นโดยใช้หลักการไบโอเซ็นเซอร์ ตรวจหาเชื้อได้ แม้มีปริมาณน้อยมากในสัตว์ที่อาจติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็รู้ผล” ศ.พญ.ธารารัชต์เผย

ศ.พญ.ธารารัชต์ อธิบายวิธีการใช้ชุดตรวจว่า นำก้านสำลีป้ายของเหลวในลำคอหรือก้นสัตว์ปีก (cloacal swab) แล้วจุ่มลงในน้ำยาสกัดเชื้อ จากนั้นหยดน้ำยาดังกล่าวลงบนชุดตรวจ ซึ่งมีผงเหล็กขนาดนาโน ที่เคลือบด้วยโมโนโคลนัล ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 (H5) สามารถตรวจผลด้วยตาเปล่าได้เมื่อเชื้อมีปริมาณมากพอ

รอผล 15 นาที หากปรากฏ 2 แถบบนชุดตรวจ แสดงว่ามีเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 หากปรากฏเพียง 1 แถบ แสดงว่าไม่มีเชื้อ H5 แต่อาจมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น

อย่างไรก็ดี หากเชื้อมีปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะสังเกตเห็นแถบสีด้วยตาเปล่า สามารถนำเข้าเครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็ก ซึ่งมีทั้งที่แสดงผลเป็นผลค่าบวกหรือลบ เมื่อต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ โดยแสดงผลบวกเมื่อปรากฏกราฟที่มี 2 พีค

ทั้งนี้ ชุดตรวจจำเพาะต่อเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5 เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดรุนแรงมากที่สุดในประเทศไทยขณะนี้

“วิธีตรวจแบบอิมมูโนโครมาโตกราฟี (Immunochromatography: IC) ที่ใช้ในปัจจุบัน จะต้องใช้ตัวอย่างเชื้อมากกว่าประมาณ 100 เท่า จึงให้ผลบวก ซึ่งเหมาะจะตรวจหาเชื้อในสัตว์ที่แสดงอาการหรือป่วยตายแล้ว เพราะมีปริมาณเชื้อมากพอที่จะตรวจพบ อีกทั้งใช้เวลาตรวจนานกว่าแบบที่พัฒนาขึ้นนี้ราว 100 เท่า เช่นกัน” ศ.พญ.ธารารัชต์เปรียบเทียบ

ชุดตรวจเชื้อไข้หวัดนกหลักการไบโอเซ็นเซอร์นี้นับเป็นชุดแรกของโลกที่มีการผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และผลิตโดยใช้โมโนโคลนัลแอนติบอดีที่มีความจำเพาะต่อเชื้อ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยไทย และขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่อินโนวา ไบโอเทคโนโลยี จำกัด สำหรับผลิตจำหน่ายแก่หน่วยงานที่ดำเนินการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทยในราคาชุดละประมาณ 300 บาท เพื่อลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ และเตรียมผลิตจำหน่ายส่งออกให้กับประเทศที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกทั่วโลก

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000132305

Tuesday, November 6, 2007

รถต้นแบบ "เซลล์เชื้อเพลิง" ฝีมือคนไทย


ท่ามกลางวิกฤติพลังงานที่ราคาสูงขึ้นเป็นรายวัน “เซลล์เชื้อเพลิง” ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นทุกขณะ ในฐานะแหล่งพลังงานอนาคต โดยล่าสุด ทีมนักวิจัยไทยได้พัฒนา “รถต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิง” คันแรกของประเทศได้สำเร็จแล้ว

พลอากาศโทมรกต ชาญสำรวจ ประธานกรรมการบริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด และทีมวิจัย ซึ่งได้รับทุน 12 ล้านบาทจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2550 เปิดเผย รถต้นแบบใช้พลังงานไฟฟ้าจาก "เซลล์เชื้อเพลิง" (fuel cell) ชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) ขนาด 960 วัตต์ ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี

สำหรับ “เซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน” คือ อุปกรณ์แปลงพลังงานเคมีไปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยป้อนก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนผ่านกระบวนการทางเคมี จนได้กระแสไฟฟ้าและไอน้ำออกมาเป็นผลลัพธ์ ไม่เกิดเสียงดัง และไม่มีไอเสียเหมือนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน จึงไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม (Zero Emission)

ที่สำคัญเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ยังเหมาะกับการใช้งานภาคการขนส่งมากที่สุด เนื่องจากใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นของแข็ง น้ำหนักเบา ปริมาตรต่ำ ไม่ต้องอุ่นเครื่องก่อนใช้ และทำงานได้ในอุณหภูมิไม่สูงนักที่ 60 -80 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิขณะทำงานของรถยนต์ทั่วไป

พลอากาศโทมรกต ชี้ว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาคือ “แผ่นเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน” (Membrane Electrode Assembly: MEA) ที่จะแยกอิเล็กตรอนออกจากก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งมีส่วนประกอบ 5 ชั้นด้วยกัน แบ่งเป็นผ้าคาร์บอนเคลือบหมึกแพลทตินัม 4 ชั้น และแผ่นพอลิเมอร์ “พอลีเตตระฟลูออโรเอทธิลีน” (PTFE) คั่นกลางอีก 1 ชั้น ทั้งนี้เพื่อให้เซลล์เชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าได้ โดยจะมีอายุการใช้งานหลายปี

“ทีมวิจัยได้เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป มาต่อยอดการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงที่ต้นทุนต่ำลง ด้วยการใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศ อย่างแผ่นคาร์บอนและแกรไฟต์ทดแทนการนำเข้า"

"และยังได้พัฒนาอุปกรณ์บางชิ้นให้ทำงานดีขึ้น เช่น เครื่องเพิ่มความชื้นให้กับเยื่อเมมเบรนไม่ให้ถูกเผาไหม้ระหว่างการทำงาน อุปกรณ์ควบคุมการขับเคลื่อน และตัวควบคุมการจ่ายก๊าซไฮโดรเจนที่จ่ายเชื้อเพลิงได้พอดี ไม่มีไฮโดรเจนเหลือทิ้ง” นักวิจัยกล่าว

ในส่วนของเมมเบรนที่ได้มีขนาด 50 ตร.ซม.จ่ายไฟได้ 20 แอมแปร์ เมื่อต่อเข้าเป็นชุด ชุดละ 37 เซลล์ จะมีกำลังไฟฟ้ารวม 480 วัตต์ และเมื่อต่อขนาน 2 ชุด ก็จะทำให้เกิดกำลังไฟฟ้าเพิ่มเป็น 960 วัตต์ มีค่าความต่างศักย์ 24 โวลต์ และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 40 แอมแปร์ เพียงพอกับรถยนต์ต้นแบบที่แล่นได้ด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. แต่หากขยายขนาดเซลล์เชื้อเพลิงให้ใหญ่ขึ้น ก็จะสามารถแล่นได้ด้วยความเร็วมากยิ่งขึ้น

“รถต้นแบบคันนี้มีต้นทุน 1.3 ล้านบาท หากนำเข้าเฉพาะเซลล์เชื้อเพลิงอย่างเดียวก็จะมีราคา 4 -5 แสนบาทไปแล้ว เทียบกับการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงเองที่ลดต้นทุนไปได้ครึ่งหนึ่ง เครื่องยนต์สามารถแล่นต่อเนื่องจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ได้สบายๆ ขณะที่ประหยัดพลังงานได้ 2 -3 เท่าเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน” ประธานกรรมการบริษัท คลีนฟูเอลฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้ามานาน 5 ปี กล่าว

ทั้งนี้ ภายใน 1 ปี ทางบริษัทฯ ยังจะพัฒนารถยนต์ส่วนบุคคลติดตั้งเซลล์เชื้อเพลิงจำหน่าย ในราคาคันละไม่เกิน 4 ล้านบาท

ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ในส่วนของ วช.จะได้สนับสนุนงบวิจัยสำหรับการวิจัยพัฒนาดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ได้รถต้นแบบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรถโดยสารประจำทาง แล่นได้ด้วยความเร็วมากขึ้น มีการจดสิทธิบัตร และสามารถขยายผลได้จริงในเชิงพาณิชย์

“ผู้ประกอบการรายใดสนใจสามารถติดต่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ที่ วช.เพื่อเจรจานำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ตามระเบียบ ซึ่งจะต้องเจรจาแบ่งผลกำไรให้แก่ วช.และนักวิจัยจำนวนหนึ่ง ขณะที่ วช.ยังจะประสานไปยังหน่วยงานด้านอุตสาหกรรม ให้มีการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาการผลิตถังเก็บและเชื้อเพลิงก๊าซไฮโดรเจนเพื่อให้มีใช้งานในอนาคตด้วย” เลขาธิการ วช.ทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000131271

Monday, November 5, 2007

เด็กไทยขึ้นเที่ยวบินไร้น้ำหนัก ศึกษาการไหลของน้ำในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ

นักวิจัยรุ่นเล็กจากรั้วมหิดลจับมือม.เชียงใหม่ เตรียมเดินทางขึ้นเที่ยวบินไร้น้ำหนักกับองค์กรการบินอวกาศญี่ปุ่น ทดสอบการเปลี่ยนแปลงของน้ำเมื่อได้รับความร้อนภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก

ดร.สวัสดิ์ตันติพันธุ์วดี ผู้อำนวยการโครงการสมองไหลกลับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า โครงการศึกษาการไหลของน้ำเมื่อได้รับความร้อนภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก ได้รับคัดเลือกจาก สวทช.และองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) ให้ทดสอบจริงในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายนนี้

การคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยภายใต้โครงการวิจัยในอวกาศ ในปีนี้มีโครงงานเข้าสู่การพิจารณา 5 โครงงาน ที่ต้องการทดสอบในสภาวะไร้น้ำหนัก ได้แก่ การไหลของน้ำฯ, การเปลี่ยนแปลงของต้นไมยราบเมื่อถูกสัมผัส, การศึกษาเปลวไฟและควันไฟ, การศึกษาแรงตึงผิวน้ำ และลักษณะการชนกันของของเหลว

นายธนภัทร์ดีสุวรรณ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงงานศึกษาการไหลของน้ำฯ กล่าวว่า ทีมงานต้องการดูรูปแบบการเคลื่อนที่ของน้ำที่ได้รับความร้อนในสภาวะไร้น้ำหนักว่าจะต่างจากสภาวะปกติอย่างไร เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการวิจัยอย่างอื่นต่อไปในอนาคต เช่น การทำระบบหล่อเย็น

ทีมคิดค้นโครงงานนี้นอกจากธนภัทร์ยังมีเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนคือ นายวนรักษ์ ชัยมาโย เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน และนายพิสิทธิ์ เกียรติ์กิตติคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขณะนี้กำลังเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ ซึ่งต้องกะทัดรัด เนื่องจากพื้นที่ในการทดลองจำกัดเพียง 50x 50x60 เซนติเมตร ในเวลาเพียง 20 วินาที จึงต้องทำให้ดีที่สุด เพราะโอกาสที่ได้รับนี้อาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็ได้

สำหรับทีมที่ได้คะแนนเป็นอันดับ2 คือ โครงงานศึกษาต้นกระทืบยอด ซึ่งอยู่ตระกูลเดียวกับไมยราบ ผลงานของนายอริยะ ไชยสวัสดิ์ นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวัชระ ศรีสวัสดิ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และนายนัฐวุฒิ พานิชย์เลิศอำไพ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเคมี ม.เกษตรศาสตร์

"การทดลองดังกล่าวต้องการดูการตอบสนองของต้นกระทืบยอด สำหรับนำข้อมูลมาอธิบายการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสิ่งมีชีวิต ทดแทนการทดลองในสิ่งมีชีวิตจริง เช่น การถูกเข็มจิ้มที่แขนของคนในภาวะปกติอาจจะเจ็บ แต่ในสภาวะไร้น้ำหนัก เราไม่รู้เลยว่าการเจ็บนั้นต่างจากปกติยังไง เป็นต้น" นัฐวุฒิ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

นาซาคิดเปลี่ยน “ฉี่” เป็นน้ำดื่ม ไม่ต้องบรรทุกน้ำตะลุยอวกาศ

องค์การนาซาแห่งสหรัฐหาทางนำฉี่นักบินกลับมาเป็นน้ำสะอาดดื่มได้ชุ่มใจ ช่วยให้ปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ และดาวอังคารได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องบรรทุกน้ำให้สิ้นเปลือง

สิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของการเดินทางสำรวจอวกาศคือ แหล่งน้ำ ต้นทุนการบรรทุกน้ำไปกับยานอวกาศตกกิโลกรัมละ 175,000 บาท ยิ่งถ้าต้องเดินทางไกลไปถึงดาวอังคารต้นทุนยิ่งสูงขึ้นอีก ดังนั้น หนทางประหยัดทางเดียวคือ ต้องใช้น้ำอย่างคุ้มค่า แม้แต่ปัสสาวะที่ปกตินักบินอวกาศจะฉี่ทิ้งฉี่ขว้างจะถูกต้องน้ำกลับมาเข้ากระบวนการทำให้เป็นน้ำบริสุทธิ์ ใช้วนให้ได้มากที่สุด และนานที่สุด

นาซาจึงคิดค้นระบบคืนสภาพน้ำที่สามารถนำฉี่ รวมถึงไอน้ำจากห้องนักบินมาเข้ากระบวนการบำบัดด้วยสารเคมีและกรองแล้วกรองอีก เพื่อนำกลับมาใช้เป็นน้ำดื่ม

อันดับแรก ระบบคืนสภาพน้ำจะกรองอนุภาคที่เป็นของแข็งอย่างเช่นเซลล์ผิวหนัง และเส้นผมออกจากของเหลวก่อน หลังจากนั้นจึงใช้สารเคมีละลายสิ่งปนเปื้อน และเติมออกซิเจนเข้าไปเพื่อค้นหาสารอินทรีย์และกำจัดทิ้ง ขั้นตอนสุดท้ายคือ เติมไอโอดีนลงไปเพื่อควบคุมจุลินทรีย์ในน้ำ เป็นวิธีเดียวกับที่การประปาเติมคลอไรด์ลงในน้ำดื่ม หลังจากนั้นน้ำบริสุทธิ์ที่ได้จะถูกนำไปเก็บในถังน้ำดื่ม

ระบบคืนสภาพน้ำของนาซาสามารถนำปัสสาวะกลับมาใช้เป็นน้ำดื่มได้ถึง 85% แต่เป้าหมายที่วางไว้สูงกว่านั้น หากต้องให้นักบินอวกาศเดินทางสำรวจดวงจันทร์หรือดาวอังคาร จะต้องคืนสภาพปัสสาวะให้ได้ถึง 92 %

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, November 1, 2007

นาซายังคิดไม่ตกรอยขาดที่ “แผงโซลาร์เซลล์” สถานีอวกาศ


เอเยนซี –นาซาได้เป็นกังวลกันอีกรอบ กับภารกิจอวกาศที่มีปัญหาถี่ขึ้นทุกขณะ ล่าสุดก็พบรอยฉีกขาดเกิดขึ้นบนแผงโซลาร์เซลล์ของสถานีอวกาศนานาชาติ ขณะลูกเรือดิสคัฟเวอรีกำลังคลี่ออก ทว่าเพิ่งมาเห็นภายหลังการติดตั้ง

หลังจากที่ลูกเรือของกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ออกไปติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) แต่พวกเขาก็ได้หยุดการต่อขยายแผงในทันที แม้จะคลี่แผงโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 90 ฟุตจากความยาวทั้งสิ้น 115 ฟุต เนื่องจากพบรอยฉีกขาดบนแผงดังกล่าว

ทั้งนี้ เปกกี ไวท์สัน (Peggy Whitson) ผู้บัญชาการสถานีอวกาศฯ เล่าว่า มุมแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์บดบัง ไม่ให้เหล่าลูกเรือที่ออกไปปฏิบัติการ เห็นรอยฉีกขาดขนาด 2 ฟุตครึ่งได้เร็วกว่านี้

“ถึงอย่างนั้น มันก็ยังทำงานได้” เปกกีเสริม โดยจุดที่ฉีกขาด ไม่ได้ส่งผลถึงการจัดสรรพลังงานที่ต้องการ แต่จุดที่นาซากังวลมากกว่าคือปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากความเสียหายครั้งนี้

อีกทั้ง ยังทำให้ลูกเรือทั้ง 10 นายที่ประจำยานดิสคัฟเวอรีและไอเอสเอส รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ หลังจากได้ผ่านพ้นคืนวันแห่งความสำเร็จมาด้วยดี จากการกางแผงโซลาร์เซลล์ 1 ใน 2 แผงเสร็จสิ้น โดยมี 2 ลูกเรือรับหน้าที่เดินอวกาศนาน 7 ชั่วโมง และกำลังรื่นเริงกับความสำเร็จครั้งแรก

ก่อนหน้านั้น สก็อตต์ พาราซินสกี (Scott Parazynski) และ ดักลาส วีล็อก (Douglas Wheelock) ได้เดินอวกาศร่วมกันเพื่อต่อเชื่อมคานอันใหม่ ที่จะรับน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ทั้ง 2 ข้างจนแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ปีกโซลาร์เซลล์ที่นำไปติดตั้งนั้น เดิมที่ถูกพับไว้จนดูเหมือนหีบเพลง พวกเขาต้องใช้เวลา 3 วันในการเลื่อนคานรับน้ำหนักจากจุดหนึ่งบนไอเอสเอสไปยังอีกจุดที่อยู่ห่างออกไป 145 ฟุต ซึ่งเป็นจุดที่ยากที่สุดในภารกิจต่อเติมนี้

นอกจากนั้น พาราซินสกี ยังได้รับอีกภารกิจในการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อ ซึ่งหมุนได้รอบของปีกโซลาร์เซลล์ทั้ง 2 ข้าง ให้หันตรงไปทางดวงอาทิตย์ตลอดเวลา แต่จากการเดินอวกาศเมื่อสุดสัปดาห์ เขาพบว่ามีรอยขูดบนเหล็กกล้าของจุดเชื่อมด้านซ้ายของสถานี เขาจึงร้องขอให้ตรวจสอบจุดเชื่อมอีกข้างเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งทุกสิ่งที่จุดเชื่อมดูมันเงาและเก่า

อย่างไรก็ดี ต้องรอจนกระทั่งนาซาจะคำนวณออกมาได้ว่า อะไรที่ทำให้เกิดรอยดังกล่าวในล้อฟันเฟืองและซ่อมแซมนั้น จุดเชื่อมต่อด้านซ้ายนี้จะคงอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป แต่จะจำกัดไม่ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม

แรกทีเดียว นาซามีแผนที่จะสำรวจจุดเชื่อมต่อที่มีปัญหานี้อย่างใกล้ชิดอีกครั้งในการเดินอวกาศวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่ในที่สุดก็ยกเลิกไป เพราะว่าอาจต้องแก้ปัญหาเรื่องแผงโซลาร์เซลล์ให้ตกก่อนเป็นจุดแรก ซึ่งจากการร้องขอของฝ่ายควบคุมภารกิจ ทำให้ไวท์สันต้องคลี่แผงโซลาร์ออกมาอีกเล็กน้อยเพื่อไม่ให้แผงตึงเกินไป

ขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นว่า แผงเซลล์แสงอาทิตย์หลายต่อหลายจุดเสียรูป ม้วน และโค้งงอ โดยเธอได้ถ่ายและส่งภาพดังกล่าวไปให้วิศวกรได้ตรวจสอบ และหาวิธีที่จะรับมือแล้ว

ไมค์ ซัฟเฟรดินี (Mike Suffredini) ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศฟากสหรัฐฯ เผยว่า แผงโซลาร์เซลล์จะจ่ายไฟได้ 97% ของทั้งหมดหากสายไฟไม่ชำรุดไปด้วย ซึ่งในการเดินอวกาศนักบินอาจเย็บซ่อมแซมจุดดังกล่าวได้ ซึ่งอาจต้องกางแผงปีกโซลาร์เซลล์ออกเพื่อให้นักบินเข้าไปถึงจุดดังกล่าวได้

“เรามีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย และเราอยู่ในตำแหน่งที่ดีและแก้ปัญหาได้” ผู้จัดการโครงการสถานีฯ กล่าว

แม้ล่าสุดภารกิจกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีจะต้องเลื่อนออกไปอีก 1 วันหลังการตรวจพบปัญหาดังกล่าวและจะมีการกำหนดวันกลับสู่พื้นโลกอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย. ขณะที่ ซัฟเฟรดินี แนะว่าน่าจะเลื่อนออกไป 2 วันมากกว่าเพื่อใช้รับมือกับปัญหาที่อาจตึงเครียดกว่าที่คิด

อย่างไรก็ดี ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศสหรัฐฯ ย้ำว่า หากไม่มีการซ่อมแซมจุดบกพร่องดังกล่าว ให้แล้วเสร็จโดยไว ก็ไม่แน่ว่า ยานแอตแลนติส (Atlantis) ซึ่งเตรียมบินถัดไป ในต้นเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อนำส่ง "โคลัมบัส" ห้องปฏิบัติการของสหภาพยุโรปสู่สถานีอวกาศ ก็อาจต้องล่าช้าไปด้วยก็ได้ ซึ่งตอนนี้นาซาเองก็ยังไม่มีแผนจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000129435

"เขาใหญ่" ส่อวิกฤติรับผลภาวะโลกร้อน


นักวิจัยไบโอเทคเผย เขาใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว หลังพบต้นกล้าเงาะป่าขยับตัวไปยังพื้นที่ที่สูงขึ้น -ไกลจากต้นแม่ แม้จะมีชะนีมือขาวช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไปทั่วทั้งแปลงวิจัยแล้วก็ตาม

น.ส.อนุตรา ณ ถลาง นักวิจัยห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ได้พบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจบางประการ หลังจากติดตามสังเกตพฤติกรรมการออกหากินของชะนีมือขาวกลุ่มหนึ่ง ณ แปลงวิจัยขนาด 67.5 ไร่ ของมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

นักวิจัยพบว่า “เงาะป่า” พืชอาหารชนิดหนึ่งของชะนีมือขาว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็น และไม่ชอบสัมผัสแสงแดดโดยตรงมากนัก กลับมีการกระจายตัวเปลี่ยนไป คือขยับไปสู่พื้นที่ที่สูงขึ้นจากตำแหน่งของต้นแม่

แม้ว่าบริเวณแปลงวิจัยจะมีชะนีมือขาว ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไปยังที่ต่างๆ ทั่วทั้งแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ คาดการณ์เบื้องต้นได้ว่าอาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นก็เป็นได้

“เพราะตามหลักแล้ว ยิ่งพื้นที่สูงขึ้น อุณหภูมิก็ยิ่งลดลง และอากาศจะเย็นขึ้น ซึ่งธรรมชาติของเงาะป่าจะชอบพื้นที่ที่มีอากาศเย็นมากกว่า และไม่มีพื้นที่รับแสงอาทิตย์มากๆ จึงเลี่ยงมาที่ชั้นความสูงที่สูงขึ้น แต่สาเหตุเป็นอย่างไร เราต้องศึกษาต่อ” นักวิจัยไบโอเทคอธิบาย

อย่างไรก็ดี น.ส.อนุตรา เผยว่า งานวิจัยดังกล่าวยังคงต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป ซึ่งอาจนานถึง 10 ปี เพื่อศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์อื่นๆ ในระบบนิเวศดังกล่าวด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้านและแม่นยำ อาทิ การศึกษาต่อเนื่องจากการค้นพบว่าต้นกล้าของต้นสีเสียดเทศในแปลงวิจัยมีเพียง 7 ต้นเท่านั้นจากต้นแม่นับสิบต้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการหมดไปจากพื้นที่ได้

ทั้งนี้ น.ส.อนุตรา ได้เปิดเผยผการศึกษาชิ้นนี้ระหว่างการประชุมประจำปีครั้งที่ 11 ของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) ณ จ.อุดรธานี เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา และเธอเป็นนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปีล่าสุด (The 2007 UNESCO MAB Young Scientist’s Award) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จากโครงงานวิจัยที่กำลังศึกษานี้ด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000128654