นักวิจัยรุ่นเล็กจากรั้วมหิดลจับมือม.เชียงใหม่ เตรียมเดินทางขึ้นเที่ยวบินไร้น้ำหนักกับองค์กรการบินอวกาศญี่ปุ่น ทดสอบการเปลี่ยนแปลงของน้ำเมื่อได้รับความร้อนภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก
ดร.สวัสดิ์ตันติพันธุ์วดี ผู้อำนวยการโครงการสมองไหลกลับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า โครงการศึกษาการไหลของน้ำเมื่อได้รับความร้อนภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก ได้รับคัดเลือกจาก สวทช.และองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) ให้ทดสอบจริงในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายนนี้
การคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยภายใต้โครงการวิจัยในอวกาศ ในปีนี้มีโครงงานเข้าสู่การพิจารณา 5 โครงงาน ที่ต้องการทดสอบในสภาวะไร้น้ำหนัก ได้แก่ การไหลของน้ำฯ, การเปลี่ยนแปลงของต้นไมยราบเมื่อถูกสัมผัส, การศึกษาเปลวไฟและควันไฟ, การศึกษาแรงตึงผิวน้ำ และลักษณะการชนกันของของเหลว
นายธนภัทร์ดีสุวรรณ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงงานศึกษาการไหลของน้ำฯ กล่าวว่า ทีมงานต้องการดูรูปแบบการเคลื่อนที่ของน้ำที่ได้รับความร้อนในสภาวะไร้น้ำหนักว่าจะต่างจากสภาวะปกติอย่างไร เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการวิจัยอย่างอื่นต่อไปในอนาคต เช่น การทำระบบหล่อเย็น
ทีมคิดค้นโครงงานนี้นอกจากธนภัทร์ยังมีเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนคือ นายวนรักษ์ ชัยมาโย เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน และนายพิสิทธิ์ เกียรติ์กิตติคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขณะนี้กำลังเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ ซึ่งต้องกะทัดรัด เนื่องจากพื้นที่ในการทดลองจำกัดเพียง 50x 50x60 เซนติเมตร ในเวลาเพียง 20 วินาที จึงต้องทำให้ดีที่สุด เพราะโอกาสที่ได้รับนี้อาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็ได้
สำหรับทีมที่ได้คะแนนเป็นอันดับ2 คือ โครงงานศึกษาต้นกระทืบยอด ซึ่งอยู่ตระกูลเดียวกับไมยราบ ผลงานของนายอริยะ ไชยสวัสดิ์ นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวัชระ ศรีสวัสดิ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และนายนัฐวุฒิ พานิชย์เลิศอำไพ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเคมี ม.เกษตรศาสตร์
"การทดลองดังกล่าวต้องการดูการตอบสนองของต้นกระทืบยอด สำหรับนำข้อมูลมาอธิบายการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสิ่งมีชีวิต ทดแทนการทดลองในสิ่งมีชีวิตจริง เช่น การถูกเข็มจิ้มที่แขนของคนในภาวะปกติอาจจะเจ็บ แต่ในสภาวะไร้น้ำหนัก เราไม่รู้เลยว่าการเจ็บนั้นต่างจากปกติยังไง เป็นต้น" นัฐวุฒิ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment