Tuesday, November 27, 2007

"โลกร้อน" กระเทือนถึงพืช-ผักและสรรพสัตว์บนโต๊ะอาหาร


เอเยนซี - นักวิทยาศาสตร์ระบุผัก-ผลไม้และเนื้อสัตว์บนโต๊ะอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะ "โลกร้อน" เพราะสภาพอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เมื่อกระแสภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Global warming) กำลังได้รับความสนใจ นักวิจัยต่างพยายามที่จะประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อปศุสัตว์ ผักและธัญพืชอย่างข้าว เพื่อหาทางเสริมความต้านทานโรคและความหลากหลายของสายพันธุ์ที่แข็งแรง ซึ่งคนยากจนทั่วโลกนับพันล้านที่เป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะต้องแบกรับผลกระทบรุนแรงที่จะตามมา

ถือเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายในที่ประชุมเกี่ยวเกษตรกรรมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจบลงไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ เมืองไฮเดอราบัดทางตอนใต้ของอินเดีย

"เวลาที่จะแก้ปัญหาได้ผ่านไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว" จอห์น แมคเดอร์มอตต์ (John McDermott) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติในฐานวิจัยกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา กล่าวถึงสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พร้อมยกตัวอย่างว่าไข้ริฟท์ วัลเลย์ (Rift Valley Fever) หรืออาร์วีเอฟ (RVF) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสมรณะที่แพร่ไปยังแกะ อูฐ วัวควายและคนโดยการถูกยุงกัดนั้นก็โหมเชื้อจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย

แมคเดอร์มอตต์กล่าวอีกว่า ไวรัสไข้อาร์วีเอฟพบในแอฟริกาตะวันออกและเอเชียกลางเพราะมีความหลากหลายทางภูมิอากาศในอาณาเขตที่แห้งแล้งซึ่งช่วยให้พาหะนำโรคอย่างยุง แมลงดูดเลือด เห็บและหมัดนั้นแพร่พันธุ์ได้ดี โดยชี้ให้เห็นว่าหากเราพบโรคต่างๆ ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งไม่เคยพบโรคดังกล่าวอุบติขึ้นก็สันนิษฐานได้ว่าสัตว์บางชนิดได้กระจายไปยังพื้นที่ซึ่งสัตว์เหล่านั้นไม่เคยอาศัยอยู่

สำหรับคนยากจนแล้วปศุสัตว์ก็เปรียบเสมือนธนาคารเงินฝาก ที่เขาเหล่านั้นสามารถใช้แตะเบาๆ ก็สามารถดำรงชีวิตได้จากการขายสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ซึ่งแมคเดอร์มอตต์แจงว่าคนจนเหล่านั้นไม่ได้สร้างรอยเท้าทางนิเวศน์ (ecological footprint) หรือผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ของระบบนิเวศโลกมากนัก แต่ก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องเสี่ยงจากความเสียหายเนื่องจากโรคที่เกิดกับปศุสัตว์ซึ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากการปรากฏการ์ณทางภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ยังศึกษารูปแบบการเพาะปลูกและการเกิดโรคในพืชผักตั้งแต่หัวมันฝรั่ง มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม ไปจนถึงผักใบเขียวจำพวกกะหล่ำและผักโขม เพื่อดูว่าจะสามารถเพาะปลูกท่ามกลางความกดดันซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนและผลข้างเคียงได้อย่างไร ซึ่งแจกกี ฮิวส์ (Jackie Hughes) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฐานวิจัยศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Centre) ในเมืองซั่นหัว ไต้หวัน กล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาด้านน้ำ

"คุณกำลังจะประสบกับพายุไต้ฝุ่น ไซโคลนและเฮอร์ริเคน" ฮิวส์กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่าผู้เพาะปลูกจำเป็นต้องเพาะปลูกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อจัดการกับปัญหาน้องท่วม ใช้ฝนเทียมและระบบป้องกันแมลงกับพืชผลของพวกเขา และอาจต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูก เช่น ย้ายหัวหอมไปยังอีกทีหนึ่ง และย้ายมะเขือเทศกับกะหล่ำปลีไปยังบริเวณที่แห้งมากๆ เป็นต้น

ฮิวส์แจงอีกว่าความสำเร็จในการติดตามผลกะทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อพืชผลทางการเกษตรนั้นมีความสำคัญต่อโลกซึ่งมีประชากรนับพันล้านที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ โดยเธอได้ให้ข้อมูลอีกว่าโดยเฉลี่ยในผู้ใหญ่จะต้องการบริโภคผักประมาณปีละ 74 กิโลกรัมแต่ส่วนใหญ่ก็บริโภคไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่สร้างความเสียหายต่อมะเขือเทศจากโรคอันเนื่องจากสภาพอากาศซึ่งสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่การเพาะปลูกมะเขือเทศ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000140378

No comments: