Thursday, November 1, 2007
นาซายังคิดไม่ตกรอยขาดที่ “แผงโซลาร์เซลล์” สถานีอวกาศ
เอเยนซี –นาซาได้เป็นกังวลกันอีกรอบ กับภารกิจอวกาศที่มีปัญหาถี่ขึ้นทุกขณะ ล่าสุดก็พบรอยฉีกขาดเกิดขึ้นบนแผงโซลาร์เซลล์ของสถานีอวกาศนานาชาติ ขณะลูกเรือดิสคัฟเวอรีกำลังคลี่ออก ทว่าเพิ่งมาเห็นภายหลังการติดตั้ง
หลังจากที่ลูกเรือของกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ออกไปติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) แต่พวกเขาก็ได้หยุดการต่อขยายแผงในทันที แม้จะคลี่แผงโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 90 ฟุตจากความยาวทั้งสิ้น 115 ฟุต เนื่องจากพบรอยฉีกขาดบนแผงดังกล่าว
ทั้งนี้ เปกกี ไวท์สัน (Peggy Whitson) ผู้บัญชาการสถานีอวกาศฯ เล่าว่า มุมแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์บดบัง ไม่ให้เหล่าลูกเรือที่ออกไปปฏิบัติการ เห็นรอยฉีกขาดขนาด 2 ฟุตครึ่งได้เร็วกว่านี้
“ถึงอย่างนั้น มันก็ยังทำงานได้” เปกกีเสริม โดยจุดที่ฉีกขาด ไม่ได้ส่งผลถึงการจัดสรรพลังงานที่ต้องการ แต่จุดที่นาซากังวลมากกว่าคือปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากความเสียหายครั้งนี้
อีกทั้ง ยังทำให้ลูกเรือทั้ง 10 นายที่ประจำยานดิสคัฟเวอรีและไอเอสเอส รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ หลังจากได้ผ่านพ้นคืนวันแห่งความสำเร็จมาด้วยดี จากการกางแผงโซลาร์เซลล์ 1 ใน 2 แผงเสร็จสิ้น โดยมี 2 ลูกเรือรับหน้าที่เดินอวกาศนาน 7 ชั่วโมง และกำลังรื่นเริงกับความสำเร็จครั้งแรก
ก่อนหน้านั้น สก็อตต์ พาราซินสกี (Scott Parazynski) และ ดักลาส วีล็อก (Douglas Wheelock) ได้เดินอวกาศร่วมกันเพื่อต่อเชื่อมคานอันใหม่ ที่จะรับน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ทั้ง 2 ข้างจนแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ปีกโซลาร์เซลล์ที่นำไปติดตั้งนั้น เดิมที่ถูกพับไว้จนดูเหมือนหีบเพลง พวกเขาต้องใช้เวลา 3 วันในการเลื่อนคานรับน้ำหนักจากจุดหนึ่งบนไอเอสเอสไปยังอีกจุดที่อยู่ห่างออกไป 145 ฟุต ซึ่งเป็นจุดที่ยากที่สุดในภารกิจต่อเติมนี้
นอกจากนั้น พาราซินสกี ยังได้รับอีกภารกิจในการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อ ซึ่งหมุนได้รอบของปีกโซลาร์เซลล์ทั้ง 2 ข้าง ให้หันตรงไปทางดวงอาทิตย์ตลอดเวลา แต่จากการเดินอวกาศเมื่อสุดสัปดาห์ เขาพบว่ามีรอยขูดบนเหล็กกล้าของจุดเชื่อมด้านซ้ายของสถานี เขาจึงร้องขอให้ตรวจสอบจุดเชื่อมอีกข้างเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งทุกสิ่งที่จุดเชื่อมดูมันเงาและเก่า
อย่างไรก็ดี ต้องรอจนกระทั่งนาซาจะคำนวณออกมาได้ว่า อะไรที่ทำให้เกิดรอยดังกล่าวในล้อฟันเฟืองและซ่อมแซมนั้น จุดเชื่อมต่อด้านซ้ายนี้จะคงอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป แต่จะจำกัดไม่ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม
แรกทีเดียว นาซามีแผนที่จะสำรวจจุดเชื่อมต่อที่มีปัญหานี้อย่างใกล้ชิดอีกครั้งในการเดินอวกาศวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่ในที่สุดก็ยกเลิกไป เพราะว่าอาจต้องแก้ปัญหาเรื่องแผงโซลาร์เซลล์ให้ตกก่อนเป็นจุดแรก ซึ่งจากการร้องขอของฝ่ายควบคุมภารกิจ ทำให้ไวท์สันต้องคลี่แผงโซลาร์ออกมาอีกเล็กน้อยเพื่อไม่ให้แผงตึงเกินไป
ขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นว่า แผงเซลล์แสงอาทิตย์หลายต่อหลายจุดเสียรูป ม้วน และโค้งงอ โดยเธอได้ถ่ายและส่งภาพดังกล่าวไปให้วิศวกรได้ตรวจสอบ และหาวิธีที่จะรับมือแล้ว
ไมค์ ซัฟเฟรดินี (Mike Suffredini) ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศฟากสหรัฐฯ เผยว่า แผงโซลาร์เซลล์จะจ่ายไฟได้ 97% ของทั้งหมดหากสายไฟไม่ชำรุดไปด้วย ซึ่งในการเดินอวกาศนักบินอาจเย็บซ่อมแซมจุดดังกล่าวได้ ซึ่งอาจต้องกางแผงปีกโซลาร์เซลล์ออกเพื่อให้นักบินเข้าไปถึงจุดดังกล่าวได้
“เรามีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย และเราอยู่ในตำแหน่งที่ดีและแก้ปัญหาได้” ผู้จัดการโครงการสถานีฯ กล่าว
แม้ล่าสุดภารกิจกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีจะต้องเลื่อนออกไปอีก 1 วันหลังการตรวจพบปัญหาดังกล่าวและจะมีการกำหนดวันกลับสู่พื้นโลกอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย. ขณะที่ ซัฟเฟรดินี แนะว่าน่าจะเลื่อนออกไป 2 วันมากกว่าเพื่อใช้รับมือกับปัญหาที่อาจตึงเครียดกว่าที่คิด
อย่างไรก็ดี ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศสหรัฐฯ ย้ำว่า หากไม่มีการซ่อมแซมจุดบกพร่องดังกล่าว ให้แล้วเสร็จโดยไว ก็ไม่แน่ว่า ยานแอตแลนติส (Atlantis) ซึ่งเตรียมบินถัดไป ในต้นเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อนำส่ง "โคลัมบัส" ห้องปฏิบัติการของสหภาพยุโรปสู่สถานีอวกาศ ก็อาจต้องล่าช้าไปด้วยก็ได้ ซึ่งตอนนี้นาซาเองก็ยังไม่มีแผนจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000129435
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment