Sunday, June 1, 2008

"ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าขนแล็บญี่ปุ่น-อุปกรณ์ส้วมขึ้นอวกาศ


นาซาส่งยาน "ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าท่ามกลางท้องฟ้าที่สดใส มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศในอีก 2 วันเพื่อติดตั้งห้องแล็บอวกาศความหวังของญี่ปุ่นและซ่อมแซมห้องส้วมที่ชำรุด

กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทะยานขึ้นสู่ฟ้าจากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) เมื่อเช้าวันที่ 1 มิ.ย.51 ตั้งแต่ 04.02 น.ตามเวลาประเทศไทย ท่ามกลางสภาพอากาศท้องถิ่นที่ค่อนข้างแจ่มใสและเมื่อปล่อยยานแล้วท้องฟ้าที่สดใสนั้นก็ประปรายไปด้วยเมฆจากเครื่องยนต์

จากนี้ไปอีก 2 วันสำนักข่าวเอพีรายงานว่ากระสวยอวกาศจะถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) และลูกเรือก็จะติดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบ (Kibo) ที่มีมูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ขององค์การสำรวจญี่ปุ่น (แจกซา) พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษให้กับห้องสุขาที่ชำรุดบนสถานีอวกาศด้วย

ห้องแล็บคิโบที่มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง "ความหวัง" นี้เป็นห้องแล็บขนาดเท่ารถประจำทางและจะเป็นห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่สุดที่ติดตั้งบนสถานีอวกาศซึง่จะกินพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของสถานีอวกาศ โดยชิ้นส่วนแรกได้ติดตั้งไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และชิ้นส่วนที่สามกับชิ้นส่วนสุดท้ายจะติดตั้งต่อไปในปีหน้า รวมมูลค่าห้องปฏิบติการทั้งหมดราว 6.5 หมื่นล้านบาท

ครั้งนี้เอพีรายงานว่าดิสคัฟเวอรีต้องบรรทุกสัมภาระซึ่งประกอบด้วยห้องแล็บอวกาศที่หนักถึง 14,500 กิโลกรัมและมีความยาว 11 เมตร โดยปฏิบัติการอวกาศครั้งนี้ยาวนาน 14 วันและประกอบด้วยการเดินอวกาศ 3 เพื่อติดตั้งห้องปฏิบัติการของญี่ปุ่น เปลี่ยนถังก๊าซไนโตรเจนและทำความสะอาดข้อต่อที่ยึดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของสถานีอวกาศไว้

นอกจากนี้ลูกเรือของสถานีอวกาศซึ่งเป็นชาวรัสเซียก็จะเปลี่ยนเครื่องสูบใหม่ให้กับห้องสุขาที่ชำรุด หลังจากที่เสียหายมาเป็นเวลากว่าสัปดาห์ นักบินบนสถานีต้องทำความสะอาดส้วมด้วยน้ำพิเศษอยู่หลายวัน ซึ่งเป็นงานที่เสียเวลาและสิ้นเปลืองน้ำอย่างมาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่นาซาและองค์กรอวกาศจากรัสเซียหวังว่าเครื่องสูบใหม่ที่ส่งตรงอย่างเร่งด่วนจากกรุงมอสโคว์ไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดีนั้นจะทำให้ห้องส้วมกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

สำหรับเที่ยวบินนี้ประกอบด้วยลูกเรือ 7 นายคือ มาร์ก เคลลี (Mark Kelly) ผู้บังคับการประจำเที่ยวบิน เคนเนธ แฮม (Kenneth Ham) นักบิน โรนัลด์ กาแรน (Ronald Garan) วิศวกรและผู้เดินอวกาศประจำเที่ยวบิน กาเรน ไนเบิร์ก (Karen Nyberg) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำเที่ยว และอากิฮิโกะ โฮชิเดะ (Akihiko Hoshide) นักบินอวกาศจากญี่ปุ่น ไมเคิล ฟอสซัม (Michael Fossum) ผู้เดินอวกาศประจำเที่ยวบิน และเกรก ชามิทอฟ (Greg Chamitoff) ซึ่งจะขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกับการ์เรตต์ ไรส์แมน (Garrett Reisman) เพื่อประจำอยู่บนสถานีอวกาศ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000063663

No comments: