Tuesday, June 24, 2008

ไทยแดดเยอะแต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์น้อยกว่าญี่ปุ่น 100 เท่า


ผอ.โซลาร์เทคชี้ญี่ปุ่นมีแดดน้อยกว่าไทยแต่ใช้โซลาร์เซลล์มากกว่าไทยร้อยเท่า แนะเป็นแหล่งพลังงานสำหรับผู้ด้อยโอกาสในชนบท เผยคนไทยผลิตโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง - ต้นทุนต่ำได้แล้ว ภาคเอกชนเสนอควรติดโซลาร์เซลล์ตามสถานที่ราชการสำรองไฟยามเกิดภัยพิบัติ

ด้วยเห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อนและมีแสงแดดมากแบบไม่ต้องซื้อหา หากเปลี่ยนบางส่วนมาเป็นไฟฟ้าได้ คงประหยัดค่าพลังงานได้มาก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดตามไปเก็บข้อมูลจากวงเสวนา “โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นในงานแถลงข่าวเปิดโครงการ “M-150 Ideology ปฏิบัติการสร้างสรรค์นวัตกรรม โซลาร์เซลล์”

ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ ผผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แห่งชาติ (โซลาร์เทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวเปิดประเด็นผ่านเทปวิดีโอว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากกว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าแห่งพลังงานแสงอาทิตย์มาก

ทั้งนี้ ผอ.โซลาร์เทค ชี้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณแสงแดดทั้งปีเพียง 70% ของบ้านเรา ทว่ากลับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าไทยถึง 100 เท่า แสดงให้เห็นศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่มาก ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้นำออกมาใช้

“อีกประมาณ 20 ปี ในปี พ.ศ.2573 ญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 10% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนไฟฟ้าที่ไทยเราใช้อยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน” ดร.พอพนธ์ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม

แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เพียง 1.7% หรือเพียง 10 กิกะวัตต์ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กิกะวัตต์ใน 20 ปีข้างหน้า ทว่า ดร.พอพนธ์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้แน่นอน ซึ่งไฟฟ้า 1 กิกะวัตต์จะเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถึง 1 โรงทีเดียว

นอกจากนี้ ดร.พอพนธ์ มองว่า สำหรับคนในตัวเมืองแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าอาจไม่มีความจำเป็นอะไรนัก ทว่าจะดียิ่งขึ้นหากเราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไปผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าสู่ผู้ด้อยโอกาส

อย่างไรก็ดี นายกมล ตรรกบุตร กรรมการสภาวิศวกร ให้ข้อมูลว่าจุดด้อยของพลังงานแสงอาทิตย์คือต้นทุนการผลิตที่สูงมาก โดยในยุคเริ่มต้นของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเมื่อราวปี 2520 ซึ่งเกิดวิกฤติพลังงานเหมือนปัจจุบัน ขณะนั้นการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีต้นทุนวัตต์ละ 250 บาท การพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์รุ่นใหม่ให้มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ในจุดนี้ นายเอกชาติ หัตถา นักวิจัยโซลาร์เทค ให้ข้อมูลแก้ว่า ในปัจจุบันนักวิจัยไทยสามารถแก้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ได้แล้ว โดยโซลาร์เทคสามารถผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิกอนได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่า 100 บาทต่อวัตต์ ขณะที่ประสิทธิภาพการแปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นสูงสุด 15.7% ด้วย ดังนั้นการขยายผลสู่การเชิงพาณิชย์ด้วยนวัตกรรมแปลกใหม่จึงเป็นที่น่าสนใจติดตามมาก

ส่วนนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา ประธานกรรมการบริหารบริษัท ฤทธา จำกัด แสดงความคิดเห็นว่า แม้ปัจจุบันเซลล์แสงอาทิตย์ยังมีราคาค่อนข้างแพงไปบ้าง แต่เราก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ในฐานะแหล่งจ่ายไฟสำรองในเวลาที่แหล่งเชื้อเพลิงอื่นๆ ไม่สามารถใช้การได้ อาทิ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างพายุนาร์กีส โดยสถานที่สำคัญทางราชการควรจะต้องมีไว้รับมือหากเกิดปัญหาโดยต้องไม่ชะล่าใจ หรือประมาทว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ปิดท้ายที่ รศ.ดร.สมชัย รัตนธรรมพันธ์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า การพัฒนานวัตกรรมแสงอาทิตย์ที่เป็นที่ต้องการในอนาคตไม่จำเป็นต้องเป็นของที่มีราคาแพงเท่านั้น แต่อยู่ที่การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งนั้นเองเป็นจุดที่เขาฝากโจทย์ให้คนรุ่นใหม่นำไปพัฒนานวัตกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศต่อไป

สำหรับโครงการ “M-150 Ideology ปฏิบัติการสร้างสรรค์นวัตกรรม โซลาร์เซลล์”จัดขึ้นโดยบริษัท โอสถสภา จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของโซลาร์เทค เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจับกลุ่มกัน 10-12 คน เพื่อส่งแนวคิดนวัตกรรมเซลล์แสงอาทิตย์เข้าประกวด โดย 5 ทีมสุดท้ายจะได้รับการสนับสนุนทุนพัฒนานวัตกรรม 2 แสนบาท พร้อมนำผลงานไปติดตั้งใช้จริงในพื้นที่เป้าหมายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.m-150.com .

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000073718

No comments: