Wednesday, June 18, 2008

นาโนเทคลุยต่อ "เวชสำอางนาโน" คราวนี้ได้ "อภัยภูเบศร" ต่อยอด


นาโนเทคร่วมมือ “อภัยภูเบศร” ต่อยอดเวชสำอางนาโนหมายเบิกร่องการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ โดยอภัยภูเบศรจะได้ฤกษ์เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์รุ่นบุกเบิก ทั้งกอเอี้ยะแก้ปวดข้อจากอนุภาค "พริกนาโน" และเซรั่มจากน้ำมัน "รำข้าวนาโน" ช่วยให้ผมดกดำในงานสมุนไพรแห่งชาติ

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเพื่อนำงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีไปเพิ่มมูลค่าให้กับเวชสำอางนาโนจากสมุนไพรไทย เมื่อ 18 มิ.ย.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมในงาน

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าวอื่นๆ ว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นขั้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนาโนเทคได้ลงนามร่วมมือการวิจัยพัฒนาสมุนไพรไทยกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีกรอบความร่วมมือ 3 ปีที่จะทำให้เกิดนาโนเวชสำอางต้นแบบ 1 ชนิดได้ใน 1 ปีและเพิ่มเป็น 10 ต้นแบบภายใน 3 ปี

ส่วนความร่วมมือล่าสุดนี้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะเป็นความร่วมมือ 3 ปีเพื่อนำต้นแบบงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีที่ได้จากความร่วมมือข้างต้นไปต่อยอดสู่การผลิตนาโนเวชสำอางสมุนไพรไทยในเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นมุ่งเป้าไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลดเลือนริ้วรอย และเพิ่มความอ่อนวัยที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีนาโนแคปซูลบรรจุสารสกัดที่มีประโยชน์ไว้แล้วปล่อยออกมายังชั้นผิวหนังแท้ โดยจะผลิตจากสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพประมาณ 10 – 20 ชนิด อาทิ มะขามป้อม ขมิ้นชัน มังคุด และใบบัวบก ฯลฯ

“ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นในปี 49 ที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 3.7 หมื่นล้านบาท และเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาทในปี 50 อย่างไรก็ดียังต้องมีการหารือถึงแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างนาโนเทค ภาคการวิจัย และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถึงความร่วมมือนี้ด้วย” ผอ.นาโนเทคกล่าว โดยการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยจะต้องมีการตกลงเป็นรายตัวว่าเป็นสมุนไพรชนิดใดองค์กรใดมีบทบาทในขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งเวลานี้ยังดำเนินการไม่ถึงช่วงดังกล่าว

ส่วนข้อกังวลถึงผลเสียที่อนุภาคนาโนจะสะสมในร่างกายและทำให้เกิดอันตราย ศ.ดร.วิวัฒน์ ยืนยันว่า จะไม่เกิดกรณีดังกล่าวแน่นอน เพราะสารสกัดดังกล่าวเป็นสารจากธรรมชาติ อีกทั้งจะต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาวิจัยและทดลองในอาสาสมัครจนมั่นใจได้ว่าควรใช้ในปริมาณเท่าใดที่จะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย

ขณะที่ นพ.วิชาญ เกิดวิชัย ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ตัวมูลนิธิฯ เองกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแผ่นแปะแก้ปวดข้อนาโนจากสารสกัดแคปไซซินจากพริกซึ่งไม่มีผลข้างเคียงจากยาแก้ปวด และเซรั่มนาโนช่วยให้ผมดกดำจากน้ำมันรำข้าว ซึ่งมูลนิธิฯ มีภูมิปัญญาด้านสมุนไพรพร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้นำนาโนเทคโนโลยีช่วยการผลิต โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จากฐานการผลิตทั้งโรงงานและเครื่องจักรที่มูลนิธิมีความพร้อมเดิมอยู่แล้ว

“เราเชื่อว่าภายในปีแรกของความร่วมมือ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 น่าจะแล้วเสร็จและจำหน่ายได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 5 จัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วย” นพ.วิชาญ ปิดท้ายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071526

No comments: