จุฬาฯ ออกแบบระบบจำลองการเกิดสึนามิ เชื่อมโยงเครือข่ายซูเปอร์คอมพิวเตอร์ วิเคราะห์จุดเสี่ยงผ่านเว็บล่วงหน้า 40 นาทีก่อนคลื่นซัดขึ้นฝั่ง
น.ส.เปรมจิต อภิเมธีธำรง ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมงานออกแบบระบบจำลองการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อการเตือนภัยขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยเป็นของตัวเอง ที่ผ่านมาต้องพึ่งพาข้อมูลจากต่างชาติ ทำให้การเตือนภัยของประเทศไทยทำได้ล่าช้า
การศึกษาออกแบบระบบเตือนภัยสึนามิขึ้นใช้เองในประเทศดังกล่าว ได้ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา นำโดย ดร.อาณัติ เรืองรัศมี โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงช่วยให้การประมวลผลทำได้เร็วขึ้น
“ประเทศไทยมีทุ่นตรวจจับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลจำนวนหนึ่ง ข้อมูลที่ได้จะส่งไปประมวลผลระดับภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมไกลถึงญี่ปุ่นและอเมริกา เพื่อคาดการณ์การเกิดคลื่นสึนามิ แต่หากประเทศไทยต้องการใช้ข้อมูล จะต้องติดต่อไปยังศูนย์เฝ้าระวังในต่างประเทศ ทำให้การเตือนภัยทำได้ล่าช้า” นักวิจัย กล่าว
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยของตัวเอง ทำให้ต้องพึ่งพาต่างชาติ ในบางครั้งข้อมูลที่มีก็ไม่ตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงซึ่งขาดการประมวลผลล่วงหน้า ทำให้การแจ้งเตือนภัยของไทยไม่น่าเชื่อถือ เมื่อเทียบเท่ากับข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยประเทศอินโดนีเซีย
ทีมวิจัยจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ความสูงของคลื่น ช่วงเวลาที่คลื่นพัดถึงฝั่ง จุดเสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มาพัฒนาเป็นระบบเตือนภัย ในรูปแบบของภาพกราฟฟิกเสมือนจริงปรากฏบนเว็บไซต์ ขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงมีส่วนช่วยให้การวิเคราะห์ผลทำได้เร็วขึ้น
ในส่วนของการใช้งานคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ทีมวิจัยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโตเกียวเข้าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ "Tsubame" เพื่อการวิจัย ตลอดจนทดลองใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของศูนย์ไทยกริดแห่งชาติในการคำนวณ
ทั้งนี้ คลื่นใช้เวลาเดินทางจากจุดเกิดแผ่นดินไหวมาถึงชายฝั่งประมาณ 90 นาที คอมพิวเตอร์ปกติใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงในการประมวลผลและส่งสัญญาณเตือนภัย ซึ่งถือว่าล่าช้า ขณะที่คอมพิวเตอร์เครือข่ายสมรรถนะสูง หรือกริดคอมพิวติ้ง ใช้เวลาคำนวณประมวลผลเพียง 40 นาทีเท่านั้น
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/17/x_it_h001_207221.php?news_id=207221
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment