Monday, June 2, 2008

เทคโนประดิษฐ์-รับสมัครโครงงานวิจัยสัมผัสเที่ยวบินไร้น้ำหนัก

โอกาสมาถึงแล้วสำหรับเยาวชนที่ต้องการสัมผัสชีวิตในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เมื่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเวทีรับสมัครโครงงานวิจัย ที่ต้องการทดลองในสภาพไร้น้ำหนักบนเที่ยวบินขององค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เชิญชวนเยาวชนส่งแนวคิดโครงงานวิจัย ที่ต้องการทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจะคัดเลือกผลงานส่งให้องค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือ แจ๊กซ่า พิจารณาในเดือนกรกฎาคม เพื่อหาทีมชนะเลิศร่วมเดินทางไปทำการทดลองในเที่ยวบิน "พาราโบลิก"

เที่ยวบินพาราโบลิกคือการบินในลักษณะโค้งขึ้นลงเป็นรูปคลื่น จนทำให้เกิดสภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 20 วินาที และนักวิจัยหรือเจ้าของโครงงานจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทดลองและสรุปผล

กิจกรรมดังกล่าวอยู่ในความดูแลของโครงการการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน นักวิจัยและประชาชน ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยของเยาวชนไทย ร่วมทดสอบในเที่ยวบินดังกล่าว 2 โครงการคือ การศึกษาสภาพแตกตัวของยา โดย น.ส.อาภาภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และการศึกษาการเคลื่อนที่ของน้ำเมื่อได้รับความร้อน โดยกลุ่มนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการแรกต้องการดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะนักบินอวกาศ จึงมีประโยชน์ในการพัฒนายาที่เหมาะสมกับนักบินอวกาศในอนาคต ส่วนโครงการที่สองต้องการข้อมูล เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการวิจัยเรื่องอื่นต่อไป เช่น การพัฒนาระบบหล่อเย็น

"โครงการวิจัยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงยังเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับงานวิจัยบนอวกาศ เพราะในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะไปสร้างอาณานิคมบนอวกาศ ซึ่งยังต้องการงานวิจัยด้านต่างๆ อีกมาก สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์นอกโลก" ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี หัวหน้าโครงการการกระตุ้นความคิดฯ กล่าว

ในปี2563 ประเทศจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีโครงการร่วมวิจัยบนดวงจันทร์ เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากไททาเนียมและแร่ธาตุต่างๆ บนดวงจันทร์ โดยเน้นการขุดหาแหล่งพลังงานใหม่จากนอกโลก ด้วยเหตุนี้ทางญี่ปุ่นจึงหาพันธมิตรทางการวิจัย เพื่อค้นหางานวิจัยด้านต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอวกาศ

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/02/x_it_h001_204057.php?news_id=204057

No comments: