Tuesday, May 29, 2007

วท.ส่ง ‘ส่งวิทย์เทคโน’ ลงช่อง 9

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมส่งรายการ “วันละนิด วิทย์เทคโน” ออกอากาศททางช่อง 9 อสมท หลังรายการเมก้าเคลฟเวอร์ใกล้หมดสัญญา ประเดิมวันแรก 1 มิถุนายนนี้

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือช่อง 9 อสมท จัดทำรายการ “วันละนิด วิทย์เทคโน” โดยนำเสนอข่าวสารความรู้เชิงสารคดีวิทยาศาสตร์ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยเกิดความรักในวิทยาศาสตร์ โดยจะ
ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ทางช่อง 9 อสมท เวลา 19.30 น.

รายงานใหม่นี้จะมาแทนรายการ “เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดๆ” ซึ่งออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. ช่อง 9 อสมท ที่ใกล้จะหมดสัญญาในเร็วๆ นี้

รายการ “วันละนิด วิทย์เทคโน” จะมีความยาวประมาณ 1 นาทีครึ่ง เน้นถ่ายทอดความรู้ลักษณะเกร็ดความรู้ เช่น คำจำกัดความที่เกี่ยวเนื่องในแวดวงวิทยาศาสตร์ เช่น ดีเอ็นเอ สเต็มเซลล์ นาโนเทคโนโลยี กำหนดออกอากาศตอนแรกวันที่ 1 มิถุนายนนี้ รายการจะต่อเนื่องไปกว่า 200 ตอน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชน หรือผู้ที่ชมรายการได้ซึมซับและมองเห็นความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน

ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผู้ชมรายการสามารถแนะนำ หรือเสนอเรื่องที่อยากรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาให้ทางรายการช่วยหาคำตอบได้ที่ เวบไซต์ www.timeforscience.nstda.or.th

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, May 23, 2007

มทร.ธัญบุรี"พัฒนาโปรแกรม สั่งคอมพิวเตอร์พิมพ์งานด้วยเสียง


ฑีฆายุ สมานรักษ์ สุภัคพรรณ จิตต์ศรีนันท์ และรุจิวรรณ วรรณถาวร กลุ่มนักศึกษาจากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) พัฒนาโปรแกรมใช้เสียงพูดแทนมือพิมพ์เอกสาร ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้พิการมือและแขนที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน

ฑีฆายุ ตัวแทนกลุ่มเล่าว่า โปรแกรมนี้เป็นการต่อยอด ผลงานของรุ่นพี่ที่เคยทำโปรแกรมที่ใช้ดวงตาขยับเมาส์ โดยโปรแกรมของพวกเราได้พัฒนาเพิ่ม คือ จากเดิมที่สามารถขยับเมาส์ด้วยดวงตาแล้ว ยังใช้เสียงพูดเพื่องานพิมพ์ได้ด้วย หมายความว่า ในการพิมพ์งานเอกสารชิ้นหนึ่งนั้นสามารถใช้แค่ดวงตาและเสียงพูดก็ทำงานได้ เป็นโปรแกรมที่เหมาะสำหรับผู้ที่พิการทางแขน มือ นิ้ว หรืออาจจะมีความจำเป็นด้านอื่นๆ ทำให้ใช้มือสั่งงานคอมพิวเตอร์ไม่ได้

การใช้งานจะเริ่มจากกำหนดให้ "กล้องเว็บแคม" คอยจับภาพเคลื่อนไหวของดวงตา แล้วนำภาพที่ได้ไปประมวลผล (Image Processing) เพื่อคำนวณหาจุดของตาดำไปมา

ขั้นต่อมานำการเคลื่อนไหวนี้ไประบุตำแหน่งต่างๆ บนจอภาพ และตำแหน่งของ "พอยเตอร์" จะเคลื่อนไปตามตำแหน่งที่ดวงตามองไปยังจุดนั้นๆ อย่างแม่นยำ

"ในการสั่งงานจะสั่งด้วยเสียงพูดผ่านไมโครโฟน จากเมื่อก่อนที่สามารถออกคำสั่งได้แค่การคลิก ดับเบิลคลิก หรือแดร็กแอนด์ดร็อป เท่านั้น แต่โปรแกรมที่พวกเราพัฒนาเพิ่มคือการเขียนโปรแกรมให้สามารถออกคำสั่งในการพิมพ์ตัวอักษร-สระ แทนการใช้มือพิมพ์บนแป้นพิมพ์ เช่น จะพิมพ์อักษร "ก" ก็พูด ว่า "กอ ไก่" ผ่านไมโครโฟน แล้วอักษร "ก" ก็จะขึ้นที่หน้างานเอกสาร" ฑีฆายุกล่าว

สำหรับเครื่องมือที่สามารถรองรับการใช้โปรแกรมของนักศึกษามทร.ธัญบุรี ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ความเร็วประมวลผลไม่ต่ำกว่า 3.00 GHz, หน่วยความจำ (RAM) 1.00 GB ขึ้นไป, กล้องเว็บแคมอัตรา Frame rat: 30 Frames/sec ความละเอียดไม่ต่ำกว่า 800x600 Pixel, ไมโครโฟนแบบ Hardset, ระบบปฏิบัติการ Microsoft XP Professional Version 2002, โปรแกรม Microsoft Visual Basic 6.0, โปรแกรม Microsoft Speech 5.1 และโปรแกรม VideoOCX

โครงการนี้มีอาจารย์สุเทพ เชาว์สนิท เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตลอดโครงการ นับว่าเป็นการเติมเต็มคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ได้สมบูรณ์มากขึ้น

สำหรับท่านที่สนใจ "โปรแกรมใช้เสียงพูดเพื่องานพิมพ์เอกสาร" ติดต่อสอบถามไปได้ที่ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2549-3510-39 ต่อ 104

ที่มา: http://www.matichon.co.th/k
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec02230550&day=2007/05/23§ionid=0326

Tuesday, May 22, 2007

เยาวชนโครงงาน “ต้อยติ่ง” ตะลึงเสิร์ชชื่อตัวเองกลายเป็น “ดาวเคราะห์น้อย”


1 ใน 3 เยาวชนไทยเจ้าของโครงงาน “ต้อยติ่ง” ที่คว้ารางวัลระดับโลกเมื่อปี 2549 เผยตกใจและดีใจที่เมื่อค้นชื่อตัวเองบนอินเทอร์เน็ตกลับกลายเป็นชื่อดวงดาว หลังนาซานำไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้คว้ารางวัลแกรนด์อะวอร์ด แจงเพิ่งทราบข่าวดีนี้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

หลังจากที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ยกย่อง 3 เยาวชนไทยผู้ทำโครงงาน “การแตกตัวของฝักต้อยติ่ง” ที่คว้ารางวัลแกรนด์อะวอร์ด (Grand Award) จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในงานอินเทลไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair: ISEF) ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2549 ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยนำชื่อของพวกเขาไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบใหม่

ทั้งนี้ ชื่อดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบใหม่ ได้เแก่ ดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 1998HH88 ตั้งชื่อว่า 21464 Chinaroonchai ตามชื่อของ ทนงศักร ชินอรุณชัย, ดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 1998QE11 ตั้งชื่อว่า 21540 Itthipanyanan ตามชื่อของ สุขสันต์ อิทธิปัญญานันท์ และดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 1999NR11 ตั้งชื่อ ว่า 21632 Suwanasri ตามชื่อของครองรัฐ สุวรรณศรี

นายทนงศักร ชินอรุณชัย 1 ใน 3 เยาวชนผู้ทำโครงงานการแตกตัวของฝักต้อยติ่งและได้รับเกียรติดังกล่าวเผยว่า เพิ่งทราบมาประมาณ 1 สัปดาห์ว่าชื่อของเขาและเพื่อนถูกนำไปใช้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย โดยเขาลองค้นชื่อตัวเองในอินเทอร์เน็ตดูเล่นๆ และแปลกใจที่เห็นตัวเองถูกนิยามเป็นดาวเคราะห์น้อย แต่หลังจากนั้น 3-4 วันทางนายนิพนธ์ ศรีนฤมล อดีตอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ของเขาในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้แจ้งข่าวให้ทราบ

“ตกใจครับ พิมพ์ชื่อตัวเองในอินเทอร์เน็ตและเปิดเข้าไปก็เห็นชื่อเราเป็นดวงดาว เป็นอุกาบาต 'คุณเป็นอุกาบาต' เขาใช้คำว่า Asteroid น่าจะแปลว่าดาวเคาะห์น้อย คุณแม่ก็งงว่าทำไมลูกกลายเป็นดวงดาวไปแล้ว” ทนงศักร กล่าว และแจงต่อว่าผู้ที่ได้รับรางวัลแกรนด์อะวอร์ดจากการประกวดโครงงานของอินเทลไอเซฟในแต่ละปีจะถูกนำชื่อไปตั้งให้กับดาวเคราะห์น้อยเป็นประเพณี แต่ตอนไปประกวดโครงงานเขาก็ไม่ทราบมาก่อน

ทางด้านนายสุขสันต์ อิทธิปัญญานันท์ เยาวชนอีกคนที่ได้เกียรตินี้กล่าวว่าเขาไม่ทราบมาก่อนเลยว่าจะมีการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยตามชื่อของเขา แต่เพื่อนๆ ชาวอเมริกันได้ค้นชื่อของเขาเข้าผ่านทางกูเกิลและพบว่าชื่อของเขาถูกนำไปตั้งให้กับดาวเคราะห์น้อย พวกเขาตื่นเต้นมากและรีบมาบอกเขาทันที แรกทีเดียวเขารู้สึกแปลกใจและได้ค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตหลังจากนั้นแล้วพบว่าอินเทลไอเซฟได้รับสิทธิจากนาซาให้ใช้นามสกุลของเขาและเพื่อนไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยเพื่อเป็นเกียรติที่พวกเขาชนะรางวัลแกรนด์อะวอร์ดจากการแข่งขันอินเทลไอเซฟ 2006

“แต่ตอนนี้ก็มีข่าวที่น่าสนใจกว่านี้นะครับ คณะนักเรียนจากเตรียมอุดมฯ เพิ่งได้รับรางวัลแกรนด์อะวอร์ดจากการแข่งขันงานเดียวกันในปีนี้ด้วย ผมรู้สึกยินดีและตื่นเต้นมากเพราะผมเพิ่งคุยกับน้องๆ ก่อนวันนำเสนอผลงานไม่นานนี่เอง” สุขสันต์กล่าวถึงความตื่นเต้นพร้อมเอ่ยถึงข่าวดีของน้องๆ ที่เคยเรียนด้วยกันได้รับรางวัลแกรนด์อะวอร์ดจากโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการหุบของใบไมยราพในการแข่งขันอินเทลไอเซฟ 2007

ปัจจุบัน ทนงศักร กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนสุขสันต์กำลังจะจบการศึกษาในชั้น ม.ปลายปีสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกาและเตรียมศึกษาต่อทางด้านชีววิทยาด้วยทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่ ครองรัฐ กำลังศึกษาทางด้านธรณีฟิสิกส์ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนของบริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000058990

Wednesday, May 16, 2007

ดาวเทียมจับภาพหิมะแถบแอนตาร์กติก้าละลายเพราะโลกร้อน

ดาวเทียมของนาซ่าจับภาพหิมะแถบแอนตาร์กติก้าเริ่มละลายเพราะปัญหาโลกร้อน

(16พค.) คณะนักวิทยาศาสตร์ของ"เจต โพรพัลชั่น แลปบอราทอรี่"ขององค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐฯหรือนาซ่า กับมหา วิทยาลัยโคโลราโด ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น ได้ส่งผลให้ชั้นหิมะซึ่งปกคลุมพื้นที่ซึ่งมีขนาดเท่ากับรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ บนทวีปแอนตาร์คติก้าละลาย โดยดาวเทียมของนาซ่าได้เปิดเผยให้เป็นภาพการละลายเป็นวงกว้างของพื้นที่แถบนั้นเมื่อปี 2548 ซึ่งรวมทั้งในบริเวณที่สูงชัน จนเคยเชื่อกันก่อนหน้านี้ว่าหิมะแถบนั้นไม่น่าจะละลาย แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เป็นการใช้ดาวเทียมสังเกตภาพการละลายของหิมะครั้งสำคัญที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

นายคอนราด สเตฟเฟน ผู้อำนวยการสภาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เหี่ยวกับสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัย โคโลราโดกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบการละลายของหิมะเป็นปริมาณมากขนาดนี้บนแอนตาร์กติกา ซึ่งบ่งชี้ถึงผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นการละลายของแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานพอที่จะทำให้น้ำที่เกิดจากการละลายไหลลงสู่ทะเล แต่เขาเตือนว่าหากเกิดการละลายของแผ่นน้ำแข็งในแถบนั้นเป็นเวลานานๆ หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อโลกได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, May 15, 2007

ซาก"ขยะ"บนดวงจันทร์ กับความหวังตั้งนิคมมนุษย์!


โครงการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ในทางหนึ่งช่วยเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับบริวารของโลกดวงนี้อย่างชักเจนมากขึ้นจนถึงขั้นที่หลายประเท
ศกำหนดเป้าหมายว่าจะส่งคนของตนขึ้นไปตั้ง "อาณานิคม" เพื่อขุดเหมืองหาแร่ธาตุพลังงานกลับมาใช้บนพื้นโลก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางฐานความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้มนุษย์ก็ได้ทิ้งเศษซากขยะไฮเทคปริมาณมหาศาลกว่า 20 ตันกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นผิวดวงจันทร์ ในรูปแบบของซากยานอวกาศ ซากดาวเทียม ยานหุ่นยนต์ จรวดขับดัน รวมถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อีกมากมาย และในอนาคตขยะจะยิ่งเพิ่มปริมาณสูงขึ้นเมื่อรัฐบาลมหาอำนาจต่างกำลังแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อครอบครองดวงจันทร์โดยสมบูรณ์!

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec01150550&day=2007/05/15§ionid=0326

เตือนอย่ารีบแห่ใช้ เชื้อเพลิงไบโอ-หวั่นอาหารแพง


สำนักงานพลังงานแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกรายงานเตือนว่า การรีบร้อนเปลี่ยนไปใช้ "เชื้อเพลิงชีวภาพ" (ไบโอฟูเอิล) แทนเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสิ่งแวดล้อม

รายงานเรื่อง "พลังงานชีวภาพที่ยั่งยืน : แนวคิดสำหรับผู้กำหนดนโยบาย" ระบุว่า เชื้อเพลิงชีวภาพมีประโยชน์จริง แต่อาจก่อให้เกิดผลร้ายแรง หากมีการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชที่ใช้ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือพืชที่ปกติปลูกเพื่อเป็นอาหารมีราคาแพงขึ้น เพราะถูกนำไปใช้ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ และกลุ่มนายทุนกลายเป็นเจ้าของพืชผลเหล่านี้ ไม่ใช่ชาวบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า การนำชีวมวลไปใช้ผลิตความร้อนและไฟฟ้า แทนการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงยวดยาน คือหนทางที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต และเป็นวิธีหนึ่งที่มีราคาถูกที่สุด

ยูเอ็นชี้ถึงข้อดี-ข้อเสียของอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพว่า ในด้านหนึ่งช่วยให้ผู้คนได้มีพลังงานสะอาดใช้ มีรายได้ และมีงานทำ แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้ที่ดินและพืชผลมีราคาสูงขึ้น ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อคนในประเทศยากจนที่เจียดรายได้ส่วนใหญ่ไปกับอาหาร

ขณะเดียวกัน ความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้มีการบุกรุกป่าอย่างกว้างขวาง เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่ขนาดใหญ่ อาจทำให้ธรรมชาติสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดินเสื่อม และสารอาหารลดลง

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec20150550&day=2007/05/15§ionid=0326

แนะใช้อินเทอร์เน็ตกระตุ้นคนออกกำลังกายได้

นิวยอร์ก 15 พ.ค.- ผลการศึกษาในสหรัฐแนะว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่ใช้เวลาทั้งวันนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อาจเข้าไปหาข้อมูลการออกกำลังกาย อินเทอร์เน็ตจึงน่าจะเป็นสื่อกระตุ้นให้คนออกกำลังกายเป็นประจำได้ไม่แพ้สื่อสิ่งพิมพ์

วารสารอายุรแพทย์ฉบับวันที่ 14 พ.ค. ลงพิมพ์ผลการศึกษาผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่กับที่เป็นส่วนใหญ่จำนวน 249 คนว่า อาสาสมัครที่ได้ท่องอินเทอร์เน็ตใช้เวลาออกกำลังกายสัปดาห์ละ 80-90 นาทีตลอดการศึกษานาน 1 ปี ผลการศึกษานี้มีนัยสำคัญมาก เพราะปีที่แล้วมีผู้ใหญ่ชาวอเมริกันท่องอินเทอร์เน็ตถึง 147 ล้านคน หากในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่กับที่เป็นส่วนใหญ่ก็เท่ากับว่าอินเทอร์เน็ตมีโอกาสเป็นสื่อกระตุ้นให้คนมากถึง 80 ล้านคนออกกำลังกายหลังจากถูกตำหนิว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนนั่งติดอยู่กับที่

คณะนักวิจัยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเข้าเว็บไซต์ที่ได้รับการพัฒนาให้ส่งเสริมการออกกำลังกาย กลุ่มที่สองได้รับเว็บไซต์เชื่อมไปยังเว็บไซต์ 6 แห่ง ของหน่วยงานการแพทย์และการออกกำลังกาย กลุ่มสุดท้ายได้รับสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกคนต้องบันทึกกิจกรรมในแต่ละวันและตอบคำถามที่ทำให้ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลังจากผ่านไป 1 ปีพบว่า กลุ่มท่องเว็บไซต์ที่ได้รับการพัฒนาเฉพาะใช้เวลาออกกำลังกายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 90 นาที เท่ากับกลุ่มได้รับสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนกลุ่มเข้าเว็บไซต์ที่ให้เลือกเชื่อมต่อเองใช้เวลาออกกำลังกายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 80 นาที ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า โดยทั่วไปแล้วคนวัยผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Monday, May 14, 2007

มข. ตั้งศูนย์วัสดุอนุภาคและเส้นใยนาโน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านวัสดุอนุภาคและเส้นใยนาโน เพื่อการประยุกต์ด้านการแพทย์

รศ.ดร. สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดงานวิจัย พัฒนาออกแบบและวิศวกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีของไทย ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จะเสริมงานวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริการทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยจะร่วมมือกันภายใต้กลไกและการดำเนินงานของ “ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขณะที่ ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมว่า ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มข. มีเอกลักษณ์ในการนำวัสดุและเส้นใยนาโนมาประยุกต์ใช้ในการแพทย์ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นใยนาโนด้วยโปรตีนออกฤทธิ์รักษาบาดแผล การพัฒนาเยื่อบุนาโนผสมสารสกัดธรรมชาติจากบัวบกเพื่อป้องกันและลดอาการโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น นับว่าเป็นการบูรณาการนาโนเทคกับแพทย์และเภสัชศาสตร์เป็นอย่างดี

"แนวโน้มขณะนี้ทางสหภาพยุโรปก็กำลังเร่งวิจัยในทิศทางนี้เช่นกัน ซึ่งระบบวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการอยู่แล้ว" ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยี กล่าว

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการมีทีมนักวิจัย 22 ท่าน ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง ซึ่งสามารถดำเนินกิจกรรมวิจัยตามข้อตกลงสำเร็จผลได้ตามเป้าหมาย

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/14/WW54_5404_news.php?newsid=69538

สถาบันดาราศาสตร์ชี้ลมสุริยะมีเอี่ยวโลกร้อน


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณวิทยุหาความสัมพันธ์ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ไขความลับอิทธิพลของดวงอาทิตย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยกับสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) เพื่อหาความสัมพันธ์ของตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมปีสุริยะฟิสิกส์สากลปี 2550

“ปัจจุบันมีหลักฐานเกี่ยวกับดวงอาทิตย์หลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งนักดาราศาสตร์ต้องการค้นหาความจริง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศในการวิจัย” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกล้วนได้รับอิทธิพลเชื่อมโยงมาจากดวงอาทิตย์ที่ ตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์ ลมสุริยะ ซึ่งเกิดจากดวงอาทิตย์ปลดปล่อยอนุภาคอิเล็กตรอน โปรตรอน สู่อวกาศ กลายเป็นพายุสุริยะ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก เช่น ช่วงวิทยุคลื่นสั้นไม่สามารถรับฟังได้ตามปกติ เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นบน หรือไอโอโนสเฟีย

เมื่อไม่นานมานี้ นักฟิสิกส์สุริยะในรัสเซียได้เสนอทฤษฎีว่า สาเหตุที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องมาจากการปล่อยรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ นอกเหนือจากก๊าซเรือนกระจก หากดวงอาทิตย์จะปล่อยแสงเพิ่มขึ้นเพียง 1% ก็มีผลต่อโลกได้ เพราะดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มีความเชื่อมโยงกัน

ปีสุริยะฟิสิกส์สากล เป็นผลจากความสำเร็จในปีธรณีฟิสิกส์สากล (International Geophysical Year, IGY) ปี 2500 จากการได้ปล่อย ยานสปุตนิก 1 (Sputnik) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจร นับเป็นการเริ่มต้นของศักราชแห่งการสำรวจอวกาศ

ในปีดังกล่าวมี นักดาราศาสตร์กว่า 6,000 คน จาก 67 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาของโลกและอวกาศอย่างแพร่หลาย และด้วยวาระครบรอบ 50 ปี ของปีธรณีฟิสิกส์สากล องค์การสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เสนอให้มีการเฉลิมฉลอง ปีสุริยะฟิสิกส์สากลขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการวิจัยให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น

ในส่วนของ สดร. ได้ร่วมกิจกรรมการวิจัย ในปีสุริยะฟิสิกส์สากล โดยทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์สุริยะที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ เช่น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณวิทยุ ศึกษาสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และลมสุริยะเพื่อเป็นข้อมูลส่งต่อให้นักดาราศาสตร์ประจำสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติทำงานวิจัยต่อไป

“ช่วงคลื่นวิทยุที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ จะบอกถึงตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ที่ต้องอาศัยข้อมูลจากทั่วโลกในการคำนวณผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ซึ่งกิจกรรมติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน เริ่มต้นขึ้นพร้อมกันใน 100 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจะเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยร่วมกับสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. จัดกิจกรรม และประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบๆ ต่าง ที่เกิดขึ้นต่อโลกจากดวงอาทิตย์ โดยริเริ่มโครงการปลูกฝังปัญญาเยาว์ด้วยดาราศาสตร์ เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เช่น สื่อการ์ตูนแอนิเมชันเกี่ยวกับนิยายดาว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/14/WW54_5401_news.php?newsid=69564

สสท.-สสส.จัดแข่งหุ่นยนต์สร้างเสริมสุขภาพ 2-3 มิ.ย.นี้


สสท.- สสท.-สสส.จัดแข่งหุ่นยนต์สร้างเสริมสุขภาพ 2-3 มิ.ย.นี้ ประชันความสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์ของนักเรียน-นักศึกษา

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย – ญี่ปุ่น) หรือ (สสท.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแข่งขัน “ส.ส.ท. – ส.ส.ส. หุ่นยนต์สร้างเสริมสุขภาพ” ภายใต้เกมการแข่งขัน หุ่นยนต์แอโรบิคภูมิปัญญาไทยและเตะฟุตบอล ชิงความเลิศด้านหุ่นยนต์ Humanoid พร้อมส่งทีมชนะเลิศไปทัศนศึกษานวัตกรรมล้ำสมัย และร่วมแข่งขัน ROBO-ONE Special ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยจัดขึ้นในวันที่ 2- 3 มิถุนายน 2550 ณ MCC HALL เดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อผสมผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์และความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพแก่นักเรียนมัธยมทั่วประเทศ ส.ส.ท.ร่วมกับ ส.ส.ส. จัดการแข่งขัน “ส.ส.ท. – ส.ส.ส. หุ่นยนต์สร้างเสริมสุขภาพ” ซึ่งเป็นการแข่งขันในโครงการ “การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ยุวชน กรังด์ปรีซ์ 2550”

ในเกมการแข่งขัน 3 ประเภท คือ การแข่งขันหุ่นยนต์แอโรบิคภูมิปัญญาไทยและเตะฟุตบอล ชมการเขียนโปรแกรมบังคับ หุ่นยนต์ Robonova 1 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประเภท Humanoid ให้เต้นแอโรบิกด้วยท่าทางประยุกต์การร่ายรำ 4 ภาคของไทย และการยิงลูกโทษ การแข่งขันหุ่นยนต์เล่นละคร ชมการประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้แสดงละคร ในแนวคิด ส่งเสริมสุขภาพและต่อต้านยาเสพติด การแข่งขัน Robot Safety Rally ชมการประดิษฐ์และเขียนโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์ให้ปฏิบัติภารกิจด้านความปลอดภัยบนท้องถนน

นอกจากนี้ ภายในงานจะได้พบกับการชิงความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ของนิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศ ใน การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ภายใต้เกม “มหัศจรรย์ ฮาลองเบ” และการแข่งขัน PLC Competition ในเกม “การแข่งขันหุ่นยนต์ปาเป้า” พร้อมทั้งร่วมเชียร์ไปกับบรรยากาศแสนสนุกสนาน ในการประกวดกองเชียร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยม ที่พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ ท่าทางมันๆ และเชียร์ลีดเดอร์ที่สวยงาม

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย – ญี่ปุ่น) โทร.0-2258-0320 ต่อ 1111, 1113 หรือ www.tpa.or.th

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000055262

เปิด “ตึกลูกเต๋า” จัดค่ายวิทย์ต้อนรับเยาวชนจาก 3 ชายแดนใต้


เปิดค่ายวิทยาศาสตร์ต้อนรับเยาวชนจากโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 6 ผอ.อพวช.หวังเยาวชนได้เก็บเกี่ยวความรู้และความเข้าใจ “วิทยาศาสตร์” กลับไปใช้ในชีวิตประจำวันและเผยแพร่ในพื้นที่บ้านเกิด ด้านเยาวชนเผย ประทับใจโครงการ ตื่นเต้นและอยากตักตวงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมนำไปบอกต่อเพื่อนๆ

กลับมาพบกันอีกครั้ง สำหรับกิจกรรมในโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 6 ที่ได้พาน้องๆ จาก 3 จังหวัดภาคใต้ 120 คนมาเยี่ยมเยียนองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ทางโครงการฯ ได้พาน้องๆ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ มาระยะหนึ่งแล้ว โดยระหว่างวันที่ 14 -17 พ.ค.นี้ อพวช.ร่วมกับกลุ่มบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดกิจกรรมต่างๆไว้ให้เยาวชนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์กันอย่างเต็มอิ่ม โดยมีพลเรือเอกประเจตน์ ศิริเดช ประธานอนุกรรมการบริหารโครงการฯ ร่วมพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 14 พ.ค.

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช. กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมกับ อพวช.คราวนี้ อพวช.หวังว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เยาวชนค่ายได้รู้จักวิธีการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ต่างๆ อย่างเป็นระบบด้วยตัวเอง และชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากแต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ อีกทั้งเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน โดยกิจกรรมค่ายจะเน้นที่กิจรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยเยาวชนสามารถใช้หลักเหตุผลมาวิเคราะห์สิ่งที่พบเห็นได้

ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมการสกัดดีเอ็นเอ ซึ่งเยาวชนอาจเข้าใจว่ายาก แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเองในห้องปฏิบัติการ และรวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กิจกรรมวอล์คแรลลี่ และกิจกรรมจรวดขวดน้ำ ขณะเดียวกันเยาวชนยังจะได้สัมผัสกับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้วยตัวเอง ซึ่ง อพวช.หวังว่าเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะกลับไปยังบ้านเกิดขงตัวเองแล้วเป็นแกนนำที่จะช่วยนำวิทยาศาสตร์ไปเผยแพร่ให้แก่ชุมชนต่อไปด้วย

“ในค่ายนี้ เยาวชนจะได้มาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับคำว่าวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เป็นองค์ความรู้และส่วนที่เป็นกระบวนการทักษะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในอนาคต นอกจากนั้น กิจกรรมต่างๆ ภายในค่ายยังสร้างความมั่นใจให้พร้อมที่คนไทยจะอยู่ร่วมกันโดยไม่มีเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรมมาปิดกั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดี เพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคมได้” ดร.พิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังพิธีเปิดค่าย นายมูฮัมหมัดอักบาร์ หะยีเยะ หรือ “อักบาร์” เยาวชนจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา เผยว่า การมาร่วมค่ายสานใจไทยสู่ใจใต้รุ่น 6 ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ตัวเองได้มาร่วมกิจกรรม ซึ่งทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น และจากการเข้าร่วมโครงการไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ตัวเองก็ได้มีโอกาสเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ร่วมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ด้วย ซึ่งทำให้เห็นธรรมชาติและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย

“นอกจากนั้น พวกผมยังได้มีโอกาสเที่ยวชมสถานที่สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ และได้อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งทำให้พบว่า แม้จะมีวิถีชีวิตแตกต่างจากครอบครัวมุสลิมในภาคใต้ แต่คนไทยก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข” อักบาร์ กล่าวพร้อมว่า สำหรับในวันปิดค่าย (17 พ.ค.) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และผู้ให้กำเนิดโครงการฯ พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรี จะได้มาเยี่ยมค่ายและมอบประกาศนียบัตรให้แก่เยาวชน โดยในความเห็นส่วนตัวแล้ว พล.อ.เปรม เป็นบุคคลที่สุภาพเรียบร้อย เป็นผู้นำและตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน

ส่วนการเข้าค่ายกิจกรรมที่ อพวช.นี้ อักบาร์บอกว่า ทำให้ตัวเองรู้สึกตื่นเต้นอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นคนที่สนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ การทดลอง และการค้นคว้าอยู่แล้ว โดยอาชีพในอนาคตที่ใฝ่ฝันคืออายุรแพทย์ เพื่อรักษาพยาบาลเด็กๆ ซึ่งก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากเพราะมีผลการเรียนค่อนข้างดี

ส่วน น.ส.นูรไอนูน เจ๊ะเตะ หรือ “นุช” อีกหนึ่งเยาวชนจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เสริมว่า สำหรับการมาร่วมกิจกรรมของนุชเองก็เป็นการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกเช่นกัน โดยเป็นกิจกรรมที่ตัวเองและเพื่อนๆ สนใจอยากเข้าร่วมโครงการมานานแล้ว เพราะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก แตกต่างจากกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งมักเป็นกิจกรรมของโรงเรียนจัดขึ้นทุกครั้ง โดยครั้งนี้นุชจึงสมหวังแล้วที่ได้มาร่วมกิจกรรมสมดังที่ตั้งใจไว้

“ในกิจกรรมครั้งนี้ หนูก็ได้พบกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็พูดกับเยาวชนเป็นอย่างดี พอเห็นท่านแล้ว ทีแรกก็ร้องไห้เพราะปลื้มใจที่ได้พบผู้หลักผู้ใหญ่ที่สำคัญๆ ของประเทศ โดยจากความรู้ที่ได้ เยาวชนค่ายก็จะนำไปเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ในชุมชนได้รู้ว่าประเทศไทยยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ก็จะทำให้เรารู้เพิ่มมากขึ้น”

“การมาที่ค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ โดยส่วนตัวหนูก็เป็นที่ชอบเรียนชีววิทยาก็จะพยายามเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ กลับไปได้ แม้ว่าวันนี้มันอาจยังไม่จำเป็นสำหรับเรา แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะจำเป็นสำหรับเรา เช่นความรู้เกี่ยวกับป่าไม้ที่มีประโยชน์มาก” นุช เผยและทิ้งท้ายว่า ส่วนอนาคตแล้ว นุชก็เป็นอีกคนที่อยากมีอาชีพแพทย์เหมือนอักบาร์ เพราะต้องการรักษาผู้คนในบ้านเกิดตัวเอง เพราะจากการสำรวจพบว่าแพทย์ในต่างจังหวัดยังมีไม่เพียงพอ ตัวเองจึงจะพยายามเรียนให้ดีที่สุดเพื่อที่จะเป็นแพทย์ให้ได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000055008

Sunday, May 13, 2007

สุริยุปราคาเต็มดวงในสมัยรัชกาลที่ 7

สุริยุปราคาเต็มดวงเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ไม่เพียงแต่นักดาราศาสตร์เท่านั้นที่ต้องการศึกษาและได้สัมผัส คนจำนวนมากก็ให้ความสนใจไม่น้อย เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ ครั้งจึงจะเกิดให้ได้เห็นในประเทศประเทศหนึ่ง เดือนนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงมองเห็นได้ในภาคใต้ของไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จทอดพระเนตรที่ ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

สุริยุปราคาเต็มดวงมีโอกาสเกิดขึ้นใกล้วันแรม 14 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ อันเป็นจังหะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และเข้าบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวงเมื่อสังเกตจากพื้นโลก ในอดีตมักเรียกว่าสุริยุปราคาสรรพคราส หรือสุริยุปราคาหมดดวง

นับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.2325 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเฉพาะที่มองเห็นได้ในแผ่นดินสยามหรือประเทศไทยมาแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง คือ 4 มิถุนายน 2331, 21 ธันวาคม 2386, 18 สิงหาคม 2411, 6 เมษายน 2418, 9 พฤษภาคม 2472, 20มิถุนายน 2498 และ 24 ตุลาคม 2538 ครั้งต่อไปจะเกิดในวันที่ 11 เมษายน 2613 (อีก 63 ปี) สามารถมองเห็นได้ในพื้นที่บางส่วนของ จ.ระนอง (บริเวณคอคอดกระ) ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ อ่าวไทย จันทบุรี และตราด (รวมทั้งเกาะช้างและเกาะกูด)

สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 ห่างจากครั้งก่อนหน้าซึ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 54 ปี พลโทพระยาศัลวิธานนิเทศ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เขียนบรรยายไว้ในวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับพฤษภาคม 2498 (ตีพิมพ์อีกครั้งในวารสารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2536) อธิบายถึงสุริยุปราคาในครั้งนั้นว่ามองเห็นได้บางตำบลของมณฑลปัตตานี สหรัฐมลายู สุมาตรา และฟิลิปปินส์ (แผ่นดินที่เห็นได้อีกแห่งหนึ่ง คือ บริเวณแหลมญวน-ผู้เขียน)

แม้ว่าที่ปัตตานีจะเป็นบริเวณที่สังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงได้ดีแห่งหนึ่ง แค่คณะนักดาราศาสตร์จากต่างประเทศจะไม่รวมอยู่ในที่เดียวกัน เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย จึงพบว่ามีกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง สุมาตรามีคณะของเยอรมัน ฮอลันดา และญี่ปุ่น ไทรบุรีมีคณะอังกฤษ อเมริกัน และญี่ปุ่น เกาะปูคอนเดอร์ (ปัจจุบัน คือ หมู่เกาะคอนซอน ทางใต้ของเวียดนาม) มีคณะเดียวจากฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์มีคณะเยอรมันและอเมริกัน ส่วนปัตตานีมีคณะอังกฤษ

เชอร์ แฟรงก์ ไดสัน (Frank Dyson) นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวกรีนิชซึ่งสนใจในเรื่องการตรวจสอบทฤษฎีของไอร์สไตน์ที่ระบุว่าแรงโน้มถ่วงของวัตถุทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของแสงได้ และการสังเกตตำแหน่งดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงสามารถพิสูจน์สมมติฐานนี้ มีหนังสือมาถึงกระทรวงการต่างประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2469 แจ้งความประสงค์ขอสอบถามสถิติสภาพอากาศในช่วงวันที่เกิดสุริยุปราคาเพื่อที่จะส่งนักดาราศาสตร์มาสังเกตและขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2471 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงทำหนังสือความเห็นขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีดำริเห็นชอบ จึงมีพระบรมราชโองการตั้งข้าราชการคอยติดต่อเจรจาในกิจการต่างๆ เช่น การสร้างที่พัก สร้างฐานตั้งกล้อง การกินอยู่ ขณะที่เตรียมรับรองคณะจากอังกฤษอยู่นั้น ปรากฏว่าอุปทูตเยอรมนีได้มีหนังสือแจ้งว่า คณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคีลจะเดินทางมาสังเกตสุริยุปราคาด้วยอีกคณะหนึ่ง

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2471 คณะจากอังกฤษมาถึงกรุงเทพฯ ก่อนเป็นคณะแรกแล้วจึงเดินทางไปปัตตานี ส่วนคณะของเยอรมนีเดินทางมาถึงในเดือนมีนาคมโดยเข้ามาจากปีนัง ทั้งสองคณะขนอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์มาหลายชนิด (ขณะนั้นเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเป็นช่วงปลายปี) ยังไม่ขึ้นปีใหม่ 2472 แสดงว่าคณะนักดาราศาสตร์เดินทางมาก่อนเกิดปรากฏการณ์ 2-3 เดือน

ค่ำวันที่ 5 พฤษภาคม 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรนี พระบรมราชินีได้เสด็จลงประทับในเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคออกจากวังไกลกังวล หัวหิน ถึงอ่าวปัตตานีในเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม ต่อมาเวลา 14.00 น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังค่ายของคณะนักดาราศาสตร์อังกฤษและเยอรมัน คณะนักดาราศาสตร์กราบบังคมทูลเชิญเสด็จทอดพระเนตรเครื่องมือที่ใช้ในการส่องดูสุริยุปราคาก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 16.20 น. คืนวันนั้นเวลา 19.00 น. ได้เสด็จฯ ไปค่ายอังกฤษอีกครั้งเพื่อทอดพระเนตรดาวด้วยกล้องโทรทรรศน์ แล้วเสด็จฯ กลับไปประทับบนเรือพระที่นั่ง

วันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดสุริยุปราคา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปค่ายอังกฤษเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงโดยคณะนักดาราศาสตร์ทั้งสองคณะเสด็จฯ ออกจากอ่าวปัตตานีในเวลา 18.00 น. ถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2472

ผลการสังเกตสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 ไม่สู้ดีนัก แม้ว่าก่อนหน้านั้นอากาศค่อนข้างดี แต่ช่วง 3 วันก่อนปรากฏการณ์ได้มีฝนตกหลักตลอดคืน ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งยาวนานประมาณ 5 นาที มีเมฆ
หมอกบดบังเป็นบางช่วง ทำให้ภาพถ่ายที่ได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แม้ว่าจะสามารถจับภาพคอโรนา (บรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ที่มองเห็นได้เฉพาะตอนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง) และเปลวสุริยะที่ขอบดวงอาทิตย์ได้

เมื่อสุริยุปราคาผ่านพ้นไป คณะนักดาราศาสตร์ใช้เวลาอีกราวครึ่งเดือนเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ เช่น วัดตำแหน่งดวงจันทร์และดาวบางดวงก่อนรื้อเก็บเครื่องมือ หัวหน้านักดาราศาสตร์ทั้งอังกฤษและเยอรมันได้เดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ แสดงปาฐกถาในหัวข้อเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ภายหลังรัฐบาลอังกฤษได้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาให้เป็นการตอบแทนต่อชาวไทยผู้ที่มีหน้าที่รับรองในการเดินทางมาของคณะนักดาราศาสตร์ในครั้งนั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

จุฬาฯพัฒนาเสื้อนาโนผ้าฝ้ายทนไฟระบายอากาศได้ดีและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ปริญญาเอกจุฬาฯ พัฒนาผ้าฝ้ายหน่วงไฟ ลุกไหม้ช้า ควันน้อย ทั้งยังมีคุณสมบัตินุ่ม สวมใส่สบาย เผยสร้างปฏิกิริยาทางเคมีให้สารละลายกลายเป็นฟิล์มนาโนเคลือบเส้นใย วิธีเดียวกับทำเสื้อนาโนกันน้ำ ระบุประหยัด ทำได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
น.ส.อัมพรพรรณ ศิริวิริยานันท์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผ้าฝ้ายทนไฟหรือผ้าฝ้ายหน่วงไฟ พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคนิคแอดไมเซลล่าโพลิเมอร์ไรเซชั่น ขณะที่เนื้อผ้ายังคงความนุ่มสบาย ไม่หยาบ

เทคนิคดังกล่าวใช้หลักการเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอร์ไรเซชั่นในชั้นของสารลดแรงตึงผิว ซึ่งเคลือบอยู่บนผิวเส้นใยเป็นแผ่นฟิล์มบางระดับนาโนเมตร โดยขั้นตอนการผลิตเริ่มจากจุ่มผ้าในน้ำที่มีสารลดแรงตึงผิวละลายอยู่ เพื่อให้เส้นใยดูดซับสารลดแรงตึงผิว จากนั้นเติมสารละลายและตัวเร่งปฏิกิริยา ที่จะทำปฏิกิริยากับโพลิเมอร์ไรเซชั่นในชั้นของสารลดแรงตึงผิว ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติทนไฟ

ขณะที่การผลิตผ้าฝ้ายหน่วงไฟส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการจุ่มอัด-อบแห้ง (Pad-dry) โดยใช้ลูกกลิ้งอัดเพื่อให้สารเคมีเข้าไปอยู่ในเส้นใย จากนั้นจึงนำไปอบแห้ง ขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เนื้อผ้าแข็ง อีกทั้งสารเคมีที่อัดเข้าไป ยังไปอุดรูช่องว่างระหว่างเส้นใย ทำให้คุณสมบัติในการระบายอากาศและการดูดซับความชื้นเปลี่ยนไป

นักวิจัยทดลองเผาผ้าฝ้ายทนไฟ ที่ผลิตด้วยเทคนิคใหม่เทียบกับผ้าฝ้ายธรรมดาพบว่า ผ้าธรรมดาจะติดไฟและลุกไหม้ทันที แต่ผ้าทนไฟจะลุกไหม้ช้ากว่า และลามไปได้น้อย เนื่องจากสารหน่วงไฟที่เคลือบไว้เมื่อติดไฟ จะทำปฏิกิริยากับเส้นใยฝ้าย เกิดเป็นก๊าซคาร์บอน เทียบกับผ้าธรรมดาเมื่อติดไฟจะเกิดก๊าซออกซิเจนที่ทำให้ไฟลุกไหม้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผ้าต่างๆ เมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อคน กรณีของการเกิดเพลิงไหม้ จึงมีผู้เสียชีวิตจากการสูดควันไฟ แต่ผ้าหน่วงไฟนี้มีข้อได้เปรียบคือ เมื่อถูกเผาไหม้จะปล่อยน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ตัดปัญหาการเกิดควันไฟหนาแน่น สำหรับขั้นต่อไป นักวิจัยกำลังศึกษาสารละลายตัวอื่น ที่ทำให้ผ้าเกิดควันน้อยลงหรือไม่เกิดควันเลยขณะเผาไหม้ เพราะสารละลายที่ใช้ในปัจจุบันยังมีควันอยู่บ้าง

"เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรม เนื่องจากข้อได้เปรียบในแง่ผิวสัมผัสของผ้าที่นุ่มสบาย และยังไม่มีผ้าหน่วงไฟชนิดใดในตลาดสามารถทำได้” น.ส.อัมพรพรรณ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, May 9, 2007

กล้องโทรทรรศน์"ฮับเบิล" สำรวจจักรวาลครบ17ปีเต็ม


เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย รายงานว่า กล้องโทรทรรศอวกาศน์ "ฮับเบิล" ที่ชาวโลกคุ้นเคยกันดี ปฏิบัติภารกิจสำรวจห้วงอวกาศอยู่นอกโลกมาครบ 17 ปีเต็มแล้ว โดยภาพล่าสุดจากกล้องฮับเบิลที่สำนักงานอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) นำออกเผยแพร่เนื่องในวาระพิเศษดังกล่าว คือ ภาพของกลุ่ม "เนบิวลากระดูกงูเรือ"

ภาพจากกล้องเอซีเอสของฮับเบิลแสดงให้เห็นใจกลางของเนบิวลากระดูกงูเรือที่คับคั่งแออัดไปด้วยโรงงานผลิตดาวฤกษ์จำนวนมากคละเคล้าไปกับสุสานดาวฤกษ์ที่ดาวรุ่นก่อนแตกดับไปแล้ว โดยภายในเนบิวลาแห่งนี้เป็นที่ตั้งของดาวฤกษ์นับสิบดวงที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 50 ถึง 100 เท่า

ทั้งนี้ เนบิวลากระดูกงูเรืออยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือจึงได้ชื่อตามนั้น อยู่ห่างจากโลกประมาณ 7,500 ปีแสง

กล้องฮับเบิลถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2533 ถือเป็นโครงการสำรวจจักรวาลร่วมกันระหว่างนาซ่า กับ องค์การอวกาศยุโรป มีเจ้าหน้าที่ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (STScI) และศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด เป็นผู้ควบคุมโครงการ ตัวกล้องโคจรรอบโลกเป็นวงกลมที่ระดับความสูง 589 กิโลเมตรจากพื้นดิน ในทิศทางทำมุม 28.5 องศากับเส้นศูนย์สูตร โคจรรอบโลกครบรอบภายในเวลา 96-97 นาที

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec01090550&day=2007/05/09§ionid=0326

ไอบีเอ็มพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิป ลอกเลียนแบบธรรมชาติ


ไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่สีฟ้าประสบความสำเร็จในการปรับใช้เทคนิค "การประกอบสร้างด้วยตัวเอง" เพื่อสร้างฉนวนสูญญากาศระดับนาโนสำหรับไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นอนาคตได้เป็นรายแรก

ความสำเร็จครั้งนี้ของไอบีเอ็มเป็นการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในการประกอบสร้างด้วยตัวเอง หรือ self-assembly สำหรับการผลิตชิป โดยลอกเลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติ เพื่อใช้ในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์สำหรับอนาคต โดยไอบีเอ็มได้ปรับใช้กระบวนการสร้างรูปแบบและลวดลายตามธรรมชาติ ซึ่งประกอบสร้างเปลือกหอย เกล็ดหิมะ และผิวเคลือบฟัน เพื่อสร้างรูเล็กๆ จำนวนหลายล้านล้านรู ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฉนวนสุญญากาศที่ห่อหุ้มลวดทองแดงความยาวหลายไมล์ ซึ่งมีขนาดเล็กมากในระดับนาโน และอัดแน่นอยู่ที่แต่ละด้านภายในชิปคอมพิวเตอร์

จากการรันชิปรุ่นใหม่ภายในห้องปฏิบัติการของไอบีเอ็มโดยใช้เทคนิคนี้ นักวิจัยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสัญญาณไฟฟ้าบนชิปสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้พลังงานน้อยลง 35 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับชิปรุ่นที่ก้าวล้ำที่สุดซึ่งใช้เทคนิคแบบเก่า

กระบวนการประกอบสร้างด้วยตัวเองซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรโดยไอบีเอ็มช่วยต่อยอดวิธีการผลิตโดยใช้นาโนเทคโนโลยีจากห้องปฏิบัติการไปสู่กระบวนการผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยรองรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการเชื่อมต่อลวดนำไฟฟ้าตามกฎของมัวร์ (Moore's Law) ได้ถึงสองเจเนอเรชั่นในคราวเดียวกัน เมื่อเทียบกับเทคนิคการผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ฉนวนรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักจะเรียกว่า "ช่องอากาศ" (Airgap) นับเป็นชื่อที่คลาดเคลื่อน เพราะที่จริงแล้วช่องว่างเหล่านี้มีลักษณะเป็นสูญญากาศ นั่นคือ ไม่มีอากาศอยู่เลย ไอบีเอ็มใช้เทคนิคนี้เพื่อสร้างสูญญากาศระหว่างลวดทองแดงบนชิปคอมพิวเตอร์ จึงช่วยให้สัญญาณไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง กระบวนการประกอบสร้างด้วยตัวเองนี้รองรับการสร้างลวดลายที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโน ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับเทคนิคการพิมพ์ลายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

กระบวนการประกอบสร้างด้วยตัวเองได้รับการผนวกรวมเข้ากับสายการผลิตของไอบีเอ็มที่โรงงานในเมืองอีสต์ ฟิชคิลล์ รัฐนิวยอร์ก และคาดว่าจะนำมาปรับใช้กับสายการผลิตและชิปของไอบีเอ็มอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2009 ชิปรุ่นใหม่จะใช้ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์ของไอบีเอ็ม และหลังจากนั้นจะนำไปใช้กับชิปที่ไอบีเอ็มผลิตให้แก่บริษัทอื่นๆ

เอเดลสไตน์ เป็นหัวหน้าทีมไอบีเอ็มที่ประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคดังกล่าวได้ใช้ลวดทองแดงในชิปคอมพิวเตอร์ แทนที่จะใช้อลูมิเนียม ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานสำหรับการผลิตชิปในปัจจุบัน โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของการสรรค์สร้างนวัตกรรมทางด้านชิปของห้องปฏิบัติการของไอบีเอ็มในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและการใช้ชิปสำหรับอุตสาหกรรมและการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000053186

ทีเอ็มซีรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการเด็กอัจฉริยะรุ่น 11


ทีเอ็มซี – ทีเอ็มซีเปิดรับสมัครเยาวชนร่วมโครงการเจเอสทีพีรุ่นที่ 11 ประจำปี 51 เข้าทำโครงงานวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลของนักวิจัย

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: เจเอสทีพี) เปิดรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจนถึงปริญญาตรีที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์เข้าร่วมโครงการเจเอสทีพีในรุ่นที่ 11 ประจำปี 2551 แล้ววันนี้ โดยเด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ตลอดจนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.jstp.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2564-7000 ต่อ 1431-1438

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000053256

Tuesday, May 8, 2007

ฮือฮา "ซูเปอร์โนวา" สว่างสุดๆ เท่าที่เคยเห็น


นาซา/เอพี/เอเอฟพี – เรื่องตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นอีกครั้งในวงการดาราศาสตร์ เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซาสามารถจับ “ซูเปอร์โนวา” สว่างที่สุดเท่าที่เคยพบมา เป็นการดับสลายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 150 เท่า ขณะเดียวกันก็เฝ้าจับตาดาวลักษณะใกล้เคียงกันห่างจากโลกเพียงแค่ 7 พันปีแสง หากเกิดระเบิดจริง แสงสว่างจ้าจะส่องถึงโลกทำกลางคืนกลายเป็นกลางวันได้เลยทีเดียว

เสียงฮือฮาดังขึ้นในหมู่นักดาราศาสตร์ประจำองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทันทีที่พบว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรารังสีเอ็กซ์ (Chandra X-ray Observatory) ของนาซาสามารถตรวจจับ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) หรือการระเบิดครั้งใหญ่ของดวงดาวอันไกลโพ้น ที่แม้ห่างจากโลกถึง 240 ล้านปีแสงแต่ก็ยังสามารถมองเห็นเป็นเหมือนพลุรูปทรงกลมกลางอวกาศได้อย่างชัดเจน เพราะนับเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างที่สุดเท่าที่ระบุได้

ทีมสำรวจทางดาราศาสตร์ของนาซาที่ประกอบด้วยนักวิชาการจากหลายสถาบัน ร่วมเปิดเผยเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ดาวเอสเอ็น2006จีวาย (SN2006gy) ที่เพิ่งค้นพบในกาแลกซีเอ็นจีซี 1260 (NGC1260) เมื่อเดือน ก.ย.ปี 2549 กลายเป็นซูเปอร์โนวา มีช่วงสูงสุดของการระเบิดยาวนานถึง 70 วันต่างจากซูเปอร์โนวาอื่นๆ ที่มีช่วงพีคเพียงแค่ 2 สัปดาห์ และมีความสว่างมากกว่าอีกหลายร้อยซูเปอร์โนวาที่นักดาราศาสตร์เคยสังเกตเห็น

"นี่สุดยอดกว่าทุกๆ ครั้ง" นาธาน สมิธ (Nathan Smith) หัวหน้าทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใน
เบิร์กเลย์ (University of California at Berkeley) กล่าวอย่างมหัศจรรย์ใจ นับเป็นการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ของดาวที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 150 เท่า ทำให้พลังงานที่ปลดปล่อยออกมามากกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไปถึง 100 เท่า และแสงที่เกิดขึ้นจากการระเบิดนั้นสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 5 หมื่นล้านเท่า

"ซูเปอร์โนวา" หรือ "มหานวดารา" เป็นการดับของดาวขนาดยักษ์และการเกิดใหม่ของดาวดวงน้อย โดยการะเบิดขึ้นจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เมื่อดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ผ่านช่วงเวลาในแถบลำดับหลัก (mature star) เชื้อเพลิงนิวเคลียร์คือไฮโดรเจนที่อยู่แกนกลางของดาวหมดลง ทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์จบลงไปด้วย ซึ่งส่งผลให้บริเวณใจกลางดาวไม่มีแรงดันจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่อไปแล้ว

จากนั้น ดาวฤกษ์จึงหดตัวลงเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ทำให้เกิดความร้อนมหาศาล ไปพบกับเปลือกนอกของดาวที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนจนเกิดปฏิกิริยานิวคลียร์ โดยผิวนอกของดาวจะระเบิดตัวกระจายอยู่รอบๆ ส่วนแกนกลางของดาวจะยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการยุบตัวนี้อาจทำให้ดาวกลายสภาพเป็นดาวแคระขาว (white dwarf) ดาวนิวตรอน (neutron star) หรือหลุมดำ (black hole)

ทว่าจากการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จันทราทำให้เห็นว่า หลังเกิดซูเปอร์โนวาบน SN2006gy แล้ว ก็ไม่มีหลุมดำเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทำให้นักดาราศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าการระเบิดครั้งนี้อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของอนุภาคที่เกิดจากรังสีแกมมา จึงทำให้พลังงานลดลง

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังได้ระบุว่า พวกเขากำลังสังเกตดาว “เอตา คารินา” (Eta Carinae) ห่างจากโลกแค่ 7,000 ปีแสง ที่กำลังพ่นกลุ่มควันออกมาหลายปี นับเป็นกลุ่มดาวที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มดาวกระดูกงูแห่งกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ที่อาจมีลักษณะคล้ายการระเบิดครั้งนี้ เพราะมีมวลใกล้เคียงกัน ซึ่งทีมสำรวจระบุว่า หากเอตา คารินาเกิดระเบิดขึ้นจริงแสงที่ส่งมาถึงโลกจะให้กลางคืนสว่างเหมือนตอนกลางวันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าเอตา คารินาจะเกิดระเบิดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะเป็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าจดจำมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เพราะในรอบ 400 ปีมานี้ยังไม่มีซูเปอร์โนวาปรากฏในกาแลกซีทางช้างเผือกที่พวกเราอาศัยอยู่

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000052607

นักดาราศาสตร์มะกันพบดาวฤกษ์สุกสว่างสุด


ปักกิ่ง - นักดาราศาสตร์สหรัฐค้นพบดาวฤกษ์ที่สุกสว่างที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ที่เคยค้นพบทั้งมวล แต่คาดว่าดาวฤกษ์ดวงดังกล่าวจะแตกสลายไปในที่สุด

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานอ้างแถลงการณ์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) วานนี้ว่า กลุ่มนักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ค้นพบดาวฤกษ์ดังกล่าวที่มีชื่อว่า “เอสเอ็น 2006 จีวาย” ซึ่งมีความสุกสว่างมากกว่าดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ที่เคยค้นพบราว 5 เท่า หลังจากนักศึกษาปริญญาโทรายหนึ่งค้นพบดาวฤกษ์ดวงดังกล่าวครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว

กลุ่มนักดาราศาสตร์เปิดเผยว่า พวกเขาเห็นดาวฤกษ์ดวงดังกล่าวกำลังระเบิดเปล่งแสงสว่างจ้าจากภาวะความร้อนสูงสุดภายใน และคาดว่าดาวฤกษ์ดวงนี้จะแตกสลายเร็วกว่าที่ทฤษฎีระบุไว้

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/08/WW19_1901_news.php?newsid=67951

"แกรนด์สปอร์ต" เตรียมมอบ "แจ็กเกตนาโน" ให้ ครม.


"แกรนด์สปอร์ต" เตรียมมอบเสื้อแจ็กเกตนาโนให้ ครม. ด้าน รมว.วิทย์เผยเป็นตัวอย่างผลงานของความร่วมมือในงานวิจัยระหว่างรัฐและเอกชนที่ช่วยยกระดับสินค้าสิ่งทอซึ่งกำลังถูกแข่งขันจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ส่วน “นาโนมาร์ก” มาตรฐานเสื้อนาโนสกัดของปลอมกำลังอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการและยังระบุไม่ได้ว่าจะออกมาเมื่อใด

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงกรณีบริษัท แกรนด์ สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด เตรียมนำเสื้อแจ็กเกตนาโนซึ่งร่วมวิจัยกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ไปมอบให้แก่คณะรัฐมนตรีว่า ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือในการวิจัยระหว่างเอกชนและหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ ซึ่งหวังว่าต่อไปจะมีเอกชนรายอื่นๆ ให้ความสนใจที่ร่วมงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น ส่วนจะมอบให้เมื่อไหร่ จำนวนเท่าใดนั้นไม่ทราบรายละเอียด

“ส่วนทำสิ่งทอธรรมดาแข่งขันได้ลำบากเพราะค่าแรงเราแพง ก็หวังว่าจะมีความร่วมมือเช่นนี้อีก ถือเป็นตัวอย่างของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแก้ปัญหา ตอนนี้สิ่งทอประเภท“เทคนิคัลเท็กซ์ไทล์” (Technical Textile) ยังทำอยู่น้อย มีเพียง 50,000 ตัน หรือ 5% ของสิ่งทอที่ส่งออกเท่านั้น ก็หวังว่าจะมีความร่วมมืออย่างนี้มากขึ้นอีก และบริษัทเอกชนอื่นๆ คงจะสนใจทำเช่นกัน” ดร.ยงยุทธกล่าว

ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ชี้แจงว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยนั้นมีทั้งความก้าวหน้าและปัญหา โดยไทยส่งออกสิ่งทอเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแต่ก็กำลังถูกไล่หลังโดยเวียดนาม อินโดนีเซีย และไม่นับรวมประเทศอินเดียซึ่งเก่งทางด้านสิ่งทออยู่แล้ว ซึ่งปัญหาในการแข่งขันนั้นทางบริษัทเอกชนก็ต้องมองหาออกให้กับปัญหาดังกล่าว

โดยส่วนตัว ดร.ยงยุทธมองทางรอดของเอกชนในเรื่องสิ่งทอไว้ 2 ทาง คือเรื่องการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้เป็นสินค้าดีขึ้น เช่น ให้เป็นสิ่งทอพิเศษอย่างสิ่งทอนาโน ที่ทำให้ไม่เปื้อนง่าย สามารถปรับอุณหภูมิของเสื้อให้ร้อนหรือเย็นได้ เป็นต้น และ 2.ดูแลวงจรการผลิตสิ่งทอให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในกระบวนการผลิต ฟอกย้อมต้องไม่ปล่อยน้ำเสียจากการผลิต เนื่องจากผู้สนใจเริ่มใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดทางสหภาพยุโรปหรืออียูที่จะไม่รับสินค้าที่มีปัญหากับสิ่งแวดล้อม

ทางด้าน ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล นักวิจัยศูนย์นาโนเทคซึ่งร่วมวิจัยและพัฒนาเสื้อแจ็กเกตนาโนดังกล่าวเผยว่าเสื้อดังกล่าวเคลือบสารนาโนกันน้ำที่ด้านนอกและเคลือบสารนาโนของซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ที่ด้านในซึ่งจะช่วยให้ฆ่าเชื้อโรคและทำให้ผ่าไม่เหม็นง่าย โดยจากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าเมื่อซัก 30 ครั้งแล้วสมบัติในการฆ่าเชื้อยังอยู่

นอกจากนี้ ดร.วิยงค์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะศึกษาเกี่ยวกับตั้งมาตรฐาน “นาโนมาร์ก” (Nano Mark) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับสินค้านาโน กล่าวว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐาน โดยมาตรฐานที่ออกมานั้นจะไม่จำกัดอยู่ที่เสื้อนาโนเท่านั้น แต่จะไปถึงสินค้านาโนอื่นๆ อาทิ ยา เครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนมาตรฐานดังกล่าวจะออกมาเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ แต่คาดว่ามาตรฐานสำหรับเสื้อนาโนจะออกมาก่อน โดยเสื้อที่ทดสอบได้ง่ายจะมีมาตรฐานออกมาก่อน

ส่วนคณะทำงานที่จะเข้าร่วมสร้างมาตรฐานสินค้านาโนได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันพัฒนาสิ่งทอ และบริษัทเอกชนบางส่วนที่เข้าร่วม และเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาทางด้าน ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค เผยว่าจะสามารถจัดทำมาตรฐานนาโนมาร์กได้ภายในเวลา 6 เดือน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000051051

Wednesday, May 2, 2007

เล็งใช้หลุมดำทะลุมิติจักรวาลเป็นช่องทางลัดเหมือนประตูเวลาข้ามพิภพ

นักฟิสิกส์สองชาติลงความเห็นให้หลุมดำเป็น "ประตูทะลุมิติจักรวาล" หลังจากได้ศึกษารูปลักษณะแล้วเห็นว่า มีลักษณะเหมือนกับช่องทางลัด ที่ใช้ข้ามไปยังโลกซึ่งอยู่อีกฟากของหลุมดำ

ทิโบลต์ ดามูร์ นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสและเซอร์กีย์ โซโลดูคินจากเยอรมนี พบว่า รูหนอน หรือประตูมิติเวลามีลักษณะคล้ายกับหลุมดำมากเสียจนแทบจะแยกความแตกต่างกันไม่ได้เลย ยกตัวอย่าง สสารรอบรูหนอนหมุนวนแบบอย่างเดียวกับสสารที่อยู่รอบหลุมดำ เนื่องจากทั้งรูหนอนและหลุมดำ ต่างทำให้อวกาศที่อยู่รอบตัวมันมีรูปร่างบิดเบี้ยวแบบเดียวกัน

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “รูหนอน” จากนวนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ รูหนอนเป็นการม้วนตัวของกาล-อวกาศ ลองจินตนาการสภาพอวกาศเป็นเหมือนแผ่นกระดาษ 1 แผ่น รูหนอนเปรียบเสมือนกับรูที่ทะลุกระดาษแผ่นนั้น ผ่านไปยังจักรวาลที่อยู่ตรงกันข้าม เป็นจักรวาลที่มีดวงดาว กาแล็กซี และดาวเคราะห์เหมือนกับกาแล็กซีทางช้างเผือก รูหนอนจึงเปรียบเสมือน “ประตูทะลุมิติจักรวาล”

ส่วนหลุมดำเป็นวัตถุที่มีสนามแรงดึงดูดมหาศาล ที่ดูดเอาสรรพสิ่งที่อยู่ใกล้หายเข้าไปหมด แม้แต่แสงสว่างก็ยังถูกกลืนหายไป เพราะเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า หลุมดำ เมื่อวัตถุตกลงไปในปากปล่องของหลุมดำ หรือที่เรียกว่า “ขอบฟ้าเหตุการณ์” จะไม่มีวันกลับออกมาได้อีก ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า หลุมดำก่อตัวขึ้นเมื่อมวลของหดตัวเล็กลง จนทำให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาล เนื่องจากหลุมดำไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรง แต่นักดาราศาสตร์สามารถชี้ตำแหน่งของมันได้ โดยดูจากวัตถุที่หมุนวนอยู่รอบหลุมดำ

บางคนหวังว่า จะใช้กฎการแผ่รังสีของฮอว์กิง มาแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างรูหนอนและหลุมดำ กฎดังกล่าวอธิบายว่า อนุภาคและแสงที่กระจายออกมาจากหลุมดำมีสเปคตรัมของพลังงานที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทว่า การแผ่รังสีแบบนี้อ่อนมากจนอาจถูกกลบด้วยคลื่นรังสีไมโครเวฟพื้นหลัง ซึ่งเป็นซากที่หลงเหลืออยู่หลังจากเกิดระเบิดแห่งกำเนิดจักรวาลที่เรียกว่า “บิ๊กแบง”
ลักษณะแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจใช้แยกลักษณะของรูหนอนออกจากหลุมดำได้ คือ รูหนอนไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ขอบฟ้าเหตุการณ์ หมายความว่า สิ่งที่เข้าไปในรูหนอนสามารถกลับออกมาได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การเดินผ่านรูหนอน หรือหลุมดำก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากแรงดึงดูดมหาศาลข้างใน สามารถฉีกร่างมนุษย์ออกเป็นชิ้นๆ ได้สบาย หรือต่อให้มีชีวิตรอดก็ตาม เนื่องจากรูหนอนมีลักษณะ "อสมมาตร" ดังนั้น เมื่อหลุดข้ามจักรวาลไปได้คนที่ข้ามไปได้ อาจจะเจอกับตัวเองในอีกจักรวาลหนึ่ง เพราะฉะนั้น รูหนอนจะดูดให้กลับมายังจักรวาลเดิม นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลานับพันล้านปีกว่า จะส่งข้อมูลจากจักรวาลอีกแหล่งหนึ่งกลับมายังโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เร่งปั้นคนรุ่นใหม่สนใจวิทย์ เปิดห้องเรียนพิเศษ-สร้างเว็บบล็อก


รมช.ศธ.ตรวจเยี่ยม สสวท. ระบุนักวิทย์กำลังเป็นที่ต้องการในหลายๆ ประเทศที่นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ แล้วมากมาย แต่ในไทยยังมีบุคลากรด้านวิทย์น้อยเกินไป ส่วนใหญ่เป็นแพทย์และวิศวะ ตั้งโจทย์ทำอย่างไรให้มีนักวิจัยเพิ่มมากขึ้น ย้ำนโยบายเปิดห้องเรียนวิทย์ สร้างเว็บบล็อกแลกเปลี่ยนความรู้

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางเยี่ยมชมและรับทราบกิจกรรมของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พร้อมทั้งมีการประชุมหารือกันในหัวข้อ “ปั้นคนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ และแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ”

“ความรู้สามารถเพิ่มโพรดักทิวิตี้ได้ ความรู้เพียงอย่างเดียวยังสำคัญกว่าการมีทรัพย์สินเงินทุนหรือที่ดิน เพราะความรู้สามารถประยุกต์ใช้ได้ ยกตัวอย่างที่ดิน 2 ผืนที่มีพื้นที่เท่ากัน ปลูกผักชนิดเดียวกัน ที่หนึ่งใช้วิธีดั้งเดิม อีกที่หนึ่งปลูกแบบไฮโดรโปรนิก วิธีหลังย่อมให้ผลผลิตดีกว่าและมากกว่า” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในมุมมองแบบนักเศรษฐศาสตร์

แม้วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยสมัยนี้จะก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ และหากเทียบอัตราส่วนของนักวิจัยกับจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศยังมีจำนวนน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศเสียอีก และปัญหาที่เร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขในตอนนี้คือ ภาวะขาดแคลนครูด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีส่วนช่วยทำให้เยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น

“ส่วนมากเด็กนักเรียนสายวิทย์ที่เก่งๆ ในระดับมัธยมปลาย มักเลือกเรียนต่อแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ นักศึกษาเหล่านี้ขาดแคลนอาจารย์ที่จะมาสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับพื้นฐาน” ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผอ.สสวท. กล่าวแสดงความคิดเห็น

ที่ผ่านมา สสวท. เป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตนักวิจัยและครูอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และ โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ส่งเสริมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เช่น งานสัปดาห์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ รวมทั้งผลิตสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อเผยแพร่ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กนักเรียนสนใจและเข้าถึงวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น

“วิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆมากขึ้น และสอนให้คิดแบบมีเหตุผล “ รมช.ศธ. กล่าว ทั้งนี้ยังแสดงความคิดเห็นว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพดีพอยังกระจายไปได้ไม่ทั่วถึงในระดับภูมิภาค ซึ่งส่วนมากจะกระจุกรวมอยู่แต่เฉพาะโรงเรียนในเมืองไม่กี่ร้อยโรงเรียน แต่อีกกว่า 2 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศยังเป็นปัญหาอยู่ จึงเป็นที่มาของนโยบายสร้างห้องเรียนพิเศษสำหรับเรียนวิชาวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในโครงการการส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียน

การส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียนจะดำเนินการกับโรงเรียนทั้งหมด 90 โรงทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 11 โรงเรียน ต่างจังหวัดๆ ละ 1 โรงเรียน ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะมีทุกเขตการศึกษา รวม 9 โรงเรียน โดยจะสร้างเป็นห้องเรียนพิเศษสำหรับวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะของแต่ระระดับชั้นในระดับมัธยมปลาย ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วแต่ละโรงเรียนจะมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น 3 ห้อง โดยจะเริ่มดำเนินการกับนักเรียนชั้น ม.4 ในปีการศึกษา 2550 นี้เป็นรุ่นแรก

นอกจากนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ยังได้เสนอแนะว่าน่าจะมีการทำเว็บบล็อก เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ เขียนบทความ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สร้างเป็นเครือข่ายเดียวกันทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ได้เสียก่อน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000050033

Tuesday, May 1, 2007

ไอบีเอ็มเจ๋งช่วยคนตาบอด

ไอบีเอ็มเจ๋งช่วยคนตาบอดดูคลิปวิดีโอ

ไอบีเอ็มเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ช่วยผู้พิการทางสายตาสามารถชมวิดีโอและภาพเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ต เผยเครื่องมือใหม่ทำงานไม่ซับซ้อน แต่คล้ายกับการใช้เมาส์ตามปกติ มั่นใจเปิดประตูสู่โลกของมัลติมีเดียให้แก่ผู้พิการทางสายตากว่า 161 ล้านคนทั่วโลก
ระยะหลังเวบไซต์หลายแห่ง เพิ่มเนื้อหาส่วนที่เป็นคลิปวิดีโอ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ผู้ใช้ที่มีความบกพร่อง หรือความพิการทางสายตา กลับไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเสนอรูปแบบคลิปวิดีโอ ขณะที่ซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอและโปรแกรมอ่านตัวอักษรบนเวบไซต์ ไม่สามารถรองรับสื่อมัลติมีเดีย ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้งานทางด้านภาพ

ปัญหาที่พบ คือ โปรแกรมสำหรับแสดงคลิปวิดีโอ เช่น วินโดวส์มีเดีย เพลเยอร์ และควิกไทม์ จะมีปุ่มควบคุมการใช้งานเช่นปุ่มเล่น หยุด เดินหน้า ซึ่งผู้พิการทางสายตามองไม่เห็น นอกจากนี้ เสียงจากไฟล์วิดีโอมักปนกับเสียงจากโปรแกรมอ่านเวบเพจด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหาที่เป็นมัลติมีเดียยังควบคุมผ่านเมาส์แทนที่จะเป็นแป้นพิมพ์ ทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถใช้งานคอนเทนต์ดังกล่าวได้
ด้วยเหตุดังกล่าวทีมวิจัยห้องปฏิบัติการประจำกรุงโตเกียว ของไอบีเอ็ม จึงพัฒนาเครื่องมือใหม่สำหรับการเรียกดูสื่อมัลติมีเดีย

ประกอบด้วย เครื่องมือควบคุมการใช้งานโปรแกรมมัลติมีเดียสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งทำงานในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการใช้เมาส์ตามปกติ ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการรับชมวิดีโอบนเวบไซต์ ผู้พิการทางสายตาสามารถเลือกปุ่ม "เล่น" (Play) ด้วยการกดปุ่มลัดบนแป้นพิมพ์ตามที่กำหนด เพื่อควบคุมสื่อมัลติมีเดียตามต้องการ

เครื่องมือดังกล่าว ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมความเร็วในการเล่นวิดีโอซ้ำ ปรับระดับเสียง และแม้แต่เพิ่มความเร็วของเสียง เนื่องจากผู้พิการทางสายตาที่ฟังเสียงจากวิดีโอ มักจะรู้สึกว่าเสียงถ่ายทอดได้ล่าช้าเป็นอย่างมาก

เครื่องมือใหม่สำหรับการเรียกดูสื่อมัลติมีเดียนี้ ยังออกแบบให้สามารถปรับระดับเสียง ที่มาจากโปรแกรมอ่านเนื้อหาบนเวบไซต์ได้ด้วย ผู้ใช้จึงสามารถเลือกและรับฟังเสียงจากโปรแกรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอ และเสียงจากวิดีโอ โปรแกรมใหม่นี้ยังเอื้อให้ผู้จัดทำวิดีโอ สามารถใส่เสียงบรรยายลงในวิดีโอได้ด้วย เพื่ออธิบายถึงเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นในวิดีโอ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก