Wednesday, May 2, 2007

เร่งปั้นคนรุ่นใหม่สนใจวิทย์ เปิดห้องเรียนพิเศษ-สร้างเว็บบล็อก


รมช.ศธ.ตรวจเยี่ยม สสวท. ระบุนักวิทย์กำลังเป็นที่ต้องการในหลายๆ ประเทศที่นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ แล้วมากมาย แต่ในไทยยังมีบุคลากรด้านวิทย์น้อยเกินไป ส่วนใหญ่เป็นแพทย์และวิศวะ ตั้งโจทย์ทำอย่างไรให้มีนักวิจัยเพิ่มมากขึ้น ย้ำนโยบายเปิดห้องเรียนวิทย์ สร้างเว็บบล็อกแลกเปลี่ยนความรู้

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางเยี่ยมชมและรับทราบกิจกรรมของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พร้อมทั้งมีการประชุมหารือกันในหัวข้อ “ปั้นคนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ และแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ”

“ความรู้สามารถเพิ่มโพรดักทิวิตี้ได้ ความรู้เพียงอย่างเดียวยังสำคัญกว่าการมีทรัพย์สินเงินทุนหรือที่ดิน เพราะความรู้สามารถประยุกต์ใช้ได้ ยกตัวอย่างที่ดิน 2 ผืนที่มีพื้นที่เท่ากัน ปลูกผักชนิดเดียวกัน ที่หนึ่งใช้วิธีดั้งเดิม อีกที่หนึ่งปลูกแบบไฮโดรโปรนิก วิธีหลังย่อมให้ผลผลิตดีกว่าและมากกว่า” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในมุมมองแบบนักเศรษฐศาสตร์

แม้วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยสมัยนี้จะก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ และหากเทียบอัตราส่วนของนักวิจัยกับจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศยังมีจำนวนน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศเสียอีก และปัญหาที่เร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขในตอนนี้คือ ภาวะขาดแคลนครูด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีส่วนช่วยทำให้เยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น

“ส่วนมากเด็กนักเรียนสายวิทย์ที่เก่งๆ ในระดับมัธยมปลาย มักเลือกเรียนต่อแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ นักศึกษาเหล่านี้ขาดแคลนอาจารย์ที่จะมาสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับพื้นฐาน” ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผอ.สสวท. กล่าวแสดงความคิดเห็น

ที่ผ่านมา สสวท. เป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตนักวิจัยและครูอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และ โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ส่งเสริมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เช่น งานสัปดาห์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ รวมทั้งผลิตสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อเผยแพร่ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กนักเรียนสนใจและเข้าถึงวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น

“วิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆมากขึ้น และสอนให้คิดแบบมีเหตุผล “ รมช.ศธ. กล่าว ทั้งนี้ยังแสดงความคิดเห็นว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพดีพอยังกระจายไปได้ไม่ทั่วถึงในระดับภูมิภาค ซึ่งส่วนมากจะกระจุกรวมอยู่แต่เฉพาะโรงเรียนในเมืองไม่กี่ร้อยโรงเรียน แต่อีกกว่า 2 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศยังเป็นปัญหาอยู่ จึงเป็นที่มาของนโยบายสร้างห้องเรียนพิเศษสำหรับเรียนวิชาวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในโครงการการส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียน

การส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียนจะดำเนินการกับโรงเรียนทั้งหมด 90 โรงทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 11 โรงเรียน ต่างจังหวัดๆ ละ 1 โรงเรียน ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะมีทุกเขตการศึกษา รวม 9 โรงเรียน โดยจะสร้างเป็นห้องเรียนพิเศษสำหรับวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะของแต่ระระดับชั้นในระดับมัธยมปลาย ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วแต่ละโรงเรียนจะมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น 3 ห้อง โดยจะเริ่มดำเนินการกับนักเรียนชั้น ม.4 ในปีการศึกษา 2550 นี้เป็นรุ่นแรก

นอกจากนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ยังได้เสนอแนะว่าน่าจะมีการทำเว็บบล็อก เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ เขียนบทความ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สร้างเป็นเครือข่ายเดียวกันทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ได้เสียก่อน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000050033

No comments: