Tuesday, May 8, 2007

ฮือฮา "ซูเปอร์โนวา" สว่างสุดๆ เท่าที่เคยเห็น


นาซา/เอพี/เอเอฟพี – เรื่องตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นอีกครั้งในวงการดาราศาสตร์ เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซาสามารถจับ “ซูเปอร์โนวา” สว่างที่สุดเท่าที่เคยพบมา เป็นการดับสลายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 150 เท่า ขณะเดียวกันก็เฝ้าจับตาดาวลักษณะใกล้เคียงกันห่างจากโลกเพียงแค่ 7 พันปีแสง หากเกิดระเบิดจริง แสงสว่างจ้าจะส่องถึงโลกทำกลางคืนกลายเป็นกลางวันได้เลยทีเดียว

เสียงฮือฮาดังขึ้นในหมู่นักดาราศาสตร์ประจำองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทันทีที่พบว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรารังสีเอ็กซ์ (Chandra X-ray Observatory) ของนาซาสามารถตรวจจับ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) หรือการระเบิดครั้งใหญ่ของดวงดาวอันไกลโพ้น ที่แม้ห่างจากโลกถึง 240 ล้านปีแสงแต่ก็ยังสามารถมองเห็นเป็นเหมือนพลุรูปทรงกลมกลางอวกาศได้อย่างชัดเจน เพราะนับเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างที่สุดเท่าที่ระบุได้

ทีมสำรวจทางดาราศาสตร์ของนาซาที่ประกอบด้วยนักวิชาการจากหลายสถาบัน ร่วมเปิดเผยเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ดาวเอสเอ็น2006จีวาย (SN2006gy) ที่เพิ่งค้นพบในกาแลกซีเอ็นจีซี 1260 (NGC1260) เมื่อเดือน ก.ย.ปี 2549 กลายเป็นซูเปอร์โนวา มีช่วงสูงสุดของการระเบิดยาวนานถึง 70 วันต่างจากซูเปอร์โนวาอื่นๆ ที่มีช่วงพีคเพียงแค่ 2 สัปดาห์ และมีความสว่างมากกว่าอีกหลายร้อยซูเปอร์โนวาที่นักดาราศาสตร์เคยสังเกตเห็น

"นี่สุดยอดกว่าทุกๆ ครั้ง" นาธาน สมิธ (Nathan Smith) หัวหน้าทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใน
เบิร์กเลย์ (University of California at Berkeley) กล่าวอย่างมหัศจรรย์ใจ นับเป็นการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ของดาวที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 150 เท่า ทำให้พลังงานที่ปลดปล่อยออกมามากกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไปถึง 100 เท่า และแสงที่เกิดขึ้นจากการระเบิดนั้นสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 5 หมื่นล้านเท่า

"ซูเปอร์โนวา" หรือ "มหานวดารา" เป็นการดับของดาวขนาดยักษ์และการเกิดใหม่ของดาวดวงน้อย โดยการะเบิดขึ้นจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เมื่อดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ผ่านช่วงเวลาในแถบลำดับหลัก (mature star) เชื้อเพลิงนิวเคลียร์คือไฮโดรเจนที่อยู่แกนกลางของดาวหมดลง ทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์จบลงไปด้วย ซึ่งส่งผลให้บริเวณใจกลางดาวไม่มีแรงดันจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่อไปแล้ว

จากนั้น ดาวฤกษ์จึงหดตัวลงเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ทำให้เกิดความร้อนมหาศาล ไปพบกับเปลือกนอกของดาวที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนจนเกิดปฏิกิริยานิวคลียร์ โดยผิวนอกของดาวจะระเบิดตัวกระจายอยู่รอบๆ ส่วนแกนกลางของดาวจะยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการยุบตัวนี้อาจทำให้ดาวกลายสภาพเป็นดาวแคระขาว (white dwarf) ดาวนิวตรอน (neutron star) หรือหลุมดำ (black hole)

ทว่าจากการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จันทราทำให้เห็นว่า หลังเกิดซูเปอร์โนวาบน SN2006gy แล้ว ก็ไม่มีหลุมดำเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทำให้นักดาราศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าการระเบิดครั้งนี้อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของอนุภาคที่เกิดจากรังสีแกมมา จึงทำให้พลังงานลดลง

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังได้ระบุว่า พวกเขากำลังสังเกตดาว “เอตา คารินา” (Eta Carinae) ห่างจากโลกแค่ 7,000 ปีแสง ที่กำลังพ่นกลุ่มควันออกมาหลายปี นับเป็นกลุ่มดาวที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มดาวกระดูกงูแห่งกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ที่อาจมีลักษณะคล้ายการระเบิดครั้งนี้ เพราะมีมวลใกล้เคียงกัน ซึ่งทีมสำรวจระบุว่า หากเอตา คารินาเกิดระเบิดขึ้นจริงแสงที่ส่งมาถึงโลกจะให้กลางคืนสว่างเหมือนตอนกลางวันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าเอตา คารินาจะเกิดระเบิดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะเป็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าจดจำมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เพราะในรอบ 400 ปีมานี้ยังไม่มีซูเปอร์โนวาปรากฏในกาแลกซีทางช้างเผือกที่พวกเราอาศัยอยู่

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000052607

No comments: