Monday, May 14, 2007

สถาบันดาราศาสตร์ชี้ลมสุริยะมีเอี่ยวโลกร้อน


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณวิทยุหาความสัมพันธ์ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ไขความลับอิทธิพลของดวงอาทิตย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยกับสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) เพื่อหาความสัมพันธ์ของตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมปีสุริยะฟิสิกส์สากลปี 2550

“ปัจจุบันมีหลักฐานเกี่ยวกับดวงอาทิตย์หลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งนักดาราศาสตร์ต้องการค้นหาความจริง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศในการวิจัย” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกล้วนได้รับอิทธิพลเชื่อมโยงมาจากดวงอาทิตย์ที่ ตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์ ลมสุริยะ ซึ่งเกิดจากดวงอาทิตย์ปลดปล่อยอนุภาคอิเล็กตรอน โปรตรอน สู่อวกาศ กลายเป็นพายุสุริยะ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก เช่น ช่วงวิทยุคลื่นสั้นไม่สามารถรับฟังได้ตามปกติ เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นบน หรือไอโอโนสเฟีย

เมื่อไม่นานมานี้ นักฟิสิกส์สุริยะในรัสเซียได้เสนอทฤษฎีว่า สาเหตุที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องมาจากการปล่อยรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ นอกเหนือจากก๊าซเรือนกระจก หากดวงอาทิตย์จะปล่อยแสงเพิ่มขึ้นเพียง 1% ก็มีผลต่อโลกได้ เพราะดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มีความเชื่อมโยงกัน

ปีสุริยะฟิสิกส์สากล เป็นผลจากความสำเร็จในปีธรณีฟิสิกส์สากล (International Geophysical Year, IGY) ปี 2500 จากการได้ปล่อย ยานสปุตนิก 1 (Sputnik) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจร นับเป็นการเริ่มต้นของศักราชแห่งการสำรวจอวกาศ

ในปีดังกล่าวมี นักดาราศาสตร์กว่า 6,000 คน จาก 67 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาของโลกและอวกาศอย่างแพร่หลาย และด้วยวาระครบรอบ 50 ปี ของปีธรณีฟิสิกส์สากล องค์การสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เสนอให้มีการเฉลิมฉลอง ปีสุริยะฟิสิกส์สากลขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการวิจัยให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น

ในส่วนของ สดร. ได้ร่วมกิจกรรมการวิจัย ในปีสุริยะฟิสิกส์สากล โดยทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์สุริยะที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ เช่น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณวิทยุ ศึกษาสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และลมสุริยะเพื่อเป็นข้อมูลส่งต่อให้นักดาราศาสตร์ประจำสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติทำงานวิจัยต่อไป

“ช่วงคลื่นวิทยุที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ จะบอกถึงตำแหน่งระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ที่ต้องอาศัยข้อมูลจากทั่วโลกในการคำนวณผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ซึ่งกิจกรรมติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน เริ่มต้นขึ้นพร้อมกันใน 100 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจะเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยร่วมกับสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. จัดกิจกรรม และประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบๆ ต่าง ที่เกิดขึ้นต่อโลกจากดวงอาทิตย์ โดยริเริ่มโครงการปลูกฝังปัญญาเยาว์ด้วยดาราศาสตร์ เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เช่น สื่อการ์ตูนแอนิเมชันเกี่ยวกับนิยายดาว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/14/WW54_5401_news.php?newsid=69564

No comments: