ปริญญาเอกจุฬาฯ พัฒนาผ้าฝ้ายหน่วงไฟ ลุกไหม้ช้า ควันน้อย ทั้งยังมีคุณสมบัตินุ่ม สวมใส่สบาย เผยสร้างปฏิกิริยาทางเคมีให้สารละลายกลายเป็นฟิล์มนาโนเคลือบเส้นใย วิธีเดียวกับทำเสื้อนาโนกันน้ำ ระบุประหยัด ทำได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
น.ส.อัมพรพรรณ ศิริวิริยานันท์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผ้าฝ้ายทนไฟหรือผ้าฝ้ายหน่วงไฟ พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคนิคแอดไมเซลล่าโพลิเมอร์ไรเซชั่น ขณะที่เนื้อผ้ายังคงความนุ่มสบาย ไม่หยาบ
เทคนิคดังกล่าวใช้หลักการเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอร์ไรเซชั่นในชั้นของสารลดแรงตึงผิว ซึ่งเคลือบอยู่บนผิวเส้นใยเป็นแผ่นฟิล์มบางระดับนาโนเมตร โดยขั้นตอนการผลิตเริ่มจากจุ่มผ้าในน้ำที่มีสารลดแรงตึงผิวละลายอยู่ เพื่อให้เส้นใยดูดซับสารลดแรงตึงผิว จากนั้นเติมสารละลายและตัวเร่งปฏิกิริยา ที่จะทำปฏิกิริยากับโพลิเมอร์ไรเซชั่นในชั้นของสารลดแรงตึงผิว ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติทนไฟ
ขณะที่การผลิตผ้าฝ้ายหน่วงไฟส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการจุ่มอัด-อบแห้ง (Pad-dry) โดยใช้ลูกกลิ้งอัดเพื่อให้สารเคมีเข้าไปอยู่ในเส้นใย จากนั้นจึงนำไปอบแห้ง ขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เนื้อผ้าแข็ง อีกทั้งสารเคมีที่อัดเข้าไป ยังไปอุดรูช่องว่างระหว่างเส้นใย ทำให้คุณสมบัติในการระบายอากาศและการดูดซับความชื้นเปลี่ยนไป
นักวิจัยทดลองเผาผ้าฝ้ายทนไฟ ที่ผลิตด้วยเทคนิคใหม่เทียบกับผ้าฝ้ายธรรมดาพบว่า ผ้าธรรมดาจะติดไฟและลุกไหม้ทันที แต่ผ้าทนไฟจะลุกไหม้ช้ากว่า และลามไปได้น้อย เนื่องจากสารหน่วงไฟที่เคลือบไว้เมื่อติดไฟ จะทำปฏิกิริยากับเส้นใยฝ้าย เกิดเป็นก๊าซคาร์บอน เทียบกับผ้าธรรมดาเมื่อติดไฟจะเกิดก๊าซออกซิเจนที่ทำให้ไฟลุกไหม้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผ้าต่างๆ เมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อคน กรณีของการเกิดเพลิงไหม้ จึงมีผู้เสียชีวิตจากการสูดควันไฟ แต่ผ้าหน่วงไฟนี้มีข้อได้เปรียบคือ เมื่อถูกเผาไหม้จะปล่อยน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ตัดปัญหาการเกิดควันไฟหนาแน่น สำหรับขั้นต่อไป นักวิจัยกำลังศึกษาสารละลายตัวอื่น ที่ทำให้ผ้าเกิดควันน้อยลงหรือไม่เกิดควันเลยขณะเผาไหม้ เพราะสารละลายที่ใช้ในปัจจุบันยังมีควันอยู่บ้าง
"เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรม เนื่องจากข้อได้เปรียบในแง่ผิวสัมผัสของผ้าที่นุ่มสบาย และยังไม่มีผ้าหน่วงไฟชนิดใดในตลาดสามารถทำได้” น.ส.อัมพรพรรณ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment