Monday, June 30, 2008

ซิป้าชวนส่งซอฟต์แวร์เข้าประกวด

ซิป้า ชวนส่งซอฟต์แวร์เข้าประกวดในโครงการ TICTA รวม 15 ประเภท ผู้ชนะเป็นตัวแทนเข้าประกวดซอฟต์แวร์ระดับเอเชีย

ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฎิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกสามารถผลิตซอฟต์แวร์ได้ ดังนั้นการที่ไทยจะแข่งขันซอฟต์แวร์กับต่างประเทศ ต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีและมีความหลากหลาย จึงต้องมีการจัดอันดับซอฟต์แวร์ ซึ่งโครงการ Thailand ICT Awards 2008 หรือ TICTA ได้มีการตัดสินประเภทซอฟต์แวร์ถึง 15 ประเภท และเป็นเวทีที่จัดอันดับซอฟต์แวร์ ทั้งยังช่วยชี้จุดเด่นและจุดด้อยซอฟต์แวร์ของ ผู้ประกอบการแต่ละรายเพื่อนำไปปรับปรุง โดยซอฟต์แวร์ที่ส่งเข้าประกวดจะได้รับการสนับสนุนจากซิป้า

สำหรับโครงการ TICTA เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ก.ค.นี้ แบ่งการประกวดออกเป็น 15 ประเภท โดยผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวด ต้องเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลที่พัฒนาซอฟต์แวร์ใช้ภายในองค์กร หรือพัฒนาไว้เพื่อจำหน่าย โดยต้องมีผู้ถือหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 49% ซึ่งผู้ชนะแต่ละประเภทจะเป็น ตัวแทนเข้าประกวดซอฟต์แวร์ระดับภูมิภาค หรือ Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) ที่ประเทศอินโดนีเซีย สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0-2294-7833-5.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=168549&NewsType=1&Template=1

Wednesday, June 25, 2008

ไทยส่งหุ่นยนต์แข่งเตะฟุตบอลชิงแชมป์โลก


เตรียมส่งทีมแข่งบอลโลก!! มหา’ลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สุดเจ๋งปั้นนักเตะโรบอตเลียนแบบมนุษย์ส่งแข่งขันหุ่นยนต์สองขาเตะฟุตบอลชิงแชมป์โลกในรายการ The RoboCup 2008 world Champion Ship ที่ประเทศจีนเดือน ก.ค.นี้ หัวหน้าทีมมั่นใจผ่านเข้าร่วม 8 ทีมสุดท้ายเป็นอย่างน้อย

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอม เกล้าธนบุรี เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ (ฮิว แมนนอยด์) ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ที่จะนำไปแข่งขันในรายการ The RoboCup 2008 world Champion Ship ในประเภท RoboCup humanoid League ที่จะจัดขึ้น ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 14-20 ก.ค. 51 โดย ดร.ปาษาณ กุลวานิช อาจารย์พิเศษ สถาบันฟีโบ้ หัวหน้าทีม KMUTT เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ที่ทางสถาบันพัฒนาขึ้นใหม่นี้ เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์จำนวน 4 ตัว มีชื่อว่า KM1, KM2, KM3 และ KM4 ซึ่งถือเป็นหุ่นยนต์รุ่นที่ 5 ของฟีโบ้ ที่จะใช้ในการแข่งขันจริง 3 ตัว อีก 1 ตัวใช้สำหรับเป็นตัวสำรอง หุ่นยนต์ทุกตัวมีระบบปฏิบัติการเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก และสามารถติดต่อสื่อสารภายในกลุ่มหุ่นยนต์ทั้งสี่ด้วยระบบ Network และมีการปรับปรุงโครงสร้างให้มีความแข็งแรง และทำความเร็วในการเดินได้ 25 เมตรต่อนาที

ดร.ปาษาณ กล่าวอีกว่า สำหรับจุดเด่นของหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ คือสามารถลุกขึ้นได้รวดเร็วเมื่อล้มลงโดยใช้เวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้นและมีกล้องที่สามารถจับภาพที่มีความละเอียดเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้หุ่นยนต์สามารถติดตามลูกฟุตบอลได้ดียิ่งขึ้นและน้ำหนักตัวหุ่นยนต์น้อยลงเหลือ 3 กก. จากเดิมที่หนัก 3.5 กก. ทำให้การเคลื่อนไหวสามารถทำได้ดีกว่าเดิม ขณะนี้ทาง ทีมมีความพร้อมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนถึงวันแข่งขันอาจจะต้องเร่งพัฒนาในส่วนของการสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์ด้วยกันผ่านการเขียนโปรแกรมให้สามารถสื่อสารพร้อมกันได้ทั้ง 3 ตัวในเวลาลงแข่งจริง คาดว่าเมื่อถึงเวลาแข่งขันทางทีมจะมีความพร้อมไม่ต่ำ กว่า 95 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติในประเภท RoboCup humanoid League หรือ หุ่นยนต์สองขาเตะฟุตบอล ปีนี้มีทีมเข้า แข่งขันทั้งหมด 30 ทีม จาก 26 ประเทศ โดยทางทีมตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้หากสามารถเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายได้จะถือเป็นความสำเร็จสูงสุด ส่วนทีมคู่แข่งที่น่ากลัวได้แก่ทีมโอซาก้า จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเต็งคว้าแชมป์มาแล้วหลายสมัยและทีมนิมโร จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นแชมป์เก่าจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามนอกจากจะมีการเปิดตัวหุ่นยนต์ในครั้งนี้แล้วทางบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ยังได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 400,000 บาท เพื่อให้ทีม KMUTT นำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์และเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ประเทศจีนในครั้งนี้ด้วย.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=168149&NewsType=1&Template=1

Tuesday, June 24, 2008

นาโนเทคโนโลยีลงสมุนไพรไทย

เซรั่มผมดกดำ-ครีมลดริ้วรอย

นาโนเทค จับมือ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต่อยอดงานวิจัยหวังพัฒนานาโนเวชสำอางสมุนไพรไทยในเชิงพาณิชย์ เผยอีก1 ปี ได้เห็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกออกสู่ท้องตลาด

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถือเป็นโครงการต่อเนื่องหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือวิจัยสมุนไพรไทยกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.นเรศวร ม.มหิดล และ ม.ขอนแก่น โดยทางศูนย์นาโนเทคและมหาวิทยาลัยทั้งห้าแห่งจะทำการวิจัยพัฒนาสูตร แล้วให้มูลนิธิฯ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องสมุนไพรไทยและมีผลิตภัณฑ์ในด้านนี้อยู่แล้วเป็นผู้ผลิตและทำตลาดให้

“ภายใน 1 ปีน่าจะได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 1 ชนิด และทำการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ คาดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท ครีมลดริ้วรอย โดยนำมะขามป้อม ขมิ้นชัน เปลือกมังคุด และใบบัวบก ซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายมาทำการวิจัย หลังจากนั้นภายใน 3 ปี ตั้งเป้าหมายวิจัยผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้ได้ 20 ชนิด พร้อมเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพนำสูตรผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออกทำเงินเข้าประเทศ เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกเครื่องสำอางของไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 50 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 5หมื่นล้านบาท”

นพ.วิชาญ เกิดวิชัย ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า หลังจากลงนามความร่วมมือจะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งมูลนิธิฯ มีความพร้อมทั้งภูมิปัญญา วัตถุดิบ และเครื่องมือ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ มีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด คือ ครีมลดริ้วรอย ยาทาแก้ปวด และเซรั่มกระตุ้นผมดกดำ คาดว่าจะเปิดตัวได้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=167963&NewsType=1&Template=1

สดร.ชวนถ่ายภาพ "ดาราศาสตร์" ประกวดชิงเงินหมื่น

สดร. - สดร.ประกาศขยายเวลาส่งภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าประกวดถึง 31 ก.ค.นี้ ชิงเงินรางวัล 10,000 บาท

ทั้งนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งจดหมายข่าวถึงผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าได้จัดโครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2551 หัวข้อ"มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย" และเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ จึงได้ขยายระยะเวลาการเปิดรับผลงานจนถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 โดยสามารถส่งภาพเข้าร่วมประกวดได้ไม่จำกัดประเภทและจำนวน

แบ่งประเภทของภาพที่ส่งเข้าประกวด ดังนี้
1. ประเภทภาพถ่าย Deep Sky Objects
2. ประเภทภาพถ่ายปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์
3. ประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ
4. ประเภทภาพถ่ายทิวทัศน์กับวัตถุท้องฟ้า (Celestial Object)

ทั้งนี้ หากส่งทางไปรษณีย์ จะถือวันที่ประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ โดยวงเล็บมุมซองว่า โครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2551 "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย" ตามที่อยู่นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานชั่วคราว(จังหวัดเชียงใหม่) อาคารฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับโล่เกียรติยศจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท ติดตามรายละเอียดในการส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดและดาวน์โหลดใบสมัคร ได้ที่ www.narit.or.th หรือ โทร.053 -225 569

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000074091

ไทยแดดเยอะแต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์น้อยกว่าญี่ปุ่น 100 เท่า


ผอ.โซลาร์เทคชี้ญี่ปุ่นมีแดดน้อยกว่าไทยแต่ใช้โซลาร์เซลล์มากกว่าไทยร้อยเท่า แนะเป็นแหล่งพลังงานสำหรับผู้ด้อยโอกาสในชนบท เผยคนไทยผลิตโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง - ต้นทุนต่ำได้แล้ว ภาคเอกชนเสนอควรติดโซลาร์เซลล์ตามสถานที่ราชการสำรองไฟยามเกิดภัยพิบัติ

ด้วยเห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อนและมีแสงแดดมากแบบไม่ต้องซื้อหา หากเปลี่ยนบางส่วนมาเป็นไฟฟ้าได้ คงประหยัดค่าพลังงานได้มาก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดตามไปเก็บข้อมูลจากวงเสวนา “โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นในงานแถลงข่าวเปิดโครงการ “M-150 Ideology ปฏิบัติการสร้างสรรค์นวัตกรรม โซลาร์เซลล์”

ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ ผผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แห่งชาติ (โซลาร์เทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวเปิดประเด็นผ่านเทปวิดีโอว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากกว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าแห่งพลังงานแสงอาทิตย์มาก

ทั้งนี้ ผอ.โซลาร์เทค ชี้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณแสงแดดทั้งปีเพียง 70% ของบ้านเรา ทว่ากลับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าไทยถึง 100 เท่า แสดงให้เห็นศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่มาก ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้นำออกมาใช้

“อีกประมาณ 20 ปี ในปี พ.ศ.2573 ญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 10% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนไฟฟ้าที่ไทยเราใช้อยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน” ดร.พอพนธ์ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม

แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เพียง 1.7% หรือเพียง 10 กิกะวัตต์ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กิกะวัตต์ใน 20 ปีข้างหน้า ทว่า ดร.พอพนธ์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้แน่นอน ซึ่งไฟฟ้า 1 กิกะวัตต์จะเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถึง 1 โรงทีเดียว

นอกจากนี้ ดร.พอพนธ์ มองว่า สำหรับคนในตัวเมืองแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าอาจไม่มีความจำเป็นอะไรนัก ทว่าจะดียิ่งขึ้นหากเราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไปผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าสู่ผู้ด้อยโอกาส

อย่างไรก็ดี นายกมล ตรรกบุตร กรรมการสภาวิศวกร ให้ข้อมูลว่าจุดด้อยของพลังงานแสงอาทิตย์คือต้นทุนการผลิตที่สูงมาก โดยในยุคเริ่มต้นของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเมื่อราวปี 2520 ซึ่งเกิดวิกฤติพลังงานเหมือนปัจจุบัน ขณะนั้นการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีต้นทุนวัตต์ละ 250 บาท การพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์รุ่นใหม่ให้มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ในจุดนี้ นายเอกชาติ หัตถา นักวิจัยโซลาร์เทค ให้ข้อมูลแก้ว่า ในปัจจุบันนักวิจัยไทยสามารถแก้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ได้แล้ว โดยโซลาร์เทคสามารถผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิกอนได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่า 100 บาทต่อวัตต์ ขณะที่ประสิทธิภาพการแปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นสูงสุด 15.7% ด้วย ดังนั้นการขยายผลสู่การเชิงพาณิชย์ด้วยนวัตกรรมแปลกใหม่จึงเป็นที่น่าสนใจติดตามมาก

ส่วนนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา ประธานกรรมการบริหารบริษัท ฤทธา จำกัด แสดงความคิดเห็นว่า แม้ปัจจุบันเซลล์แสงอาทิตย์ยังมีราคาค่อนข้างแพงไปบ้าง แต่เราก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ในฐานะแหล่งจ่ายไฟสำรองในเวลาที่แหล่งเชื้อเพลิงอื่นๆ ไม่สามารถใช้การได้ อาทิ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างพายุนาร์กีส โดยสถานที่สำคัญทางราชการควรจะต้องมีไว้รับมือหากเกิดปัญหาโดยต้องไม่ชะล่าใจ หรือประมาทว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ปิดท้ายที่ รศ.ดร.สมชัย รัตนธรรมพันธ์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า การพัฒนานวัตกรรมแสงอาทิตย์ที่เป็นที่ต้องการในอนาคตไม่จำเป็นต้องเป็นของที่มีราคาแพงเท่านั้น แต่อยู่ที่การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งนั้นเองเป็นจุดที่เขาฝากโจทย์ให้คนรุ่นใหม่นำไปพัฒนานวัตกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศต่อไป

สำหรับโครงการ “M-150 Ideology ปฏิบัติการสร้างสรรค์นวัตกรรม โซลาร์เซลล์”จัดขึ้นโดยบริษัท โอสถสภา จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของโซลาร์เทค เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจับกลุ่มกัน 10-12 คน เพื่อส่งแนวคิดนวัตกรรมเซลล์แสงอาทิตย์เข้าประกวด โดย 5 ทีมสุดท้ายจะได้รับการสนับสนุนทุนพัฒนานวัตกรรม 2 แสนบาท พร้อมนำผลงานไปติดตั้งใช้จริงในพื้นที่เป้าหมายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.m-150.com .

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000073718

Thursday, June 19, 2008

หวั่นสินค้านาโนเกลื่อนตลาดตั้งมาตรฐานรับรองความปลอดภัย

สินค้ายุคใหม่เอะอะอะไรก็อ้างนาโน คุยฟุ้งว่าเพิ่มประสิทธิภาพขจัดคราบแบคทีเรีย กำจัดไวรัส แต่ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าผลิตภัณฑ์นาโนปลอดภัยต่อผู้บริโภคแค่ไหน

ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ 30 ประเทศสมาชิกด้านนาโนเทค เร่งหารือจัดทำมาตรฐานตรวจรับรองความปลอดภัยผลิตภัณฑ์นาโน พร้อมนิยามความหมายให้เข้าใจตรงกันทั่วโลก

ดร.นพวรรณ ตันติพัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมมาตรฐานไอเอสโอนาโนเทคโนโลยี (ISO/TC229) เตรียมพิจารณาจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยสินค้านาโนเพื่อประโยชน์ด้านการทดสอบและการรับรอง พร้อมทั้งจัดทำโมเดลมาตรฐานที่บางประเทศเลือกนำไปทดลองใช้ แต่จะใช้งานจริงหรือไม่ในอนาคต ขึ้นอยู่กับมติของประเทศสมาชิก

“เหตุที่มาตรฐานรองรับนาโนเทคโนโลยีออกมาช้า เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศสมาชิกมีจำนวนน้อย บางครั้งประเทศสมาชิกก็ไม่ส่งเข้าร่วมประชุม ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า แต่การจัดทำมาตรฐานต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผลิตภัณฑ์นาโนทั่วโลก” ดร.นพวรรณ กล่าว

ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีมาตรฐานรองรับความเป็นนาโน แต่ก็มีตราสัญลักษณ์รับรองการเป็นผลิตภัณฑ์นาโน โดยอาศัยคุณลักษณะของนาโนเป็นตัวกำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ

ศูนย์นาโนเทคอยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย เพื่อเตรียมข้อมูลรองรับความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีเช่นกัน โดยแบ่งเป็น 4 เรื่องหลักคือ การศึกษาความเครียดของโปรตีนหลังได้รับอนุภาคนาโนในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การศึกษาความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการซักล้างเสื้อผ้าที่เป็นนาโน การศึกษาความเป็นพิษของสารนาโนในผ้าต่อเซลล์เนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ยังติดตามระดับความเข้มข้นของฝุ่นไททาเนียมไดออกไซด์และนาโนคาร์บอนในห้องปฏิบัติการ สำหรับรองรับมาตรฐานที่จะนำมาใช้ในอนาคต

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา หัวหน้าหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบ ศูนย์นาโนเทค กล่าวว่า แม้ว่าทั่วโลกจะยังไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์นาโน แต่ประเทศไทยได้กำหนดเทคนิคตรวจวิเคราะห์ เพื่อระบุความเป็นนาโน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน รูปทรงอะไรก็ตาม โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานการผลิตอีกขั้นหนึ่ง

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/19/x_it_h001_207459.php?news_id=207459

ตะลึง! พบสารก่อกำเนิดดีเอ็นเอ ในอุกกาบาตจากนอกโลก


นักดาราศาสตร์ตะลึง! พิสูจน์ชิ้นส่วนอุกกาบาตที่ตกลงในประเทศออสเตรเลียเมื่อ 40 ปีก่อน พบมีสารตั้งต้นของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอรวมอยู่ด้วย ชี้ชัดธาตุคาร์บอนที่พบอยู่ในรูปแบบที่ไม่พบบนโลก นักวิจัยเชื่ออุกกาบาตนำพาสารองค์ประกอบของพันธุกรรมมาจากนอกโลก แล้วทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักดาราศาสตร์ยุโรปร่วมกับสหรัฐอเมริกาตรวจพบสารชีวโมเลกุล แฝงอยู่ในอุกกาบาตที่ตกลงมาสู่โลกบริเวณประเทศออสเตรเลย เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ซี่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ผลพิสูจน์ชี้ชัดว่า ธาตุคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบหลักไม่ใช่รูปแบบที่พบได้ทั่วไปบนโลก โดยได้มีการรายงานผลการศึกษาลงในวารสารเอิร์ธ แอนด์ แพลเน็ตทารี ไซน์ เล็ตเตอร์ส (Earth and Planetary Science Letters)

ทั้งในเอเอฟพีและไซน์เดลีระบุว่า เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบสารอินทรีย์บางชนิด ที่เป็นวัตถุดิบในการสร้างโมเลกุลแรกของสารพันธุกรรมปะปนอยู่ในหินอุกกาบาต ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมพิสูจน์ ต่างปักใจเชื่อว่าวัตถุต่างพิภพจะต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ตรวจวิเคราะห์เศษหินอุกกาบาตเมอร์ชิสัน (Murchison) ที่ตกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2512 และพบว่ามีโมเลกุลของยูราซิล (uracil) และแซนทีน (xanthine) ปะปนอยู่ด้วย ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้จัดเป็นนิวคลีโอเบส (nucleobase) และเป็นโมเลกุลตั้งต้น ในการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต คือ ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA)

ยูราซิลคือเบสชนิดไพริมิดีน (Pyrimidine) และพบเฉพาะในโมเลกุลของอาร์เอ็นเอ ส่วนแซนทีนแม้จะไม่ใช่องค์ประกอบโดยตรงในดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ แต่เป็นอนุพันธ์หนึ่งของเบสในกลุ่มพิวรีน (Purine) โดยนิวคลีโอเบสจะทำปฏิกิริยากับน้ำตาลไรโบสได้เป็นนิวคลีโอไซด์ และทำปฏิกิริยากับฟอสเฟตต่อไปเพื่อให้ได้นิวคลีโอไทด์ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่จะประกอบกันเป็นดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอต่อไป

วารสารนิวไซเอนติสต์รายงานเพิ่มเติมว่า นักวิจัยยังได้พิสูจน์ต่อไปอีกว่าโมเลกุลของสารทั้ง 2 ชนิดนั้น แท้จริงมาจากนอกโลก หรือเพียงแค่เกิดการปนเปื้อน เมื่ออุกกาบาตตกกระทบพื้นโลกแล้ว แต่ผลการวิเคราะห์ชี้ว่านิวคลีโอเบสดังกล่าว มีคาร์บอนหนัก (C-13) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นรูปแบบของคาร์บอนที่พบในอวกาศเท่านั้น ขณะที่คาร์บอนที่พบทั่วไปบนโลกจะอยู่ในรูปคาร์บอนเบา (C-12)

ดร.ซิตา มาร์ตินส์ (Dr Zita Martins) หัวหน้าทีมวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกและวิศวกรรมศาสตร์ (Department of Earth Science and Engineering) อิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) กรุงลอนดอน เผยว่าการศึกษาเรื่องดังกล่าวจะช่วยเพิ่มข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มบนโลกได้

"พวกเราเชื่อแน่ว่าสิ่งมีชีวิตแรกๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกจะต้องได้รับนิวคลีโอเบส มาจากเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่มาจากนอกโลกเพื่อทำการถอดรหัสพันธุกรรม เป็นผลให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดลักษณะต่างๆ สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เกิดการวิวัฒนาการ และดำรงเผ่าพันธุ์ต่อมาได้" ดร.มาร์ตินส์แจง

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานกันว่าเมื่อราว 3.8-4.5 พันล้านปีก่อน โลกของเรามีหินอุกกาบาตที่คล้ายกับอุกกาบาตเมอร์ชินตกลงมาเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สิ่งมีชีวิตแรกๆ เริ่มอุบัติขึ้นบนโลก และสารอินทรีย์ที่มาพร้อมกับอุกกาบาตจากนอกโลกเหล่านั้นก็กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกจนมาถึงปัจจุบัน

ด้านศาสตราจารย์มาร์ก เซฟตัน (Professor Mark Sephton) นักวิจัยสถาบันเดียวกับ ดร.มาร์ตินส์ ระบุว่าเขาเชื่อเช่นเดียวกับ ดร.มาร์ตินส์ และองค์ความรู้นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการศึกษาถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตชนิดแรกๆ และเนื่องจากหินอุกกาบาตได้นำพาองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก มาจากระบบสุริยะ ก็น่าจะมีแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในจักรวาลด้วยเช่นกัน ประกอบกับหลักฐานการค้นพบสารอินทรีย์จากวัตถุนอกโลกที่เพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นได้อีกที่ไหนสักแห่ง

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071128

Wednesday, June 18, 2008

นาโนเทคลุยต่อ "เวชสำอางนาโน" คราวนี้ได้ "อภัยภูเบศร" ต่อยอด


นาโนเทคร่วมมือ “อภัยภูเบศร” ต่อยอดเวชสำอางนาโนหมายเบิกร่องการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ โดยอภัยภูเบศรจะได้ฤกษ์เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์รุ่นบุกเบิก ทั้งกอเอี้ยะแก้ปวดข้อจากอนุภาค "พริกนาโน" และเซรั่มจากน้ำมัน "รำข้าวนาโน" ช่วยให้ผมดกดำในงานสมุนไพรแห่งชาติ

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเพื่อนำงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีไปเพิ่มมูลค่าให้กับเวชสำอางนาโนจากสมุนไพรไทย เมื่อ 18 มิ.ย.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมในงาน

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าวอื่นๆ ว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นขั้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนาโนเทคได้ลงนามร่วมมือการวิจัยพัฒนาสมุนไพรไทยกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีกรอบความร่วมมือ 3 ปีที่จะทำให้เกิดนาโนเวชสำอางต้นแบบ 1 ชนิดได้ใน 1 ปีและเพิ่มเป็น 10 ต้นแบบภายใน 3 ปี

ส่วนความร่วมมือล่าสุดนี้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะเป็นความร่วมมือ 3 ปีเพื่อนำต้นแบบงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีที่ได้จากความร่วมมือข้างต้นไปต่อยอดสู่การผลิตนาโนเวชสำอางสมุนไพรไทยในเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นมุ่งเป้าไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลดเลือนริ้วรอย และเพิ่มความอ่อนวัยที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีนาโนแคปซูลบรรจุสารสกัดที่มีประโยชน์ไว้แล้วปล่อยออกมายังชั้นผิวหนังแท้ โดยจะผลิตจากสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพประมาณ 10 – 20 ชนิด อาทิ มะขามป้อม ขมิ้นชัน มังคุด และใบบัวบก ฯลฯ

“ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นในปี 49 ที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 3.7 หมื่นล้านบาท และเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาทในปี 50 อย่างไรก็ดียังต้องมีการหารือถึงแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างนาโนเทค ภาคการวิจัย และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถึงความร่วมมือนี้ด้วย” ผอ.นาโนเทคกล่าว โดยการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยจะต้องมีการตกลงเป็นรายตัวว่าเป็นสมุนไพรชนิดใดองค์กรใดมีบทบาทในขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งเวลานี้ยังดำเนินการไม่ถึงช่วงดังกล่าว

ส่วนข้อกังวลถึงผลเสียที่อนุภาคนาโนจะสะสมในร่างกายและทำให้เกิดอันตราย ศ.ดร.วิวัฒน์ ยืนยันว่า จะไม่เกิดกรณีดังกล่าวแน่นอน เพราะสารสกัดดังกล่าวเป็นสารจากธรรมชาติ อีกทั้งจะต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาวิจัยและทดลองในอาสาสมัครจนมั่นใจได้ว่าควรใช้ในปริมาณเท่าใดที่จะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย

ขณะที่ นพ.วิชาญ เกิดวิชัย ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ตัวมูลนิธิฯ เองกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแผ่นแปะแก้ปวดข้อนาโนจากสารสกัดแคปไซซินจากพริกซึ่งไม่มีผลข้างเคียงจากยาแก้ปวด และเซรั่มนาโนช่วยให้ผมดกดำจากน้ำมันรำข้าว ซึ่งมูลนิธิฯ มีภูมิปัญญาด้านสมุนไพรพร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้นำนาโนเทคโนโลยีช่วยการผลิต โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จากฐานการผลิตทั้งโรงงานและเครื่องจักรที่มูลนิธิมีความพร้อมเดิมอยู่แล้ว

“เราเชื่อว่าภายในปีแรกของความร่วมมือ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 น่าจะแล้วเสร็จและจำหน่ายได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 5 จัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วย” นพ.วิชาญ ปิดท้ายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071526

"พลูตอยด์" คำใหม่เรียกดาวเคราะห์แคระคล้ายพลูโต


เมื่อปี 2549 "พลูโต" ต้องช้ำใจเพราะถูกลดสถานภาพจากดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะให้เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ แต่ล่าสุดได้รางวัลปลอบใจให้เป็นต้นแบบของดาวเคราะห์แคระที่พบในแถบไคเปอร์ ดวงใดมีขนาดและวงโคจรใกล้เคียงกับพลูโตให้เรียก "พลูตอยด์"

สำนักข่าวรอยเตอร์สและบีบีซีนิวส์รายงานว่า สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือไอเอยู (International Astronomical Union : IAU) ได้มีการจัดการประชุมระบบการเรียกชื่อวัตถุขนาดเล็ก (Committee on Small Body Nomenclature) ขึ้น เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.51 ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เหล่านักดาราศาสตร์มีมติ ให้คำว่า "พลูตอยด์" (plutoid) เป็นนิยามใหม่ของดาวพลูโต (Pluto) และรวมถึงดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ดวงอื่นๆ ที่มีวงโคจร และขนาดใกล้เคียงกับดาวพลูโต ที่อาจค้นพบได้ในอนาคต

คำแถลงของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลระบุ ให้คำว่า "พลูตอยด์" หมายถึง วัตถุบนท้องฟ้าในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์, มีมวลมากเพียงพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเอง ให้อยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต (hydrostatic equilibrium), มีวงโคจรของตัวเองไม่ชัดเจน และต้องไม่มีดาวบริวาร

ขณะนี้มีดาวเคราะห์แคระที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพลูตอยด์แล้ว 2 ดวง ได้แก่ พลูโต และอีริส (Eris) ที่มีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย และเป็นดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ ซึ่งนักดาราศาสตร์ก็คาดหวังกันว่า ในอนาคตจะมีการค้นพบวัตถุประเภทพลูตอยด์เพิ่มมากขึ้นอีก ส่วนซีเรส (Ceres) นั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์แคระ เช่นเดียวกับพลูโตและอีริส แต่ไม่จัดว่าเป็นพลูตอยด์ เนื่องจากอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ไม่ได้อยู่ในแถบไคเปอร์เหมือนพลูตอยด์ทั้ง 2 ดวง

อย่างไรก็ดี วารสารนิวไซเอนติสต์รายงานอีกว่า ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) หรือคาลเทค ในเมืองพาซาเดนา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า พลูตอยด์จะต้องมีความสว่างในระดับน้อยที่สุดเท่านั้น (minimum brightness) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่แยกแยะพลูตอยด์ออกจากดาวเคราะห์แคระอีกหลายดวง ที่พบแล้วในแถบไคเปอร์ได้

"วัตถุในแถบไคเปอร์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพลูโตจะถูกจัดให้เป็นพลูตอยด์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ปกคลุมพื้นผิววัตถุนั้นด้วย ถ้าหากพลูโตถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นผง พลูก็อาจจะไม่ใช่พลูตอยด์ก็เป็นได้" บราวน์กล่าวกับนิวไซเอนติสต์

ทั้งนี้ ดาวพลูโตถูกค้นพบเมื่อปี 2473 โดยไคลด์ ทอมบอกจ์ (Clyde Tombaugh) และได้รับการพิจารณาให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีการถกเถียงกันในวงการดาราศาสตร์ ว่าดาวพลูโตเหมาะสมกับคุณสมบัติของดาวเคราะห์หรือไม่ จนกระทั่งเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2549 สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลมีมติ ถอดดาวพลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ และจัดให้มีสถานภาพเป็นดาวเคราะห์แคระแทน เป็นผลให้ระบบสุริยะคงเหลือดาวเคราะห์ ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์เพียง 8 ดวง.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000070614

Tuesday, June 17, 2008

ซูเปอร์คอมพ์เตือนก่อนสึนามิ 40 นาที

จุฬาฯ ออกแบบระบบจำลองการเกิดสึนามิ เชื่อมโยงเครือข่ายซูเปอร์คอมพิวเตอร์ วิเคราะห์จุดเสี่ยงผ่านเว็บล่วงหน้า 40 นาทีก่อนคลื่นซัดขึ้นฝั่ง

น.ส.เปรมจิต อภิเมธีธำรง ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมงานออกแบบระบบจำลองการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อการเตือนภัยขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยเป็นของตัวเอง ที่ผ่านมาต้องพึ่งพาข้อมูลจากต่างชาติ ทำให้การเตือนภัยของประเทศไทยทำได้ล่าช้า

การศึกษาออกแบบระบบเตือนภัยสึนามิขึ้นใช้เองในประเทศดังกล่าว ได้ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา นำโดย ดร.อาณัติ เรืองรัศมี โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงช่วยให้การประมวลผลทำได้เร็วขึ้น

“ประเทศไทยมีทุ่นตรวจจับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลจำนวนหนึ่ง ข้อมูลที่ได้จะส่งไปประมวลผลระดับภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมไกลถึงญี่ปุ่นและอเมริกา เพื่อคาดการณ์การเกิดคลื่นสึนามิ แต่หากประเทศไทยต้องการใช้ข้อมูล จะต้องติดต่อไปยังศูนย์เฝ้าระวังในต่างประเทศ ทำให้การเตือนภัยทำได้ล่าช้า” นักวิจัย กล่าว

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยของตัวเอง ทำให้ต้องพึ่งพาต่างชาติ ในบางครั้งข้อมูลที่มีก็ไม่ตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงซึ่งขาดการประมวลผลล่วงหน้า ทำให้การแจ้งเตือนภัยของไทยไม่น่าเชื่อถือ เมื่อเทียบเท่ากับข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยประเทศอินโดนีเซีย

ทีมวิจัยจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ความสูงของคลื่น ช่วงเวลาที่คลื่นพัดถึงฝั่ง จุดเสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มาพัฒนาเป็นระบบเตือนภัย ในรูปแบบของภาพกราฟฟิกเสมือนจริงปรากฏบนเว็บไซต์ ขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงมีส่วนช่วยให้การวิเคราะห์ผลทำได้เร็วขึ้น

ในส่วนของการใช้งานคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ทีมวิจัยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโตเกียวเข้าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ "Tsubame" เพื่อการวิจัย ตลอดจนทดลองใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของศูนย์ไทยกริดแห่งชาติในการคำนวณ

ทั้งนี้ คลื่นใช้เวลาเดินทางจากจุดเกิดแผ่นดินไหวมาถึงชายฝั่งประมาณ 90 นาที คอมพิวเตอร์ปกติใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงในการประมวลผลและส่งสัญญาณเตือนภัย ซึ่งถือว่าล่าช้า ขณะที่คอมพิวเตอร์เครือข่ายสมรรถนะสูง หรือกริดคอมพิวติ้ง ใช้เวลาคำนวณประมวลผลเพียง 40 นาทีเท่านั้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/17/x_it_h001_207221.php?news_id=207221

Monday, June 16, 2008

เทคนิคสกลนครซิวแชมป์หุ่นยนต์


เทคนิคสกลนครเจ๋งซิวแชมป์ ARURobot ประเทศไทย ตีตั๋วแข่งขันระดับเอเชียที่อินเดียปลายเดือน ส.ค.นี้ พร้อมเผย 3 ผลรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมเพื่อผู้พิการในงานถนนเทคโนโลยี

วันที่ 15 มิ.ย. ที่อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแข่งขัน ABU Robot Contest Thailand Chmpionship 2008 หรือการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงแชมป์ประเทศไทยรอบชิงชนะเลิศ ในงานถนนเทคโนโลยี 2551 โดยเป็นการแข่งขันระหว่างทีม iRAP Ruddster จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ทีม PEM.2008 จากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร

การแข่งขันเป็นไปอย่างสูสีทั้งคู่ผลัดกันแพ้และชนะทีมละสนามจนต้องตัดสินในสนามที่สาม โดยทีม PEM.2008 ใช้เทคนิคการกันไม่ให้หุ่นยนต์ของทีม iRAP Ruddster เข้าไปทำคะแนนได้ ทำให้ทีม PEM.2008 เฉือนเอาชนะคู่แข่งในสนามที่สามด้วยคะแนน 30 ต่อ 16 ได้เป็นแชมป์ประเทศไทย คว้าเงินรางวัล 100,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน “ABU Asia-Pacific Robot Contest” ร่วมกับคู่แข่งอีก 18 ประเทศ ในชื่อการแข่งขัน “Touch the Sky” หรือ “เหินฟ้า ท้าพิชิต” ที่เมืองปูเน่ ประเทศอินเดีย ในวันที่ 31 ส.ค.นี้

สำหรับ PEM.2008 ประกอบด้วยนายณัฐวุฒิ นิ่มนาง ปวส.1, นายวนัสสันต์ ไตรแก้ว ปวช.2 และนายอนุพงษ์ ไชยบุปผา ปวช.3 โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เคยเข้าร่วมการแข่งขัน ABU มาแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่เคยชนะเลย การแข่งครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังแต่ทุกคนพยายามทำให้ดีที่สุด เมื่อชนะก็ดีใจมากเพราะทีมรวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาต่างเตรียมตัวและทุ่มเทกับการแข่งขันครั้งนี้มาก โดยเมื่อได้รับโจทย์การแข่งขันก็จะมาร่วมกันวางแผนการแข่งขันเทคนิคต่าง ๆ และสร้างหุ่นยนต์ โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์อยู่ที่ความว่องไว

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม iRAP Ruddster, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ ทีม INCHOATION จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี และทีมหอยหลอด จากวิทยาลัย เทคนิคสมุทรสงคราม, รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, รางวัลศิลปะยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม iRAP สมหมาย EXE จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, รางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมกันเกรา จากมหา วิทยาลัยอุบลราชธานี และรางวัลหุ่นอัตโนมัติยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม LOVEBOT-1 จากวิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ และรางวัลกองเชียร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ กองเชียร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

นอกจากนี้ในงานถนนเทคโนโลยี 2551 ยังจัดการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ โดยรางวัลชนะเลิศประเภทผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยสัญญาณสมองเพื่อคนพิการทางกายภาพ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รางวัลชนะเลิศประเภทผู้พิการด้านการมองเห็น ได้แก่ ผลงานแผ่นเรขาสำหรับนักเรียนพิการตา บอด ของนายเจน ชัยเดช นักศึกษาปริญญาโทจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล, รางวัลชนะเลิศประเภทผู้พิการด้านการได้ยิน/สื่อความหมาย ได้แก่ ผลงานนวัตกรรมภาษามือสามมิติ จากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=167233&NewsType=1&Template=1

เล็งใช้"ทะเลทรายแอฟริกา" ผลิตฟาร์มไฟฟ้าแสงอาทิตย์

เวทีพลังงานทดแทนเสนอใช้ทะเลทรายแอฟริกาเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ป้อนพลเมืองได้ถึง 600 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แถมยังอาจเหลือส่งไปขายยุโรปได้ด้วย

เกอร์ฮาร์ด นีส์ ผู้จัดการโครงการ บริษัทพลังงานทดแทนทรานส์-เมดิเตอร์เรเนียน กล่าวบนเวทีประชุมพลังงานทดแทนแอฟริกา ซึ่งจัดที่ประเทศไนโรบีเมื่อไม่นานมานี้ว่า ทะเลที่ร้อนตับแลบในแอฟริกาสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ โดยพื้นที่ 1.5 ตารางกิโลเมตรผลิตไฟฟ้าได้เทียบเท่าน้ำมัน 1.5 บาร์เรล

แอฟริกาเหมาะทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยพลิกพื้นที่ทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไร้ประโยชน์มาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติที่ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเมินดูแล้ว แต่ละปีทะเลทรายจะได้รับพลังงานมากกว่าพลังงานที่ใช้กันทั่วโลก

กลุ่มคนที่ยากจนสุดเป็นคนที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันออก และต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อดำรงชีวิตอย่างมาก ยิ่งในภาวะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่ผันผวนจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานสะอาดมาทดแทนพลังงานจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานโซลาร์เซลล์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

ข้อดีของการลงทุนพลังงานโซลาร์เซลล์คือเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวจบ และต้นทุนเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เริ่มถูกลงเรื่อยๆ เพียงนำกระจกและเดินท่อรับความร้อนจากดวงอาทิตย์มาต้มน้ำให้เดือด และใช้พลังไอน้ำดันกังหันเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

หลายประเทศทั่วโลกสนใจทำ "ฟาร์มแสงอาทิตย์" กันบ้างแล้ว เช่นในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ วางแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าให้แก่ผู้อยู่อาศัย 1.9 แสนหลังคาเรือน และจะเป็นโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่นิวเม็กซิโก และแคนาดามีแผนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เช่นกัน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/17/x_it_h001_206184.php?news_id=206184

Wednesday, June 11, 2008

ส่งหุ่นยนต์กู้ระเบิดฝีมือไทย ลงชายแดนภาคใต้

หุ่นยนต์ตรวจสถานที่เกิดเหตุเก็บกู้วัตถุอันตรายกู้ทำลายวัตถุระเบิด รุ่น NARA 1 และ NARA 2 ฝีมือของทีมนักวิจัยตำรวจไทย ถูกส่งเข้าประจำการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

วัตถุประสงค์

พ.ต.ท.กฤษฏากร เชวงศักดิ์โสภาคย์ นักวิทยาศาสตร์ (สบ 3) วิทยาการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า หุ่นยนต์นารา 1 และนารา 2 เป็นหุ่นยนต์ใช้งานจริงสำหรับงานกู้ทำลายวัตถุระเบิด พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแบบโดยเน้นความเหมาะสมสำหรับการใช้งาน ทักษะความชำนาญและความต้องการของผู้ใช้ ต้องสามารถทำงานเสี่ยงภัยแทนเจ้าหน้าที่ แขนกล ของหุ่นยนต์สามารถหยิบยก เคลื่อนย้ายวัตถุน้ำหนักประมาณ 80 กก. เคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดเพื่อนำออกไปยิงทำลายด้วยปืนยิงน้ำแรงดันสูง ที่ติดตั้งบนตัวหุ่นยนต์ หรือยกเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากสถานที่เกิดเหตุแทน เจ้าหน้าที่ซึ่งเสี่ยงกับการวางระเบิดลูกที่ 2

นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องวงจรปิดบนตัวหุ่นยนต์ สามารถบังคับการทำงานของหุ่นยนต์ด้วยสายควบคุมและมองเห็นการทำงานของหุ่นยนต์ทางจอภาพที่ติดตั้งในกล่อง ชุดควบคุมระยะไกล เคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวาง เช่น ทางเดินเท้าริมถนน กองไม้ กองหิน เป็นต้น

หุ่นยนต์ยังสามารถทำงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ เคลื่อนย้ายวัตถุที่มีน้ำหนักมาก เช่น รถจักรยานยนต์ที่มีวัตถุระเบิด ซุกซ่อนอยู่ ออกจากสถานที่เกิดเหตุมายังที่ปลอดภัยเพื่อทำการกู้ทำลาย และช่วยในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่อันตราย หุ่นยนต์ฯ สามารถทำงานกู้ทำลายวัตถุระเบิดในสภาพภูมิประเทศจริงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับทีมนักวิจัยหุ่นยนต์นารา 1 และ นารา 2 คือ พ.ต.ท.กฤษฏากร เชวง ศักดิ์โสภาคย์ วิทยาการจังหวัดตาก นายสันทัศน์ ตันยา ผู้ช่วยวิจัย และทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก นายจักรพันธ์ ชูศักดิ์ นายสถาพร ยอดปานันท์ นายวัชระ สหะชาติ และ นางสาวจุฑารัตน์ โยชุ่ม.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166662&NewsType=1&Template=1

Tuesday, June 10, 2008

ไอทีโซน - ไอบีเอ็มออกแบบชิพหล่อน้ำเย็นฉ่ำ


ปัญหาหนักอกของผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์มาตลอดประวัติศาสตร์นับตั้งแต่คลอดชิพตัวแรกของโลกออกมาคือ ความร้อน เนื่องจากหัวใจสำคัญของชิพคือ ทรานซิสเตอร์จำนวนหลายล้านตัวที่อัดแน่นกันอยู่ข้างใน และยังมีวงจรไฟฟ้าที่ซ่อนอยู่ในชิพด้วย

จึงไม่ใช่ที่ใช่ทางที่ใครจะเอาน้ำไปเท แต่วิศวกรของไอบีเอ็มไม่คิดอย่างนั้น พวกเขาเชื่อว่า ถ้าหาทางทำให้ชิพมีท่อน้ำขนาดเส้นผมหล่ออยู่ข้างในจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่คอมพิวเตอร์ในอนาคตได้

ทุกวันนี้ชิพคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงมาก ด้วยเทคโนโลยีบีบทรานซิสเตอร์ให้เล็กลง ยิ่งมีทรานซิสเตอร์มากเท่าไร ความเร็วในการประมวลผลยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งมีทรานซิสเตอร์อัดแน่นกันมากเท่าไร ยิ่งร้อนง่ายขึ้นเช่นกัน ความร้อนเหล่านี้จะถ่ายเทออกมาจากวงจรเล็กๆ และยากจะควบคุมให้เย็นได้ง่าย

เพราะเหตุนี้จึงจำเป็นต้องใช้พัดลมระบายความร้อนให้ซีพียู ไม่อย่างนั้นชิพไหม้เป็นตอตะโก หากลองเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ดูจะเห็นพัดลมขนาดใหญ่ และครีบอะลูมิเนียม หรือทองแดง ที่ศัพท์เรียกว่า "ฮีตซิงก์" ตั้งอยู่บนซีพียู ทำหน้าที่ระบายความร้อนออกไป ถ้าเป็นซีพียูขนาดใหญ่ก็ใช้ได้ดี แต่ไม่เหมาะกับซีพียูขนาดเล็กในปัจจุบัน

ความจริงไอบีเอ็มได้ลองออกแบบโปรเซสเซอร์รุ่นอนาคต โดยจัดวางชิพซ้อนเป็นแนวตั้ง เพื่อประหยัดพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพ แทนที่จะวางเรียงเป็นแผงต่อกัน ผลที่ได้คือ อัตราส่วนความร้อนต่อปริมาตรสูงกว่าความร้อนจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเสียอีก

นักวิจัยไอบีเอ็มจึงหาทางแก้โดยออกแบบท่อขนาดเล็กประกบอยู่ระหว่างซีพียูที่ซ้อนกันอยู่ เทคนิคดังกล่าวไอบีเอ็มใช้ท่อขนาด 50 ไมครอน (50 ส่วนล้านเมตร) ซึ่งเล็กมากและหุ้มกันรั่ว และช็อตผนึกอยู่ข้างใน

ถึงท่อจะเล็กมากแต่ประสิทธิภาพระบายความร้อนไม่เล็กเลย เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติดูดซับความร้อนได้ดีกว่าอากาศ และด้วยเหตุผลนี้เอง คอมพิวเตอร์ระดับสูงจึงต้องใช้น้ำระบายความร้อน และไอบีเอ็มตั้งใจใช้เทคนิคใหม่นี้กับซีพียูรุ่นจิ๋ว

นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียให้ความเห็นว่า วิธีระบายความร้อนของไอบีเอ็มเคยมีนักวิจัยทดลองทำแล้ว แต่ไอบีเอ็มสามารถทำให้ใช้งานจริงในเชิงผลิตภัณฑ์ได้ อย่างไรก็ตาม ผลงานล้ำเลิศของไอบีเอ็มนี้ยังวิจัยอยู่ในห้องแล็บเหมือนกัน และคาดว่าอย่างน้อยอีก 5 ปี คงออกมาสู่ตลาด

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/10/x_it_h001_206180.php?news_id=206180

เล็งใช้ "ทะเลทรายแอฟริกา" ผลิตฟาร์มไฟฟ้าแสงอาทิตย์

เวทีพลังงานทดแทนเสนอใช้ทะเลทรายแอฟริกาเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ป้อนพลเมืองได้ถึง 600 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แถมยังอาจเหลือส่งไปขายยุโรปได้ด้วย

เกอร์ฮาร์ด นีส์ ผู้จัดการโครงการ บริษัทพลังงานทดแทนทรานส์-เมดิเตอร์เรเนียน กล่าวบนเวทีประชุมพลังงานทดแทนแอฟริกา ซึ่งจัดที่ประเทศไนโรบีเมื่อไม่นานมานี้ว่า ทะเลที่ร้อนตับแลบในแอฟริกาสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ โดยพื้นที่ 1.5 ตารางกิโลเมตรผลิตไฟฟ้าได้เทียบเท่าน้ำมัน 1.5 บาร์เรล

แอฟริกาเหมาะทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยพลิกพื้นที่ทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไร้ประโยชน์มาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติที่ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเมินดูแล้ว แต่ละปีทะเลทรายจะได้รับพลังงานมากกว่าพลังงานที่ใช้กันทั่วโลก

กลุ่มคนที่ยากจนสุดเป็นคนที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันออก และต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อดำรงชีวิตอย่างมาก ยิ่งในภาวะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่ผันผวนจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานสะอาดมาทดแทนพลังงานจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานโซลาร์เซลล์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

ข้อดีของการลงทุนพลังงานโซลาร์เซลล์คือเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวจบ และต้นทุนเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เริ่มถูกลงเรื่อยๆ เพียงนำกระจกและเดินท่อรับความร้อนจากดวงอาทิตย์มาต้มน้ำให้เดือด และใช้พลังไอน้ำดันกังหันเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

หลายประเทศทั่วโลกสนใจทำ "ฟาร์มแสงอาทิตย์" กันบ้างแล้ว เช่นในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ วางแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าให้แก่ผู้อยู่อาศัย 1.9 แสนหลังคาเรือน และจะเป็นโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่นิวเม็กซิโก และแคนาดามีแผนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เช่นกัน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/10/x_it_h001_206184.php?news_id=206184

Monday, June 9, 2008

ล้อฝังเซ็นเซอร์จิ๋ววัดแรงดันลมยางยางอ่อนแจ้งทันที

ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาเซ็นเซอร์วัดลมยางฝังใส่ในล้อรถบรรทุกแจ้งเตือนผู้ขับขี่ทันทีเมื่อยางอ่อน เพิ่มความปลอดภัยของรถบรรทุกสินค้าทางไกล

ดร.อัมพรโพธิ์ใย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเมค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ทีเมคอยู่ระหว่างวิจัยร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเซ็นเซอร์วัดความดันเพื่อประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากประสบความสำเร็จพัฒนาเซ็นเซอร์วัดแรงดันโลหิตให้บริษัทสวีเดนมาแล้ว

ปัจจุบันเซ็นเซอร์วัดความดันล้อรถยนต์ใช้จริงในรถยนต์นำเข้าระดับความดัน 2 บาร์ แต่ยังไม่มีการพัฒนาใช้จริงกับล้อรถขนาดใหญ่ ซึ่งระดับความดันของลมยางประมาณ 30 ปอนด์ (ประมาณ 14.7 ปอนด์ เท่ากับ 1 บาร์) โดยทีมวิจัยอยู่ระหว่างพัฒนาเซ็นเซอร์วัดแรงดันที่มากขึ้น นายนิธิอัตถิ ผู้ช่วยนักวิจัย ทีเมค กล่าว

โครงการดังกล่าวทีมวิจัยได้ร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น พร้อมทั้งออกแบบและผลิตชิพอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าจะเห็นผลสำเร็จในเชิงอุตสาหกรรมได้ประมาณปลายปี 2552

ช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา ทีเมคได้พัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบวงจรรวมขึ้นเองภายในประเทศ เพื่อประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเกษตร เช่น เซ็นเซอร์วัดค่าความเป็นกรดด่าง ใช้ควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมในอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้ง เซ็นเซอร์วัดความชื้นและอุณหภูมิวัดค่าความชื้นในข้าวเปลือก วัดความชื้นในดินที่ใช้เพาะปลูกรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในโรงเรือนเพาะเห็ด เป็นต้น

นอกจากเซ็นเซอร์กลุ่มเกษตรกรรมแล้วทีมวิจัยยังพัฒนาหัววัดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับวัดความดัน ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดแรงดันเลือด ในกรณีผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงเซ็นเซอร์วัดความดันในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ล้อรถสามารถแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อลมยางอ่อน

ที่ผ่านมาการผลิตชิพอิเล็กทรอนิกส์มุ่งใช้งานด้านการเกษตรเป็นหลักปัจจุบันทีเมคสามารถพัฒนาเซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการวัดค่าต่างได้ครบถ้วน และมีโครงการที่จะนำเซ็นเซอร์ทุกชนิดมารวมกันอยู่ในอุปกรณ์ เพื่อความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/09/x_it_h001_206080.php?news_id=206080

Friday, June 6, 2008

5 นักนาโนเทคญี่ปุ่น-สหรัฐฯ คว้ารางวัลเจ้าชายอัสตูเรียสประจำปี 08


นักวิทย์ญี่ปุ่น ผู้ค้นพบคาร์บอนนาโนทิวบ์ ได้รับรางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส ร่วมกับนักวิจัยชาติเดียวกันอีก 1 คน และอีก 3 นักวิจัยสหรัฐฯ ที่แต่ละคนมีผลงานโดดเด่นการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา มูลนิธิเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส (Prince of Asturias Foundation) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล “ปรินซิเป เด อัสตูเรียส” (Principe de Asturias) ในสาขาการวิจัยและวิทยาศาสตร์ประจำปี 2551 โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลในสาขานี้ทั้งสิ้น 5 คน ซึ่งแต่ละคนมีผลงานวิจัยโดดเด่นในด้านนาโนเทคโนโลยี ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

5 นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ได้รับรางวัลในสาขาดังกล่าวประจำปีนี้ ประกอบด้วยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น 2 คน ได้แก่ ซูมิโอะ อีจิมะ (Sumio Iijima) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเมอิจิ (Meijo University) ผู้ค้นพบคาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotubes) และชูจิ นากามูระ (Shuji Nakamura) วิศวกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานตา บาร์บารา (University of California, Santa Barbara) ผู้ประดิษฐ์คิดค้นไดโอดเปล่งแสง (Light Emitting Diode: LED)

ส่วนอีก 3 คนเป็นนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ได้แก่ โรเบิร์ต แลงเจอร์ (Robert Langer) ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์ส (Massachusetts Institute of Technology) ที่มุ่งศึกษาระบบนำส่งยาเข้าสู่ร่างกายแบบอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ

อีกคนคือ จอร์จ ไวต์ไซด์ (George Whiteside) นักเคมีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุระดับนาโน และสุดท้าย โทบิน มาร์คส์ (Tobin Marks) นักเคมีจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี และพัฒนาพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

ถ้อยแถลงของคณะกรรมการตัดสินรางวัลที่ให้เหตุผลว่า นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่วางรากฐานทางด้านนาโนเทคโนโลยี ให้แก่โลกด้วยการสร้างสรรค์วัสดุชนิดใหม่ ตลอดจนเทคนิคการต่อสู้กับโรคร้ายได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง มะเร็ง และการสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะเทียม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานด้วยการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานสะอาดที่อาจผลิตได้ในราคาถูก

นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมจากเอเอฟพีอีกว่า ผู้ที่ได้รางวัลในสาขาความร่วมมือระหว่างประเทศประจำปีนี้คือ ศูนย์วิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย 4 แห่งของแอฟริกา ได้แก่ศูนย์วิจัยในประเทศโมซัมบิก, แทนซาเนีย, มาลี และกานา ซึ่งร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยเพื่อต่อสู้ และหาทางขจัดสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างโรคระบาดร้ายแรงและความอดอยากยากจนของประชากร

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วปีเตอร์ ลอว์เรนซ์ (Peter Lawrence) ชาวอังกฤษ และกีเนส มอราตา (Ginés Morata) จากสเปน 2 นักชีววิทยา ที่ศึกษาเรื่องโครงสร้างทางชีววิทยาและพันธุกรรมของแมลงหวี่ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ ในมนุษย์ เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ในสาขาการวิจัยและวิทยาศาสตร์ โดนมี “อัล กอร์” (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับรางวัลสาขาความร่วมมือระหว่างประเทศในปีเดียวกัน

สำหรับรางวัล ปรินซิเป เด อัสตูเรียส หรือรางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปีรวม 8 สาขาด้วยกัน ได้แก่ การสื่อสารและมนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, ศิลปศาสตร์, วรรณกรรม, งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์, ความร่วมมือระหว่างประเทศ, สันติภาพ และ การกีฬา

ชื่อรางวัลนี้มาจากพระนามอย่างเป็นทางการของเจ้าชายฟิลิปเป (Prince Felipe) แห่งสเปน โดยเริ่มมีการประกาศรางวัลครั้งแรกในปี พ.ศ.2524 ซึ่งเจ้าชายฟิลิปเป้จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลด้วยพระองค์เอง ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 ยูโร (ประมาณ 2,500,000 บาท) พร้อมด้วยประกาศนียบัตร, โล่ และเหรียญตราของมูลนิธิ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000066077

ผิวเทียมจากใยไหมนาโน รักษาแผลไฟไหม้-ญี่ปุ่นลุ้น 3 ปีสำเร็จ

มหาวิทยาลัยชินชูในญี่ปุ่นสกัดโปรตีนไหม ทำเส้นใยไหมนาโนและแผ่นใยชีวภาพทางการแพทย์ เตรียมขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบผิวเทียมและคอนแทกเลนส์ พร้อมทดสอบความปลอดภัยคาดอีก 3 ปีสำเร็จ ช่องทางใหม่เพิ่มมูลค่าเส้นไหม

ศ.มัตสึฮิโระ สึกาดะ หัวหน้าทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยไหมและวัสดุศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์ชีวเกษตรกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยชินชู กล่าวว่า ใยไหมนาโนเป็นงานวิจัยที่นำเทคโนโลยีนาโนมาพัฒนาวัสดุชีวภาพแบบใหม่ ที่ยอมให้อากาศผ่าน ทำให้ของเหลว (เลือด หนอง) ระเหยได้ดี ช่วยเพิ่มเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายได้ ยึดติดเซลล์ได้ดี ต้านแบคทีเรียและย่อยสลายเร็วอีกด้วย จึงเหมาะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นสกัดโปรตีนจากตัวหนอนไหมของญี่ปุ่นที่ชื่อ บอมไบซ์ โมริ (Bombyx Mori) จากนั้นใช้เครื่องอิเล็กโทรสปินนิ่งปั่นโปรตีนไหมจนได้เป็นเส้นใยไหมขนาดนาโน ส่วน ศ.มัตสึฮิโระ นำใยไหมนั้นมาศึกษาและขึ้นรูปเป็นวัสดุแบบใหม่

"คุณสมบัติในการยึดติดเซลล์ของใยไหมนาโน สามารถใช้เป็นวัสดุชีวภาพทำหน้าที่เนื้อเยื่ออ่อนและเส้นเอ็นได้ดี" ศ.มัตสึฮิโระ กล่าวในการประชุมวิชาการ 2008 ARDA Conference เรื่อง "เพิ่มมูลค่าเกษตรไทย...จากวิจัยสู่ตลาดสากล" โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เมื่อเร็วๆ นี้

หลังจากเห็นประสิทธิภาพดังกล่าว ทีมวิจัยจึงประยุกต์ทำผิวเทียม ใช้กรณีแผลไฟไหม้ และคอนแทกเลนส์ ซึ่งผลที่ได้อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ และกำลังจะเข้าสู่ระดับผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คาดว่าต้องรออีก 3 ปีจึงจะสำเร็จ
น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ หัวหน้าสำนักสนับสนุนงานวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า ในปี 2552 สวก.จะร่วมวิจัยกับ ศ.มัตสึฮิโระ สึกาดะ และมหาวิทยาลัยชินชู ในการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยไหมไทย ขอบเขตความร่วมมือมีทั้งการให้ทุนนักวิจัยไทยไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชินชู และการอบรมระยะสั้น

ฉะนั้น หากนักวิจัยที่ทำงานด้านเส้นไหมหรือใยไหมนาโนอยู่แล้ว และต้องการศึกษาเพิ่มกับผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยชินชู ก็ติดต่อได้ที่สำนักงาน

"เส้นไหมของไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่กรณีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเราขาดความหลากหลาย ทั้งยังมีเทคโนโลยีและองค์ความรู้จำกัด ดังนั้น ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นไหมอย่าง ศ.มัตสึฮิโระ จะเป็นช่องทางหนึ่งซึ่งช่วยให้ธุรกิจไหมไทยสามารถพัฒนาได้อีก" น.ส.กุลวรากล่าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/06/x_it_h001_205640.php?news_id=205640

"ฟองน้ำนาโน" ดูดซับน้ำมันได้ 20 เท่า แล้วยังกลั่นกลับมาใช้ใหม่ได้อีก


นักวิทย์มะกันผลิตฟองน้ำสุดเจ๋ง ทำจากลวดนาโน มีรูพรุนพร้อมเคลือบสารทำให้ไม่เปียกน้ำ แต่ดูดซับน้ำมันได้ 20 เท่า ทั้งยังกลั่นเอากลับมาใช้ใหม่ได้อีก อนาคตอาจมีผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ในราคาถูกหรือผลิตเป็นวัสดุกรองน้ำรูปแบบใหม่

ทีมนักวิจัยสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาฟองน้ำนาโน ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันและสารเคมี ที่ไม่ละลายน้ำได้ 20 เท่า โดยที่ไม่ดูดซับน้ำติดมาด้วย หลังจากนั้นยังสามารถแยกสารเหล่านั้น ออกจากฟองน้ำด้วยความร้อน แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งสองสิ่ง พร้อมกันนี้ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงในวารสารเนเจอร์นาโนเทคโนโลจี (Nature Nanotechnology)

ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเผยว่า แผ่นซับน้ำมันดังกล่าว ทำจากแมงกานีสออกไซด์ (manganese oxid) ที่มีโครงสร้างเป็นเส้นลวด คล้ายเส้นสปาเกตตี มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 20 นาโนเมตร และมีรูพรุนเล็กๆ ตลอดทั่วทั้งเส้นคล้ายกับฟองน้ำ ทำให้มีคุณสมบัติดูดซับของเหลวได้ดีเยี่ยม

ข้อมูลเพิ่มเติมจากเนเจอร์กล่าวว่า ส่วนที่เป็นพื้นผิวของเส้นลวดถูกเคลือบไว้ด้วยซิลิโคน (silicone) เพื่อให้มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ หรือไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ซึ่งเรียกว่า ไฮโดรโฟบิก (hydrophobic) จึงทำให้ไม่ดูดซับน้ำ แต่ซับของเหลวที่ไม่ละลายน้ำได้ดี โดยเฉพาะน้ำมันหรือตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดต่างๆ
ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านเข้าไปได้ ซึ่งนักวิจัยได้ประดิษฐ์ฟองน้ำนาโน จากแผ่นเส้นใยของแมงกานีสออกไซด์ ที่พัวพันกันเป็นตาข่ายแบบไม่เป็นระเบียบ หลายๆ แผ่นซ้อนทับกัน และสามารถดูดซับน้ำมันได้มากถึง 20 เท่าของน้ำหนักของฟองน้ำ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่ง สำหรับเช็ดทำความสะอาดน้ำมันหรือสารเคมีชนิดที่ไม่ละลายน้ำ

"สิ่งที่พวกเราค้นพบนี้ ทำให้เราสามารถผลิตแผ่นซับน้ำ จากตาข่ายเส้นลวดขนาดนาโนเหล่านี้ให้มีคุณสมบัติ เลือกดูดซับเฉพาะของเหลวที่ไม่ละลายน้ำ ให้แยกออกจากน้ำได้ โดยที่ไม่ยอมให้น้ำเล็ดรอดผ่านเข้าไปได้" คำอธิบายของฟรานเซสโก สเตลแลคซี (Francesco Stellacci) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวัสดุศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์สหรือเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology: MIT)

สเตลแลคซียังบรรยายสรรพคุณของแผ่นซับน้ำมันอีกว่า แผ่นดังกล่าวสามารถแช่อยู่ในน้ำนาน 1-2 เดือน เมื่อนำขึ้นมาจากน้ำก็ยังคงแห้งสนิทอยู่ดีเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน หากในน้ำนั้นมีสารไฮโดรโฟบิกปนเปื้อนอยู่ ก็จะถูกดูดซับออกจากน้ำ ซึ่งงานวิจัยนี้ ยังเป็นการบุกเบิกเทคโนโลยีการกรองน้ำ ผ่านเยื่อหรือแผ่นกรองแบบใหม่อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถแยกน้ำมันที่ถูกดักจับ หรือถูกดูดซับอยู่ในแผ่นฟองน้ำนาโนออกมาได้ โดยการให้ความร้อนที่สูงกว่าจุดเดือดของน้ำมัน เพื่อให้น้ำมันระเหยเป็นไอออกมา แล้วจึงควบแน่นให้กลับเป็นของเหลวดังเดิมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก ส่วนฟองน้ำนาโนก็ยังสามารถนำกลับมาใช้ต่อได้อีกหลายครั้ง

ตามรายงานข่าวจากเอ็มไอทีระบุไว้ว่า นักวิจัยสามารถประดิษฐ์แผ่นตาข่ายนาโนดังกล่าวได้ ในราคาที่ถูกกว่าวัสดุนาโนชนิดอื่นๆ ในทำนองเดียวกับที่ใช้เซลลูโลสผลิตเป็นแผ่นกระดาษทั่วไป ซึ่งสารแขวนลอยจะแห้ง เกาะกันอยู่บนแผ่นกระดาษ

อย่างไรก็ตาม จอร์จ ลาฮานน์ (Joerg Lahann) วิศวกรเคมีจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ตั้งคำถามต่องานวิจัยดังกล่าวว่า จะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์หรือไม่ ราคาประมาณเท่าไหร่ และแมงกานีสออกไซด์จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

เพราะแม้ว่าจะมีแนวทางในการออกแบบและพัฒนาวัสดุขนาดนาโน เพื่อประยุกต์ใช้ทางด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต แต่ก็ควรจะต้องเป็นวัสดุที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อนำไปใช้งานจริง

ทั้งนี้ข่าวจากเนเจอร์ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า การศึกษาก่อนหน้านี้มีข้อมูลบ่งชี้ว่า วัสดุนาโนที่ทำจากแมงกานีสออกไซด์แสดงผลว่า เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่แผ่นฟองน้ำนาโนในงานวิจัยดังกล่าว มีกลไกที่ทำให้ยึดเกาะกันอย่างแข็งแรง ซึ่งไม่น่าจะหลุดออกจากกัน และปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก ทางนักวิจัยเองก็บอกว่า คุณสมบัติการเลือกดูดซับของฟองน้ำนาโนนี้ อาจนำไปใช้ร่วมกับวัสดุชนิดอื่นๆ ได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000064807

Thursday, June 5, 2008

ระบบดาวเทียมส่งคำสั่งขัดข้อง "ฟีนิกซ์" หยุดขุดดาวแดงก่อน


ปฏิบัติการขุดเจาะชั้นดินบนดาวอังคาร เพื่อหาสัญญาณสิ่งมีชีวิต ของยานฟีนิกซ์ต้องล่าช้าออกไปก่อน หลังเกิดเหตุขัดข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ของดาวเทียมสื่อสาร ที่ส่งสัญญาณคำสั่งระหว่างโลกกับดาวอังคาร แต่จะเริ่มภารกิจอีกครั้งเร็วๆ นี้ หลังส่งคำสั่งใหม่ผ่านทางยานสำรวจดาวอังคารอีกลำ และนับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เกิดปัญหาขึ้น กับภารกิจสำรวจดาวแดงของฟีนิกซ์

ชาด เอ็ดวาร์ดส (Chad Edwards) หัวหน้าวิศวกรโทรคมนาคมของห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เปิดเผยว่าได้เกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับดาวเทียมโอดิสซี (Odyssey) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ส่งสัญญาณสื่อสารและคำสั่งจากโลกไปยังยานฟีนิกซ์ (Phoenix) ที่ปฏิบัติการอยู่บนดาวอังคาร ทำให้การขุดเจาะชั้นดินบนดาวอังคารของยานฟินิกซ์จึงต้องล่าช้าออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับปฏิบัติการของยานฟีนิกซ์ โดยเหตุขัดข้องครั้งแรกเ กิดขึ้นหลังจากที่ยานร่อนลงจอดบนดาวอังคารเพียง 2 วัน โดยสัญญาณวิทยุของยานมาร์ส รีคอนเนสซองส์ ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter : MRO) ดับ ซึ่งยานดังกล่าวก็เป็นอีกช่องทางของการสื่อสารระหว่างโลกกับยานฟีนิกซ์

เอ็ดวาร์ดส เผยว่า ทีมวิศวกรคงต้องใช้เวลาแก้ปัญหาสักระยะหนึ่ง โดยอาจจะไม่สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้ไปจนถึงวันเสาร์นี้ (7 มิ.ย.) ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากอนุภาคพลังงานสูง จากอวกาศ ที่ไปรบกวนการทำงานของหน่วยความจำ ในระบบคอมพิวเตอร์ของดาวเทียม โดยในระหว่างนี้ก็คงต้องใช้ระบบการสื่อสารและส่งคำสั่งผ่านทางยานเอ็มอาร์โอเพียงลำพังไปก่อน

ทั้งนี้ ยานฟีนิกซ์มีแผนปฏิบัติการขุดเจาะชั้นดินของดาวอังคาร เพื่อนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์และค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งหมด 3 แห่งด้วยกัน โดยแห่งแรกคือบริเวณทางด้านทิศเหนือของจุดที่ยานร่อนลงจอด ซึ่งฟีนิกซ์จะเริ่มปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอีกครั้งในวันพฤหัสบดีนี้ (5 มิ.ย.) ทันที ที่มีคำสั่งใหม่มาถึงโดยผ่านทางเอ็มอาร์โอ

ส่วนดินที่ถูกขุดขึ้นมา จะถูกใส่เข้าไปในเตาอบขนาดเล็ก ก่อนการวิเคราะห์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถวิเคราะห์ได้ภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อเล่นให้บริเวณทั้ง 3 แห่ง ที่ยานฟีนิกส์จะทำการขุดเจาะอย่างจริงจัง ตามชื่อตัวละครเอกในเทพนิยายเรื่อง โกลดิลอคส์ (Goldilocks) ได้แก่ เบบี้แบร์ (Baby Bear), มาม่าแบร์ (Mama Bear) และปาป้าแบร์ (Papa Bear) โดยแห่งแรกที่จะขุดนี้คือบริเวณเบบี้แบร์.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000065947

Monday, June 2, 2008

เทคโนประดิษฐ์-รับสมัครโครงงานวิจัยสัมผัสเที่ยวบินไร้น้ำหนัก

โอกาสมาถึงแล้วสำหรับเยาวชนที่ต้องการสัมผัสชีวิตในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เมื่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเวทีรับสมัครโครงงานวิจัย ที่ต้องการทดลองในสภาพไร้น้ำหนักบนเที่ยวบินขององค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เชิญชวนเยาวชนส่งแนวคิดโครงงานวิจัย ที่ต้องการทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจะคัดเลือกผลงานส่งให้องค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือ แจ๊กซ่า พิจารณาในเดือนกรกฎาคม เพื่อหาทีมชนะเลิศร่วมเดินทางไปทำการทดลองในเที่ยวบิน "พาราโบลิก"

เที่ยวบินพาราโบลิกคือการบินในลักษณะโค้งขึ้นลงเป็นรูปคลื่น จนทำให้เกิดสภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 20 วินาที และนักวิจัยหรือเจ้าของโครงงานจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทดลองและสรุปผล

กิจกรรมดังกล่าวอยู่ในความดูแลของโครงการการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน นักวิจัยและประชาชน ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยของเยาวชนไทย ร่วมทดสอบในเที่ยวบินดังกล่าว 2 โครงการคือ การศึกษาสภาพแตกตัวของยา โดย น.ส.อาภาภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และการศึกษาการเคลื่อนที่ของน้ำเมื่อได้รับความร้อน โดยกลุ่มนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการแรกต้องการดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะนักบินอวกาศ จึงมีประโยชน์ในการพัฒนายาที่เหมาะสมกับนักบินอวกาศในอนาคต ส่วนโครงการที่สองต้องการข้อมูล เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการวิจัยเรื่องอื่นต่อไป เช่น การพัฒนาระบบหล่อเย็น

"โครงการวิจัยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงยังเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับงานวิจัยบนอวกาศ เพราะในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะไปสร้างอาณานิคมบนอวกาศ ซึ่งยังต้องการงานวิจัยด้านต่างๆ อีกมาก สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์นอกโลก" ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี หัวหน้าโครงการการกระตุ้นความคิดฯ กล่าว

ในปี2563 ประเทศจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีโครงการร่วมวิจัยบนดวงจันทร์ เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากไททาเนียมและแร่ธาตุต่างๆ บนดวงจันทร์ โดยเน้นการขุดหาแหล่งพลังงานใหม่จากนอกโลก ด้วยเหตุนี้ทางญี่ปุ่นจึงหาพันธมิตรทางการวิจัย เพื่อค้นหางานวิจัยด้านต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอวกาศ

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/02/x_it_h001_204057.php?news_id=204057

ซอฟต์แวร์พยากรณ์พื้นที่น้ำท่วม


เตือนภัยอพยพล่วงหน้าได้3-4วัน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่พื้นที่ลุ่มน้ำ และอีกสาเหตุหนึ่ง คือการบริการจัดการน้ำของไทยยังไม่ดีพอ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำก็พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไทยสามารถใช้ทรัพยากรน้ำได้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการจัดการสภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำโดยการบริหารอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสมและการพยากรณ์เตือนภัย ณ เวลาจริง : ศึกษาลุ่มน้ำป่าสัก” ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน โดย วช. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

ศาสตราจารย์อานนท์ บุณญะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีจะทำให้น้ำท่วมและน้ำไม่พอใช้ พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยอาจได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติจากน้ำที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ

การวิจัยนี้ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์แบบจำลอง MIKE 11-GIS เพื่อให้ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ WINDOW ทำให้ใช้งานได้ง่ายสามารถคำนวณและประเมินว่าพื้นที่ใดจะถูกน้ำท่วมได้ โดยใช้การเก็บข้อมูลจากระบบโทรมาตรจากสถานีตรวจวัดในสนามถึงปริมาณฝนตก ปริมาณน้ำ จากนั้นก็ส่งข้อมูลทางวิทยุกลับมายังศูนย์ควบคุมเข้าระบบคำนวณและทำการพยากรณ์หรือเตือนภัยต่อไป

ศ.ดร.ธวัชชัย ติงสัญชลี หัวหน้าทีมวิจัยจาก AIT กล่าวว่า เริ่มการวิจัยตั้งแต่ปลายปี 49 ใช้เวลาวิจัย 15 เดือน การพยากรณ์โดยใช้เทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำประมาณ 80-90% จากระบบเดิมที่มีเพียง 50% และสามารถคาดการณ์และใช้เตือนล่วงหน้าได้นาน 3-4 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่นานเพียงพอในการอพยพคนออกจากพื้นที่หากผลการพยากรณ์ออกมาว่าจะเกิดน้ำท่วมหนัก

ดร.วัชระ เสือดี นักวิจัยร่วมจากสถาบันพัฒนาการชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้การใช้งานระบบ ซอฟต์แวร์แบบจำลอง MIKE 11 อยู่แล้ว แต่อยู่บน Dos ซึ่งไม่สะดวกโชว์แผนที่น้ำท่วมไม่ได้ จึงพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่น้อยทำงานได้สะดวกแทนที่จะรับข้อมูลแล้วมานั่งป้อนเหมือนก่อนก็เปลี่ยนเป็นข้อมูลที่ได้จากระบบโทรมาตรจะถูกส่งเข้ามาที่โปรแกรมโดยอัตโนมัติแล้วคำนวณออกมา เจ้าหน้าที่รู้ได้ทันทีว่า วันนี้จะปล่อยน้ำเท่าไร หรือกักเก็บเท่าไหร่ และยังคำนวณออกมาเป็นแผนที่ได้ว่าน้ำที่ปล่อยออกไปในวันที่ 1 และ 2 จะท่วมถึงตำบลไหนมีความสูงแค่ไหน

จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตือนภัยเพราะทำให้เราสามารถรู้ก่อนล่วงหน้า

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ได้เสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะนำผลวิจัยไปใช้เป็นรูปธรรม ซึ่งสถาบันฯก็ได้จัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้อยู่ แต่ในส่วนของเขื่อนป่าสักฯนั้นยังใช้งานได้ไม่เต็มรูปแบบเนื่องจากยังติดสัญญากับบริษัทที่ปรึกษาเอกชนอยู่ แต่เมื่อหมดสัญญาก็สามารถเข้าไปติดตั้งได้ทันที.
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
jirawatj@dailynews.co.th

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165708&NewsType=1&Template=1

จุฬาฯ ทำนายสึนามิผ่านซูเปอร์คอมพ์ เตือนเร็ว-แม่นยำ

จุฬาฯอาศัยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ประมวลผลคลื่นใต้ทะเลจากแผ่นดินไหว สร้างแบบจำลองทำนายสึนามิ ช่วยให้การเตือนภัยล่วงหน้าทำได้รวดเร็วและแม่นยำ

ผศ.ดร.อาณัติเรืองรัศมี ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมวิจัยจำลองการเกิดสึนามิด้วยการคำนวณความเร็วสูง เพื่อเตรียมการเตือนภัยล่วงหน้า โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือกริดคอมพิวติ้ง เข้ามาช่วยให้การประมวลผลและวิเคราะห์ผลรวดเร็วขึ้น

จากการศึกษาคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่มีศูนย์กลางบริเวณทะเลอันดามันและประเทศอินโดนีเซีย พบว่าแผ่นดินไหวบริเวณดังกล่าวจะส่งกระทบต่อชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทย รวมถึงชายฝั่งของประเทศฟิลิปปินส์ ดังนั้นหากการเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงได้ทันท่วงที การอพยพคนออกจากพื้นที่จะทำได้เร็วขึ้น

"โปรแกรมที่ใช้ในการคำนวณการเกิดคลื่นสึนามิในปัจจุบัน จะบันทึกข้อมูลลักษณะการเกิดของคลื่นใต้ทะเลจากแผ่นดินไหว พื้นที่ที่เกิดเหตุและระดับความรุนแรง ซึ่งมีโมเดลมากกว่า 1,000 โมเดลในฐานข้อมูล จากนั้นอาศัยคอมพิวเตอร์คำนวณประมวลผล ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมงต่อ 1 โมเดล หรือกินเวลาราว 1 แสนชั่วโมง อีกทั้งหน่วยความจำที่ใช้สูงถึง 54 เทราไบต์ ผศ.ดร.อาณัติกล่าว

แต่ถ้าใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในการคำนวณจะช่วยสร้างฐานข้อมูลได้เร็วขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ผลแบบเรียลไทม์ ทำได้ง่ายขึ้นด้วย ปัจจุบันเครื่องแม่ข่ายในระบบกริดคอมพิวติ้งของประเทศไทย ภายใต้การดูแลของศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า ประกอบด้วย หน่วยประมวลผล หรือซีพียู แบบดูโอว์ คอร์ 400 ตัว หน่วยความจำ 1.1 เทราไบต์ ทำให้การประมวลผลข้อมูลทำได้เร็ว เหมาะสำหรับการวิจัยหรือสร้างฐานข้อมูลที่มีรายละเอียดจำนวนมาก

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/06/02/x_it_h001_204550.php?news_id=204550

Sunday, June 1, 2008

"ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าขนแล็บญี่ปุ่น-อุปกรณ์ส้วมขึ้นอวกาศ


นาซาส่งยาน "ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าท่ามกลางท้องฟ้าที่สดใส มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศในอีก 2 วันเพื่อติดตั้งห้องแล็บอวกาศความหวังของญี่ปุ่นและซ่อมแซมห้องส้วมที่ชำรุด

กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทะยานขึ้นสู่ฟ้าจากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) เมื่อเช้าวันที่ 1 มิ.ย.51 ตั้งแต่ 04.02 น.ตามเวลาประเทศไทย ท่ามกลางสภาพอากาศท้องถิ่นที่ค่อนข้างแจ่มใสและเมื่อปล่อยยานแล้วท้องฟ้าที่สดใสนั้นก็ประปรายไปด้วยเมฆจากเครื่องยนต์

จากนี้ไปอีก 2 วันสำนักข่าวเอพีรายงานว่ากระสวยอวกาศจะถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) และลูกเรือก็จะติดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบ (Kibo) ที่มีมูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ขององค์การสำรวจญี่ปุ่น (แจกซา) พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษให้กับห้องสุขาที่ชำรุดบนสถานีอวกาศด้วย

ห้องแล็บคิโบที่มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง "ความหวัง" นี้เป็นห้องแล็บขนาดเท่ารถประจำทางและจะเป็นห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่สุดที่ติดตั้งบนสถานีอวกาศซึง่จะกินพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของสถานีอวกาศ โดยชิ้นส่วนแรกได้ติดตั้งไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และชิ้นส่วนที่สามกับชิ้นส่วนสุดท้ายจะติดตั้งต่อไปในปีหน้า รวมมูลค่าห้องปฏิบติการทั้งหมดราว 6.5 หมื่นล้านบาท

ครั้งนี้เอพีรายงานว่าดิสคัฟเวอรีต้องบรรทุกสัมภาระซึ่งประกอบด้วยห้องแล็บอวกาศที่หนักถึง 14,500 กิโลกรัมและมีความยาว 11 เมตร โดยปฏิบัติการอวกาศครั้งนี้ยาวนาน 14 วันและประกอบด้วยการเดินอวกาศ 3 เพื่อติดตั้งห้องปฏิบัติการของญี่ปุ่น เปลี่ยนถังก๊าซไนโตรเจนและทำความสะอาดข้อต่อที่ยึดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของสถานีอวกาศไว้

นอกจากนี้ลูกเรือของสถานีอวกาศซึ่งเป็นชาวรัสเซียก็จะเปลี่ยนเครื่องสูบใหม่ให้กับห้องสุขาที่ชำรุด หลังจากที่เสียหายมาเป็นเวลากว่าสัปดาห์ นักบินบนสถานีต้องทำความสะอาดส้วมด้วยน้ำพิเศษอยู่หลายวัน ซึ่งเป็นงานที่เสียเวลาและสิ้นเปลืองน้ำอย่างมาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่นาซาและองค์กรอวกาศจากรัสเซียหวังว่าเครื่องสูบใหม่ที่ส่งตรงอย่างเร่งด่วนจากกรุงมอสโคว์ไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดีนั้นจะทำให้ห้องส้วมกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

สำหรับเที่ยวบินนี้ประกอบด้วยลูกเรือ 7 นายคือ มาร์ก เคลลี (Mark Kelly) ผู้บังคับการประจำเที่ยวบิน เคนเนธ แฮม (Kenneth Ham) นักบิน โรนัลด์ กาแรน (Ronald Garan) วิศวกรและผู้เดินอวกาศประจำเที่ยวบิน กาเรน ไนเบิร์ก (Karen Nyberg) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำเที่ยว และอากิฮิโกะ โฮชิเดะ (Akihiko Hoshide) นักบินอวกาศจากญี่ปุ่น ไมเคิล ฟอสซัม (Michael Fossum) ผู้เดินอวกาศประจำเที่ยวบิน และเกรก ชามิทอฟ (Greg Chamitoff) ซึ่งจะขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกับการ์เรตต์ ไรส์แมน (Garrett Reisman) เพื่อประจำอยู่บนสถานีอวกาศ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000063663