นักดาราศาสตร์ไทยระบุโอกาสอุกกาบาตชนดาวอังคารมีน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงถือเป็นโอกาสดีของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะศึกษารูปแบบและผลจากการพุ่งชน ย้ำชัดมนุษยชาติไม่ได้รับผลกระทบ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวถึงกรณีหน่วยงานขององค์การนาซาตรวจพบอุกกาบาตที่อาจพุ่งชนดาวอังคารในปลายเดือนมกราคมปีหน้า ว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อย นาซาประเมินโอกาสเสี่ยงไว้ที่ 1 ต่อ 75และยังมีค่าคลาดเคลื่อนอยู่ จะทราบผลแม่นยำได้ในอีก 1-2 สัปดาห์
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ หรือนาซา แถลงว่าพบดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 50 เมตร ชื่อ 2007 WD5 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เมตร จากการคำนวณอาจพุ่งชนดาวอังคาร ในวันที่ 30 มกราคม 2551
ขนาดของอุกกาบาตลูกนี้ใกล้เคียงกับลูกที่พุ่งใส่ไซบีเรียใกล้แม่น้ำทังกัสก้าของรัสเซียเมื่อปี 2451 หรือเกือบร้อยปีก่อน แรงระเบิดกินอาณาบริเวณหลายกิโลเมตร ต้นไม้พังราบ
ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ชั้นในของระบบสุริยะ มีสภาพเป็นดาวเคราะห์หินแข็งคล้ายโลก นักวิชาการมองว่าหากอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคารจริง ถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ศึกษารูปแบบและผลจากการพุ่งชนผ่านกล้องที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และบันทึกภาพจากยานอวกาศที่โคจรอยู่รอบดาวอังคาร โดยอาจสังเกตเห็นรอยแผลที่ถูกชน ส่วนยานสำรวจดาวอังคารสองลำอยู่ห่างจากตำแหน่งที่คาดว่าจะพุ่งชน จึงเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า การพุ่งชนดาวอังคารไม่น่ากลัว และไม่อันตรายอย่างที่คิด เนื่องจากมวลของดาวเคราะห์มีขนาดเล็ก ผลที่เกิดยังรุนแรงน้อยกว่าดาวหางชูเมกเกอร์ชนดาวพฤหัสบดีเมื่อปี 2537 หรือเมื่อครั้งอุกกาบาตชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment