Tuesday, January 8, 2008
เทคโนประดิษฐ์- เติมพลังโซลาร์เซลล์ให้ถังเคมี
โรคภัยไข้เจ็บพื้นฐานที่อยู่คู่เกษตรกรชาวสวนคือ อาการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งมีทั้งระดับปวดเมื่อยธรรมดาจนถึงปวดเรื้อรัง ส่วนหนึ่งเกิดจากการออกแรงขุดดินพรวนดิน รวมถึงการแบกถังน้ำยาน้ำหนัก 16-17 กก. และเดินฉีดพ่นด้วยการชักคันโยกขึ้นลง ซึ่งกว่าจะครบทั่วทั้งสวนก็ใช้เวลาเช้าจรดเย็นรวมหลายวัน
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เจนศักดิ์แสงคำเฉลียง อาจารย์แผนกโทรคมนาคมวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ และทีมงาน ออกแบบระบบพ่นสารเคมี ให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องออกแรงโยก โดยนำแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 30x20 ซม. กำลังผลิตไฟฟ้า 16 วัตต์ มาใช้เป็นแหล่งป้อนพลังงานหลักให้แก่ชุดควบคุมโซลาร์เซลล์ ให้สามารถฉีดพ่นได้เพียงกดเปิดสวิตช์
สิ่งประดิษฐ์นี้อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งเริ่มแรกได้จากการเสียบปลั๊กไฟบ้าน ชาร์จทิ้งไว้ประมาณ 45 นาทีก็ใช้งานได้ จากนั้นแผงโซลาร์เซลล์จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ป้อนเข้าเครื่องตลอดเวลาที่ถูกใช้งานท่ามกลางแสงแดด ส่งผลให้เครื่องใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ส่วนรัศมีการพ่นไปไกล 1-2 เมตร
"หลังจากทดสอบเครื่องพ่นฯต้นแบบ โดยให้เกษตรกรใช้งานประมาณ 3 เดือน พบสามารถลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้จริง" อาจารย์เจนศักดิ์ กล่าว
เครื่องพ่นสารเคมีพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบนี้ใช้ต้นทุนพัฒนาประมาณ 7,000 บาท แต่หากผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ปริมาณมาก ต้นทุนจะถูกลงอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาจะยังคงแพงกว่าอุปกรณ์ฉีดพ่นแบบถังคันโยก ซึ่งราคา 1,200-1,300 บาท แต่ในระยะยาวถือว่าเครื่องพ่นฯ คุ้มค่าต่อสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น
ทีมวิจัยอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อีกทั้งเป็น 1 ใน 33 ผลงานที่ร่วมประกวดในโครงการสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกับพัฒนางานวิจัยและบุคคลด้านสิ่งประดิษฐ์คิดค้นให้มากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment