Monday, January 7, 2008

เทคโนประดิษฐ์- 'รถกันรังสี ปลอดภัย100% ผลงานมช.ชนะเลิศนวัตกรรมชาติ


มช.เปิดตัวชุดป้องกันอันตรายรังสีแบบเคลื่อนที่นวัตกรรมเพิ่มความคล่องตัวให้ผู้ปฏิบัติงาน ทุกส่วนของร่างกายปลอดภัย 100% พลิกรูปแบบการป้องกันรังสีปัจจุบัน เป็นชุดเกราะน้ำหนักมาก แถมเสี่ยงรับตะกั่วโลหะหนัก

ผศ.อุทุมมามัฆะเนมี คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยออกแบบรถป้องกันอันตรายจากรังสี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้รังสีเป็นเวลานาน จากปัจจุบันต้องสวมใส่ชุดกำบังซึ่งทำจากตะกั่ว มีน้ำหนักมากถึง 4-5 กก. และส่งผลต่อสุขภาพจากการสัมผัสโลหะหนักตะกั่ว

ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับรังสีเช่น แพทย์รังสี นักวิจัย เจ้าหน้าที่ในภาคอุตสาหกรรม ต้องอาศัยอุปกรณ์กำบังในรูปแบบเสื้อตะกั่ว หรืออุปกรณ์กำบังอวัยวะเฉพาะที่ แต่ในการคิดค้นรถกันรังสีนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงาน โดยทำงานอยู่บนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งลำตัว ไม่ต้องแบกน้ำหนักของอุปกรณ์ และอุปกรณ์นี้สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวกในรูปแบบรถกันรังสี

รถกันรังสีนี้ผลิตจากโพลีเมอร์ผสมแร่แบไรต์ซึ่งเป็น วัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและออกแบบเป็นรถสี่ล้อทรงมนขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ด้านหน้ามีฉากกั้นรังสี 2 ชั้น มีรูปโค้งครึ่งวงกลม เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับการเอื้อมมือออกไปปฏิบัติงานด้านหน้า

ชั้นที่1 เป็นชั้นล่างสำหรับป้องกันลำตัวส่วนล่าง ชั้นที่ 2 สำหรับป้องกันลำตัวส่วนบน ปรับระดับความสูงได้ถึง 180 ซม. ตรงกลางคันรถมีที่นั่งสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ด้านหลังเป็นฉากกำบังรังสีสำหรับป้องกันรังสีสะท้อนมาทางด้านหลังและปรับสมดุลของตัวรถ

"รถคันต้นแบบถูกใช้งานในหน่วยงานรังสีวินิจฉัย สามารถป้องกันรังสีทั่วร่างกายได้ 100% เทียบเท่าการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีครบชุดที่กันอันตรายจากรังสีได้บางส่วน เช่น เสื้อตะกั่ว แผ่นกันรังสีที่ต่อมไทรอยด์ แว่นตากันรังสี และแผ่นกำบังรังสีส่วนหลัง ทำให้มีอวัยวะบางส่วนอาจได้รับอันตรายจากรังสี เช่น คอ หลัง เป็นต้น" ผศ.อุทุมมากล่าว

ทีมงานยังต้องปรับปรุงระบบการขับเคลื่อนให้คล่องตัวและใช้งานได้ต่อเนื่อง จากปัจจุบันใช้งานได้ 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟ โดยอาจเพิ่มแบตเตอรี่สำรองหรือต่อพ่วงไฟฟ้าเพื่อสำรองพลังงานขณะใช้งาน และออกแบบให้แยกชิ้นส่วน เพื่อความสะดวกในการขนส่ง ส่วนราคาเครื่องต้นแบบใกล้เคียงกับเสื้อกันรังสีครบชุด

งานวิจัยนี้เป็นโครงงานสำหรับการจบการศึกษาปริญญาตรีในสาขารังสีเทคนิค รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และชนะเลิศ สาขาเทคโนโลยี รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2550

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: