Wednesday, January 2, 2008

ไอทีโซน-ซอฟต์แวร์เติมชีวิตให้หุ่นยนต์ม.รังสิตตั้งเป้าหุ่นนักแสดงละครสั้น


มหาวิทยาลัยรังสิตจับมือนักวิจัยออสเตรเลียพัฒนาซอฟต์แวร์เติมความสามารถให้หุ่นยนต์โรโบซาเปียน ทำได้ทั้งรำไทย แดนซ์และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ วางแผนเจรจาภาคเอกชน หวังดันซอฟต์แวร์ออกสู่ตลาด เพิ่มโอกาสเจ้าของโรโบซาเปียนเปลี่ยนหุ่นยนต์ตัวทื่อให้เป็นของเล่นอัจฉริยะ

นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยร่วมกับ รศ.ดร.แลนซ์ ฟุ้ง รองคณบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเมอร์ดอชในออสเตรเลีย พัฒนาชุดคำสั่งให้หุ่นยนต์อัจฉริยะ "โรโบซาเปียน" สามารถเลียนแบบท่าทางของมนุษย์ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้นมาอีก 5 เมนู สอดคล้องกับโปรแกรมการทำงานเดิมที่ติดตัวมาจากโรงงานผลิต

ทีมวิจัยใช้เวลา6 เดือนพัฒนาซอฟต์แวร์ เพิ่มบุคลิกของหุ่นยนต์โรโบซาเปียนที่ชื่อ "ไอไทยสตาร์" ให้ความสามารถรำไทยได้อ่อนช้อย และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ โดยหยิบของแจกให้แก่ผู้คนรอบข้างได้

ซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังเพิ่มคำสั่งให้หุ่นยนต์สามารถกล่าวคำอวยพรภาษาอังกฤษว่า"เมอร์รี่คริสต์มาส" ซึ่งเป็นเสียงที่อัดไว้ในหน่วยความจำ และตั้งค่าให้ตอบกลับเมื่อได้รับคำสั่ง พร้อมกับเดินแจกลูกอมและขนมได้ด้วย หรือเล่นเกมตอบคำถามร่วมกับเด็กๆ กล่าวคำสวัสดี พร้อมกับโค้งคำนับได้อย่างสัมพันธ์กัน กิริยาท่าทางที่แสดงออกมาก็อ่อนช้อยกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป

"หุ่นยนต์ทั่วไปทำงานตามคำสั่งได้เพียงหันซ้าย ขวา เดินหน้า ถอยหลัง ตามแบบที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่สามารถแสดงปฏิสัมพันธ์ต่อมนุษย์ ทำให้ถูกเบื่อได้ง่าย" นักวิจัยกล่าวและว่า ที่ผ่านมาหุ่นยนต์โรโบซาเปียนได้รับการพัฒนาโดยติดตั้งเซ็นเซอร์ช่วยในการมองเห็น สัมผัส และได้ยิน พร้อมทั้งมอเตอร์ติดตั้งบริเวณข้อต่อเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ขณะที่ซอฟต์แวร์ช่วยเพิ่มความสามารถให้แก่หุ่นยนต์มากขึ้น

ในอนาคตนักวิจัยจะพัฒนาระบบควบคุมให้หุ่นยนต์ทำงานได้โดยควบคุมผ่านรีโมทเสมือนที่สร้างขึ้นในจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการควบคุมผ่านอินฟราเรดจากมือถืออีกด้วย โดยในปี 2551 บริษัทหุ่นยนต์ชื่อดังจากอเมริกา จะเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถและฉลาดมากขึ้น โดยทีมวิจัยไทยเล็งที่จะนำมาศึกษาเพิ่ม เพื่อพัฒนาให้สามารถปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหุ่นยนต์ตัวเดิมที่มีอยู่ สำหรับพัฒนาเป็นหุ่นยนต์นักแสดงละครสั้นในอนาคตอีกด้วย

นายฐิติพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ซอฟต์แวร์บุคลิก ไอ ไทยสตาร์นี้ ในปีนี้จะเจรจากับบริษัทผู้ผลิตถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวออกวางขาย เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ที่ครอบครองหุ่นยนต์โรโบซาเปียนซื้อไปเพิ่มความสามารถและทำให้หุ่นยนต์นั้นกลายเป็นมิตรที่ดีในบ้านต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: