หากต้องการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุอายุยาวนานหลายร้อยปีให้คงอยู่ชั่วลูกหลาน นอกจากการเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว การบูรณะซ่อมแซม และเก็บรักษาอย่างถูกวิธีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้โบราณสถานและโบราณวัตถุดำรงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และภูมิใจในศิลปะของชาติ
นางจิราภรณ์ อรัณยะนาค หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร เล่าว่า สิ่งสำคัญของการอนุรักษ์โบราณวัตถุต้องเข้าใจที่มาของวัสดุ กระบวนการผลิต โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ นิวเคลียร์ วัสดุศาสตร์ ธรณีวิทยา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“หากต้องการอนุรักษ์แผ่นกระดาษอายุราว 200-300 ปี อย่างถูกต้อง จะต้องเข้าใจว่ากระดาษแผ่นนั้นมาจากต้นไม้ชนิดใด เช่น ยุโรปในอดีตผลิตกระดาษจากชันสนอาบด้วยกรดบางชนิด เช่น สารส้ม เพื่อไม่ให้หมึกพิมพ์เลอะ เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี กระดาษเริ่มกรอบแตกง่าย สาเหตุมาจากกรดที่ผสมอยู่ หากทิ้งไว้โดยไม่อนุรักษ์อย่างถูกวิธี กระดาษก็จะเสื่อมสภาไปในที่สุด” หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ยกตัวอย่าง
ทั้งนี้ นางจิราภรณ์ เป็นหัวหน้าของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คน ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบทำความสะอาดราชรถในพิธีเคลื่อนพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
นางจิราภรณ์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนของการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงการใช้งาน จนถึงการเก็บรักษา ที่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม อุณหภูมิความชื้น ความร้อน จุลินทรีย์ รา แมลง ตลอดจนแก๊สบางชนิด และออกซิเจนที่มีผลทำให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่น หรือเสื่อมสลายได้ง่าย
“ความรู้ด้านเคมีมีส่วนช่วยให้เข้าใจวัสดุ เช่น กระดาษมีองค์ประกอบของเซลลูโลส ลิกนิน และไฟเบอร์มีผลทำให้กระดาษแข็งแรง ขณะที่เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีส่วนช่วยกำหนดอายุ ศึกษาองค์ประกอบของวัตถุเทคโนโลยีการผลิต”
การซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุ นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุจนเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วถึงใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น กาวชนิดพิเศษ แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม เครื่องดูดฝุ่นเฉพาะ ตลอดจนน้ำยาบางชนิดที่ช่วยขัดเคลือบผิวกระจก ให้กลับมามันวาว สะท้อนแสงได้ดังเดิม
“บางครั้งจำเป็นต้องใช้กาวเคมีแทนกาวจากครั้งที่ใช้มาแต่ในอดีตนั้น เนื่องจากนักอนุรักษ์จำเป็นต้องมองถึงความแข็งแรงในอนาคต ตลอดจนการรื้อซ่อมแซมได้ง่ายโดยไม่ส่งผลเสียหายต่อวัสดุเดิม” นักอนุรักษ์กล่าวจากประสบการณ์กว่า 36 ปีที่ปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์
โบราณวัตถุในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นชิ้น แต่บุคลากรที่เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์กลับมีอยู่เพียง 20 คน ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ชิ้นเล็กน้อย ไปจนถึงราชยานคานหามที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินี หรือสมเด็จย่า ล่าสุด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ร่วมซ่อมแซมราชยานคานหามในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คาดว่าจะใช้เวลาในการซ่อมแซมไม่ต่ำกว่า 2 เดือน
ขั้นตอนการซ่อมแซมเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะเข้าไปสำรวจความเสียหายของ กระจก โลหะเงิน พู่ประดับ ตลอดจนชิ้นส่วนที่เสี่ยงได้รับความเสียหายขณะเคลื่อนที่ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานมาประมาณ 11 ปี ทำให้มีชิ้นส่วนหลุดลอกออกมา มีฝุ่นจับตลอดทั้งองค์ รวมถึงสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ นก แมลง ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยอาศัยความรู้และทักษะในการบูรณะ
“การบูรณะซ่อมแซมด้วยความเข้าใจโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ เป็นหัวใจสำคัญของงานอนุรักษ์ เช่นเดียวกับแพทย์ที่วินิจฉัยโรคเพื่อทราบสาเหตุ นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้” นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Wednesday, January 9, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment