มหิดลพัฒนาโปรแกรมจำลองการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจบายพาส ช่วยแพทย์ค้นหาจุดลงมีด เพื่อลดพื้นที่เสียหายของผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการกลับมาป่วยซ้ำ เตรียมจับมือแพทย์ศิริราชทดสอบในคน
รศ.ดร.เบญจวรรณ วิวัฒนปฐพี อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัย "การจำลองเชิงคณิตศาสตร์การไหลของเลือดในเส้นเลือดสู่หัวใจที่ผ่าตัดบายพาส" ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สำหรับประมวลรายละเอียดการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจบายพาส ช่วยลดโอกาสเป็นซ้ำให้แก่ผู้ป่วยที่ทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
"โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการก่อตัวของก้อนไขมันที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้รูปแบบการไหลของเลือดในบริเวณนั้นผิดปกติ ขณะที่เทคนิคการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส ซึ่งใช้กับคนไข้ที่อาการหลอดเลือดอุดตันขั้นรุนแรง พบว่า 25% ของคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดบายพาส ต้องกลับมารับการผ่าตัดใหม่ภายใน 1 ปี และ 50% ต้องกลับมารับการผ่าตัดใหม่ภายใน 10 ปี" รศ.ดร.เบญจวรรณ กล่าว
ทีมวิจัยเริ่มพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามมิติ และเทคนิคเชิงคำนวณ เพื่อศึกษาการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจที่อุดตัน ด้วยระดับความรุนแรงต่างๆ ทำหน้าที่ประมวลรายละเอียดการไหลในหลอดเลือดหัวใจบายพาสผ่านคอมพิวเตอร์ ทั้งค่าความเร็วของเลือด ค่าความดัน ค่าแรงเค้นและแรงเฉือนที่ผิวหนัง
จากการศึกษาใช้งานโปรแกรมแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นพบว่า บริเวณที่เส้นเลือดอุดตัน ความดันเลือดจะลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้ความเร็วเลือดเพิ่มสูง จนก่อให้เกิดแรงเค้นและแรงเฉือนที่ผนังหลอดเลือดสูงผิดปกติ ทำให้เยื่อบุผิวถูกทำลาย จนหลอดเลือดใช้การไม่ได้ในที่สุด
ต่อมาเมื่อทดลองต่อการผ่าตัดบายพาสด้วยมุม 45, 60 และ 90 องศาที่หลอดเลือดอุดตัน ผลที่ประมวลได้พบว่า ยิ่งองศาของการตัดต่อบายพาสหลอดเลือดน้อย ค่าแรงเค้นและแรงเฉือนที่ผนังหลอดเลือดก็จะลดลง ทำให้เยื่อบุผิวถูกทำลายน้อยลง ลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำ
งานวิจัยนี้ ทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และเทคนิคการตัดต่อหลอดเลือดหัวใจบายพาส ที่ลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นหลอดเลือดอุดตันอีกครั้ง และในปี 2551 มีแผนที่จะทดสอบในสัตว์ทดลอง ขณะเดียวกันก็จะวิจัยในคนไปพร้อมกัน โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช หากประสบความสำเร็จก็จะขยายการใช้งานโปรแกรมแบบจำลองนี้ในโรงพยาบาลอื่นต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment