Sunday, January 6, 2008

เครื่องจับยุงนาโนไร้กลิ่นไร้คราบ


นักประดิษฐ์ไทยประยุกต์ใช้ความรู้ของศูนย์นาโนเทค ออกแบบเครื่องจับยุงรุ่นปลอดเชื้อโรค ส่งคลื่นความร้อนล่อยุงเข้ากับดัก ขังไว้จนตายเองใน 2-5 ชั่วโมง เผยไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีคราบเลือด

ไชยนันท์ รัตนกุลชัยวัฒน์ อาชีพนักประดิษฐ์ ได้ออกแบบเครื่องจับยุงเน้นคุณสมบัติใช้ง่าย ไม่ต้องอาศัยไฟฟ้าช็อตยุง ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีคราบเลือด และราคาขายประมาณ 1,000 บาท

ราคาดังกล่าวครัวเรือนทั่วไปสามารถซื้อได้ ตลอดจนสถานบริการ เช่น ฟาร์ม ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น เมื่อเทียบกับเครื่องจับยุงนำเข้าซึ่งราคาสูงถึงหลักหมื่น อีกทั้งตัวเครื่องมีขนาดใหญ่จนไม่เหมาะกับครัวเรือน

เครื่องจับยุงนี้ภายในทั้ง 4 ด้านเคลือบด้วย "สารไททาเนียมไดออกไซด์" ซึ่งได้จากการวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่สะท้อนความร้อนของหลอดไฟ ทำให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะในการล่อแมลงหรือยุง

แมลงหรือยุงที่เข้ามาในเครื่องจะถูกอบแห้งตายภายใน 2-5 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของแมลง-ยุง จึงไม่มีกลิ่นเหม็นไหม้และคราบเลือด

“ไททาเนียมไดออกไซด์” เป็นสารประกอบ เมื่อแตกตัวและมีขนาดเล็กลง จะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ ปัจจุบันใช้แพร่หลายในผลิตภัณฑ์นาโน เช่น เคลือบเส้นด้ายหรือสิ่งทอ ก็จะทำให้มีคุณสมบัติลดกลิ่น นอกจากนี้ไททาเนียมไดออกไซด์ยังมีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่นแสง จึงใช้ในครีมกันแดด ทำให้ครีมไม่เป็นคราบสีขาวหลังทาผิว

ในส่วนของเครื่องจับยุง สารไททาเนียมไดออกไซด์ ช่วยฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการดักจับและอบแห้งจนยุงตาย ส่วนการกำจัดซากยุงทำได้ง่าย เพียงถอดตะแกรงออกแล้วเคาะทิ้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เครื่องนี้ใช้ได้กับยุงตัวเมียเท่านั้น ซึ่งกินเลือดเป็นอาหาร โดยลดจำนวนยุงได้อย่างเห็นผลใน 3 เดือน เนื่องจากยุงตัวเมียจะตายไปเรื่อยๆ กระทั่งวางไข่ไม่ทัน

"ปัจจัยกระตุ้นให้ยุงปรากฏตัวมี 3 ปัจจัยคือ คลื่นความร้อน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกมาพร้อมกับลมหายใจ และกลิ่นคาวเลือด" ไชยนันท์ กล่าว

เครื่องนี้อาศัยคลื่นความร้อนเป็นตัวกระตุ้นยุง ถือเป็นทางเลือกในการกำจัดยุงโดยที่ไม่ต้องใช้ไฟช็อต กินไฟเพียง 44 วัตต์ และเปิดทิ้งไว้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งใช้ได้ทั้งภายในและนอกอาคาร

สิ่งประดิษฐ์เครื่องจับยุงไททาเนียมไดออกไซด์เป็น 1 ใน 33 ผลงานที่ร่วมประกวดในโครงการสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ พร้อมกับพัฒนางานวิจัยและบุคคลด้านสิ่งประดิษฐ์คิดค้นให้มากขึ้น

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/06/WW54_5406_news.php?newsid=217555

No comments: