เทคโนโลยีจิ๋วยังคงได้รับความสนใจจากสังคมไทย ทิศทางของโลกจิ๋วในปี 2551 จะไปในทิศทางใด เสื้อนาโน กระเป๋าผ้านาโน ชักโครกไม่เหม็นจะยังคงครองใจคนไทยหรือไม่
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) วิเคราะห์แนวโน้มงานวิจัยด้านเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ในปี 2551 ของประเทศไทยว่า
จะมุ่งสู่ "วัสดุนาโน" สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กตามความต้องการของตลาด รวมทั้ง "วัสดุพลังงาน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ ในการดูดซับแสงอาทิตย์โดยที่ต้นทุนต่ำลง
ภาพรวมแล้วทิศทางการวิจัยวัสดุศาสตร์ของไทย จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับวัสดุศาสตร์โลก ที่เน้นการวิจัยเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ที่ประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทน ซึ่งช่วยแก้วิกฤติพลังงานของโลก เช่น เซลล์เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล
ยกตัวอย่างทิศทางวิจัยวัสดุศาสตร์สำหรับการคมนาคม เจ้าของรถต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมัน ทำให้บริการขนส่งสาธารณะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
โดยเฉพาะ รถเมล์ไฟฟ้า รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่ต้องใช้แบตเตอรี่ งานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์จะมุ่งพัฒนาวัสดุที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้งานของแบตเตอรี่
ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ประเทศที่ตั้งเป้าจะเป็น ดีทรอยต์เอเชีย อย่างประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์มาสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
เช่น อุปกรณ์หรืออะไหล่ยานยนต์ หากสามารถพัฒนาวัสดุชนิดพิเศษ ที่น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงพิเศษ ก็จะได้เปรียบทางการค้า
“เอ็มเทคมีนโยบายหลัก ที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากด้านพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมที่เป็น 2 ประเภทหลักแล้ว
เรายังวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร ในแง่ของบรรจุภัณฑ์และเกษตรกรรม เช่น พลาสติกย่อยสลายได้”
“วัสดุศาสตร์ เป็นหน่วยสนับสนุนศาสตร์ด้านอื่น อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อื่น เหมือนกับการปิดทองหลังพระ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า อยู่ภายในผลิตภัณฑ์นั้นๆ” ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าว
สาลินีย์ ทับพิลา
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/08/WW54_5404_news.php?newsid=217056
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment