Wednesday, September 12, 2007

เจลกันแดดทาติดทนนาน จุฬาฯ วิจัยรับมือรังสียูวีอยู่หมัด

จุฬาฯ ใช้เทคโนโลยีนาโนเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือจากอาหารทะเลทำเป็นเจลทากันแดดประสิทธิภาพสูง ติดทนนานบนผิวหน้า สรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ แถมปลดปล่อยวิตามินลึกสู่ผิวชั้นใน เผยความคืบหน้ากำลังจะทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่

รศ.ดร.ศุภศรวนิชเวชารุ่งเรือง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มนักวิจัยเคมี ชีววิทยาและสัตวแพทย์ จุฬาฯ ร่วมกันพัฒนาสารป้องกันรังสียูวีใช้สารสกัดจากเปลือกกุ้ง ปู และแกนปลาหมึก(ไคติน-ไคโตซาน) เป็นวัตถุดิบ โดยนำมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี พร้อมทั้งอาศัยนาโนเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง

จากการศึกษาสารในกลุ่มกรองรังสียูวีเอและยูวีบีในเครื่องสำอางที่พบทั่วไปในท้องตลาด พบประสิทธิภาพของครีมกันแดดบนผิวหน้า จะลดลงเมื่อได้รับแสงยูวีหรือเมื่อทาทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ขณะที่ครีมกันแดดนาโน แม้ว่าเนื้อครีมจะซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในได้ดี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของผิว แต่ทำให้ผิวหน้าขาวผิดธรรมชาติ

ปัจจุบันยังไม่มีครีมกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนั้น กลุ่มนักวิจัยฯ จึงสนใจพัฒนาสารกรองรังสียูวีขึ้นโดยเลือกศึกษาไคติน-ไคโตซาน พบคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับปรับปรุงโครงสร้างทางเคมี เพื่อเพิ่มความสามารถในการกรองรังสียูวี ทั้งนี้ ไคติน-ไคโตซาน เป็นผลผลิตจากของเสียที่มีมากจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยเฉพาะเปลือกกุ้งและแกนปลาหมึก

ไคติน-ไคโตซานมีคุณสมบัติในการกระจายตัวได้ดีในน้ำ ไม่ตกตะกอน ทั้งยังเก็บกักสารออกฤทธิ์ได้นาน เมื่อพัฒนาเป็นสารกรองยูวีในรูปแบบเนื้อเจล และทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน (100 นาโนเมตร) ทำให้สารป้องกันยูวีเคลือบติดทนนานบนผิวหน้า ขณะที่วิตามินบำรุงผิวซึ่งเป็นส่วนผสมในเนื้อเจล ก็ซึมลงสู่ผิวหนังชั้นในได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำให้ผิวหน้าขาวผิดธรรมชาติ

กลุ่มนักวิจัยฯ ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ทดสอบใช้งานเจลกันแดดที่ได้ในหนูทดลอง และอาสาสมัครกลุ่มย่อย 15 คน เพื่อศึกษาความปลอดภัยและความเป็นพิษต่อเซลล์ ขั้นตอนต่อไปจะขยายอาสาสมัครเป็น 40 คน งานวิจัยนี้ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2551 หากผลที่ได้ตรงตามเป้าหมาย ก็จะส่งต่อเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตสารกรองยูวี เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันแดดต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: