Sunday, September 9, 2007

ผ้าก๊อซนาโนแผลหายสนิท มข.เดินเครื่องทดสอบในคนไข้

นักวิจัยขอนแก่นประยุกต์ใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีสร้างเส้นใยจิ๋วทางการแพทย์ ทดสอบในหนูพบแผลหายสนิทใน 14 วัน เตรียมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วิจัยประสิทธิภาพในคน

ผศ.ดร.สันติแม้นศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มข. พัฒนาเส้นใยนาโน (Nanofiber) ได้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการเมื่อปีที่ผ่านมา สามารถประยุกต์ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ เช่น ผ้าปิดแผล เนื้อเยื่อเทียม โดยใช้งบประมาณราว 1 แสนบาท

เส้นใยขนาดเล็กระดับ200-300 นาโนเมตร ทำให้มีพื้นผิวเพิ่มขึ้นหลายเท่า โอกาสที่จะทำปฏิกิริยาก็มากขึ้น โดยคุณสมบัติที่ได้สามารถใช้ทำผิวหนังเทียม ที่มีระบบกรองโมเลกุลของเชื้อโรคได้อย่างละเอียด นักวิจัยกล่าวและว่า ในต่างประเทศมีการวิจัยพัฒนาผ้าปิดแผลจากเส้นใยนาโน เพื่อช่วยให้บาดแผลหายเร็ว และป้องกันการติดเชื้อ ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ผ้าปิดแผลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการขับขี่

ทีมวิจัยทดสอบเส้นใยนาโนที่ผลิตได้กับเซลล์ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยดำเนินการร่วมกับนักวิจัยชีวเคมี เพื่อดูการยึดเกาะของเซลล์กับเส้นใย พบว่าเซลล์ยึดเกาะได้ดีใน 7 วัน นอกจากนี้ยังร่วมกับสัตวแพทย์ เพื่อทดสอบแผ่นปิดแผลดังกล่าวในหนูทดลอง 14 วัน พบมีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อเกิดขึ้น คิดเป็น 30% ขณะที่ผ้าปิดแผลทั่วไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้เพียง 6% และไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์

ขั้นต่อไปของการวิจัยคือศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของเส้นใยสังเคราะห์ นาโนพอลิเมอร์ กับเส้นใยจากธรรมชาติที่ทำจากไคโตซาน เจลาติน และโปรตีนจากไหม ตลอดจนเปลือกไข่ ทำการทดสอบทางคลินิกหรือการวิจัยในคน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัย ซึ่งต้องทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์

นอกจากนี้เส้นใยนาโนสามารถพัฒนาเป็นอวัยวะเทียม ที่มีคุณสมบัติป้องกันการซึมผ่านของเลือด จากคุณสมบัติของพอลิเมอร์ที่ไม่ชอบน้ำ จึงช่วยป้องกันการผ่านของเชื้อโรค ขณะที่อากาศสามารถผ่านได้ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาหลอดเลือดเทียมสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

จากองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนาโนเทคมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาอนุภาคนาโนเทคโนโลยีแม่เหล็ก เพื่อบำบัดโรคมะเร็ง (Hyperthermia) ซึ่งใช้ความร้อนระดับ 40-45 องศาเซลเซียส ส่งผ่านอนุภาคนาโนแม่เหล็กไปยังก้อนเนื้อมะเร็ง โดยไม่ทำให้เซลล์ปกติเสียหาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: