Wednesday, September 5, 2007

เครื่องบินอัตโนมัติกู้ภัยไทย


มช.ออกแบบยานบินอัตโนมัติรุ่นใหม่สนับสนุนปฏิบัติการบินค้นหาผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ขนส่งสิ่งของบรรเทาสาธารณภัย
รศ.ดร.สัมพันธ์ ไชยเทพ หัวหน้าโครงการวิจัยหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศต้นแบบ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้เตรียมพัฒนาอากาศยานอัตโนมัติบินรุ่นใหม่ เสริมอากาศยานรุ่นก่อนที่เน้นปฏิบัติภารกิจบินตรวจการณ์ตามพื้นที่ชายแดน และตรวจปลอดภัยตามแหล่งท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาอากาศยานอัตโนมัติต้นแบบ โดยใช้ชื่อรุ่นว่าซีเอ็มยู-1 และซีเอ็มยู-2 มีเป้าหมายเพื่อบินสังเกตการณ์พื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือ สามารถส่งสัญญาณภาพวิดีโอไร้สาย พร้อมแจ้งพิกัดพื้นที่ตรวจการณ์ด้วยเครื่องรับส่งจีพีเอส โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการบริการวิชาการเชิงบูรณาการจากงบประมาณแผ่นดิน ปี 2548-2550

ชุดส่งสัญญาณภาพวิดีโอมีกำลังส่งได้ไกลถึง 1,000 เมตร ในพื้นที่โล่งแจ้ง ส่วนข้อมูลจากจีพีเอสจะแสดงตำแหน่งความเร็ว แผนที่การเดินทางของอากาศยานขึ้นบนหน้าจอ และยังทำงานร่วมกับโปรแกรมควบคุมพิกัดไร้สาย ระบบฉุกเฉิน ระบบควบคุมเสถียรภาพการบิน และระบบการบินอัตโนมัติทางไกล

ทีมวิจัยหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศมีแผนพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับหุ่นยนต์บินสำรวจเองทดแทนเครื่องยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์ และมีแนวคิดที่จะพัฒนาในส่วนของโปรแกรมภายในกล่องควบคุมการบินของหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาและดัดแปลงเครื่องยนต์ลูกสูบ 4 จังหวะใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง เครื่องยนต์ปฏิกิริยากังหันก๊าซต้นแบบ และเครื่องยนต์ปฏิกิริยาแบบ Pulse Jet เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบิน

สำหรับยานบินสำรวจอัตโนมัติรุ่นใหม่มีเป้าหมายในภารกิจทางพลเรือนมากกว่า เช่น อากาศยานสำรวจรุ่นเอ็กซ์ ซีเอ็มยู 3 มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเครื่องบินสำรวจอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย และสำรวจพื้นที่ยานพาหนะเข้าถึงยาก ส่วนอากาศยานสำรวจรุ่นเอ็กซ์ ซีเอ็มยู 4 เป็นเครื่องบินใบพัดแบบเฮลิคอปเตอร์ สามารถขึ้นลงโดยใช้พื้นที่จำกัด เหมาะสำหรับปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ

ทีมวิจัยยังได้รับการติดต่อจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ให้พัฒนาหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจสำรวจการดำเนินการภายในโรงไฟฟ้า ซึ่งจะถือว่าเป็นภารกิจแรกของหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศ

ปัจจุบัน คณะทำงานได้เปิดอบรมเผยแพร่เทคโนโลยี โดยจัดอบรมจำนวน 3 รุ่น รวม 200 คน สำหรับกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมปลาย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานราชการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจทางอากาศ และมีความสนใจร่วมมือในงานวิจัยพัฒนาที่จะมีต่อไปเช่น กองบิน 41 มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เป็นต้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/05/WW54_5405_news.php?newsid=93136

No comments: