Tuesday, September 11, 2007
"นาโน" ในแบบไทยฉบับพึ่งพาตนเอง
คงไม่ต้องบอกว่าประเทศพัฒนาแล้วเขามีนวัตกรรมล้ำๆ ทางด้านนาโนเทคโนโลยีก้าวไกลไปถึงไหน เอาแค่ญี่ปุ่นในแถบเอเชียด้วยกันก็นำไปหลายขุม แค่เทคโนโลยีบนหน้าจอมือถือก็ทำเอาไทยเราวิ่งตามจนเหนื่อย แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่เทคโนโลยีของเราเองเลยเพราะเหล่านักวิจัยไทยก็กำลังไต่บันไดตามเขาไป
ทั้งนี้นักวิชาการทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยได้มาร่วมกันบนเวทีอภิปราย "นาโนเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเอง" ในการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550 (Thailand Research Expo 2007) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่พัฒนาได้
รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว จากเครือข่ายงานวิจัยด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เกริ่นถึงความก้าวหน้าทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งพัฒนาแอลอีดีหรือไดโอดเปล่งแสงได้หลากหลายสี โดยทางญี่ปุ่นนั้นเน้นพัฒนาไดโอดจากสารอนินทรีย์ ขณะที่เกาหลีมุ่งพัฒนาด้วยสารอินทรีย์หรือโอแอลอีดี (OLEDs) ซึ่งปรากฏเป็นจอภาพสีบนโทรศัพท์มือถือ
"แล้วไทยจะทำอะไร?" รศ.ดร.จิติตั้งคำถาม และได้เสนอแนวคิดในการพัฒนานาโนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับไทยว่า ในส่วนของแผ่นรองรับทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นส่วนใหญ่ใช้ซิลิกอนเป็นวัตถุดิบหลักซึ่งการจะพัฒนาทางด้านนี้สำหรับไทยถือว่าช้ามากแล้ว จึงคิดว่าฐานรองรับที่จะพัฒนานั้นต้องไม่ใช่ฐานซิลิกอน โดยมีต้นทุนต่ำและพัฒนาได้ในประเทศ จากนั้นต้องรู้เทคโนโลยีพื้นฐานและสะสมองค์ความรู้อย่างเพียงพอ ทั้งสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยวัสดุแบบใหม่หรือเทคนิคใหม่ในกระบวนการเตรียมวัสดุเพื่อขจัดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร
"เราจึงมองถึงพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้อุตสาหกรรมพลาสติกไทยก็ผสมสารเคมีเองและขึ้นรูปเองอยู่แล้ว ในส่วนศักยภาพของพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ก็มีความบางเบาและยืดหยุ่น อนาคตก็สามารถนำไปทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เกือบทั้งหมด โดยสัดส่วนอยู่ที่จอแสดงภาพประมาณ 60%" รศ.ดร.จิติแจง ทั้งนี้เครือข่ายวิจัยสามารถผลิตพลาสติกนำไฟฟ้าได้แต่ยังอยู่ระดับต่ำแค่ 2% และสามารถผลิตพลาสติกเปล่งแสงสีต่างๆ ได้ นอกจากนี้กำลังพัฒนาแว่นนาโนคริสตัลทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถมองเห็นคราบของสารคัดหลั่ง อาทิ คราบเลือด คราบน้ำเหลืองหรือคราบอสุจิ เป็นต้น เมื่อนำไปผ่านแสงยูวีได้
ทางด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจงว่ายุคต่อไปเป็นยุคหากินกับโมเลกุลหรือที่เรียกว่ายุค “เศรษฐกิจโมเลกุล” ซึ่งการจะไปสู่เทคโนโลยีนาโนที่แท้จริงต้องเริ่มจากจัดการฐานวัสดุให้ได้ก่อน ทั้งนี้พื้นฐานทุกอย่างมาจากคณิตศาสตร์ โดยเมื่อมองปฏิกิริยาเคมีสามารถอธิบายได้ด้วยพันธะเคมี และเมื่อมองลึกลงไปก็เป็นเรื่องกลศาสตร์ควอนตัม สมการชโรดิงเจอร์ (Schrödinger Equation) และที่สุดก็เป็นคณิตศาสตร์ที่จะอธิบายทุกอย่าง
ส่วน ผศ.ดร.สันติ แม้นศิริ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอว่าสามารถผลิตเส้นใยนาโนซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ อาทิ ผ้าปิดแผล ผิวหนังเทียม เป็นต้นได้ ทั้งนี้เส้นใยดังกล่าวผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไคติน-ไคโตซาน รังไหม เปลือกไข่ เป็นต้น โดยกำลังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์ ซึ่งได้จับหนูแฮมเตอร์มาสร้างบาดแผลขึ้น 2 แผลเพื่อปิดด้วยผ้าพันแผลทั่วไปกับผ้าปิดแผลจากเส้นใยนาโน พบว่าในเวลาที่เท่ากันผ้าพันแผลจากเส้นใยนาโนช่วยให้แผลหาย 31% และเมื่อแผลหายสนิทไม่ทิ้งรอยนูน ขณะที่ผ้าพันแผลทั่วไปทำให้แผลหาย 6% และเมื่อแผลหายสนิทก็ทิ้งรอยแผลนูนไว้
เหล่านี้คงพอจะทำให้หลายคนเห็นภาพว่าศักยภาพที่ไทยจะมีนาโนเทคโนโลยีเพื่อพึ่งพาตนเองนั้นอยู่ในระดับไหน
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000105909
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment