Wednesday, September 26, 2007

ญี่ปุ่น-จีน-อินเดียแข่งสำรวจดวงจันทร์


เอเอฟพี - ประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ร่วมลงสนามแข่งสำรวจแหล่งทรัพยากรบนดวงจันทร์ และใช้ดวงจันทร์เป็นฐานข้อมูลเพื่อสำรวจดาวเคราะห์อื่นๆ ต่อไป ท่ามกลางกระแสคึกโครมของกิจกรรมทางอวกาศทั่วโลกที่มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

การส่งยานสำรวจดวงจันทร์ และดาวอังคาร รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ อยู่ในวาระสำคัญอันดับต้นๆ ของการประชุมเป็นเวลา 5 วัน ในนครไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอวกาศจากทั่วโลกกว่า 2,000 คน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักบินอวกาศมาเข้าร่วม

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ปักธงเริ่มการแข่งขันสำรวจดวงจันทร์ระหว่างชาติเอเชียเมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมา หลังประสบความสำเร็จในการส่งยานโคจรรอบดวงจันทร์ โดยองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) แจ้งว่ายังจะส่งหุ่นยนต์ไปปฏิบัติการบนอวกาศได้สำเร็จอีกหลายเที่ยว ก่อนที่จะส่งยานไปลงจอด และส่งมนุษย์อวกาศลงบนดวงจันทร์

ขณะที่ องค์การอวกาศแห่งชาติของจีน (China National Space Administration) ชี้ว่า จีนก็วางแผนปล่อยยานสำรวจฉางเอ๋อ 1 (Chang'e 1) ซึ่งถูกส่งไปที่ฐานปล่อยยานเรียบร้อยแล้ว และหากทุกอย่างพร้อมก็จะสามารถปล่อยยานได้ก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งยังเสริมว่าจีนจะพิจารณาส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดาวบริวารของโลกดวงนี้ในอนาคตด้วย

ส่วน อินเดียนั้นจะส่งจันทรายาน 1 (Chandrayaan 1) ตามไปสมทบทีหลังภายในเดือนมีนาคม หรือเมษายนในปี 2008 โดยมีการเตรียมพร้อมทั้งการปล่อยยาน และการติดตั้งเสาอากาศเพื่อรับสัญญาณข้อมูลจากดวงจันทร์ ที่สถานีอวกาศศรีหริโคตะ ทางใต้ของอินเดียแล้ว ตามคำบอกเล่าของผู้อำนวยการศูนย์อวกาศวิกราม ศราภัย (Vikram Sarabhai Space Centre)

นอกจากนี้ ในปีหน้า อินเดียน่าจะสามารถกำหนดปีเป้าหมายสำหรับการเดินทางในอวกาศของมนุษย์ขึ้นสู่ดวงจันทร์ ซึ่งหัวหน้าองค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (Indian Space Research Organisation) เผยว่า อาจยังต้องใช้เวลาอีก 7-8 ปี

แม้ว่ามนุษย์จะมีการส่งยานขึ้นไปสำรวจบนดวงจันทร์มาเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบสุดท้ายให้กับคำถามเกี่ยวกับกำเนิดของดวงจันทร์ แร่ธาตุ หรือน้ำที่มีอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนั้นว่าจะมาสามาถรองรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐฯ เคยประกาศในปี 2004 เกี่ยวกับแผนการของสหรัฐฯ ที่จะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2020 และใช้ดาวบริวารของโลกดวงนี้เป็นหลักที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร หรือดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ อีก โดยนาซามีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารภายในปี 2037

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000113789

No comments: