Monday, September 24, 2007

'ทองคำนาโน' ใช้งานเฉกพลาสติก

สถาบันวิจัยโลหะจากจุฬาฯ คิดวิธีเพิ่มคุณสมบัติทองคำให้สามารถขึ้นรูปง่ายเหมือนพลาสติก เพิ่มศักยภาพการผลิตได้รวดเร็ว ประยุกต์ใช้งานได้กับโลหะทุกชนิดรวมถึงเหล็กกล้า

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยด้าน "แก้วโลหะ" หรือรัตนโลหะของสถาบันฯ ค้นพบวิธีทำให้ทองคำขึ้นรูปได้ง่ายเหมือนขึ้นรูปพลาสติกด้วยเครื่องฉีดวัสดุ โดยปรับขนาดทองคำให้เป็นเม็ดเล็กระดับนาโนเมตร เพื่อนำไปใช้งานคล้ายกับเม็ดพลาสติก

“เม็ดทองคำที่มีขนาดเล็กระดับอะตอม สามารถนำไปขึ้นรูปได้ด้วยแม่พิมพ์ เช่นเดียวกับเม็ดพลาสติก แทนการใช้ช่างฝีมือขึ้นรูป ซึ่งจะสามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น” ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน นักวิจัยเจ้าของโครงงาน กล่าว

งานวิจัยโครงการนี้ ปัจจุบันอยู่ในขึ้นตอนของการขึ้นรูปชิ้นงานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป คาดว่าอีกประมาณ 1-2 ปีเทคนิคเดียวกันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำเป็นเม็ดเหล็กกล้าฉีดขึ้นรูป

งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยด้านโลหะและวัสดุกว่า 70 เรื่อง ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการทางโลหะวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ต.ค. 2550 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยแบ่งงานวิจัยที่จะนำเสนอออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มโครงสร้างจุลภาคของโลหะ กลุ่มการศึกษาวิธีการขึ้นรูปโลหะ กลุ่มการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของโลหะ และกลุ่มการใช้งานโลหะและวัสดุ

งานประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน

"ที่ผ่านมา นักวิจัยสามารถพัฒนาวัสดุให้มีความแข็งแรง ต้านทานการขูดขีด และการกัดกร่อนได้ดี สามารถขึ้นรูปได้ในอุณภูมิต่ำ เช่นเดียวกับการขึ้นรูปพลาสติก จึงทำให้ผลิตชิ้นงานได้ในระยะเวลารวดเร็ว” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว

ตัวอย่างเช่น การพัฒนาโลหะจิ๋วหรือ อนุภาคเงิน (Silver) และการนำอนุภาคนาโนของเงินไปใช้ในอุตสาหกรรมหลังจากพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้ความเข้มข้นสูงตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมสิ่งทอทำเสื้อนาโน

นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถพัฒนาโลหะโฟม ที่น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง เนื่องจากมีรูพรุนมาก สามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ได้ ตลอดจนการพัฒนาเหล็กกล้าแรงดึงสูง โดยเติมแมงกานีส แทนนิกเกิล ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตองค์ความรู้ หรือนักวิชาการในภาคมหาวิทยาลัย และผู้ใช้งาน ในมุมของผู้ประกอบการได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงสร้างโจทย์วิจัยใหม่ร่วมกัน
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/24/WW54_5404_news.php?newsid=185616

No comments: