Tuesday, September 18, 2007

รถเมล์ไฟฟ้าบริการฉิ่วในจุฬาฯ


เอกชนด้านพลังงานสีเขียวเปิดตัวรถยนต์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า "ฮิบบัส" จุฬาฯ ขานรับนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ควักงบ 40 ล้านบาท ประเดิม 15 คัน ให้บริการรับส่งภายในสถาบัน

นายอภิรักษ์ วรรณสาธพ กรรมการผู้จัดการบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้พัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า โครงการรถฮิบ (HIB : Harmony Innovative Bus) รถยนต์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า เป็นความร่วมมือระหว่างกิจการร่วมค้าบริษัท สิขร จำกัด บริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด และบริษัทพลังงานฯ เพื่อจัดบริการเดินรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเน้นลดมลภาวะทางอากาศและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

รถฮิบพัฒนาโดยวิศวกรคนไทยของบริษัทสิขร ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้า และให้บริการแก่ผู้นำในการประชุมสุดยอดเอเปคเมื่อปี 2546 โดยใช้เวลากว่า 3 ปีพัฒนารถฮิบให้สามารถใช้งานบนถนนที่จราจรคับคั่ง อีกทั้งเครื่องยนต์สึกหรอน้อย ทำให้ประหยัดค่าซ่อมบำรุง ขณะที่บริษัทพลังงานฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการด้านระบบการเดินรถ ระบบการเติมพลังงานและการบำรุงรักษาต่างๆ

"รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นสิ่งที่พัฒนากันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครพัฒนารถปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ ถือว่าเราเป็นรายแรก ความพิเศษของรถนวัตกรรมนี้อยู่ที่ความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยมีช่องทางพิเศษสำหรับรถเข็นคนพิการ พร้อมที่จับยึด" กรรมการผู้จัดการบริษัท พลังงานฯ กล่าว

การใช้งานไม่ต่างจากรถยนต์ปกติ เพียงแต่อาจจะไม่คล่องตัวเท่า เนื่องจากต้องชาร์จไฟ ทำให้ต้องมีสถานีสำหรับชาร์จไฟเพิ่ม โดยปัจจุบันได้จัดสร้างสถานีชาร์จและแปลงพลังงานไฟฟ้าที่อาคารจอดรถจามจุรี 9 พร้อมทั้งประสานไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นจุดสำรอง กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น ไฟดับ อย่างไรก็ตาม รถฮิบติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ 3 ชุด แต่ละชุดใช้งานต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง จึงตัดปัญหาพลังงานไฟฟ้าหมดระหว่างการบริการ

รศ.น.ท.ไตรวัฒน์ วิรยศิริ ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า รถฮิบจะบริการเส้นทางเฉพาะภายในจุฬาฯ 15 คัน เริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) โครงการนี้เป็นสัญญาจ้าง 3 ปี ใช้งบประมาณจากส่วนกลาง 40 ล้านบาท ตามนโยบาย "มหาวิทยาลัยสีเขียว" เพื่อลดมลภาวะ สนองนโยบายภาครัฐในการอนุรักษ์และลดใช้พลังงาน ขณะที่บริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด นำระบบสมาร์ทเพิร์ส มาใช้บริหารจัดการค่าโดยสาร เพื่อลดใช้คูปองกระดาษ

"รถพลังงานไฟฟ้า 15 คันนี้จะมาแทนที่รถยนต์โดยสารแบบดีเซล ที่เราเช่ามาใช้งาน 10 คัน ในราคาคันละ 5,000 บาทต่อวัน ซ้ำราคาน้ำมันดีเซลก็แพงหากเทียบกับไฟฟ้า จากการคำนวณเบื้องต้นพบรถยนต์ดีเซลวิ่งในพื้นที่การจราจรคับคั่ง ใช้น้ำมันประมาณ 1 ลิตรต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตร ขณะที่รถพลังงานไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงานประมาณ 5 บาทต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตร จึงประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง" ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าว

สาลินีย์ ทับพิลา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/18/WW54_5401_news.php?newsid=110304

No comments: