Wednesday, September 26, 2007

ญี่ปุ่น-จีน-อินเดียแข่งสำรวจดวงจันทร์


เอเอฟพี - ประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ร่วมลงสนามแข่งสำรวจแหล่งทรัพยากรบนดวงจันทร์ และใช้ดวงจันทร์เป็นฐานข้อมูลเพื่อสำรวจดาวเคราะห์อื่นๆ ต่อไป ท่ามกลางกระแสคึกโครมของกิจกรรมทางอวกาศทั่วโลกที่มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

การส่งยานสำรวจดวงจันทร์ และดาวอังคาร รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ อยู่ในวาระสำคัญอันดับต้นๆ ของการประชุมเป็นเวลา 5 วัน ในนครไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอวกาศจากทั่วโลกกว่า 2,000 คน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักบินอวกาศมาเข้าร่วม

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ปักธงเริ่มการแข่งขันสำรวจดวงจันทร์ระหว่างชาติเอเชียเมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมา หลังประสบความสำเร็จในการส่งยานโคจรรอบดวงจันทร์ โดยองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) แจ้งว่ายังจะส่งหุ่นยนต์ไปปฏิบัติการบนอวกาศได้สำเร็จอีกหลายเที่ยว ก่อนที่จะส่งยานไปลงจอด และส่งมนุษย์อวกาศลงบนดวงจันทร์

ขณะที่ องค์การอวกาศแห่งชาติของจีน (China National Space Administration) ชี้ว่า จีนก็วางแผนปล่อยยานสำรวจฉางเอ๋อ 1 (Chang'e 1) ซึ่งถูกส่งไปที่ฐานปล่อยยานเรียบร้อยแล้ว และหากทุกอย่างพร้อมก็จะสามารถปล่อยยานได้ก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งยังเสริมว่าจีนจะพิจารณาส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดาวบริวารของโลกดวงนี้ในอนาคตด้วย

ส่วน อินเดียนั้นจะส่งจันทรายาน 1 (Chandrayaan 1) ตามไปสมทบทีหลังภายในเดือนมีนาคม หรือเมษายนในปี 2008 โดยมีการเตรียมพร้อมทั้งการปล่อยยาน และการติดตั้งเสาอากาศเพื่อรับสัญญาณข้อมูลจากดวงจันทร์ ที่สถานีอวกาศศรีหริโคตะ ทางใต้ของอินเดียแล้ว ตามคำบอกเล่าของผู้อำนวยการศูนย์อวกาศวิกราม ศราภัย (Vikram Sarabhai Space Centre)

นอกจากนี้ ในปีหน้า อินเดียน่าจะสามารถกำหนดปีเป้าหมายสำหรับการเดินทางในอวกาศของมนุษย์ขึ้นสู่ดวงจันทร์ ซึ่งหัวหน้าองค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (Indian Space Research Organisation) เผยว่า อาจยังต้องใช้เวลาอีก 7-8 ปี

แม้ว่ามนุษย์จะมีการส่งยานขึ้นไปสำรวจบนดวงจันทร์มาเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบสุดท้ายให้กับคำถามเกี่ยวกับกำเนิดของดวงจันทร์ แร่ธาตุ หรือน้ำที่มีอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนั้นว่าจะมาสามาถรองรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐฯ เคยประกาศในปี 2004 เกี่ยวกับแผนการของสหรัฐฯ ที่จะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2020 และใช้ดาวบริวารของโลกดวงนี้เป็นหลักที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร หรือดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ อีก โดยนาซามีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารภายในปี 2037

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000113789

Monday, September 24, 2007

'ทองคำนาโน' ใช้งานเฉกพลาสติก

สถาบันวิจัยโลหะจากจุฬาฯ คิดวิธีเพิ่มคุณสมบัติทองคำให้สามารถขึ้นรูปง่ายเหมือนพลาสติก เพิ่มศักยภาพการผลิตได้รวดเร็ว ประยุกต์ใช้งานได้กับโลหะทุกชนิดรวมถึงเหล็กกล้า

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยด้าน "แก้วโลหะ" หรือรัตนโลหะของสถาบันฯ ค้นพบวิธีทำให้ทองคำขึ้นรูปได้ง่ายเหมือนขึ้นรูปพลาสติกด้วยเครื่องฉีดวัสดุ โดยปรับขนาดทองคำให้เป็นเม็ดเล็กระดับนาโนเมตร เพื่อนำไปใช้งานคล้ายกับเม็ดพลาสติก

“เม็ดทองคำที่มีขนาดเล็กระดับอะตอม สามารถนำไปขึ้นรูปได้ด้วยแม่พิมพ์ เช่นเดียวกับเม็ดพลาสติก แทนการใช้ช่างฝีมือขึ้นรูป ซึ่งจะสามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น” ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน นักวิจัยเจ้าของโครงงาน กล่าว

งานวิจัยโครงการนี้ ปัจจุบันอยู่ในขึ้นตอนของการขึ้นรูปชิ้นงานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป คาดว่าอีกประมาณ 1-2 ปีเทคนิคเดียวกันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำเป็นเม็ดเหล็กกล้าฉีดขึ้นรูป

งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยด้านโลหะและวัสดุกว่า 70 เรื่อง ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการทางโลหะวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ต.ค. 2550 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยแบ่งงานวิจัยที่จะนำเสนอออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มโครงสร้างจุลภาคของโลหะ กลุ่มการศึกษาวิธีการขึ้นรูปโลหะ กลุ่มการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของโลหะ และกลุ่มการใช้งานโลหะและวัสดุ

งานประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน

"ที่ผ่านมา นักวิจัยสามารถพัฒนาวัสดุให้มีความแข็งแรง ต้านทานการขูดขีด และการกัดกร่อนได้ดี สามารถขึ้นรูปได้ในอุณภูมิต่ำ เช่นเดียวกับการขึ้นรูปพลาสติก จึงทำให้ผลิตชิ้นงานได้ในระยะเวลารวดเร็ว” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว

ตัวอย่างเช่น การพัฒนาโลหะจิ๋วหรือ อนุภาคเงิน (Silver) และการนำอนุภาคนาโนของเงินไปใช้ในอุตสาหกรรมหลังจากพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้ความเข้มข้นสูงตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมสิ่งทอทำเสื้อนาโน

นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถพัฒนาโลหะโฟม ที่น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง เนื่องจากมีรูพรุนมาก สามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ได้ ตลอดจนการพัฒนาเหล็กกล้าแรงดึงสูง โดยเติมแมงกานีส แทนนิกเกิล ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตองค์ความรู้ หรือนักวิชาการในภาคมหาวิทยาลัย และผู้ใช้งาน ในมุมของผู้ประกอบการได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงสร้างโจทย์วิจัยใหม่ร่วมกัน
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/24/WW54_5404_news.php?newsid=185616

Wednesday, September 19, 2007

ไม้เท้าอัจฉริยะเตือนก่อนชน คว้าสุดยอดผลิตภัณฑ์สมองกลฝังชิพ

ไม้เท้าสำรวจสิ่งกีดขวางของผู้พิการทางสายตา สิ่งประดิษฐ์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังคว้าสุดยอดผลิตภัณฑ์สมองกลฝังชิพอัจฉริยะ

เผยด้ามไม้เท้าจะสั่นเพื่อเตือนให้รู้ตัวล่วงหน้าก่อนเดินชน ด้านเนคเทคเตรียมสนับสนุนต่อยอดเชิงพาณิชย์ในธุรกิจภาคเอกชน
ดร.พันธ์ศักดิ์ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เครื่องช่วยสำรวจตำแหน่งสิ่งกีดขวางของผู้พิการทางสายตาเพื่อลดอุบัติเหตุ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ครองรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยระบบสมองกลฝังตัว ครั้งที่ 1

เครื่องช่วยสำรวจตำแหน่งสิ่งกีดขวางของผู้พิการทางสายตาเพื่อลดอุบัติเหตุเป็นไม้เท้าระบุตำแหน่งสิ่งกีดขวางที่ช่วยเตือนถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการรับรู้ เพื่อลดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง อาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นอัลตราโซนิคในการตรวจจับวัตถุ ซึ่งจะสั่นสะเทือนเพื่อส่งเตือนให้ผู้ใช้งานหลบหลีกสิ่งกีดขวางก่อนที่จะเดินชน

ไม้เท้าดังกล่าวผลิตด้วยวัสดุพลาสติกพิเศษมีคุณสมบัติทนแรงกระแทกสูง พับได้ 4 ท่อนจึงพกพาสะดวก อาศัยพลังงานจากถ่านชาร์จในตัว ใช้งานนาน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม้เท้าติดชิพสมองกลนี้จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาปลอดภัย จากการชนสิ่งขีดขวางที่อยู่ระหว่างเอวขึ้นไป เช่น ฝาท้ายรถทัวร์ ท้ายรถบรรทุก ตู้ไฟ ป้ายสัญญาณต่างๆ และเสาไฟฟ้า หลังจากให้ผู้พิการทางสายตา 2-3 คนทดลองใช้ ก็พบว่าสามารถใช้งานได้ดี

"คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าไม้เท้าเพื่อผู้พิการมีความเหมาะสมสำหรับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและความเป็นไปได้ทางการตลาด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์สนับสนุนให้เกิดการต่อยอดในเชิงธุรกิจต่อไป" ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าว

ทั้งนี้ในการพิจารณามีสิ่งประดิษฐ์ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศจาก 3 ทีม ได้แก่ ไม้เท้าของผู้พิการทางสายตาดังกล่าว ระบบป้ายแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไร้สาย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครองรองชนะเลิศอันดับ 1 และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คสำหรับผู้พิการทางสายตา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครองรองชนะเลิศอันดับ 2 โดยได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินรางวัลมูลค่า 1.5 แสนบาท 1 แสนบาท และ 5 หมื่นบาท ตามลำดับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, September 18, 2007

ญี่ปุ่นส่งยานสำรวจดวงจันทร์สำเร็จ


โตเกียว-ญี่ปุ่นชื่นมื่น ปล่อยยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ ขณะที่ "กูเกิล" ประกาศให้เงินกว่าพันล้านบาทแก่ผู้ที่ส่งยานลงจอด แล้วส่งคลิปวิดีโอ 1 กิกะไบต์จากดวงจันทร์

สำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันศุกร์ (14 ก.ย.) ว่า ประสบความสำเร็จในการส่งยาน "เซลีน" ออกเดินทางไปยังดวงจันทร์เพื่อเริ่มต้นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่โครงการอพอลโลของสหรัฐเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

โดยจรวดเอช-2 เอ ที่ญี่ปุ่นผลิตขึ้นเอง ได้นำยานเซลีนทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวดบนเกาะทาเนงะชิมา ทางใต้ของเกาะคิวชู ก่อนที่ยานจะแยกตัวออกจากจรวดภายในประมาณ 45 นาที หลังปล่อยออกจากฐาน

ยานเซลีน ซึ่งมีมูลค่า 3.2 หมื่นล้านเยน (กว่า 9,000 ล้านบาท) จะโคจรรอบโลก 2 รอบ ก่อนออกเดินทางไปดวงจันทร์ โดยคาดว่าจะเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์นาน 10 เดือน โดยจะเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิจัยต้นกำเนิด และวิวัฒนาการของดวงจันทร์ รวมทั้งสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวดวงจันทร์ และทดสอบการส่งสัญญาณวิทยุจากดวงจันทร์ด้วย

ทั้งนี้ ยานสำรวจลำนี้มีชื่อเล่นเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "คางูยะ" ซึ่งหมายถึงเจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์ที่เป็นตำนานพื้นบ้านอันโด่งดังของญี่ปุ่น
วันเดียวกัน "กูเกิล" เวบท่าชื่อดังของสหรัฐ ได้ประกาศมอบเงินรางวัลรวมมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,020 ล้านบาท) ให้แก่ทีมที่สามารถส่งยานสำรวจหุ่นยนต์ไปลงบนดวงจันทร์แล้วส่งภาพถ่ายและวิดีโอความจุ 1 กิกะไบต์ กลับมายังโลกภายใต้โครงการ "เดอะ กูเกิล ลูนาร์ เอ็กซ์ ไพรซ์" โดยการแข่งขันครั้งนี้เปิดกว้างให้บริษัททั่วโลกเข้าร่วมได้

อย่างไรก็ตาม เงินรางวัล 30 ล้านดอลลาร์ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ (ราว 680 ล้านบาท) จะมอบให้กลุ่มที่นำยานไปลงบนดวงจันทร์ได้เป็นกลุ่มแรกแล้วส่งภาพถ่ายและวิดีโอกลับมายังโลกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 หรือใน 5 ปีข้างหน้า แต่เงินรางวัลจะลดลงเหลือ 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 510 ล้านบาท) หากทำสำเร็จภายใน 2 ปีหลังจากนั้น และถ้าเลยกำหนดนี้ก็จะไม่มีใครได้รางวัล

เงินรางวัลส่วนที่ 2 มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 340 ล้านบาท) จะมอบให้ผู้ชนะอันดับสอง 5 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นเงินโบนัสที่จะแบ่งจ่ายให้กลุ่มที่บรรลุวัตถุประสงค์ปลีกย่อยอื่นๆ อาทิ ค้นพบของที่ระลึกจากการลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอพอลโล หรือการสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซีย พบน้ำแข็งบนดวงจันทร์ หรือทำให้ยานสำรวจดวงจันทร์ทำงานได้ตลอดทั้งคืน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/18/WW54_5409_news.php?newsid=112846

หุ่นยนต์อาซิโมรุ่นใหม่มาไทย

ฮอนด้า โชว์สุดยอดหุ่นยนต์อัจฉริยะอาซิโม รุ่นใหม่ เคลื่อนไหวตอบสนองท่าทางของมนุษย์ พร้อมเทคโนโลยีประมวลผลและรับส่งข้อมูลเพื่อทำหน้าที่พนักงานต้อนรับแบบอัตโนมัติ คนไทยได้ชมในงานเอฟทีไอแฟร์ วันที่ 19-23 กันยายนนี้ที่เมืองทองธานี

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หุ่นยนต์อาซิโมเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีของฮอนด้าในการขยายขอบเขตจากการผลิตเทคโนโลยียานยนต์คุณภาพ ไปสู่การสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต นอกจากที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ที่จะได้มีโอกาสสัมผัสกับ “อาซิโม” รุ่นใหม่ล่าสุด

ฮอนด้าเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ด้วยเป้าหมายของ “การผสมผสานการทำงานที่หลากหลายของเครื่องยนต์กลไก ที่จะช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์” จนปัจจุบัน อาซิโม ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยี ใหม่ ๆ มากมาย ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยงานมนุษย์ในสภาวะแวดล้อมจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ดังนี้

อาซิโม สามารถทำงานเป็นพนักงานต้อนรับหรือให้ข้อมูลข่าวสารโดยอัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์รับภาพ เซ็นเซอร์วัดพื้นผิว เซ็นเซอร์อัลตราโซนิกซ์ ทำให้อาซิโมรับรู้และจดจำสภาพแวดล้อม พร้อมตอบสนองการเคลื่อนไหวของมนุษย์ นอกจากนี้อาซิโมยังสามารถอ่านข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าที่ได้บันทึกไว้ในไอซีการ์ด และให้การต้อนรับได้อย่างถูกต้อง ส่วนความสามารถในการใช้ข้อต่อและมือ อาซิโมสามารถเข็นรถเข็นด้วยตนเอง โดยเซ็นเซอร์วัดแรงที่ข้อมือจะปรับแรงของแขนขวาและแขนซ้ายในการผลักรถเข็น สามารถรักษาระยะห่างจากรถเข็น และสามารถปรับเปลี่ยนการเคลื่อนที่ได้เมื่อมีสิ่งกีดขวางโดยการเคลื่อนที่ให้ช้าลงหรือเปลี่ยนทิศทาง อีกทั้งยังสามารถส่งหรือรับสิ่งของเช่น ถาด ได้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เทคโนโลยีการควบคุมการวางท่าทางของอาซิโมได้พัฒนาเพิ่มขึ้น นอกจากเคลื่อนที่ไปยังทิศทาง ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระแล้ว ปัจจุบัน อาซิโม สามารถวิ่งด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งเข้าโค้งและวิ่งวนเป็นวงกลม ได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะต้องอาศัยการเอียงจุดศูนย์ถ่วงของอาซิโมให้อยู่ในวงกลม เพื่อรักษาการทรงตัวขณะวิ่ง

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ที่จะได้พบกับ อาซิโมโฉมใหม่ และความสามารถล่าสุด ผู้สนใจสามารถเข้าชมและสัมผัสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของฮอนด้าและการแสดงความสามารถของอาซิโมอย่างเต็มรูปแบบในงาน “สุดยอดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย” หรือ F.T.I. Fair ในบูธฮอนด้า ณ ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายนนี้ โดยจะมีการแสดงของอาซิโมบนเวที วันละ 5 รอบ คือ 11.00 น. 13.00 น. 15.00 น. 17.00 น และ 19.00 น.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=140241&NewsType=1&Template=1

รถเมล์ไฟฟ้าบริการฉิ่วในจุฬาฯ


เอกชนด้านพลังงานสีเขียวเปิดตัวรถยนต์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า "ฮิบบัส" จุฬาฯ ขานรับนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ควักงบ 40 ล้านบาท ประเดิม 15 คัน ให้บริการรับส่งภายในสถาบัน

นายอภิรักษ์ วรรณสาธพ กรรมการผู้จัดการบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้พัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า โครงการรถฮิบ (HIB : Harmony Innovative Bus) รถยนต์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า เป็นความร่วมมือระหว่างกิจการร่วมค้าบริษัท สิขร จำกัด บริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด และบริษัทพลังงานฯ เพื่อจัดบริการเดินรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเน้นลดมลภาวะทางอากาศและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

รถฮิบพัฒนาโดยวิศวกรคนไทยของบริษัทสิขร ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้า และให้บริการแก่ผู้นำในการประชุมสุดยอดเอเปคเมื่อปี 2546 โดยใช้เวลากว่า 3 ปีพัฒนารถฮิบให้สามารถใช้งานบนถนนที่จราจรคับคั่ง อีกทั้งเครื่องยนต์สึกหรอน้อย ทำให้ประหยัดค่าซ่อมบำรุง ขณะที่บริษัทพลังงานฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการด้านระบบการเดินรถ ระบบการเติมพลังงานและการบำรุงรักษาต่างๆ

"รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นสิ่งที่พัฒนากันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครพัฒนารถปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ ถือว่าเราเป็นรายแรก ความพิเศษของรถนวัตกรรมนี้อยู่ที่ความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยมีช่องทางพิเศษสำหรับรถเข็นคนพิการ พร้อมที่จับยึด" กรรมการผู้จัดการบริษัท พลังงานฯ กล่าว

การใช้งานไม่ต่างจากรถยนต์ปกติ เพียงแต่อาจจะไม่คล่องตัวเท่า เนื่องจากต้องชาร์จไฟ ทำให้ต้องมีสถานีสำหรับชาร์จไฟเพิ่ม โดยปัจจุบันได้จัดสร้างสถานีชาร์จและแปลงพลังงานไฟฟ้าที่อาคารจอดรถจามจุรี 9 พร้อมทั้งประสานไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นจุดสำรอง กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น ไฟดับ อย่างไรก็ตาม รถฮิบติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ 3 ชุด แต่ละชุดใช้งานต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง จึงตัดปัญหาพลังงานไฟฟ้าหมดระหว่างการบริการ

รศ.น.ท.ไตรวัฒน์ วิรยศิริ ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า รถฮิบจะบริการเส้นทางเฉพาะภายในจุฬาฯ 15 คัน เริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) โครงการนี้เป็นสัญญาจ้าง 3 ปี ใช้งบประมาณจากส่วนกลาง 40 ล้านบาท ตามนโยบาย "มหาวิทยาลัยสีเขียว" เพื่อลดมลภาวะ สนองนโยบายภาครัฐในการอนุรักษ์และลดใช้พลังงาน ขณะที่บริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด นำระบบสมาร์ทเพิร์ส มาใช้บริหารจัดการค่าโดยสาร เพื่อลดใช้คูปองกระดาษ

"รถพลังงานไฟฟ้า 15 คันนี้จะมาแทนที่รถยนต์โดยสารแบบดีเซล ที่เราเช่ามาใช้งาน 10 คัน ในราคาคันละ 5,000 บาทต่อวัน ซ้ำราคาน้ำมันดีเซลก็แพงหากเทียบกับไฟฟ้า จากการคำนวณเบื้องต้นพบรถยนต์ดีเซลวิ่งในพื้นที่การจราจรคับคั่ง ใช้น้ำมันประมาณ 1 ลิตรต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตร ขณะที่รถพลังงานไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงานประมาณ 5 บาทต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตร จึงประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง" ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าว

สาลินีย์ ทับพิลา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/18/WW54_5401_news.php?newsid=110304

Monday, September 17, 2007

ตลาดนัดนวัตกรรมอวดโฉมฝีมือไทยถุงช็อปนาโน-บลูทูธ-ข้าวมหัศจรรย์


กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเชิญชวนคนไทย เยี่ยมชมนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือไทย 80 ชิ้นงาน เช่น ถุงผ้านาโนกันน้ำ หูฟังไร้สายสำหรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องสำอางจากสารสกัดลำไย พร้อมเป็นเวทีให้นักลงทุนหารือธุรกิจกับนักประดิษฐ์

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงกำหนดจัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2550 เพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านอาหาร การออกแบบและสื่อสารโทรคมนาคม รวม 80 ชิ้นงานที่เป็นฝีมือคนไทย 100%

ตัวอย่างผลงานที่จะจัดแสดงเช่น หูฟังไร้สายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยีบลูทูธ แปรงสีฟันพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ถุงผ้าฝ้ายนาโน มีคุณสมบัติไม่ดูดซับน้ำและน้ำมัน จึงไม่เปื้อนคราบ ชา กาแฟ หรือซอส ทั้งยังทำความสะอาดง่าย เครื่องสำอางจากสารสกัดเมล็ดลำไยที่ศึกษาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้100% ที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารเสริมชีวนะ (โปรไบโอติก) พร้อมด้วยวิตามินเอ ซี อีและแคลเซียม จึงเป็นเครื่องดื่มจากน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูง ผลิตภัณฑ์ผักรวมอบกึ่งสำเร็จรูป สำหรับรับประทานผสมร่วมกับข้าว หรือผสมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ และสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้นานถึง 2 ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพโดยปราศจากวัตถุกันเสีย

นอกจากนี้ยังมีส้มโออินทรีย์ที่ได้รับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลอาศัยเทคโนโลยีการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายแร่ธาตุจากเหมืองหินให้เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการ รวมทั้งการตัดแต่งกิ่ง ห่อผลด้วยถุงกระดาษ ตลอดจนการจัดการน้ำและดินอย่างเหมาะสม

ตลาดนัดนวัตกรรมหรือเทคโนมาร์ต&อินโนมาร์ต2007 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้พบปะนักประดิษฐ์เจ้าของนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจต่อไป

ศ.ดร.ยงยุทธยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกล่าวว่า การจัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2550 หรือเทคโนมาร์ต&อินโนมาร์ต2007 เป็นการรวมการจัดงานวันเทคโนโลยีของไทย 19 ตุลาคม และวันนวัตกรรมแห่งชาติ 5 ตุลาคมของทุกปี โดยมีนักเทคโนโลยี นักวิจัย นักประดิษฐ์ นำผลงานมานำเสนอต่อนักธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจจนตกลงซื้อขายและทำสัญญา นำไปสู่การผลิตเป็นสินค้าฝีมือคนไทยออกสู่ตลาด

ภายในงานจะมีการมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจและสังคม และรางวัล 10 เทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม โดยมีสมาคมเครื่องจักรกลไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง นำผลงานมาร่วมจัดแสดง

เช่นเครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กแบบหยอดเหรียญ กังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ ขนาด 400 วัตต์ และตำรับยาแผนโบราณจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Friday, September 14, 2007

"ดวงอาทิตย์พิมพ์ทองนาโน" ศิลปะจิ๋วเล็กกว่าเข็มหมุด


นิวไซแอนทิสต์/ฟิสิกส์โออาร์จี/บีบีซีนิวส์- ไอบีเอ็มเผยภาพ "ซัน" ผลงานของศิลปินศตวรรษที่ 17 พิมพ์ใหม่ด้วยอนุภาคทองนาโน ขนาดเล็กกว่าหัวเข็มหมุด 10 เท่า พัฒนาเทคนิคการพิมพ์ระดับจิ๋วแบบลดค่าใช้จ่ายและย่นระยะเวลา หวังประยุกต์ใช้พิมพ์ลายวงจรในชิปขนาดเล็กได้หรือแม้กระทั่งป้องกันการปลอมธนบัตร

ภาพดวงอาทิตย์กว้างเพียง 80 ไมครอนและเล็กกว่าหัวเข็มหมุดกว่า 10 เท่าเกิดจากเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพนาโนที่จัดเรียงอนุภาคทองขนาดเพียง 60 นาโนเมตรจำนวน 20,000 อนุภาคกลายเป็นภาพศิลปะขนาดจิ๋ว เทคนิคดังกล่าวสามารถนำไปประดิษฐ์เซนเซอร์ขนาดเล็กและส่วนประกอบของไมโครชิปได้ในราคาถูก

"วิธีนี้เป็นหนทางใหม่ที่จะวางตำแหน่งของอนุภาคนาโนหลายชนิดบนพื้นผิวที่แตกต่างกันได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ความเห็นของ ไฮโกะ วอล์ฟ (Heiko Wolf) จากห้องปฏิบัติการของบริษัทไอบีเอ็มในซูริค สวิตเซอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่พิมพ์ภาพดังกล่าว ทั้งนี้วารสารเนเจอร์นาโนเทคโนโลยี (Nature Nanotechnology) ได้รายงานผลงานนี้ด้วย

กระบวนการเริ่มต้นพิมพ์ภาพนาโนคล้ายกับการพิมพ์ภาพแบบปัจจุบันที่แป้นพิมพ์จะบรรจุอนุภาคนาโนในแบบกลับด้าน ก่อนที่จะนำไปพิมพ์ลงพื้นผิวที่ต้องการ แต่นักวิจัยสามารถควบคุมความแม่นยำในการติดอนุภาคบนแป้นพิมพ์ที่พิมพ์รอยเล็กๆ ซึ่งอาจเป็นจุดหรือร่องที่มีขนาดไม่ใหญ่กว่าอนุภาคมากนัก ทั้งนี้ร่องเหล่านั้นสร้างขึ้นโดยใช้เทคนิคของอุตสาหกรรมผลิตชิปซิลิกอน

ไอบีเอ็มบริษัทยักษ์ด้านคอมพิวเตอร์ให้ความสนใจในการทำอนุภาคขนาดนาโนเพื่อค้นหาวิธีย่นขนาดและปรับปรุงคุณสมบัติของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต โดยชิปคอมพิวเตอร์รุ่นปัจจุบันซึ่งออกมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ในปีนี้ก็บรรจุทรานซิสเตอร์ที่มีความกว้างเพียง 45 นาโนเมตร

นอกจากนี้ไอบีเอ็มเคยแสดงเทคนิคในการพิมพ์ภาพด้วยการเรียงทีละอะตอมเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นักวิจัยของบริษัทจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นเล็กๆ นี้ได้

เมื่อปี 2543 นักวิจัยจากไอบีเอ็มได้แสดงวิธีเคลื่อนย้ายอะตอมโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เอสทีเอ็ม (Scanning Tunnelling Microscope: STM) จัดเรียงเป็นอักษร IBM แต่กระบวนการเดียวนี้เสียค่าใช้จ่ายมากและค่อนข้างกินเวลามากเกินจะนำไปใช้ผลิตสินค้าในปริมาณมาก

วิธีการใหม่จึงต้องการใช้สารละลาย และเพื่อจะพิมพ์ภาพออกมา โดยใช้ "หมึก" ที่สร้างขึ้นจากอนุภาคนาโนที่แขวนลอยในสารละลายเหลว ระบายลงบนแผ่นซิลิกอนอ่อน แล้ววางสารตั้งต้นของแก้วหรือซิลิกอนลงบนส่วนบนสุด จากนั้นภาพก็จะถูกดึงลงบนแผ่นซิลิกอนคล้ายกับการลอกลาย

ในหมึก 1 หยดนั้นมีอนุภาคนาโนอยู่นับพันและเมื่อวาดหมึกลงไปบนฐานรองรับซึ่งมีร่องเล็กๆ อยู่จะมีแรงตึงผิวของของเหลวที่มีอำนาจมากดึงอนุภาคให้ลงไปอยู่ในในร่องเล็กๆ นั้น

ตามที่นักวิจัยอ้างกระบวนการนี้มีประสิทธิภาพ สามารถทำซ้ำและสามารถจัดวางวัตถุต่างชนิดกันได้ อาทิ โลหะ พอลิเมอร์ สารกึ่งตัวนำและสารประกอบออกไซด์ เป็นต้น และพวกเขายังคาดหวังที่จะจัดวางอนุภาคที่มีขนาดเล็กลงไปอีก โดยอาจเป็นขนาดเพียง 2 นาโนเมตร

เพื่อแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของกระบวนการนี้ ทีมวิจัยได้ใช้อนุภาคทองพิมพ์ลงไปบนซิลิกอน โดยเลือกพิมพ์ภาพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทองชื่อ "ซัน" (Sun) ของ โรเบิร์ต ฟลัดด์ (Robert Fludd) นักเล่นแร่แปรธาตุซึ่งมีชีวิตอยู่ในคริสตวรรษที่ 17

วอล์ฟกล่าวว่าวิธีการดังกล่าวยังอาจใช้ป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร เพราะการจัดเรียงตำแหน่งของอนุภาคนาโนอย่างแม่นยำนั้นต้องใช้เครื่องมือจำเพาะ ซึ่งนับเป็นการประยุกต์ที่น่าสนใจในการพิมพ์ลายเส้นขนาดเล็ก แม้จะไม่ใช่แรงจูงใจในการพัฒนางานวิจัยของพวกเขาก็ตาม

โทเบียส เกราส์ (Tobias Kraus) หนึ่งในทีมวิจัยซึ่งมาจากไอบีเอ็มเช่นกันกล่าวว่าเทคนิคนี้สามารถพิมพ์ภาพที่ให้ความละเอียดมากกว่าการพิมพ์แบบดั้งเดิม 3 เท่า โดยให้ความละเอียดถึง 100,000 จุดต่อนิ้วหรือดีพีไอ (dots per inch : dpi) มากกว่าการพิมพ์แบบปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1,500 ดีพีไอ

ทางบริษัทไอบีเอ็มเชื่อว่าเทคนิคการพิมพ์ภาพนาโนนี้สามารถนำไปใช้กับการพิมพ์ลายวงจรนาโนสำหรับชิปขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น ได้ดีพอๆ กับการผลิตเซนเซอร์ขนาดจิ๋วเพื่อใช้จับตาดูเชื้อโรคในร่างกาย

"กระบวนการเหล่านี้ค่อนข้างเป็นพื้นฐานที่จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง" จีนา-ลูกา โบนา (Gena-Luca Bona) เจ้าหน้าที่จากไอบีเอ็มกล่าวถึงกระบวนการพิมพ์ภาพนาโนแบบใหม่ ทั้งนี้งานวิจัยยังเป็นความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีอีทีเอช (Swiss Federal Institute of Technology Zurich: ETH) ในซูริคด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000107884

Thursday, September 13, 2007

เปลือกกุ้งทำเจลนาโนกันแดดอยู่หมัด


ทีมวิจัยจุฬาฯสกัดสารจากเปลือกกุ้ง เปลือกปูช่วยให้เจลกันแดดซึมลึกถึงผิวชั้นในปล่อยวิตามินปกป้องผิวได้เต็มที่ ออกฤทธิ์กันรังสียูวีได้นานกว่าผลิตภัณฑ์กันแดดทั่วไป

กลุ่มนักวิจัยจากหลายสาขาประกอบด้วยภาควิชาเคมี ชีววิทยา และสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดึงความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาร่วมกันสกัดเปลือกกุ้ง ปู และแกนปลาหมึก ที่ล้วนเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล มาเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีให้กับเจลกันแดด

จากการศึกษาสารในกลุ่มกรองรังสียูวีเอและยูวีบี ในเครื่องสำอางที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด พบว่า ประสิทธิภาพป้องกันแสงยูวีลดลงเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ ส่วนผสมของสารไทเทเนียมไดออกไซด์ระดับนาโนที่ช่วยพาเนื้อครีมซึมผ่านชั้นผิวหนังกำพร้าลงสู่ผิวหนังชั้นในดีขึ้น กลับมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้ผิวหน้าขาวผิดปกติ

รศ.ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ไคติน-ไคโตซาน ที่พบได้ในเปลือกกุ้ง และแกนปลาหมึก มีคุณสมบัติเหมาะสมนำมาปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีเพิ่มความสามารถในการกรองรังสียูวี

“รังสียูวีเอ และยูวีบี เป็นสารที่มีผลเสียต่อผิวหนัง ในการกระตุ้นดีเอ็นเอ และโปรตีนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลในระดับเซลล์ ส่งผลให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น เกิดอนุมูลอิสระ จนถึงโรคมะเร็งผิวหนัง” นักวิจัยอธิบาย

ไคติน-ไคโตซาน มีคุณสมบัติกระจายตัวได้ดีในน้ำ และไม่ตกตะกอน สามารถเก็บกักสารออกฤทธิ์ได้นาน เมื่อทำให้เนื้อครีมมีขนาดเล็กลงในระดับอนุภาคนาโน ขนาด 100 นาโนเมตร ช่วยเพิ่มคุณสมบัติให้สารป้องกันยูวีทำหน้าที่ป้องกันผิวได้นานขึ้น ขณะที่ปล่อยให้วิตามินบำรุงผิวซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวได้ทำการศึกษาในหนูทดลองร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ โดยทดสอบระดับเลือดของหนู หลังจากได้รับสารดังกล่าว ตลอดจนทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มย่อย จำนวน 15 คน ร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาถึงความปลอดภัยและความเป็นพิษต่อเซลล์ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่ายังจะต้องทดสอบความคงตัวและความเป็นพิษ และประสิทธิภาพในการปลดปล่อยตัวยา ก่อนที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนนำไปผลิตเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 51

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/13/WW54_5404_news.php?newsid=94407

Wednesday, September 12, 2007

แผ่นอะคริลิกนำแสงประหยัดพลังงาน


อดิสัย เฉิดฉิ้ม, รุ่งวิทย์ แก้วเกาะสะบ้า และธีรพงษ์ พันศรี นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ “แผ่นอะคริลิกนำแสงประหยัดพลังงาน” โดยใช้สารที่ช่วยในการกระเจิงแสงเข้ามาช่วย ทำให้แผ่นอะคริลิกกระเจิงแสงให้ส่องสว่างออกมาด้านหน้าแผ่นได้ดี และทำให้ป้ายโฆษณาสว่างชัดเจนสวยงาม โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลอดไฟเป็นจำนวนมาก

อดิสัย ตัวแทนกลุ่มเล่าว่า โดยทั่วไปคุณสมบัติของแผ่นอะคริลิกที่นำมาทำป้ายโฆษณา คือ ต้องมีความใส ทำให้สามารถมองเห็นงานโฆษณาได้ชัดเจน เวลากลางคืนเมื่อเปิดไฟ แผ่นอะคริลิก ควรจะส่องผ่านแสงออกมาได้กระจายทั่วทั้งแผ่น ป้ายโฆษณาจะสว่างใสสวยงาม กระจายแสงได้ทั่วถึงทั้งแผ่น และป้ายอะคริลิกจะต้องมีการสะท้อนและการหักเหของแสงสว่างภายในแผ่นจากหลอดไฟในทุกทิศทาง

หากแต่ในปัจจุบัน แผ่นอะคริลิกใสที่นำมาใช้ทำแผ่นป้ายโฆษณา จะมีการสะท้อนแสงออกมาไม่ทั่วทุกทิศทาง ลำแสงที่ผ่านออกมาค่อนข้างเดินทางเป็นเส้นตรง เช่น ถ้าให้แสงสว่างแก่แผ่นอะคริลิกบริเวณด้านล่างของแผ่น ลำแสงจะพุ่งขึ้นในบริเวณด้านบน แต่ไม่สะท้อน ออกด้านหน้า ทำให้ได้ความสว่างไม่มากพอ

โครงการจึงนำแผ่นอะคริลิกนำแสงมาทำการเติมสารช่วยในการกระเจิงแสง และทำการหาปริมาณของสารกระเจิงแสงและขนาดอนุภาคที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตแผ่นอะคริลิก รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาแผ่นอะคริลิกที่มีการเติมสารกระเจิงแสงที่สามารถส่องผ่านแสงสว่างออกมาได้มากขึ้น

ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การเติม “สารช่วยในการกระเจิงแสง” จะช่วยทำให้แสงสว่างจากหลอดไฟกระจายทั่วทั้งแผ่นอะคริลิก โดยเฉพาะกระจายออกจากด้านแผ่น ทำให้ป้ายโฆษณามีความสว่าง สวยงาม เด่นชัด

จากนั้น นำสารช่วยในการกระเจิงแสง มาทำการบดเพื่อลดขนาดอนุภาค ผลปรากฏว่า การลดขนาดสารช่วยในการกระเจิงแสงให้มี ขนาดเล็กลงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายแสงในแผ่นอะคริลิกได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การเติมสารช่วยในการกระเจิงแสงลงในแผ่นอะคริลิกก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าความแข็ง และการทนต่อแรงกระแทกของแผ่นอะคริลิกที่ผลิตได้ด้วย

แผ่นป้ายโฆษณานำแสงที่พัฒนาขึ้น สามารถกระจายแสงได้มากกว่าแผ่นอะคริลิกทั่วไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้พลังงานได้สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับแผ่นอะคริลิก ทั่วไป สามารถใช้งานได้ทั้งสองด้าน ให้ Back Ground สีขาวเหมือนฟลูออเรสเซนต์ และจุดวาบไฟมากกว่า 250 C

...นี่คืออีกหนึ่งผลงานของเด็กไทยที่ช่วยชาติประหยัดพลังงาน...

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=139640&NewsType=1&Template=1

ยานไร้คนขับบินข้ามคืนด้วยพลังแสงอาทิตย์นาน 54 ชั่วโมง


บีบีซีนิวส์-เครื่องบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ทำสถิติบินข้ามคืนนานที่สุดในโลกถึง 54 ชั่วโมง ด้านคณะกรรมการสมาพันธ์กีฬาทางอากาศนานาชาติรอข้อมูลทดสอบการบินนานกว่า 33 ชั่วโมงที่ทีมพัฒนายืนยันว่ามีหลักฐานพิสูจน์ความสำเร็จ

บริษัทด้านการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของอังกฤษไควน์ทิค (Qinetiq) สามารถนำเครื่องบินไร้คนขับ "ซีไฟร์" (Zephyr) ทำชั่วโมงบินได้ 54 ชั่วโมงระหว่างการทดสอบที่แนวพิสัยจรวดมิสไซล์ไวต์แซนด์ (White Sands Missile Range) ในนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งทีมพัฒนาเครื่องบินเชื่อว่าเป็นครั้งแรกของยานพลังงานแสงอาทิตย์ที่บินได้ด้วยพลังงานของตัวเองถึง 2 คืน

การทดสอบเกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเครื่องบินที่หนักเพียง 27 กิโลกรัมและมีปีกกว้างถึง 12 เมตรนี้ทำสถิติบินได้นานกว่า 2 วันก่อนที่การบินจะเริ่มขัดข้อง ส่วนการทดสอบครั้งที่ 2 บินได้สั้นกว่าเนื่องจากเกิดฟ้าคะนองจนเกิดความเสียหายที่ใบพัดขับเคลื่อนยาน โดยระหว่างทดสอบซีไฟร์ขึ้นไปแตะเพดานบินที่ความสูงที่สุด 18,000 เมตร

"เป็นการพิสูจน์และเป็นครั้งแรกของโลก ที่เครื่องบินสามารถบินได้ด้วยระบบกำลังไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 2 รอบเต็ม ทั้งนี้ยานบินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และชาร์จแบตเตอรีระหว่างวันเพื่อใช้ระหว่างกลางคืน แล้วยังมีพลังงานเหลือเฟือถึงรุ่งเช้าเมื่อกระบวนการชาร์จประจุเกิดขึ้นอีกครั้ง" พอล ดาเวย์ (Paul Davey) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของซีไฟร์กล่าว

ทั้งนี้สถิติสูงสุดของเครื่องบินไร้คนขับบันทึกไว้เมื่อปี 2544 เป็นสถิติเครื่องบินเจ็ทของอากาศยานกองทัพอากาศสหรัฐโกลบอลฮอว์ก (Global Hawk) ที่ทำชั่วโมงบินได้ 33 ชั่วโมง และซีไฟร์ยังไม่สามารถทำลายสถิติได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากทีมพัฒนาไม่ได้แจ้งสมาพันธ์กีฬาทางอากาศนานาชาติหรือเอฟเอไอ (Federation Aeronautique Internationale: FAI) ถึงการทดลองอันเป็นความลับนี้ จึงไม่มีตัวแทนจากสมาพันธ์เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ทางโฆษกกสมาพันธ์เอฟเอไอให้ความเห็นว่าการออกมาประกาศความสำเร็จของไควน์ทิคครั้งนี้ช้ามาก แต่ได้เผยว่าหน่วยงานกำลังรอรายละเอียดของการทดลองเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทีมไควน์ทิคเชื่อว่าหน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศจะช่วยพิสูจน์สถิติชั่วโมงบินที่ทีมทำได้ 33 ชั่วโมง 43 นาที เพื่อยอมรับอย่างเป็นทางการต่อไป

ไม่ว่าอย่างไรทีมพัฒนาซีไฟร์ก็เชื่อว่าอากาศยานของพวกเขาได้ทำลายสถิติโลกแล้ว โดยคริส เคลเลเออร์ (Chris Kelleher) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของซีไฟร์ กล่าวว่าเครื่องบินของพวกเขานั้นบินได้สูงและไปได้ไกลกว่าเครื่องบินไร้คนขับที่เคยเห็น

ทั้งนี้ซีไฟร์ไม่ใช่เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ลำแรกที่บินได้ข้ามคืน ก่อนหน้านี้ยาน "โซลอง" (SoLong) ของสหรัฐฯ ทำสถิติบินได้ 48 ชั่วโมงเมื่อปี 2548 แต่ยานไม่ได้อยู่ในภายใต้พลังงานอันคงที่ระหว่างทำการบินเหมือนซีไฟร์ ทั้งยังบินส่ายไปมา

เดิมทีนั้นซีไฟร์ได้รับการออกแบบมาเพื่อบันทึกภาพของบอลลูนยักษ์ที่ใช้ก๊าซฮีเลียมซึ่งพยายามจะทำลายสถิติโลกในการบรรทุกคนขึ้นไปได้สูงสุดในปี 2546 แต่จุดมุ่งหมายดังกล่าวก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อบอลลูน "ไควน์ทิค 1" เกิดรั่วขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงานและองคกรที่พยายามพัฒนาอากาศยานลักษณะเดียวกับซีไฟร์ อย่างองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐหรือนาซาก็ได้พัฒนายาน "พาธไฟน์เดอร์" (Pathfinder) และ "เฮลิโอส์" (Helios) โดยหวังว่ายานทั้ง 2 จะสามารถทดแทนดาวเทียมหรือยานอวกาศแบบไร้คนขับเพื่อสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น ดาวอังคาร เป็นต้น

ยานเฮลิโอส์ได้ทำสถิติบินไต่ความสูง 29,500 เมตรเมื่อปี 2544 แต่ในปี 2546 ยานเกิดพังเสียก่อนระหว่างบินอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งตะวันตกเกาะฮาวาย สหรัฐฯ

ยานสกายไซเลอร์ (Sky-Sailor) ของสวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการแข่งขัน ยานดังกล่าวเล็กกว่าซีไฟร์มากโดยมีปีกกว้างเพียง 3.2 เมตร และออกแบบมาเพื่อใช้งานบนดาวอังคาร

สำหรับยานไร้คนขับซึ่งยังเป็นต้นแบบที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นบินได้เองอย่างอิสระหรือไม่ก็ควบคุมโดยนักบินที่อยู่ภาคพื้น

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000106881

เจลกันแดดทาติดทนนาน จุฬาฯ วิจัยรับมือรังสียูวีอยู่หมัด

จุฬาฯ ใช้เทคโนโลยีนาโนเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือจากอาหารทะเลทำเป็นเจลทากันแดดประสิทธิภาพสูง ติดทนนานบนผิวหน้า สรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ แถมปลดปล่อยวิตามินลึกสู่ผิวชั้นใน เผยความคืบหน้ากำลังจะทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่

รศ.ดร.ศุภศรวนิชเวชารุ่งเรือง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มนักวิจัยเคมี ชีววิทยาและสัตวแพทย์ จุฬาฯ ร่วมกันพัฒนาสารป้องกันรังสียูวีใช้สารสกัดจากเปลือกกุ้ง ปู และแกนปลาหมึก(ไคติน-ไคโตซาน) เป็นวัตถุดิบ โดยนำมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี พร้อมทั้งอาศัยนาโนเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง

จากการศึกษาสารในกลุ่มกรองรังสียูวีเอและยูวีบีในเครื่องสำอางที่พบทั่วไปในท้องตลาด พบประสิทธิภาพของครีมกันแดดบนผิวหน้า จะลดลงเมื่อได้รับแสงยูวีหรือเมื่อทาทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ขณะที่ครีมกันแดดนาโน แม้ว่าเนื้อครีมจะซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในได้ดี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของผิว แต่ทำให้ผิวหน้าขาวผิดธรรมชาติ

ปัจจุบันยังไม่มีครีมกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนั้น กลุ่มนักวิจัยฯ จึงสนใจพัฒนาสารกรองรังสียูวีขึ้นโดยเลือกศึกษาไคติน-ไคโตซาน พบคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับปรับปรุงโครงสร้างทางเคมี เพื่อเพิ่มความสามารถในการกรองรังสียูวี ทั้งนี้ ไคติน-ไคโตซาน เป็นผลผลิตจากของเสียที่มีมากจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยเฉพาะเปลือกกุ้งและแกนปลาหมึก

ไคติน-ไคโตซานมีคุณสมบัติในการกระจายตัวได้ดีในน้ำ ไม่ตกตะกอน ทั้งยังเก็บกักสารออกฤทธิ์ได้นาน เมื่อพัฒนาเป็นสารกรองยูวีในรูปแบบเนื้อเจล และทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน (100 นาโนเมตร) ทำให้สารป้องกันยูวีเคลือบติดทนนานบนผิวหน้า ขณะที่วิตามินบำรุงผิวซึ่งเป็นส่วนผสมในเนื้อเจล ก็ซึมลงสู่ผิวหนังชั้นในได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำให้ผิวหน้าขาวผิดธรรมชาติ

กลุ่มนักวิจัยฯ ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ทดสอบใช้งานเจลกันแดดที่ได้ในหนูทดลอง และอาสาสมัครกลุ่มย่อย 15 คน เพื่อศึกษาความปลอดภัยและความเป็นพิษต่อเซลล์ ขั้นตอนต่อไปจะขยายอาสาสมัครเป็น 40 คน งานวิจัยนี้ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2551 หากผลที่ได้ตรงตามเป้าหมาย ก็จะส่งต่อเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตสารกรองยูวี เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันแดดต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, September 11, 2007

"นาโน" ในแบบไทยฉบับพึ่งพาตนเอง


คงไม่ต้องบอกว่าประเทศพัฒนาแล้วเขามีนวัตกรรมล้ำๆ ทางด้านนาโนเทคโนโลยีก้าวไกลไปถึงไหน เอาแค่ญี่ปุ่นในแถบเอเชียด้วยกันก็นำไปหลายขุม แค่เทคโนโลยีบนหน้าจอมือถือก็ทำเอาไทยเราวิ่งตามจนเหนื่อย แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่เทคโนโลยีของเราเองเลยเพราะเหล่านักวิจัยไทยก็กำลังไต่บันไดตามเขาไป

ทั้งนี้นักวิชาการทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยได้มาร่วมกันบนเวทีอภิปราย "นาโนเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเอง" ในการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550 (Thailand Research Expo 2007) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่พัฒนาได้

รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว จากเครือข่ายงานวิจัยด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เกริ่นถึงความก้าวหน้าทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งพัฒนาแอลอีดีหรือไดโอดเปล่งแสงได้หลากหลายสี โดยทางญี่ปุ่นนั้นเน้นพัฒนาไดโอดจากสารอนินทรีย์ ขณะที่เกาหลีมุ่งพัฒนาด้วยสารอินทรีย์หรือโอแอลอีดี (OLEDs) ซึ่งปรากฏเป็นจอภาพสีบนโทรศัพท์มือถือ

"แล้วไทยจะทำอะไร?" รศ.ดร.จิติตั้งคำถาม และได้เสนอแนวคิดในการพัฒนานาโนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับไทยว่า ในส่วนของแผ่นรองรับทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นส่วนใหญ่ใช้ซิลิกอนเป็นวัตถุดิบหลักซึ่งการจะพัฒนาทางด้านนี้สำหรับไทยถือว่าช้ามากแล้ว จึงคิดว่าฐานรองรับที่จะพัฒนานั้นต้องไม่ใช่ฐานซิลิกอน โดยมีต้นทุนต่ำและพัฒนาได้ในประเทศ จากนั้นต้องรู้เทคโนโลยีพื้นฐานและสะสมองค์ความรู้อย่างเพียงพอ ทั้งสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยวัสดุแบบใหม่หรือเทคนิคใหม่ในกระบวนการเตรียมวัสดุเพื่อขจัดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร

"เราจึงมองถึงพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้อุตสาหกรรมพลาสติกไทยก็ผสมสารเคมีเองและขึ้นรูปเองอยู่แล้ว ในส่วนศักยภาพของพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ก็มีความบางเบาและยืดหยุ่น อนาคตก็สามารถนำไปทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เกือบทั้งหมด โดยสัดส่วนอยู่ที่จอแสดงภาพประมาณ 60%" รศ.ดร.จิติแจง ทั้งนี้เครือข่ายวิจัยสามารถผลิตพลาสติกนำไฟฟ้าได้แต่ยังอยู่ระดับต่ำแค่ 2% และสามารถผลิตพลาสติกเปล่งแสงสีต่างๆ ได้ นอกจากนี้กำลังพัฒนาแว่นนาโนคริสตัลทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถมองเห็นคราบของสารคัดหลั่ง อาทิ คราบเลือด คราบน้ำเหลืองหรือคราบอสุจิ เป็นต้น เมื่อนำไปผ่านแสงยูวีได้

ทางด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจงว่ายุคต่อไปเป็นยุคหากินกับโมเลกุลหรือที่เรียกว่ายุค “เศรษฐกิจโมเลกุล” ซึ่งการจะไปสู่เทคโนโลยีนาโนที่แท้จริงต้องเริ่มจากจัดการฐานวัสดุให้ได้ก่อน ทั้งนี้พื้นฐานทุกอย่างมาจากคณิตศาสตร์ โดยเมื่อมองปฏิกิริยาเคมีสามารถอธิบายได้ด้วยพันธะเคมี และเมื่อมองลึกลงไปก็เป็นเรื่องกลศาสตร์ควอนตัม สมการชโรดิงเจอร์ (Schrödinger Equation) และที่สุดก็เป็นคณิตศาสตร์ที่จะอธิบายทุกอย่าง

ส่วน ผศ.ดร.สันติ แม้นศิริ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอว่าสามารถผลิตเส้นใยนาโนซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ อาทิ ผ้าปิดแผล ผิวหนังเทียม เป็นต้นได้ ทั้งนี้เส้นใยดังกล่าวผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไคติน-ไคโตซาน รังไหม เปลือกไข่ เป็นต้น โดยกำลังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์ ซึ่งได้จับหนูแฮมเตอร์มาสร้างบาดแผลขึ้น 2 แผลเพื่อปิดด้วยผ้าพันแผลทั่วไปกับผ้าปิดแผลจากเส้นใยนาโน พบว่าในเวลาที่เท่ากันผ้าพันแผลจากเส้นใยนาโนช่วยให้แผลหาย 31% และเมื่อแผลหายสนิทไม่ทิ้งรอยนูน ขณะที่ผ้าพันแผลทั่วไปทำให้แผลหาย 6% และเมื่อแผลหายสนิทก็ทิ้งรอยแผลนูนไว้

เหล่านี้คงพอจะทำให้หลายคนเห็นภาพว่าศักยภาพที่ไทยจะมีนาโนเทคโนโลยีเพื่อพึ่งพาตนเองนั้นอยู่ในระดับไหน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000105909

Sunday, September 9, 2007

ผ้าก๊อซนาโนแผลหายสนิท มข.เดินเครื่องทดสอบในคนไข้

นักวิจัยขอนแก่นประยุกต์ใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีสร้างเส้นใยจิ๋วทางการแพทย์ ทดสอบในหนูพบแผลหายสนิทใน 14 วัน เตรียมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วิจัยประสิทธิภาพในคน

ผศ.ดร.สันติแม้นศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มข. พัฒนาเส้นใยนาโน (Nanofiber) ได้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการเมื่อปีที่ผ่านมา สามารถประยุกต์ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ เช่น ผ้าปิดแผล เนื้อเยื่อเทียม โดยใช้งบประมาณราว 1 แสนบาท

เส้นใยขนาดเล็กระดับ200-300 นาโนเมตร ทำให้มีพื้นผิวเพิ่มขึ้นหลายเท่า โอกาสที่จะทำปฏิกิริยาก็มากขึ้น โดยคุณสมบัติที่ได้สามารถใช้ทำผิวหนังเทียม ที่มีระบบกรองโมเลกุลของเชื้อโรคได้อย่างละเอียด นักวิจัยกล่าวและว่า ในต่างประเทศมีการวิจัยพัฒนาผ้าปิดแผลจากเส้นใยนาโน เพื่อช่วยให้บาดแผลหายเร็ว และป้องกันการติดเชื้อ ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ผ้าปิดแผลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการขับขี่

ทีมวิจัยทดสอบเส้นใยนาโนที่ผลิตได้กับเซลล์ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยดำเนินการร่วมกับนักวิจัยชีวเคมี เพื่อดูการยึดเกาะของเซลล์กับเส้นใย พบว่าเซลล์ยึดเกาะได้ดีใน 7 วัน นอกจากนี้ยังร่วมกับสัตวแพทย์ เพื่อทดสอบแผ่นปิดแผลดังกล่าวในหนูทดลอง 14 วัน พบมีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อเกิดขึ้น คิดเป็น 30% ขณะที่ผ้าปิดแผลทั่วไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้เพียง 6% และไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์

ขั้นต่อไปของการวิจัยคือศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของเส้นใยสังเคราะห์ นาโนพอลิเมอร์ กับเส้นใยจากธรรมชาติที่ทำจากไคโตซาน เจลาติน และโปรตีนจากไหม ตลอดจนเปลือกไข่ ทำการทดสอบทางคลินิกหรือการวิจัยในคน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัย ซึ่งต้องทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์

นอกจากนี้เส้นใยนาโนสามารถพัฒนาเป็นอวัยวะเทียม ที่มีคุณสมบัติป้องกันการซึมผ่านของเลือด จากคุณสมบัติของพอลิเมอร์ที่ไม่ชอบน้ำ จึงช่วยป้องกันการผ่านของเชื้อโรค ขณะที่อากาศสามารถผ่านได้ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาหลอดเลือดเทียมสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

จากองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนาโนเทคมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาอนุภาคนาโนเทคโนโลยีแม่เหล็ก เพื่อบำบัดโรคมะเร็ง (Hyperthermia) ซึ่งใช้ความร้อนระดับ 40-45 องศาเซลเซียส ส่งผ่านอนุภาคนาโนแม่เหล็กไปยังก้อนเนื้อมะเร็ง โดยไม่ทำให้เซลล์ปกติเสียหาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Saturday, September 8, 2007

เอ็มเทค แสดงศักยภาพเยาวชนนักประดิษฐ์จัดงานแข่งหุ่นยนต์ IDC RoBoCon 2007 ครั้งแรกในไทย


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตรต่างๆ แสดงศักยภาพของเยาวชนไทย จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ IDC RoBoCon 2007 (International Design Contest) เพื่อเป็นเวทีให้เด็กไทยได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประดิษฐ์หุ่นยนต์ แลกเปลี่ยนความรู้ความ สามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประดิษฐ์หุ่นยนต์กับเยาวชนจากสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น เอ็มไอที โตเกียวเทค งานดังกล่าวจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2550 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

การแข่งขัน IDC RoBoCon 2007 จะแบ่งผู้แข่งขันออกเป็นทีม แบบคละประเทศ เยาวชนไทยจากสถาบันต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยมหิดล จะรวมกลุ่มกับเยาวชนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส สร้างและออกแบบหุ่นยนต์ที่ตอบโจทย์ ‘Thank You Mae (Mom)!!’ โดยหุ่นยนต์จะสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ และมอบพวงมาลัยและดอกไม้ให้แม่ได้สำเร็จมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. พินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์ โทรศัพท์ 02-564 7000 ต่อ 1466
หรือ บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด: พรวดี สถิตยางกูร หรือ ปานตา พูนทรัพย์มณี
โทรศัพท์ (02) 664 9500 ต่อ 117 หรือ 116 โทรสาร (02) 664 9515

Wednesday, September 5, 2007

สกัดน้ำมันจากสาหร่ายเติมไอพ่น


สองศาสตราจารย์จากสหรัฐหาทางผลิตเชื้อเพลิงจากสาหร่ายเพื่อใช้กับเครื่องบินไอพ่นกระทรวงกลาโหมเอาด้วยอัดฉีดเต็มที่สองร้อยกว่าล้านบาทให้พัฒนา และคิดกระบวนการผลิตเชิงการค้า

เสี้ยนหู และ มิลตันซัมเมอร์ฟิลด์ สองนักวิจัยมหาวิทยาลัยอริโซนาโพลีเทคนิค ศึกษาสายพันธุ์สาหร่ายที่ให้น้ำมัน และพัฒนาระบบการผลิตให้ออกมาเป็นเชื้อเพลิงขายในราคาที่แข่งขันได้กับน้ำมันเชื้อเพลิง และยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิงใช้กับเครื่องบินไอพ่น

สาหร่ายบางสายพันธุ์อุดมด้วยน้ำมันแต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรถึงสกัดน้ำมันออกมาใช้ด้วยต้นทุนที่ไม่แพงนัก ซึ่งนักวิจัยคิดว่าถ้าจะผลิตออกมาจำหน่ายในตลาดคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับเงินทุนวิจัยทุ่มลงมามากเท่าไร ถ้าทุ่มทุนวิจัยใกล้เคียงกับที่ใช้ศึกษาเชื้อเพลิงจากข้าวโพด พวกเขาเชื่อว่า การผลิตเชื้อเพลิงจากสาหร่ายคงสำเร็จเร็วขึ้น

นักวิจัยกล่าวว่ารัฐอริโซนาของสหรัฐเหมาะทำฟาร์มสาหร่ายอย่างยิ่ง เพราะมีที่ดินว่างเปล่าอยู่มาก และมีแดดจ้าเหมาะเพาะสาหร่ายจำนวนมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติของสาหร่ายเองชอบอาศัยอยู่ในน้ำที่อุดมด้วยธาตุอาหาร จึงนำเอาน้ำเสียมาใช้เป็นตัวกลางสำหรับเพาะสาหร่ายได้แทนที่จะเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติ ซึ่งอริโซนาค่อนข้างขาดแคลน

นักวิจัยคาดว่าหากต้องลงมือผลิตเชื้อเพลิงจากสาหร่ายในเชิงพาณิชย์คงต้องใช้ที่ดินในอริโซนากว่า 2,000 ไร่ สำหรับสร้างถังเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อผลิตเชื้อเพลิงจากสาหร่ายให้ได้ 100 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจุบันนักวิจัยได้เลือกสาหร่ายมาทดสอบแล้ว 10 สายพันธุ์ที่เห็นว่าให้น้ำมันได้มากและโตเร็วพอไปปลูกเพื่อผลิตเชื้อเพลิงได้ แต่การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุด และการกลายพันธุ์ยังคงดำเนินการต่อไป

สองนักวิจัยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถผลิตน้ำมันจากสาหร่ายได้ในห้องแล็บและยังได้ทดสอบถังเพาะเลี้ยงเซลล์ขนาดใหญ่นอกอาคารวิจัยของมหาวิทยาลัยด้วย น้ำมันที่ได้จากสาหร่ายถูกส่งไปยังบริษัท ยูโอพี ธุรกิจในเครือฮันนีเวลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กำลังพัฒนากระบวนการเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น คาดว่าในสิ้นปีหน้าจะผลิตเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมใช้กับเครื่องบินไอพ่นของทหารได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครื่องบินอัตโนมัติกู้ภัยไทย


มช.ออกแบบยานบินอัตโนมัติรุ่นใหม่สนับสนุนปฏิบัติการบินค้นหาผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ขนส่งสิ่งของบรรเทาสาธารณภัย
รศ.ดร.สัมพันธ์ ไชยเทพ หัวหน้าโครงการวิจัยหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศต้นแบบ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้เตรียมพัฒนาอากาศยานอัตโนมัติบินรุ่นใหม่ เสริมอากาศยานรุ่นก่อนที่เน้นปฏิบัติภารกิจบินตรวจการณ์ตามพื้นที่ชายแดน และตรวจปลอดภัยตามแหล่งท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาอากาศยานอัตโนมัติต้นแบบ โดยใช้ชื่อรุ่นว่าซีเอ็มยู-1 และซีเอ็มยู-2 มีเป้าหมายเพื่อบินสังเกตการณ์พื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือ สามารถส่งสัญญาณภาพวิดีโอไร้สาย พร้อมแจ้งพิกัดพื้นที่ตรวจการณ์ด้วยเครื่องรับส่งจีพีเอส โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการบริการวิชาการเชิงบูรณาการจากงบประมาณแผ่นดิน ปี 2548-2550

ชุดส่งสัญญาณภาพวิดีโอมีกำลังส่งได้ไกลถึง 1,000 เมตร ในพื้นที่โล่งแจ้ง ส่วนข้อมูลจากจีพีเอสจะแสดงตำแหน่งความเร็ว แผนที่การเดินทางของอากาศยานขึ้นบนหน้าจอ และยังทำงานร่วมกับโปรแกรมควบคุมพิกัดไร้สาย ระบบฉุกเฉิน ระบบควบคุมเสถียรภาพการบิน และระบบการบินอัตโนมัติทางไกล

ทีมวิจัยหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศมีแผนพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับหุ่นยนต์บินสำรวจเองทดแทนเครื่องยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์ และมีแนวคิดที่จะพัฒนาในส่วนของโปรแกรมภายในกล่องควบคุมการบินของหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาและดัดแปลงเครื่องยนต์ลูกสูบ 4 จังหวะใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง เครื่องยนต์ปฏิกิริยากังหันก๊าซต้นแบบ และเครื่องยนต์ปฏิกิริยาแบบ Pulse Jet เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบิน

สำหรับยานบินสำรวจอัตโนมัติรุ่นใหม่มีเป้าหมายในภารกิจทางพลเรือนมากกว่า เช่น อากาศยานสำรวจรุ่นเอ็กซ์ ซีเอ็มยู 3 มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเครื่องบินสำรวจอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย และสำรวจพื้นที่ยานพาหนะเข้าถึงยาก ส่วนอากาศยานสำรวจรุ่นเอ็กซ์ ซีเอ็มยู 4 เป็นเครื่องบินใบพัดแบบเฮลิคอปเตอร์ สามารถขึ้นลงโดยใช้พื้นที่จำกัด เหมาะสำหรับปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ

ทีมวิจัยยังได้รับการติดต่อจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ให้พัฒนาหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจสำรวจการดำเนินการภายในโรงไฟฟ้า ซึ่งจะถือว่าเป็นภารกิจแรกของหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศ

ปัจจุบัน คณะทำงานได้เปิดอบรมเผยแพร่เทคโนโลยี โดยจัดอบรมจำนวน 3 รุ่น รวม 200 คน สำหรับกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมปลาย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานราชการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจทางอากาศ และมีความสนใจร่วมมือในงานวิจัยพัฒนาที่จะมีต่อไปเช่น กองบิน 41 มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เป็นต้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/05/WW54_5405_news.php?newsid=93136

มช.ลุยเครื่องสำอางนาโน


สถาบันวิจัยพัฒนาฯ ม.เชียงใหม่ ผลักดันผลงานนาโนเทคโนโลยีสู่แวดวงเภสัชศาสตร์ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยา

รศ.ดร.จีรเดช มโนสร้อย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันพยายามที่จะประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีกับเภสัชศาสตร์ และศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาด โดยเคยมีความร่วมมือกับบริษัทเครื่องสำอางจากประเทศเยอรมนี ทำการวิจัยผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ที่สามารถรักษาโรคด่างขาวในระดับยีน ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษา

ส่วนงานการวิจัยอื่นๆ จะเกี่ยวกับสารคอสเมติกที่ทำให้ผิวขาว และงานวิจัยเกี่ยวกับการกักเก็บสารสกัดของพืชสมุนไพรไว้ใน "นาโนพาติเคิล" เพื่อทำเป็นเครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติทำให้เส้นผมเกิดใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ยาของผู้ที่มีปัญหาเส้นผมร่วง

ปัจจุบันแวดวงเภสัชศาสตร์ให้ความสนใจ ที่จะใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยา ลดผลข้างเคียง ตลอดจนควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงตัวผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยีมากกว่าอุตสาหกรรมยา เพราะมีความยุ่งยากน้อยกว่าทั้งเรื่องกฎหมาย การทดลองวิจัยและงบประมาณ ทำให้นักวิจัยส่วนใหญ่สนใจทดลองประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในเครื่องสำอางมากกว่ายา

นาโนเทคโนโลยีที่นิยมประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอางและยา ส่วนใหญ่จะเป็นคุณสมบัติด้านการเพิ่มความคงตัวของส่วนผสมเครื่องสำอาง เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมเข้าผิวหนัง และประสิทธิภาพในการกระจายตัวของยาในบริเวณเป้าหมาย ผ่านการใช้งานใน 3 รูปแบบหลัก คือ การกิน การฉีด และการทาให้ซึมเข้าทางผิวหนัง

"แม้ว่านาโนเทคโนโลยีจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเครื่องสำอางและยาในอนาคต แต่ควรจะกำหนดหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลตรวจสอบผลิตภัณฑ์นาโนอย่างจริงจัง อีกทั้งผู้ผลิตก็ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย และทำการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง" รศ.ดร.จีรเดช กล่าว
พิชัยยง มาเยอะกู่

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/05/WW54_5404_news.php?newsid=93135