Wednesday, January 30, 2008

ชี้ "มันสำปะหลัง" เป็นพลังน้ำมันสนองใช้แก๊สโซฮอล์


อาจารย์เกษตรศาสตร์ระบุ "มันสำปะหลัง" จะเป็นพลังตอบสนองนโยบายส่งเสริมใช้แก๊สโซฮอล์ ทั้งลดภาษีรถยนต์ E20 และไม่ต้องชำระเงินกองทุนน้ำมัน เหตุมันสำปะหลังปลูกง่ายและให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีโรจ รองผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์จากการลดภาษีให้กับรถยนต์ E20 ซึ่งส่งผลให้ค่ายรถต่างๆ ประกาศขายรถยนต์ E20 ร่วม 1.4 แสนคัน รวมถึงผู้ค้านน้ำมันไม่ต้องนำกำไรจากการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์เข้าสมทบกองทุนน้ำมัน จะทำให้มีความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันมีการใช้น้ำเบนซินวันละ 20 ล้านลิตร ซึ่งในปริมาณนี้หากเป็นแก๊สโซฮอล์ E20 ทั้งหมด จะมีปริมาณน้ำมัน 16 ล้านลิตรและเอทานอล 4 ล้านลิตร

"ความต้องการใช้เอทานอลจะมากขึ้น เอทานอลจะมาจากไหนได้บ้าง อ้อย กากน้ำตาล แต่ที่เป็นคำตอบคือมันสำปะหลังเพราะเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกอย่างทิ้งๆ ยังให้ผลผลิตได้ไร่ละ 3 ตันต่อปี หหากดูแลรักษาอย่างดีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นได้เป็น 5-6 ตัน ส่วนสายพันธุ์มันสำปะหลังไม่ได้มีปัญหาได้เพราะที่ปลูกในไทยล้วนมีพ่อแม่ (พันธุ์) เดียวกันทั้งนั้น" รศ.ดร.กล้าณรงค์กล่าว

พร้อมกันนี้รองผู้อำนวยการจากสถาบันผลิตผลฯ มก.ยังกล่าวถึงปัญหาเอทานอลที่ล้นตลาดว่าจะกระจายออกสู่ตลาดมากขึ้นจากเหตุจูงใจให้กับทั้งผู้ใช้และผู้จำหน่ายแก๊สโซฮอล์มากขึ้น พร้อมทั้งบอกอีกว่าเป็นเรื่องดีหากรถยนต์จะ "กิน" อาหารเช่นเดียวกับคน อย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น แทนที่จะ "กิน" อาหารนำเข้าอย่างน้ำมัน

ทั้งนี้เป็นการให้ความเห็นของ รศ.ดร.กล้าณรงค์ระหว่างการสัมมนาเรื่องพลังงานทดแทนระหว่างไทย-จีน ณ โรงแรมทวิน ทาวเวอร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.นี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000011605

Friday, January 25, 2008

รถสื่อสารไร้สายร่วมกู้ภัย

เนคเทคโชว์รถสื่อสารไร้สายร่วมกู้ภัยบริการโทรศัพท์ไร้สาย-เน็ตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับผู้สนับสนุนหลายฝ่ายพัฒนารถฉุกเฉินไร้สาย บุกให้บริการพื้นที่เสี่ยงภัยและชนบทห่างไกลในบริเวณที่สัญญาณสื่อสารครอบคลุมไม่ถึง

นายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังเกิดภัยธรรมชาติ คือการสื่อสารถูกตัดขาด ส่งผลให้การขอความช่วยเหลือและการประสานงานเพื่อกู้ภัยไม่สะดวก คณะนักวิจัยของเนคเทค จึงดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารสำหรับยามฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานบรรเทาภัยและผู้ประสบภัยพิบัติ

ทีมงานเนคเทคได้พัฒนารถสื่อสารฉุกเฉินฯ ต้นแบบสำเร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนำรถสื่อสารฉุกเฉินฯ ต้นแบบทดสอบความพร้อมการใช้งานในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เหล่ากาชาดจังหวัด ตำรวจ ทหารและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการนำร่องรถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทยดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย

ด้านนายนายโกศล หอมเพียร เจ้าหน้าที่ประจำรถสื่อสารฉุกเฉินฯ กล่าวถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์เครื่องนี้ว่า รถสื่อสารฉุกเฉินฯ นี้ สามารถให้บริการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ระบบสื่อสารข้อมูล

รถต้นแบบคันนี้ซึ่งใช้เวลากว่า 6 เดือนจึงแล้วเสร็จทำหน้าที่เหมือนกับสถานีฐานสำหรับส่งรับส่งสัญญาณโทรศัพท์สามารถใช้ได้ดีในระยะตั้งแต่ 300 เมตร ถึง ระยะ 3 กิโลเมตร เสาสามารถยึดได้ถึง 18 เมตร มีเครื่องโทรศัพท์สามารถใช้งานได้พร้อมกันครั้งละ 25 เลขหมาย และต่อคอมพิวเตอร์พร้อมกัน 25 เครื่อง สามารถชาร์ตไฟได้ 3 ระบบ คือจากไฟบ้าน การปั่นไฟจากมอเตอร์รถ และปั่นไฟจากน้ำมันได้ด้วย

ที่มา : komchadluek

Tuesday, January 22, 2008

สัมผัสถนนสายวิทย์แนวหรรษา

เริ่มแล้วกับถนนสายวิทยาศาสตร์ที่กระทรวงวิทย์ วันที่ 23-26 ม.ค. ร่วมเล่นกิจกรรมลับสมองกับ 100 กิจกรรมใน 31 ฐานความรู้ พร้อมเรียนรู้เทคนิคสร้างหุ่นยนต์ และเกมรูบิคที่จัดเป็นปีแรก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2551 ร่วมกับ 4 องค์กรพันธมิตรย่านถนนพระรามที่ 6 ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรธรณี องค์การเภสัชกรรม และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นโต้โผจัดงานสัปดาห์วิทย์ เป็นปีที่สอง ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคมนี้ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

เพื่อกระตุ้นและจุดประกายให้เยาวชนไทยหันมาให้ความสนใจเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มบุคลากรรุ่นใหม่พัฒนาประเทศ

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรธรณี องค์การเภสัชกรรม และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมต่างๆ

ภายในงานจะมีห้องเรียนเคลื่อนที่กว่า 100 กิจกรรม จาก 31 ฐาน ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำตามคำสั่งเสียง การผลิตหุ่นยนต์พื้นฐาน การสาธิตการฝังไมโครชิพสัตว์ การสาธิตใช้แม่เหล็กไฟฟ้าตรวจจับโลหะที่ใช้หลักการเหมือนการตรวจระเบิดในสนามบิน กิจกรรมช่วยลดภาวะโลกร้อน การเปิดให้ทำหนังสือทำมือและนำกลับบ้านได้

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันเกมรูบิคที่จัดเป็นปีแรก การฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ฉายวีดิทัศน์การปล่อยจรวดที่บรรทุกดาวเทียมธีออสขึ้นสู่วงโคจร ภาพถ่ายดาวเทียม การทดลองขุดค้นโครงกระดูกไดโนเสาร์ การเล่านิทานดาว

กิจกรรมผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิว การทดสอบเป็นนักสืบหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และการแข่งขันเกมชิงรางวัลอีกมากมาย
ในปีนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ร่วมแสดงนิทรรศการทางดาราศาสตร์และยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น เกมคล้องบ่วงดวงดาว/เกมโยนห่วงทางดาราศาสตร์ เกมช้อนจ้าวเวหา

รวมถึงเกมที่ให้เยาวชนได้ร่วมสนุก โดยตักลูกบอลขึ้นมาเพื่อลุ้นรับรางวัลเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ระบายสีภาพการ์ตูนแอนิเมชั่นจากนิทานดาวเรื่อง ดวงอาทิตย์ที่รัก เรื่อง ตำนานดวงอาทิตย์กับกระต่าย ตอบปัญหาทางดาราศาสตร์และรับของรางวัล

สถาบันดาราศาสตร์ยังมีหนังสือการ์ตูนและวีซีดีการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ คือ ดวงอาทิตย์ที่รัก ไปมอบให้ผู้ที่เข้าชมงานด้วย ติดตามข่าวสารของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ที่ www.narit.or.th

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/22/WW54_5401_news.php?newsid=222792

Wednesday, January 16, 2008

จุฬาฯ ผุดไอเดียโรงไฟฟ้าควอนตัมดอตโซลาร์เซลล์


"เสียดาย บ้านเรามีแสงแดดมากมาย น่าจะใช้ผลิตไฟฟ้าได้มากๆ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์" หลายคนอาจมีความคิดเหมือนกันกับความคิดข้างต้นนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีวี่แววว่าจะมีใครทำได้สักที แต่เป็นจริงแล้วที่รั้วจามจุรี

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า แม้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ทั่วๆ ไปจะไม่มีศักยภาพพอผลิตกระแสไฟฟ้าต่างโรงไฟฟ้าได้ แต่หากดึงเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงที่ใช้กับยานอวกาศมาใช้บนพื้นโลก คือ เซลล์แสงอาทิตย์โครงสร้างควอนตัมดอต ความฝันนี้ก็เป็นจริงได้

ในงานวิจัย "เซลล์แสงอาทิตย์โครงสร้างควอนตัมดอต" ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2550 โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ จึงมีการเตรียมต้นแบบโครงสร้างควอนตัมดอตระดับนาโนชนิดต่างๆ ในห้องปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อย เช่น ควอนตัมดอตที่เรียงตัวเป็นระเบียบ ควอนตัมโมเลกุล ควอนตัมดอตคู่ ควอนตัมวงแหวน และควอนตัมดอตที่มีจำนวนดอตหนาแน่นสูง ซึ่งจะช่วยให้การแปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น

"เซลล์แสงอาทิตย์ทั่วๆ ไปจะมีประสิทธิภาพแปลงแสงแดดไปเป็นไฟฟ้าได้แค่ 12 -15% แต่แบบโครงสร้างควอนตัมดอตจากสารประกอบแกลเลียมอาร์เซไนด์ (GaAs) จะให้ไฟฟ้าได้ถึง 25.9% และยิ่งความเข้มข้นแสงสูงขึ้นก็จะแปลงไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วย" นักวิจัยกล่าว ซึ่งความเข้มแสงที่มากขึ้นนี้จะเกิดจากการใช้เลนส์รวมแสงให้มาตกบนแผง โดยมีประสิทธิภาพได้ถึงที่ความเข้มมากกว่า 100 เท่าของแสงอาทิตย์ขึ้นไปทีเดียว

ส่วนขั้นต่อไปของงานวิจัย ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกว่า จึงเป็นการนำเสนอแนวคิดนี้ไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่หากมีความสนใจก็มั่นใจว่าจะให้กำเนิดโรงไฟฟ้าชนิดนี้ได้ โดยใช้ทุ่งกว้างติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ และมีฐานหมุนให้สามารถหันไปรับแสงได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นจะพัฒนาให้มีต้นทุนต่ำลงไปพร้อมๆ กันด้วย เนื่องจากตอนนี้ยังมีราคาแพงมาก

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000155618

Tuesday, January 15, 2008

ครม.เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติเดินหน้าฉลุย


ครม.เห็นชอบหลักการแผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติ ดร.ยงยุทธ หวังคนไทยพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาคการผลิตเอง ทั้งในด้านยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ หลังปลื้มเด็กไทยเก่ง มีกำลังใจดี สอดคล้องความต้องการในประเทศ

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.51 ว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้วในทุกรายละเอียดที่ได้นำเรื่องเสนอไป

ศ.ดร.ยงยุทธ แจกแจงว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาคการผลิตโดยฝีมือคนไทยเอง อาทิ อุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมองเห็นว่าคนไทยมีความสามารถในด้านนี้มาก

"เด็กของเราเก่ง และมีกำลังใจที่ดีแล้ว เช่น ทีมพลาสมา -ซี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยทั้งของปีที่แล้ว และล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาก็ชนะเลิศการแข่งขันรายการเดียวกันของปีนี้ โดยได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เมืองซูโจว ประเทศจีน"

"วิทยาการหุ่นยนต์เป็นเรื่องที่ไทยมีความต้องการสูง และเราก็มีศักยภาพสูงด้วย" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อทีมเยาวชนไทยจำนวน 2 ทีมจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 3 ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย รวมถึงทีมพลาสมา-ซี ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก ในการแข่งขันรายการใหญ่ "หุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก" (World Robocup 2007) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มาครองได้จนเป็นข่าวดังเมื่อกลางเดือน ก.ค.50 ที่ผ่านมา

ในการเข้าพบและรับเลี้ยงอาหารกลางวันของทีมเยาวชนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ณ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความสนใจให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต่อยอดการพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ในภารกิจรักษาความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลยินดีจะสนับสนุนงบประมาณให้

หลังจากนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยกร่างยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ โดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. เป็นประธานคณะกรรมการ และ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผอ.สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมรับผิดชอบในการร่างแผน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000005954

สวทช.คลอดโรงงานนาโน ผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษป้อนนักวิจัย

ศูนย์นาโนเทคทุ่ม500 ล้านบาท สร้างต้นแบบโรงงานผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ มุ่งค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีไทยสำหรับส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรม เผยผลผลิตเส้นใยที่ได้ส่งให้" ราชมงคลธัญบุรี" ทดสอบผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโน

ศ.ดร.วิวัฒน์ตัณฑะพาณิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์นาโนมีโครงการที่จะลงทุนด้านโรงงานเส้นใย ซึ่งจะผลิตเส้นใยที่มีลักษณะพิเศษด้วยเทคโนโลยีนาโน สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย โดยเส้นใยที่ได้จะส่งต่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ไปประยุกต์ขึ้นรูปเป็นผืนผ้า พิมพ์ลายรวมถึงพัฒนาเป็นสินค้านาโน

เป้าหมายของโรงงานนี้คือการพัฒนาเทคนิคและกระบวนการผลิตเส้นใยผสม ระหว่างเส้นใยโพลิเอสเตอร์กับเส้นใยไนลอน หรือเส้นใยโพลิเอสเตอร์ กับเส้นใยโพลิเมอร์ชนิดอื่น จากนั้นเคลือบด้วยสารอนุภาคนาโนทำให้เส้นใยมีคุณสมบัติโดดเด่น ในด้านความแข็งแรงทนทาน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติตามต้องการ เช่น ทนร้อนทนการเผาไหม้ ต้านแบคทีเรียหรือเหนียวเทียบเท่าลวดสลิง เป็นต้น

โครงการโรงงานเส้นใยต้นแบบนี้ได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้วจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณ 500 ล้านบาทในระยะ 5 ปี และจากการหารือในเบื้องต้นอาจจะซื้อโรงงานสิ่งทอสำเร็จรูปมาประยุกต์ใช้เป็นโรงงานต้นแบบ ซึ่งจะประหยัดกว่าการลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่

"ค่าก่อสร้างที่ประหยัดได้จะนำไปใช้ลงทุนด้านเทคโนโลยีซึ่งราคาค่อนข้างสูงหรือประมาณ 60 ล้านบาท ขณะที่งานวิจัยที่จะส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องทดลองผลิตในปริมาณที่มากพอ จึงกำหนดให้โรงงานต้นแบบนี้มีกำลังการผลิตเส้นใยที่ 10-20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มผลิตในสายการผลิตแรกได้ราวปี 2552"

ผู้อำนวยการศูนย์นาโนกล่าวอีกว่าในวันที่ 26 มกราคมนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่น จัดการประชุมเชิงวิชาการเผยแพร่วิทยาการใหม่ที่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น เทคโนโลยีนาโน พลังงานทดแทนและพลังงานอนาคต โดยมีนักวิจัยจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนร่วมนำเสนอผลงาน

ประโยชน์ที่นักวิจัยไทยจะได้จากเวทีประชุมนอกจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัยต่างชาติ ที่สนใจศึกษาในเรื่องเดียวกันแล้ว ยังได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้ ศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Friday, January 11, 2008

อพวช.อวดหุ่นยนต์ต้อนรับฝีมือไทย


หลังจากออกโชว์ตัวเป็นครั้งแรก ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว อพวช.ปรับปรุงหุ่นยนต์ฝีมือไทย ให้ดูอย่าง "เต็มตัว" และพร้อมทำหน้าที่ต้อนรับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายนิรุต กวีวัฒน์ นักวิชาการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) บอกว่า เอ็นเอสเอ็ม ซีโร่วัน เป็นหุ่นยนต์ขนาด 1 ม. สามารถตอบสนองคำสั่งเสียงบางคำสั่งได้ เช่น กล่าวคำทักทาย สวัสดี ทักทายผู้เข้าชม อพวช.
"อพวช. จะเปิดตัวหุ่นยนต์ต้อนรับ ฉบับสมบูรณ์ ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลอง 5 จ.ปทุมธานี หลังจากเคยโชว์ตัวครั้งแรกในงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50"

เอ็นเอสเอ็ม ซีโร่วัน เวอร์ชั่น 2 เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่พัฒนาเพิ่มเติมจากเวอร์ชั่น 1 ที่มีเพียงครึ่งตัว มีไฟกะพริบที่ใบหน้าระหว่างสนทนา สามารถขยับร่างกายได้ทั้งส่ายหน้าซ้าย-ขวา พยักหน้าขึ้น-ลง และสามารถขยับแขนทั้ง 2 ข้างได้
เช่น ยกแขนและงอแขน พร้อมมีเสียงทักทายหรือให้ข้อมูลกับผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ

อพวช.เตรียมนำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ต้อนรับและแนะนำข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้เข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โดยเริ่มทำหน้าที่วันแรกในวันเสาร์ 12 ม.ค. ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ

อนาคตตั้งเป้าพัฒนาใช้เป็นหุ่นยนต์ช่วยสาธิตการแสดง บรรยายข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ และประชาสัมพันธ์ข้อมูล แก่ผู้เข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมกิจกรรมวันเด็กประจำปี 2551 ร่วมกับรัฐบาลที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เน้นกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ดวงดาวและอวกาศ เกมสำหรับเด็กพิการ

กิจกรรมทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนอิเล็กทรอนิกส์ โซนนาโนเทคโนโลยี โซนเรื่องปัญหาโลกร้อน โซนวิทยาศาสตร์การกีฬา และโซนเทคโนโลยีชีวภาพ โดยรวบรวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจากศูนย์แห่งชาติ ทั้ง 4 ศูนย์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้ร่วมกิจกรรมงานวันเด็ก โดยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งพัฒนาโดยเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ที่ชนะเลิศอันดับที่ 3 จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย มาจัดแสดงที่ทำเนียบรัฐบาล

โปรแกรมดังกล่าวพัฒนาขึ้นสำหรับผู้พิการทางสายตา ในลักษณะของเกมสอดแทรกความรู้ภาษาไทย เกี่ยวกับสุภาษิตคำพังเพย โดยคอมพิวเตอร์จะโต้ตอบกับผู้เล่นด้วยเสียงพูด ในขณะที่ผู้เล่นควบคุมเกมผ่านคีย์บอร์ด ซึ่งพัฒนาร่วมกับผู้พิการทางสายตา ทำให้ได้เกมที่สามารถโต้ตอบกับคนตาบอดได้

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/11/WW54_5401_news.php?newsid=218994

Wednesday, January 9, 2008

‘วิทยาศาสตร์ช่วยอนุรักษ์สมบัติชาติ’

หากต้องการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุอายุยาวนานหลายร้อยปีให้คงอยู่ชั่วลูกหลาน นอกจากการเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว การบูรณะซ่อมแซม และเก็บรักษาอย่างถูกวิธีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้โบราณสถานและโบราณวัตถุดำรงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และภูมิใจในศิลปะของชาติ

นางจิราภรณ์ อรัณยะนาค หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร เล่าว่า สิ่งสำคัญของการอนุรักษ์โบราณวัตถุต้องเข้าใจที่มาของวัสดุ กระบวนการผลิต โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ นิวเคลียร์ วัสดุศาสตร์ ธรณีวิทยา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“หากต้องการอนุรักษ์แผ่นกระดาษอายุราว 200-300 ปี อย่างถูกต้อง จะต้องเข้าใจว่ากระดาษแผ่นนั้นมาจากต้นไม้ชนิดใด เช่น ยุโรปในอดีตผลิตกระดาษจากชันสนอาบด้วยกรดบางชนิด เช่น สารส้ม เพื่อไม่ให้หมึกพิมพ์เลอะ เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี กระดาษเริ่มกรอบแตกง่าย สาเหตุมาจากกรดที่ผสมอยู่ หากทิ้งไว้โดยไม่อนุรักษ์อย่างถูกวิธี กระดาษก็จะเสื่อมสภาไปในที่สุด” หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ยกตัวอย่าง

ทั้งนี้ นางจิราภรณ์ เป็นหัวหน้าของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คน ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบทำความสะอาดราชรถในพิธีเคลื่อนพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นางจิราภรณ์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนของการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงการใช้งาน จนถึงการเก็บรักษา ที่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม อุณหภูมิความชื้น ความร้อน จุลินทรีย์ รา แมลง ตลอดจนแก๊สบางชนิด และออกซิเจนที่มีผลทำให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่น หรือเสื่อมสลายได้ง่าย

“ความรู้ด้านเคมีมีส่วนช่วยให้เข้าใจวัสดุ เช่น กระดาษมีองค์ประกอบของเซลลูโลส ลิกนิน และไฟเบอร์มีผลทำให้กระดาษแข็งแรง ขณะที่เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีส่วนช่วยกำหนดอายุ ศึกษาองค์ประกอบของวัตถุเทคโนโลยีการผลิต”

การซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุ นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุจนเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วถึงใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น กาวชนิดพิเศษ แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม เครื่องดูดฝุ่นเฉพาะ ตลอดจนน้ำยาบางชนิดที่ช่วยขัดเคลือบผิวกระจก ให้กลับมามันวาว สะท้อนแสงได้ดังเดิม

“บางครั้งจำเป็นต้องใช้กาวเคมีแทนกาวจากครั้งที่ใช้มาแต่ในอดีตนั้น เนื่องจากนักอนุรักษ์จำเป็นต้องมองถึงความแข็งแรงในอนาคต ตลอดจนการรื้อซ่อมแซมได้ง่ายโดยไม่ส่งผลเสียหายต่อวัสดุเดิม” นักอนุรักษ์กล่าวจากประสบการณ์กว่า 36 ปีที่ปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์

โบราณวัตถุในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นชิ้น แต่บุคลากรที่เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์กลับมีอยู่เพียง 20 คน ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ชิ้นเล็กน้อย ไปจนถึงราชยานคานหามที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินี หรือสมเด็จย่า ล่าสุด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ร่วมซ่อมแซมราชยานคานหามในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คาดว่าจะใช้เวลาในการซ่อมแซมไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

ขั้นตอนการซ่อมแซมเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะเข้าไปสำรวจความเสียหายของ กระจก โลหะเงิน พู่ประดับ ตลอดจนชิ้นส่วนที่เสี่ยงได้รับความเสียหายขณะเคลื่อนที่ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานมาประมาณ 11 ปี ทำให้มีชิ้นส่วนหลุดลอกออกมา มีฝุ่นจับตลอดทั้งองค์ รวมถึงสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ นก แมลง ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยอาศัยความรู้และทักษะในการบูรณะ

“การบูรณะซ่อมแซมด้วยความเข้าใจโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ เป็นหัวใจสำคัญของงานอนุรักษ์ เช่นเดียวกับแพทย์ที่วินิจฉัยโรคเพื่อทราบสาเหตุ นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้” นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, January 8, 2008

เอ็มเทคเกาะเทรนด์โลกชู 'วัสดุนาโน'

เทคโนโลยีจิ๋วยังคงได้รับความสนใจจากสังคมไทย ทิศทางของโลกจิ๋วในปี 2551 จะไปในทิศทางใด เสื้อนาโน กระเป๋าผ้านาโน ชักโครกไม่เหม็นจะยังคงครองใจคนไทยหรือไม่

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) วิเคราะห์แนวโน้มงานวิจัยด้านเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ในปี 2551 ของประเทศไทยว่า

จะมุ่งสู่ "วัสดุนาโน" สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กตามความต้องการของตลาด รวมทั้ง "วัสดุพลังงาน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ ในการดูดซับแสงอาทิตย์โดยที่ต้นทุนต่ำลง

ภาพรวมแล้วทิศทางการวิจัยวัสดุศาสตร์ของไทย จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับวัสดุศาสตร์โลก ที่เน้นการวิจัยเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ที่ประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทน ซึ่งช่วยแก้วิกฤติพลังงานของโลก เช่น เซลล์เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล

ยกตัวอย่างทิศทางวิจัยวัสดุศาสตร์สำหรับการคมนาคม เจ้าของรถต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมัน ทำให้บริการขนส่งสาธารณะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

โดยเฉพาะ รถเมล์ไฟฟ้า รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่ต้องใช้แบตเตอรี่ งานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์จะมุ่งพัฒนาวัสดุที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้งานของแบตเตอรี่

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ประเทศที่ตั้งเป้าจะเป็น ดีทรอยต์เอเชีย อย่างประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์มาสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

เช่น อุปกรณ์หรืออะไหล่ยานยนต์ หากสามารถพัฒนาวัสดุชนิดพิเศษ ที่น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงพิเศษ ก็จะได้เปรียบทางการค้า
“เอ็มเทคมีนโยบายหลัก ที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากด้านพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมที่เป็น 2 ประเภทหลักแล้ว

เรายังวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร ในแง่ของบรรจุภัณฑ์และเกษตรกรรม เช่น พลาสติกย่อยสลายได้”

“วัสดุศาสตร์ เป็นหน่วยสนับสนุนศาสตร์ด้านอื่น อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อื่น เหมือนกับการปิดทองหลังพระ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า อยู่ภายในผลิตภัณฑ์นั้นๆ” ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าว

สาลินีย์ ทับพิลา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/08/WW54_5404_news.php?newsid=217056

มอ.ส่งหนังวิทย์ฉายพฤหัสฯนี้ต้องรับวันเด็ก

หน่วยงานวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติมอ.ปัตตานี เปลี่ยนห้องประชุมเป็นโรงภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ ขณะที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ส่งความรู้ผ่านนิทานดาวให้เยาวชนในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ศ.ดร.สุรินทร์พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ สสวท. กำหนดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จากเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคมนี้ ที่หอประชุมสำนักงานอธิการบดี และห้องประชุม 4 อาคาร 51 ซี

ภาพยนตร์ที่จะฉายแบ่งเป็นระดับประถมศึกษาเป็นแอนิเมชั่น 4 ตอน ตอนละ 40 นาที เช่น เรื่อง ไซบอร์ก หุ่นยนต์จิ๋วที่ถ่ายภาพภายในร่างกายมนุษย์ เรื่องคนครึ่งหุ่น นิยายอิงเรื่องจริงรวมกันแล้วเกิดเป็นลูกผสมครึ่ง และเรื่องผจญภัยในโลก ตอนแมวกับสุนัขใครฉลาดกว่ากัน

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรื่องปราการที่ถูกล้อม เนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาการธรรมชาติไบโอนิค และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรื่องโคลนนิ่ง : การรักษามนุษย์ด้วยเซลล์มนุษย์ เรื่องเหนือขอบฟ้าสู่อวกาศ และเรื่องจับมิติผ่านเลนส์ เป็นต้น สอบถามเพิ่มเติมที่โทร.0-7331-3928-50 ต่อ 1929

ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และหน่วยราชการอื่นๆ จัดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2551 ในวันเสาร์ที่ 12 มกราคมนี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีกิจกรรมเสริมสร้างความรู้มากมาย เช่น เกมคล้องบ่วงดวงดาว ตอบปัญหาดาราศาสตร์ ระบายสีการ์ตูนนิทานดาว พร้อมนิทรรศการทางดาราศาสตร์ และมาสคอตพี่กระต่ายจากนิทานดาว เรื่องตำนานดวงอาทิตย์กับกระต่าย

สดร.ยังร่วมกับอุทยานการค้ากาดสวนแก้วจ.เชียงใหม่ จัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่ลานกลางแจ้ง รวมทั้งที่ศูนย์ควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์ ที่ ชม.5 กิโลเมตรที่ 21 (ดอยอินทนนท์) โดยเน้นให้ความรู้ทางดาราศาสตร์แก่เด็กจากชุมชนชาวไทยภูเขา ประมาณ 200 คน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เทคโนประดิษฐ์- เติมพลังโซลาร์เซลล์ให้ถังเคมี


โรคภัยไข้เจ็บพื้นฐานที่อยู่คู่เกษตรกรชาวสวนคือ อาการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งมีทั้งระดับปวดเมื่อยธรรมดาจนถึงปวดเรื้อรัง ส่วนหนึ่งเกิดจากการออกแรงขุดดินพรวนดิน รวมถึงการแบกถังน้ำยาน้ำหนัก 16-17 กก. และเดินฉีดพ่นด้วยการชักคันโยกขึ้นลง ซึ่งกว่าจะครบทั่วทั้งสวนก็ใช้เวลาเช้าจรดเย็นรวมหลายวัน

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เจนศักดิ์แสงคำเฉลียง อาจารย์แผนกโทรคมนาคมวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ และทีมงาน ออกแบบระบบพ่นสารเคมี ให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องออกแรงโยก โดยนำแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 30x20 ซม. กำลังผลิตไฟฟ้า 16 วัตต์ มาใช้เป็นแหล่งป้อนพลังงานหลักให้แก่ชุดควบคุมโซลาร์เซลล์ ให้สามารถฉีดพ่นได้เพียงกดเปิดสวิตช์

สิ่งประดิษฐ์นี้อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งเริ่มแรกได้จากการเสียบปลั๊กไฟบ้าน ชาร์จทิ้งไว้ประมาณ 45 นาทีก็ใช้งานได้ จากนั้นแผงโซลาร์เซลล์จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ป้อนเข้าเครื่องตลอดเวลาที่ถูกใช้งานท่ามกลางแสงแดด ส่งผลให้เครื่องใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ส่วนรัศมีการพ่นไปไกล 1-2 เมตร

"หลังจากทดสอบเครื่องพ่นฯต้นแบบ โดยให้เกษตรกรใช้งานประมาณ 3 เดือน พบสามารถลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้จริง" อาจารย์เจนศักดิ์ กล่าว

เครื่องพ่นสารเคมีพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบนี้ใช้ต้นทุนพัฒนาประมาณ 7,000 บาท แต่หากผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ปริมาณมาก ต้นทุนจะถูกลงอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาจะยังคงแพงกว่าอุปกรณ์ฉีดพ่นแบบถังคันโยก ซึ่งราคา 1,200-1,300 บาท แต่ในระยะยาวถือว่าเครื่องพ่นฯ คุ้มค่าต่อสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

ทีมวิจัยอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อีกทั้งเป็น 1 ใน 33 ผลงานที่ร่วมประกวดในโครงการสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกับพัฒนางานวิจัยและบุคคลด้านสิ่งประดิษฐ์คิดค้นให้มากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Monday, January 7, 2008

ไทยลุ้นใช้กล้องดูดาวยักษ์ก่อนสิ้นปี 51

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์เผยกล้องดูดาวขนาดใหญ่ที่จะติดตั้งบนดอยอินทนนท์กำหนดเดินทางจากสหรัฐถึงไทยในช่วงปลายปี 51 มั่นใจช่วยเพิ่มงานวิจัยดาราศาสตร์ของคนไทย จากที่ผ่านมาต้องใช้ภาพถ่ายดวงดาวจากต่างประเทศ

รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ สดร.ว่า คณะกรรมการ สดร.ชี้แจงความคืบหน้าการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่นเดียวกับการสร้างกล้องดูดาว ซึ่งเป็นไปตามกำหนด โดยอยู่ระหว่างการประกอบและทดสอบประสิทธิภาพ ที่เมืองอริโซนา สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะส่งถึงประเทศไทยประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2551

"กล้องดูดาวที่นำมาติดตั้งบนหอดูดาวแห่งชาตินี้ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร เป็นกล้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบเอเชีย" รศ.บุญรักษา กล่าวและว่า กล้องดังกล่าวได้ติดตั้งระบบฐาน ระบบขับเคลื่อนกล้องอัตโนมัติ และระบบโดมที่เคลื่อนที่อัตโนมัติสอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งจะทำให้การสังเกตการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความสามารถของกล้องดูดาวนี้จะเพิ่มความสามารถในการส่องดูภาพวัตถุบนท้องฟ้าที่มีขนาดเล็กมาก รวมถึงกระจุกกาแลกซี และกาแลกซีที่มีอายุมาก ซึ่งสามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูง

ในอดีตสถาบันวิจัยตลอดจนนักดาราศาสตร์จะต้องซื้อภาพจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้กล้องดูดาวดังกล่าวจะช่วยผลักดันงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทยให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต ผู้อำนวยการสดร. กล่าว

ส่วนการสร้างหอดูดาวที่กม.31 บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จำเป็นต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านสถานที่ โดยรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน ที่มีข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ซึ่งในส่วนการสร้างหอดูดาว คาดว่าจะใช้งบประมาณของปี 2552

ทั้งนี้สิ่งที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ คือ การผลักดันพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... คาดว่าจะจัดตั้งได้สำเร็จภายในปีนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เทคโนประดิษฐ์- 'รถกันรังสี ปลอดภัย100% ผลงานมช.ชนะเลิศนวัตกรรมชาติ


มช.เปิดตัวชุดป้องกันอันตรายรังสีแบบเคลื่อนที่นวัตกรรมเพิ่มความคล่องตัวให้ผู้ปฏิบัติงาน ทุกส่วนของร่างกายปลอดภัย 100% พลิกรูปแบบการป้องกันรังสีปัจจุบัน เป็นชุดเกราะน้ำหนักมาก แถมเสี่ยงรับตะกั่วโลหะหนัก

ผศ.อุทุมมามัฆะเนมี คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยออกแบบรถป้องกันอันตรายจากรังสี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้รังสีเป็นเวลานาน จากปัจจุบันต้องสวมใส่ชุดกำบังซึ่งทำจากตะกั่ว มีน้ำหนักมากถึง 4-5 กก. และส่งผลต่อสุขภาพจากการสัมผัสโลหะหนักตะกั่ว

ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับรังสีเช่น แพทย์รังสี นักวิจัย เจ้าหน้าที่ในภาคอุตสาหกรรม ต้องอาศัยอุปกรณ์กำบังในรูปแบบเสื้อตะกั่ว หรืออุปกรณ์กำบังอวัยวะเฉพาะที่ แต่ในการคิดค้นรถกันรังสีนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงาน โดยทำงานอยู่บนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งลำตัว ไม่ต้องแบกน้ำหนักของอุปกรณ์ และอุปกรณ์นี้สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวกในรูปแบบรถกันรังสี

รถกันรังสีนี้ผลิตจากโพลีเมอร์ผสมแร่แบไรต์ซึ่งเป็น วัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและออกแบบเป็นรถสี่ล้อทรงมนขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ด้านหน้ามีฉากกั้นรังสี 2 ชั้น มีรูปโค้งครึ่งวงกลม เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับการเอื้อมมือออกไปปฏิบัติงานด้านหน้า

ชั้นที่1 เป็นชั้นล่างสำหรับป้องกันลำตัวส่วนล่าง ชั้นที่ 2 สำหรับป้องกันลำตัวส่วนบน ปรับระดับความสูงได้ถึง 180 ซม. ตรงกลางคันรถมีที่นั่งสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ด้านหลังเป็นฉากกำบังรังสีสำหรับป้องกันรังสีสะท้อนมาทางด้านหลังและปรับสมดุลของตัวรถ

"รถคันต้นแบบถูกใช้งานในหน่วยงานรังสีวินิจฉัย สามารถป้องกันรังสีทั่วร่างกายได้ 100% เทียบเท่าการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีครบชุดที่กันอันตรายจากรังสีได้บางส่วน เช่น เสื้อตะกั่ว แผ่นกันรังสีที่ต่อมไทรอยด์ แว่นตากันรังสี และแผ่นกำบังรังสีส่วนหลัง ทำให้มีอวัยวะบางส่วนอาจได้รับอันตรายจากรังสี เช่น คอ หลัง เป็นต้น" ผศ.อุทุมมากล่าว

ทีมงานยังต้องปรับปรุงระบบการขับเคลื่อนให้คล่องตัวและใช้งานได้ต่อเนื่อง จากปัจจุบันใช้งานได้ 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟ โดยอาจเพิ่มแบตเตอรี่สำรองหรือต่อพ่วงไฟฟ้าเพื่อสำรองพลังงานขณะใช้งาน และออกแบบให้แยกชิ้นส่วน เพื่อความสะดวกในการขนส่ง ส่วนราคาเครื่องต้นแบบใกล้เคียงกับเสื้อกันรังสีครบชุด

งานวิจัยนี้เป็นโครงงานสำหรับการจบการศึกษาปริญญาตรีในสาขารังสีเทคนิค รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และชนะเลิศ สาขาเทคโนโลยี รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2550

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

มหิดลปิดทางหัวใจวายซ้ำทำโมเดลเส้นเลือดระบุจุดลงมีด

มหิดลพัฒนาโปรแกรมจำลองการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจบายพาส ช่วยแพทย์ค้นหาจุดลงมีด เพื่อลดพื้นที่เสียหายของผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการกลับมาป่วยซ้ำ เตรียมจับมือแพทย์ศิริราชทดสอบในคน

รศ.ดร.เบญจวรรณ วิวัฒนปฐพี อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัย "การจำลองเชิงคณิตศาสตร์การไหลของเลือดในเส้นเลือดสู่หัวใจที่ผ่าตัดบายพาส" ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สำหรับประมวลรายละเอียดการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจบายพาส ช่วยลดโอกาสเป็นซ้ำให้แก่ผู้ป่วยที่ทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ

"โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการก่อตัวของก้อนไขมันที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้รูปแบบการไหลของเลือดในบริเวณนั้นผิดปกติ ขณะที่เทคนิคการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส ซึ่งใช้กับคนไข้ที่อาการหลอดเลือดอุดตันขั้นรุนแรง พบว่า 25% ของคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดบายพาส ต้องกลับมารับการผ่าตัดใหม่ภายใน 1 ปี และ 50% ต้องกลับมารับการผ่าตัดใหม่ภายใน 10 ปี" รศ.ดร.เบญจวรรณ กล่าว

ทีมวิจัยเริ่มพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามมิติ และเทคนิคเชิงคำนวณ เพื่อศึกษาการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจที่อุดตัน ด้วยระดับความรุนแรงต่างๆ ทำหน้าที่ประมวลรายละเอียดการไหลในหลอดเลือดหัวใจบายพาสผ่านคอมพิวเตอร์ ทั้งค่าความเร็วของเลือด ค่าความดัน ค่าแรงเค้นและแรงเฉือนที่ผิวหนัง

จากการศึกษาใช้งานโปรแกรมแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นพบว่า บริเวณที่เส้นเลือดอุดตัน ความดันเลือดจะลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้ความเร็วเลือดเพิ่มสูง จนก่อให้เกิดแรงเค้นและแรงเฉือนที่ผนังหลอดเลือดสูงผิดปกติ ทำให้เยื่อบุผิวถูกทำลาย จนหลอดเลือดใช้การไม่ได้ในที่สุด

ต่อมาเมื่อทดลองต่อการผ่าตัดบายพาสด้วยมุม 45, 60 และ 90 องศาที่หลอดเลือดอุดตัน ผลที่ประมวลได้พบว่า ยิ่งองศาของการตัดต่อบายพาสหลอดเลือดน้อย ค่าแรงเค้นและแรงเฉือนที่ผนังหลอดเลือดก็จะลดลง ทำให้เยื่อบุผิวถูกทำลายน้อยลง ลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำ

งานวิจัยนี้ ทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และเทคนิคการตัดต่อหลอดเลือดหัวใจบายพาส ที่ลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นหลอดเลือดอุดตันอีกครั้ง และในปี 2551 มีแผนที่จะทดสอบในสัตว์ทดลอง ขณะเดียวกันก็จะวิจัยในคนไปพร้อมกัน โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช หากประสบความสำเร็จก็จะขยายการใช้งานโปรแกรมแบบจำลองนี้ในโรงพยาบาลอื่นต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Sunday, January 6, 2008

เครื่องจับยุงนาโนไร้กลิ่นไร้คราบ


นักประดิษฐ์ไทยประยุกต์ใช้ความรู้ของศูนย์นาโนเทค ออกแบบเครื่องจับยุงรุ่นปลอดเชื้อโรค ส่งคลื่นความร้อนล่อยุงเข้ากับดัก ขังไว้จนตายเองใน 2-5 ชั่วโมง เผยไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีคราบเลือด

ไชยนันท์ รัตนกุลชัยวัฒน์ อาชีพนักประดิษฐ์ ได้ออกแบบเครื่องจับยุงเน้นคุณสมบัติใช้ง่าย ไม่ต้องอาศัยไฟฟ้าช็อตยุง ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีคราบเลือด และราคาขายประมาณ 1,000 บาท

ราคาดังกล่าวครัวเรือนทั่วไปสามารถซื้อได้ ตลอดจนสถานบริการ เช่น ฟาร์ม ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น เมื่อเทียบกับเครื่องจับยุงนำเข้าซึ่งราคาสูงถึงหลักหมื่น อีกทั้งตัวเครื่องมีขนาดใหญ่จนไม่เหมาะกับครัวเรือน

เครื่องจับยุงนี้ภายในทั้ง 4 ด้านเคลือบด้วย "สารไททาเนียมไดออกไซด์" ซึ่งได้จากการวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่สะท้อนความร้อนของหลอดไฟ ทำให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะในการล่อแมลงหรือยุง

แมลงหรือยุงที่เข้ามาในเครื่องจะถูกอบแห้งตายภายใน 2-5 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของแมลง-ยุง จึงไม่มีกลิ่นเหม็นไหม้และคราบเลือด

“ไททาเนียมไดออกไซด์” เป็นสารประกอบ เมื่อแตกตัวและมีขนาดเล็กลง จะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ ปัจจุบันใช้แพร่หลายในผลิตภัณฑ์นาโน เช่น เคลือบเส้นด้ายหรือสิ่งทอ ก็จะทำให้มีคุณสมบัติลดกลิ่น นอกจากนี้ไททาเนียมไดออกไซด์ยังมีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่นแสง จึงใช้ในครีมกันแดด ทำให้ครีมไม่เป็นคราบสีขาวหลังทาผิว

ในส่วนของเครื่องจับยุง สารไททาเนียมไดออกไซด์ ช่วยฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการดักจับและอบแห้งจนยุงตาย ส่วนการกำจัดซากยุงทำได้ง่าย เพียงถอดตะแกรงออกแล้วเคาะทิ้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เครื่องนี้ใช้ได้กับยุงตัวเมียเท่านั้น ซึ่งกินเลือดเป็นอาหาร โดยลดจำนวนยุงได้อย่างเห็นผลใน 3 เดือน เนื่องจากยุงตัวเมียจะตายไปเรื่อยๆ กระทั่งวางไข่ไม่ทัน

"ปัจจัยกระตุ้นให้ยุงปรากฏตัวมี 3 ปัจจัยคือ คลื่นความร้อน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกมาพร้อมกับลมหายใจ และกลิ่นคาวเลือด" ไชยนันท์ กล่าว

เครื่องนี้อาศัยคลื่นความร้อนเป็นตัวกระตุ้นยุง ถือเป็นทางเลือกในการกำจัดยุงโดยที่ไม่ต้องใช้ไฟช็อต กินไฟเพียง 44 วัตต์ และเปิดทิ้งไว้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งใช้ได้ทั้งภายในและนอกอาคาร

สิ่งประดิษฐ์เครื่องจับยุงไททาเนียมไดออกไซด์เป็น 1 ใน 33 ผลงานที่ร่วมประกวดในโครงการสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ พร้อมกับพัฒนางานวิจัยและบุคคลด้านสิ่งประดิษฐ์คิดค้นให้มากขึ้น

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/06/WW54_5406_news.php?newsid=217555

Wednesday, January 2, 2008

ไอทีโซน-ซอฟต์แวร์เติมชีวิตให้หุ่นยนต์ม.รังสิตตั้งเป้าหุ่นนักแสดงละครสั้น


มหาวิทยาลัยรังสิตจับมือนักวิจัยออสเตรเลียพัฒนาซอฟต์แวร์เติมความสามารถให้หุ่นยนต์โรโบซาเปียน ทำได้ทั้งรำไทย แดนซ์และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ วางแผนเจรจาภาคเอกชน หวังดันซอฟต์แวร์ออกสู่ตลาด เพิ่มโอกาสเจ้าของโรโบซาเปียนเปลี่ยนหุ่นยนต์ตัวทื่อให้เป็นของเล่นอัจฉริยะ

นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยร่วมกับ รศ.ดร.แลนซ์ ฟุ้ง รองคณบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเมอร์ดอชในออสเตรเลีย พัฒนาชุดคำสั่งให้หุ่นยนต์อัจฉริยะ "โรโบซาเปียน" สามารถเลียนแบบท่าทางของมนุษย์ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้นมาอีก 5 เมนู สอดคล้องกับโปรแกรมการทำงานเดิมที่ติดตัวมาจากโรงงานผลิต

ทีมวิจัยใช้เวลา6 เดือนพัฒนาซอฟต์แวร์ เพิ่มบุคลิกของหุ่นยนต์โรโบซาเปียนที่ชื่อ "ไอไทยสตาร์" ให้ความสามารถรำไทยได้อ่อนช้อย และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ โดยหยิบของแจกให้แก่ผู้คนรอบข้างได้

ซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังเพิ่มคำสั่งให้หุ่นยนต์สามารถกล่าวคำอวยพรภาษาอังกฤษว่า"เมอร์รี่คริสต์มาส" ซึ่งเป็นเสียงที่อัดไว้ในหน่วยความจำ และตั้งค่าให้ตอบกลับเมื่อได้รับคำสั่ง พร้อมกับเดินแจกลูกอมและขนมได้ด้วย หรือเล่นเกมตอบคำถามร่วมกับเด็กๆ กล่าวคำสวัสดี พร้อมกับโค้งคำนับได้อย่างสัมพันธ์กัน กิริยาท่าทางที่แสดงออกมาก็อ่อนช้อยกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป

"หุ่นยนต์ทั่วไปทำงานตามคำสั่งได้เพียงหันซ้าย ขวา เดินหน้า ถอยหลัง ตามแบบที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่สามารถแสดงปฏิสัมพันธ์ต่อมนุษย์ ทำให้ถูกเบื่อได้ง่าย" นักวิจัยกล่าวและว่า ที่ผ่านมาหุ่นยนต์โรโบซาเปียนได้รับการพัฒนาโดยติดตั้งเซ็นเซอร์ช่วยในการมองเห็น สัมผัส และได้ยิน พร้อมทั้งมอเตอร์ติดตั้งบริเวณข้อต่อเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ขณะที่ซอฟต์แวร์ช่วยเพิ่มความสามารถให้แก่หุ่นยนต์มากขึ้น

ในอนาคตนักวิจัยจะพัฒนาระบบควบคุมให้หุ่นยนต์ทำงานได้โดยควบคุมผ่านรีโมทเสมือนที่สร้างขึ้นในจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการควบคุมผ่านอินฟราเรดจากมือถืออีกด้วย โดยในปี 2551 บริษัทหุ่นยนต์ชื่อดังจากอเมริกา จะเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถและฉลาดมากขึ้น โดยทีมวิจัยไทยเล็งที่จะนำมาศึกษาเพิ่ม เพื่อพัฒนาให้สามารถปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหุ่นยนต์ตัวเดิมที่มีอยู่ สำหรับพัฒนาเป็นหุ่นยนต์นักแสดงละครสั้นในอนาคตอีกด้วย

นายฐิติพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ซอฟต์แวร์บุคลิก ไอ ไทยสตาร์นี้ ในปีนี้จะเจรจากับบริษัทผู้ผลิตถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวออกวางขาย เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ที่ครอบครองหุ่นยนต์โรโบซาเปียนซื้อไปเพิ่มความสามารถและทำให้หุ่นยนต์นั้นกลายเป็นมิตรที่ดีในบ้านต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ยอดดอยอินทนนท์เหมาะดูดาวนักดาราศาสตร์ชี้สูงพ้นฟ้าหลัว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แจงยอดดอยอินทนนท์เป็นจุดเหมาะสมสร้างหอดูดาวระบุอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,500 เมตรและสูงกว่าระดับฟ้าหลัว ส่งผลให้การใช้งานกล้องโทรทรรศน์เกิดประโยชน์สูงสุด

รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลังจากที่สถาบันได้รับงบกว่า 210 ล้านบาทเมื่อปี 2547 ให้จัดซื้อกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียและดำเนินการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเป็นรูปทรงโดม ณ ยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเพียงจุดเดียวในประเทศ มีความสูง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ระดับความสูงที่เกินกว่า2,500 เมตร มีความเหมาะสมที่สุดในการตั้งหอดูดาว เพราะสูงกว่าระดับฟ้าหลัว ทำให้การใช้งานกล้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งหอดูดาวที่จะสร้างก็มีขนาดเล็กเพียง 240 ตารางเมตร จึงไม่รบกวนสภาวะแวดล้อมทั้งมลพิษทางเสียงและทางอากาศ

การก่อสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของประเทศนั้นยอมรับว่า เป็นเรื่องที่สวนทางกับงานอนุรักษ์ กรณีดังกล่าวหากพบว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทางสถาบันก็พร้อมจะนำกลับไปพิจารณา แต่จากการศึกษาผลกระทบมาจนถึงขณะนี้ ยืนยันว่า การก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รศ.บุญรักษากล่าว

อย่างไรก็ตามการก่อสร้างหอดูดาวและการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ในขณะนี้กำลังดำเนินการประกอบชิ้นส่วนของกล้องอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2551 ดังนั้น การก่อสร้างอาคารหอดูดาวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม 2551 เช่นกัน จากนั้นจึงพร้อมเป็นแหล่งศึกษาดาราศาสตร์สำหรับนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ในฐานะศูนย์กลางดาราศาสตร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, January 1, 2008

ลุ้นอุกกาบาตชนดาวอังคารไม่กระทบโลก

นักดาราศาสตร์ไทยระบุโอกาสอุกกาบาตชนดาวอังคารมีน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงถือเป็นโอกาสดีของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะศึกษารูปแบบและผลจากการพุ่งชน ย้ำชัดมนุษยชาติไม่ได้รับผลกระทบ

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวถึงกรณีหน่วยงานขององค์การนาซาตรวจพบอุกกาบาตที่อาจพุ่งชนดาวอังคารในปลายเดือนมกราคมปีหน้า ว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อย นาซาประเมินโอกาสเสี่ยงไว้ที่ 1 ต่อ 75และยังมีค่าคลาดเคลื่อนอยู่ จะทราบผลแม่นยำได้ในอีก 1-2 สัปดาห์

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ หรือนาซา แถลงว่าพบดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 50 เมตร ชื่อ 2007 WD5 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เมตร จากการคำนวณอาจพุ่งชนดาวอังคาร ในวันที่ 30 มกราคม 2551

ขนาดของอุกกาบาตลูกนี้ใกล้เคียงกับลูกที่พุ่งใส่ไซบีเรียใกล้แม่น้ำทังกัสก้าของรัสเซียเมื่อปี 2451 หรือเกือบร้อยปีก่อน แรงระเบิดกินอาณาบริเวณหลายกิโลเมตร ต้นไม้พังราบ

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ชั้นในของระบบสุริยะ มีสภาพเป็นดาวเคราะห์หินแข็งคล้ายโลก นักวิชาการมองว่าหากอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคารจริง ถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ศึกษารูปแบบและผลจากการพุ่งชนผ่านกล้องที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และบันทึกภาพจากยานอวกาศที่โคจรอยู่รอบดาวอังคาร โดยอาจสังเกตเห็นรอยแผลที่ถูกชน ส่วนยานสำรวจดาวอังคารสองลำอยู่ห่างจากตำแหน่งที่คาดว่าจะพุ่งชน จึงเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า การพุ่งชนดาวอังคารไม่น่ากลัว และไม่อันตรายอย่างที่คิด เนื่องจากมวลของดาวเคราะห์มีขนาดเล็ก ผลที่เกิดยังรุนแรงน้อยกว่าดาวหางชูเมกเกอร์ชนดาวพฤหัสบดีเมื่อปี 2537 หรือเมื่อครั้งอุกกาบาตชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก