Tuesday, December 30, 2008

ผ่านปี '51 ผู้บริโภคยังต้องตัดสินใจเรื่องความปลอดภัย "สินค้านาโน"


แม้ว่ากระแส "นาโน" ในบ้านเรา จะคลายความตื่นตัวไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีงานวิจัยในความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ทั้งของไทยและเทศออกมาให้เห็น รวมทั้งประเด็นเรื่อง "ความปลอดภัย" ที่เริ่มกล่าวถึงการมากขึ้น มาตามไปดูกับ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ว่าในรอบปี 2551 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของวงการนาโนเทคโนโลยีในเมืองไทยรอบปี 2551 นี้คงต้องยกให้กับการจัดงาน ประชุมวิชาการและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์ ซิมโพเซียม 2008" (NanoThailand Symposium: NST2008) ที่จัดงานกันในช่วงปลายปี ถือเป็นการย้ำกระแสนาโนเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ดูเหมือนว่า "สินค้าเอกชน" อย่าง "ยาปลูกผมนาโน" ที่การันตีคุณภาพโดยที่ปรึกษาของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะ "ขโมยซีน" ความสำคัญของงานวิชาการและการวิจัยในการประชุมไปเสียหมด หลังจาก "ผู้ชายผมน้อย" ต่างเข้าคิวแย่งชิงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปทดลอง จนบรรยากาศของงานวิชาการกลายเป็นงานวัดย่อมๆ

ภายในงานนาโนไทยแลนด์ยังมีนักวิจัยระดับโลกอย่าง ดร.ไมเคิล เกรทเซล (Dr.Michael Graetzel) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการโฟโตนิกส์และอินเทอร์เฟส (Laboratory of Photonics and Interfaces) สถาบันโพลีเทคนิคอีโคลแห่งโลซานน์ (Ecole polytechnique Federale de Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเซลล์แสงอาทิตย์แบบย้อมสีไวแสงหรือดีเอสซี (Dye-sensitized solar cell: DSC) คนแรกของโลก มาร่วมงานเสวนาและบรรยายพิเศษ และเป็นพระเอกตัวจริงของงานที่ได้รับความสนใจจากคนในวงการ

เมื่อพูดถึงงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีเด่นๆ ในรอบปีมีอะไรบ้าง เปิดตัวมาให้ตื่นเต้นกันตั้งแต่ต้นปีสำหรับวัตถุดำที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) สหรัฐฯ ด้วยวัตถุจาก "ท่อนาโนคาร์บอน" (Carbon nanotube) จนได้วัตถุที่ดำมากกว่า 30 เท่าของของวัตถุจากคาร์บอนที่หน่วยงานดูแลมาตรฐานสหรัฐฯ ใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงความดำและวัตถุดำที่ผลิตขึ้นนี้ยังดูดกลืนแสงได้มากถึง 99.9% ใกล้เคียงกับวัตถุดำในอุดมคติที่สามารถดูดกลืนแสงได้ทั้งหมดและไม่สะท้อนกลับเลย

ดร.พูลิคเกล อาจายัน (Dr.Pulickel Ajayan) นักวิจัยสหรัฐฯ เชื้อสายอินเดีย เผยถึงการประยุกต์ใช้วัตถุดำดังกล่าว สามารถใช้ในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเก็บแสงทั้งหมดที่ตกกระทบได้ หรืออาจใช้ในการตรวจจับรังสีอินฟราเรดเพื่อการศึกษาดาราศาสตร์ได้ และถ้าพัฒนาให้เป็นวัตถุที่ดูดกลืนการแผ่รังสีทุกย่านได้แล้ว ยังประยุกต์ใช้ในการทหารสำหรับประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์ในการหลบซ่อนตัวและการป้องกันโจมตีได้

อีกผลงานที่น่าตื่นเต้นประจำปีนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยกให้กับ "อุปกรณ์ขนส่งนาโน" (nanotransporter) หรือ "มอเตอร์นาโน" ซึ่งพัฒนาโดยทีมนักวิจัยสเปนจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา (Universitat Autonoma de Barcelona) ที่ออกแบบท่อนาโนคาร์บอนให้มีท่อคาร์บอนเส้นสั้นหุ้มท่อคาร์บอนที่ยาวกว่า โดยที่ท่อนาโนสั้นนั้นเคลื่อนที่เดินหน้า-ถอยหลังไปตามแนวท่อนาโนเส้นยาวได้ตามความแตกต่างของอุณหภูมิ 2 ข้างที่ปลายท่อนาโนเส้นยาว ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบกลไกอิเล็กทรอนิกส์ระดับนาโนในอนาคต

ด้านความก้าวหน้าของนาโนเทคโนโลยีในเมืองไทยต้องยกให้ "ซิลเวอร์นาโน" (nanosilver) เป็นพระเอกประจำปีนี้ เพราะผลงานที่ต่อยอดสู่การใช้งานล้วนเป็นผลจากการประยุกต์ใช้อนุภาคเงิน ที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร อาทิ "รถพยาบาลนาโน" ซึ่งเป็นการประยุกต์การทาสีที่ผสมอนุภาคซิลเวอร์นาโนภายในตัวรถ เพื่อฆ่าเชื้อโรคซึ่งรถพยาบาลมีโอกาสสัมผัสอยู่ตลอดเวลา หรือ "ปากกานำไฟฟ้า" ซึ่งผสมอนุภาคเงินนาโน ทำให้ได้หมึกที่มีสภาพเป็นตัวนำไฟฟ้า และการเปลี่ยนสีมุกด้วยอนุภาคซิลเวอร์นาโนโดยตรึงลงบนผิวมุก ซึ่งเปลี่ยนสีมุกจากขาวนวลเหลืองเป็นมุกสีทอง เหลืองทอง ชมพู เทาและดำ เป็นต้น

ทั้งนี้ เบื้องหลังของซิลเวอร์นาโนที่ประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นผลงานจากทีมวิจัยของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ แห่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคาดว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ "อนุภาคเงินนาโน" จะยังคงเป็นพระเอกของวงการนาโนเทคโนโลยีไทยไปอีกหลายงาน

นอกไปจากงานวิจัยด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการเปิดเผยงานวิจัยด้านความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยีทยอยออกมาเปิดตัวให้คนทั่วไปได้ตื่นตัวควบคู่ไปกับกระแสความก้าวหน้า อย่างล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สหราชอาณาจักร ได้ทดลองผลของท่อนาโนคาร์บอนที่เกิดขึ้นในหนูทดลอง พบว่าอนุภาคนาโนดังกล่าวทำให้เกิดมะเร็งปอด ได้เช่นเดียวกับมะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหิน แต่นักวิจัยยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะระบุได้ว่า ท่อนาโนคาร์บอนแบบใดบ้างที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) สหรัฐฯ ได้ทดสอบว่าอนุภาคนาโนที่เคลือบเส้นใยสิ่งทอหรือผสมในสินค้าต่างๆ สามารถหลุดร่อนออกมาได้หรือไม่ ซึ่งพบว่ามีการหลุดร่อนของอนุภาคนาโนจากสินค้า โดยทีมวิจัยได้ให้ความเฆ้นว่าอนุภาคนาโนที่หลุดออกมานั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตตามแหล่งน้ำต่างๆ ได้ หากปล่อยน้ำทิ้งที่มีอนุภาคนาโนปนเปื้อนลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

หันกลับมามองที่เมืองไทยอีกครั้ง ว่าเราตื่นตัวต่อความปลอดภัยจากนาโนเทคโนโลยีแค่ไหน สำหรับคนทั่วไปอาจจะยังไม่ตระหนักว่าใน "ประโยชน์" ของนาโนเทคโนโลยีที่สามารถเนรมิตสารพัดคุณสมบัติมหัศจรรย์ให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังมี "โทษ" ที่เราอาจยังไม่รู้ตามมาอีกด้วย แต่หากถามหามาตรฐานของสินค้านาโน ณ วันนี้ยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนใดๆ ออกมา แม้แต่มาตรฐาน ISO ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางของมาตรฐานนาโนเทคโนโลยี

ส่วนมาตรฐานของไทยอย่าง "นาโนมาร์ก" (nanomark) ซึ่งอดีตผู้บริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ออกมาเปิดเผยเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่า สามารถสร้างฉลากที่ระบุได้ว่าสินค้าได้ "มี" หรือ "ไม่มี" นาโนเทคโนโลยี แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่กล่าวไว้

เมื่อศูนย์นาโนเทคเองไม่ได้มีอำนาจในกำหนดมาตรฐาน หากแต่มีเพียงเทคโนโลยีที่จะตรวจให้ได้ว่า สินค้าใด "เป็น" หรือ "ไม่เป็น" นาโนเทคโนโลยี อีกทั้งผู้ประกอบการทั้งหลายก็เริ่มไม่มั่นใจว่าการแปะฉลากรับรองว่า สินค้าเป็นผลิตภัณฑ์นาโนนั้นจะส่งผลต่อหรือเสียทางการตลาดในอนาคต เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่านาโนเทคโนโลยี "ปลอดภัย" หรือ "ไม่ปลอดภัย"

ดังนั้นผู้บริโภคในยุคนาโนเทคโนโลยีอย่างเราๆ จึงทำได้เพียง "ศึกษาข้อมูลให้มาก" ก่อนตัดสินใจ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000152720

Wednesday, December 24, 2008

แฮปปี้เบิร์ธเดย์ภาพแรก "โลกโผล่พ้นขอบดวงจันทร์" เมื่อ 40 ปีก่อน


เมื่อ "วันคริสต์มาสอีฟ" 40 ปีที่แล้ว ภาพ "โลกโผล่พ้นขอบดวงจันทร์" ได้ประจักษ์แก่สายตามนุษย์อวกาศในยานอะพอลโล 8 เป็นครั้งแรก และนักบินอวกาศก็ได้บันทึกภาพนั้นเป็นของขวัญแก่มนุษยชาติ

ในวันคริสต์มาสอีฟ (Christmas Eve) เมื่อ 40 ปีก่อนนักบินอวกาศในยานอะพอลโล 8 (Apollo 8) ซึ่งเป็นมนุษย์อวกาศชุดแรกที่ออกจากวงโคจรโลกไปโคจรรอบดวงจันทร์ ได้เห็นภาพโลกโผล่พ้นขอบดวงจันทร์ (Earthrise) เป็นครั้งแรก และแฟรงก์ บอร์แมน (Frank Borman) ลูกเรือผู้เห็นดาวเคราะห์สีน้ำเงินจากหน้าต่างยานเป็นคนแรกก็ได้บันทึกภาพนิ่งของภาพประวัติศาสตร์ดังกล่าวไว้

"โอ้ พระเจ้า ดูภาพนั่นสิ นั่นใช่ไหม" บีบีซีนิวส์เก็บคำอุทานของบอร์แมนในเหตุการณ์ครั้งนั้นมารายงาน และเขาได้บันทึกภาพโลกโผล่พ้นขอบฟ้าดาวบริวารได้ด้วยฟิล์มขาว-ดำ

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อนหน้านั้น เซอร์เฟร็ด ฮอยล์ (Sir Fred Hoyle) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวอังกฤษทำนายไว้ว่า เมื่อยานอวกาศเผยให้เราได้เห็นโลกทั้งใบ ภาพนั้นจะเปลี่ยนเราไปตลอด จากนั้นก็มีดาวเทียมจำนวนหนึ่งบันทึกภาพของโลกโผล่พ้นขอบดวงจันทร์ไว้ แต่วันที่ 24 ธ.ค.ปี 2511 เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนมนุษยชาติได้เห็นภาพนั้นด้วยตาของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ดี ไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวของโลกที่โผล่พ้นขอบพื้นผิวดวงจันทร์สีเทาซีดๆ อีกจนกระทั่งปฏิบัติการอะพอลโล 10 และ 11 ในปีถัดๆ มา แต่ภาพดั่งกล่าวก็สิ้นมนต์ขลังลง โดยในภารกิจของยานอะพอลโล 12 ได้บันทึกภาพโลกภาพกระจกหน้าต่างที่มีหมอกปกคลุมบางๆ และนับเป็นภาพโลกโผล่พ้นขอบดวงจันทร์สุดท้ายในยุคอะพอลโล

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000151111

Thursday, December 18, 2008

ซอฟต์แวร์นาไทยคว้าแชมป์สากล


ผลงานการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบนิเวศในนาข้าวโดยกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลาย จาก จ.ปราจีนบุรี สร้างความแปลกใหม่ในเวทีการประกวดซอฟต์แวร์ระดับเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศอินโดนีเซีย คว้ารางวัลรองชนะเลิศ

โปรแกรมห้องเรียนออนไลน์ระบบนิเวศในนาข้าวเป็นผลงานของกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนมารีวิทยากบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ร่วมพัฒนาโดยนางสาวกนกวรรณ สีแดง นักเรียนชั้น ม.6 นายเจษฎา กิตติวราภรณ์ และนางสาวชญานิษฐ์ วงษ์วิวัฒนาวุฒิ นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนเดียวกัน จนสำเร็จเป็นโปรแกรมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ในลักษณะอี-เลิร์นนิ่งเกี่ยวข้องกับนาข้าว และระบบนิเวศในนาข้าวไทย

กนกวรรณ หรือน้องเดียร์ หัวหน้าทีมพัฒนาโปรแกรม เล่าการพัฒนาโปรแกรมว่า ได้แบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนหาข้อมูล จากในเอกสารวิชาการ ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง รวมถึงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ ก่อนส่งต่อข้อมูลที่ได้ให้แก่ฝ่ายออกแบบกราฟฟิก และฝ่ายพัฒนาโปรแกรม

"เป้าหมายของโปรแกรม คือ ช่วยเผยแพร่ข้อมูลการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา อาชีพเกษตรกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมายังไม่มีผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาให้อยู่ในระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์" เจ้าของผลงานกล่าว

เดียร์เชื่อว่าโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยเสริมการเรียนรู้สำหรับคนที่ต้องการหาข้อมูลนาข้าว ระบบนิเวศในนาข้าว การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องลงพื้นที่จริง หรือเคยเห็นนาข้าวมาก่อน นอกจากจะใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ยังเป็นประโยชน์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลนาข้าวไปยังต่างประเทศด้วย

ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยกันออกแบบและเขียนโปรแกรมเข้าร่วมแข่งขันภายใต้โครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประเทศ

ต่อมา สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ได้ให้คำปรึกษา และแนะนำวิธีการต่อยอดและพัฒนาโปรแกรม และยังเป็นหนึ่งในตัวแทนของทีมไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับเอเชียแปซิฟิก Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards 2008 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ประเภทโครงการนักเรียนระดับมัธยมมาครองได้สำเร็จ
เจ้าของผลงาน กล่าวเสริมว่า โปรแกรมระบบนิเวศในนาข้าวออกแบบให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกวัย เหมาะสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นต้นไป เข้าใจง่ายโดยสื่อสารด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาประวัติชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสัตว์ในนาข้าว

โปรแกรมระบบนิเวศในนาข้าวเปิดให้ผู้ที่สนใจคลิกดาวน์โหลดที่ www.marykabin.ac.th และปฏิบัติตามขั้นตอนติดตั้งตามคู่มือแนะนำ โดยต้องจำลองเครื่องพีซีให้เป็นเซิร์ฟเวอร์ก่อน หรือหากมีเว็บไซต์อยู่แล้วสามารถอัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์ได้โดยตรง

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/12/18/x_it_h001_324664.php?news_id=324664

Saturday, November 8, 2008

เก็บตก "สิ่งทอนาโน" ในงาน "นาโนไทยแลนด์"


จัดงานครบ 3 วันเต็ม สำหรับ "นาโนไทยแลนด์" แม้ภาพรวมของงานจะโดน "สารอาหารบำรุงรากผม" ที่ได้พรีเซนเตอร์ระดับ "รัฐมนตรี" ออกมา "การันตี" คุณภาพ แต่ภายในงานก็ยังมีงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ได้ชม หลังจากเดินวนชมนิทรรศการอยู่หลายรอบ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็เห็นว่ามี "สิ่งทอนาโน" หลากหลายรูปแบบมาจัดแสดงในงานนี้

เริ่มตัวอย่างของ "สิ่งทอนาโน" ภายในงานการประชุมและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์" (NanoThailand Symposium 2008) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่บูธของบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี โซลูชัน จำกัด ที่ขนสารพัดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนาโนมาจัดแสดง อาทิ สบู่ เซรัมบำรุงผิว เจลอาบน้ำ แต่ที่สะดุดตาเราก็คือ "ถุงมือนาโน" ที่สวมใสโดย "พริตตี้" สาวสวยประจำบูธ

นายสุรพงษ์ ฉินทองประเสริฐ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ถุงมือดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ทีได้จากสิ่งทอซึ่งเคลือบ "นาโนซิลเวอร์" (nanosilver) ระหว่างกระบวนการทอก่อนตัดเย็บ ซึ่งทำให้ได้สิ่งทอที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความสะอาดและปลอดเชื้อ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากเกาหลีทั้งหมด

มาถึงบูธที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีตัวอย่างของสิ่งทอที่อยู่ในขั้นตอนของงานวิจัย แต่ดูเป็นความหวังสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ในอนาคต เริ่มจากเส้นใยผสมผงถ่านกะลามะพร้าวซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำให้ได้เส้นใยสีเทาๆ ที่มีคุณสมบัติดูดกลิ่น ดูดซับความชื้นและต้านแบคทีเรีย ซึ่งนำไปทอเป็นถุงเท้าได้

สำหรับสิ่งทอของสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ มีด้วยกันถึง 3 ผลงาน ซึ่งยังคงเป็นสิ่งทอในระดับงานวิจัยเช่นกัน นั่นคือ "เสื้อกันยุง" ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนแคปซูลผสมเข้ากับเส้นใยของสิ่งทอ เพิ่มคุณสมบัติในการดักเก็บกลิ่น ทำให้ฉีดกลิ่นตะไคร้ที่ยุงเกลียดและรักษากลิ่นได้นานขึ้น โดยกลิ่นที่ฉีดให้สิ่งทอที่ผสมนาโนแคปซูลนี้จะเลือนหายไปตามการซักครั้งละ 25% และเมื่อหมดกลิ่นก็ฉีดเพิ่มได้อีก ทั้งนี้นาโนแคปซูลจะคงอยู่ตามอายุใช้งานของเสื้อผ้า

ปกติเส้นใยโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) จะย้อมสีดิสเพอร์ส (Disperse dye) ได้ยาก แต่ทางสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ได้พัฒนาเส้นใยโพลีโพรพีลีนที่ผสมแร่ดินเหนียวนาโนหรือนาโนเคลย์ (nanoclay) ทำให้การย้อมสีติดได้ดีขึ้น และสุดท้ายคือสิ่งทอที่ผสมนาโนซิลเวอร์ในเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำผลงานมาจัดแสดงด้วย เนื่องจากจัดแสดงได้ลำบาก

ปิดท้ายด้วยตัวอย่างสิ่งทอนาโนจากไต้หวันของสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน (Taiwan Textile Research Institute) ซึ่งนำสิ่งทอหลายชนิดมาจัดแสดง อาทิ สิ่งทอที่ผสมสารหน่วงไฟซึ่งประยุกต์เป็นสิ่งทอสำหรับเฟอร์นิเจอร์ได้ สิ่งทอผสมสารป้องกันไฟฟ้าสถิต และสิ่งทอที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและกลิ่นไปพร้อมๆ กัน เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้กับสิ่งทอที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000132535

Friday, November 7, 2008

เปิดตัว "ไอ-โม" ยานยนต์สองล้ออัตโนมัติฝีมือคนไทย


สนช. เปิดตัวพาหนะ 2 ล้อทรงตัวอัตโนมัติ พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ขนาดเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา ขับขี่ง่าย ด้วยระบบควบคุมโดยสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ คล่องตัวแม้ในสถานที่คับแคบ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ไม่ก่อมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม และราคาถูกกว่านำเข้าหลายเท่าตัว

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด จัดงานเปิดตัว "ไอ-โม" (I-MO) พาหนะสองล้อทรงตัวอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานต่อยอดโดยฝีมือคนไทย ในระหว่างการจัดงานแนะนำ 10 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.51 ณ สยามพารากอน ซึ่งมีสื่อมวลชนมากมายให้ความสนใจ รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย

นายสุพร จิรัญญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ไอ-โม หรือรถสองล้อทรงตัวอัตโนมัติ เป็นผลงานที่พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีเพียงบริษัทเสกเวย์ (Segway) ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ผลิตยานพาหนะในลักษณะนี้จำหน่ายกว้างขวางมาหลายปีแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ซึ่งนำเข้ามาในราคา 3-4 แสนบาท โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามียอดขายไปแล้วหลายร้อยคัน

"รถยนตร์สองล้อทรงตัวอัตโนมัติที่เราพัฒนาขึ้นใช้หลักการเดียวกับของเสกเวย์ ซึ่งเป็นหลักการที่มีสอนอยู่แล้วในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ต่างไปจากเสกเวย์ก็คือการออกแบบรูปทรงที่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย โดยเราประกอบขึ้นเองจากภายในประเทศ ทำให้มีราคาถูกลง ประมาณคันละ 80,000 บาท ซึ่งชิ้นส่วนที่นำมาใช้ก็มีทั้งที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ และบางอย่างก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ" นายสุพร กล่าว

ด้านนายพชรพล จิรัญญกุล วิศวกร อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้นำหลักการการควบคุมการทรงตัวแบบลูกตุ้มนาฬิกาหัวกลับ (inverted pendulum) มาใช้ เพื่อรักษาสมดุลของผู้ขับขี่ให้อยู่นิ่ง และเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้โดยไม่ล้ม โดยอาศัยการโน้มตัวของผู้ขับขี่ เป็นการเลียนแบบการเดินของคนเรา เวลาที่เราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เราก็โน้มตัวไปข้างหน้าก่อน จากนั้นก็ก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามไป เพื่อยันตัวไว้ไม่ให้ล้ม

นายพชรพล กล่าวต่อว่า พาหนะบุคคลลักษณะนี้คิดค้นและพัฒนาขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อราว 8 ปีก่อน และมีการผลิตจำหน่ายอย่างกว้างขวาง และเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็ผลิตพาหนะบุคคลที่ใช้หลักการเดียวกันแต่มีรูปทรงแตกต่างออกไป ซึ่งไอ-โม ก็เช่นเดียวกัน โดยที่เราได้ออกแบบเองทั้งหมด ทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ กลไกการควบคุมต่างๆ รวมทั้งระบบสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ ซึ่งเราได้ร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการพัฒนาไอ-โม ด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สนช.

ไอ-โม ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณล้อทั้ง 2 ข้าง กำลังขับเคลื่อนข้างละ 500 วัตต์ สามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ถึง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออน ชนิดเดียวกับที่ใช้ในคอมพิวเตอร์โน้ตบุค แต่ขนาดใหญ่กว่า และกำลังไฟมากกว่า 4 เท่า เมื่อชาร์จไฟครั้งหนึ่ง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 4 ชั่วโมง

ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ที่มีระบบสมองกลฝังตัวอัจฉริยะในการควบคุมการทำงานของระบบขับเคลื่อน ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่งของผู้ขับขี่และความเร็วในการเคลื่อนที่ เพื่อทำการประมวลผล แล้วจึงส่งสัญญาสำหรับควบคุมความเร็วของมอเตอร์ เพื่อรักษาสมดุลของผู้ขับขี่ ซึ่งความเร็วในการประมวลผลราว 50 ครั้งต่อวินาที เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ขับขี่สามารถรักษาการทรงตัวอยู่ได้ตลอดเวลา

"การควบคุมการเคลื่อนที่และความเร็ว ทำได้โดยการโน้มตัว โดยโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อเดินหน้า หรือโน้มตัวไปด้านหลังเมื่อต้องการถอยหลัง หากต้องการให้เคลื่อนที่เร็วขึ้นก็โน้มตัวให้มากขึ้น เมื่อต้องการบังคับให้หยุด ก็โน้มตัวกลับมาที่ตำแหน่งตั้งตัวตรง และเราสามารถยืนตัวตรงเพื่อหยุดอยู่กับที่ได้โดยไม่ต้องก้าวลงจากแท่นยืน เพราะไมโครคอนโทรลเลอร์จะคอยรักษาสมดุลของผู้ขับขี่อยู่ตลอดเวลา" นายพชรพลอธิบายวิธีการขับขี่ไอ-โมเบื้องต้น

นอกจากนี้ ไอ-โมยังสามารถใช้งานในสถานที่แคบๆ ได้คล่องตัว เนื่องจากสามารถหมุนรอบตัวเองได้โดยไม่ต้องเคลื่อนที่ ซึ่งการบังคับทิศทางและการเลี้ยวทำได้โดยการโยกจอยสติ๊ค (Joystick) ด้วยปลายนิ้วเท่านั้น

นายสุพร กล่าวตอนท้ายว่า เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในงานนี้ โดยในปีแรกตั้งเป้าผลิตจำนวน 200 คัน โดยเน้นจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลักเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การใช้งานในโรงงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ภายในหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์แสดงสินค้า สนามบิน และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000131915

Wednesday, November 5, 2008

รถไม้ไผ่


รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบที่นั่งเดียว หรือ แบมบู คาร์ ออกแบบและพัฒนาโดยเมืองเกียวโตและมหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ตัวถังทำจากไม่ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่น วิ่งได้ไกล 50 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181605&NewsType=1&Template=1

มจธ.อวดซอฟต์แวร์ประหยัดไฟพีซี

ทีมนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อวดซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานเครื่องคอมพิวเตอร์ หวังบันดาลให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกช่วยกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง

รชต สุรัตตกุล นักศึกษาชั้นปี 4 จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นผลงานที่เข้าแข่งขันในโครงการอิมเมจิน คัพ 2008 ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3

“ขณะนี้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สามารถทำงานสอดรับกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ครอบคลุมทุกระบบ ทั้งเก่าอย่างวินโดว์ เอ็มอี หรือระบบใหม่อย่างซิลเวอร์ไลท์ อาร์ซี 1 จากเดิมที่รองรับเฉพาะวินโดว์เอ็กซ์พีเท่านั้น” รชตกล่าว

ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์เหมือนโปรแกรมทั่วไป ระบบจะจัดการควบคุมการทำงานเปิดปิดหน้าจอเมื่อไม่ใช้ภายใน 5 นาที รักษาสมดุลการทำงานของซีพียูอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี เพื่อนร่วมทีม กล่าวว่า เครื่องคอมพ์ที่ลงซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปแล้วสามารถตรวจสอบได้ว่าได้ใช้กระแสไฟฟ้าไปแล้วกี่บาท และยังดูเปรียบเทียบกันระหว่างค่าไฟก่อนติดตั้งและหลังติดตั้งได้ด้วย

ระบบเปรียบเทียบค่าไฟที่ทีมวิจัยนำมาใช้กับซอฟต์แวร์ เป็นการคำนวณโดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยขององค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาขึ้น และเริ่มนำมาใช้งานจริงเมื่อ 3 ปีก่อนจนทั่วโลกยอมรับในมาตรฐานการคำนวณค่าไฟ

“ประโยชน์ที่เกิดจากการนำซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปติดตั้งคือ อนาคตไทยจะมีความร่วมมือกับต่างประเทศทั่วโลกในด้านการช่วยลดการใช้พลังงาน เพราะสามารถนำผลคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าไปเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลการใช้พลังงานจากเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับชาติได้” ชินพงศ์กล่าว

ถึงเป้าหมายหลักคือสำนักงาน บริษัท และองค์กร แต่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์พีซีตามบ้านได้เช่นกัน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ระดับชาติขึ้น

ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานคอมพิวเตอร์จะมาโชว์ความสามารถในงานเปิดบ้าน มจธ. ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับผลงานวิจัยทั้งของอาจารย์ นักศึกษา มาร่วมแสดงอีกมากมาย ทั้งการแข่งขันหุ่นยนต์ การแนะแนวศึกษาต่อ การโชว์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ การสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุนาโน เป็นต้น

กานต์ดา บุญเถื่อน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/11/05/x_it_h001_228868.php?news_id=228868

Tuesday, November 4, 2008

"จันทรายาน" ส่งภาพ "โลก" ชิมลางก่อนทำแผนที่ดวงจันทร์


จันทรายานใกล้ถึงดวงจันทร์แล้ว พร้อมบันทึกภาพ "โลก" เป็นภาพแรก กลับมาให้ชื่นชม เป็นการชิมลางก่อนเดินหน้าสำรวจดาวบริวารของโลก โดยเตรียมเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์วันที่ 8 พ.ย.นี้

เอเอฟพีและบีบีซีนิวส์รายงานว่าจันทรายาน 1 (Chandrayaan-1) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของประเทศอินเดีย เดินทางเข้าใกล้ดวงจันทร์แล้วเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 พ.ย.51 พร้อมกับส่งภาพถ่ายแรกของจันทรายาน 1 กลับมายังโลก หลังจากออกเดินทางจากแดนภารตะ มุ่งหน้าสู่ด้วงจันทร์ไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา

"การปฏิบัติการส่งจันทรายาน 1 ไปยังดวงจันทร์ผ่านไปได้ด้วยดี" เอส. สาทิส (S. Satish) ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือ ไอเอสอาร์โอ (Indian Space Research Organisation : ISRO) กล่าวกับเอเอฟพี โดยขณะนี้จันทรายาน 1 อยู่ห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 1,000 กิโลเมตร

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินของไอเอสอาร์โอที่ศูนย์ควบคุมในเมืองบังกะลอร์ อินเดีย ได้ทำการทดสอบการทำงานของกล้องบันทึกภาพภูมิประเทศของจันทรายาน 1 หรือทีเอ็มซี (Terrain Mapping camera: TMC) โดยการบันทึกภาพพื้นผิวโลกที่ระดับความสูงต่างๆ

ภาพแรกเป็นภาพบริเวณชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของออสเตรเลีย บันทึกไว้ขณะอยู่ที่ระดับความสูง 9,000 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก ภาพที่ 2 เป็นบริเวณชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของออสเตรเลีย บันทึกเมื่อจันทรายานอยู่ที่ระดับความสูง 70,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ กล้องทีเอ็มซีเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ 11 ชิ้น ของจันทรายาน 1 สำหรับการสำรวจดาวบริวารของโลกในครั้งนี้ โดย 5 ชิ้น เป็นของที่อินเดียผลิตขึ้นเอง ส่วนที่เหลือเป็นอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไอเอสอาร์โอตั้งใจส่งจันทรายาน 1 ขึ้นไปสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ พร้อมกับบันทึกภาพเพื่อทำแผนที่ 3 มิติของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วย โดยในวันที่ 8 พ.ย. นี้ ไอเอสอาร์โอจะนำจันทรายาน 1 เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูงจากพื้นผิวของดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130741

Wednesday, October 29, 2008

“รถพยาบาลนาโน" คันไม่เล็กแต่ปลอดเชื้อด้วย "สีนาโน”


ไม่ใช่แค่เสื้อนาโน แต่ "ซิลเวอร์นาโน" ยังนำไปผสมสีใช้ทา "รถพยาบาล" ได้รถปลอดเชื้อโรค ไฮไลท์งานประชุม "นาโนไทยแลนด์” ผอ.นาโนเทคระบุ ยังไม่มีรายงานอันตรายของอนุภาคนาโน ด้านนักวิจัยจุฬาผลิตอนุภาคนาโนไซส์เหมาะผสม ทารถได้ "สีขาว” ตามต้องการ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ระหว่างแถลงข่าวจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์ ซิมโพเซียม 2008” (NanoThailand Symposium: NST2008) ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 29 ต.ค.51 นี้ว่า นาโนเทคได้ร่วมกับนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท สุพรีม โปรดักส์ จำกัด พัฒนา "รถพยาบาลนาโน” ซึ่งจะจัดแสดงเป็นไฮไลท์ของงานประชุมนาโนไทยแลนด์ด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์อธิบายว่า รถพยาบาลนาโนมีคุณสมบัติเป็นนาโนเทคโนโลยีตรงที่ใช้ "สีนาโน” ซึ่งมีส่วนผสมของซิลเวอร์นาโน ทาภายในตัวรถ ทำให้มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ เนื่องจากรถพยาบาลมีการสัมผัสเชื้อและคนป่วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำความสะอาดยาก จึงนำซิลเวอร์นาโนที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อมาใช้ประโยชน์ โดยฆ่าเชื้อได้ถึง 99.99% และยังนำซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้อีก

ส่วนอนุภาคนาโนจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ตอบผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นของใหม่ ซึ่งมีทั้งที่ทราบฤทธิ์และยังไม่ทราบฤทธิ์ จึงต้องมีการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย และจากที่ประเมินมาพบว่าปลอดภัย แต่ก็ต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และในศูนย์นาโนเทคก็มีศูนย์วิจัยเรื่องความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีโดยเฉพาะ

ด้าน นายพรชัย สุชาติวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด ซึ่งร่วมพัฒนารถพยาบาลนาโน ระบุว่า ทางบริษัทซึ่งปกติขายอุปกรณ์การแพทย์อยู่แล้ว ได้พัฒนาในส่วนโครงสร้างรถพยาบาล และใช้อนุภาคนาโนที่นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผสมสีทาภายในตัวรถ โดยพัฒนาเป็นรถต้นแบบ และจะผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการได้ราวต้นปีหน้า

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัย โครงการศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมพัฒนารถพยาบาลนาโน กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้พัฒนาอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีขนาดอนุภาค 70-100 นาโนเมตร ซึ่งมีสีเหลืองๆ เทาๆ และเมื่อผสมกับ "เจลโค้ท” หรือสีทารถพยาบาลของบริษัท สุพรีม จะได้ "สีขาว” ตามความต้องการ ทั้งนี้อนุภาคซิลเวอร์นาโนมีหลายสี ตามขนาดของอนุภาค แต่รถพยาบาลต้องใช้สีขาวเท่านั้น ซึ่งทางศูนย์ผลิตอนุภาคนาโนได้วันละ 100 ลิตร โดยรถ 1 คันใช้สีทาประมาณ 2 ลิตร

นอกจากรถพยาบาลที่นับเป็นไฮไลท์ของงานประชุมนาโนไทยแลนด์แล้ว ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า การประชุมจัดเป็นหัวข้อเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี 6 ด้าน ได้แก่ พลังงาน สิ่งทอ ระบบนำส่งยา อุปกรณ์นาโน ความปลอดภัย และการจำลองระดับนาโนเมตรเพื่อประยุกต์ใช้เชิงอุตสาหกรรม และแบ่งการประชุมเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ การประชุมวิชาการ การแสดงนิทรรศการด้านนาโนเทคโนโลยี และการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน

ภายในการประชุมยังได้เชิญนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีจากทั่วโลกเข้าร่วมประมาณ 300-400 คน โดยมีวิทยากรมาร่วมบรรยาย อาทิ ศ.ไมเคิล เกรทเซล (Prof.Michael Gratezel) จาก สถาบันอีโคลโพลีเทคนิคแห่งโลซานน์ (Ecole Polytechnique de Losanne) สวิตเซอร์แลนด์ ผู้บุกเบิกด้านพลังงานและค้นพบโซลาร์เซลล์แบบใหม่, ดร.ฮิเดกิ คัมบารา (Dr.Hideki Kambara) จากบริษัท ฮาตาชิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งร่วมแถลงข่าวการจัดงานนาโนไทยแลนด์ ว่าเขาได้ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนา "อาหารบำรุงรากผมและหนังศรีษะ” ซึ่งใช้รักษาอาการศรีษะล้าน โดยภายในงานจะขออาสาสมัคร 1,000 คนมารับแจกสารอาหารบำรุงรากผมนี้ ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีของเขาที่มีอาการศรีษะล้านได้ทดลองใช้มา 3 เดือน ปรากฏว่ามีผมงอกขึ้น

สำหรับงานประชุมนาโนไทยแลนด์นี้จะจัดขึ้นระหว่าง 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเปิดให้ประชาชนและเอกชนทั่วไปได้เข้าร่วมงานด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000128559

Friday, October 24, 2008

แอนิเมชั่นผลิตไม่ยากผ่านซอฟต์แวร์ของนักคิดไทย


จากการประกาศผลรางวัลผู้ชนะการประกวด"ไทยแลนด์ไอซีที อวอร์ด 2008" โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนักคิดที่เป็นเยาวชนไทยสองคน คว้ารางวัลด้านซอฟต์แวร์มาครองสำเร็จกับผลงานที่มีชื่อว่า "โอเพ่นตูน" (OpenToon)

โอเพ่นตูนเป็นโปรแกรมที่ดัดแปลงจากภาพจริงภาพวิดีโอ ภาพถ่าย หรือภาพที่ถ่ายจากเว็บแคม ให้เป็นภาพการ์ตูนได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคนิควิธีการทำเส้นขอบและการใช้โทนสีที่น้อยลง กับแนวคิดดีๆ ที่เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ค้นคว้า และต้องการเติมเต็มความรู้สู่สมอง เพื่อพัฒนาแนวคิดอยู่เสมอ

ณัฐพลทองอู๋ และสุพรรณ ฟ้ายง ผู้ร่วมคิดค้นซอฟต์แวร์โอเพ่นตูน อธิบายว่า ซอฟต์แวร์นี้ออกแบบมาเพื่อการพัฒนาการ์ตูนแอนิเมชั่น และช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน กับการ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ ที่สร้างจากการถ่ายทำภาพยนตร์จริง เช่น สแกนเนอร์ ดาร์คลี่ (Scanner Darkly) โดยใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า โรโทสโคพ (Rotoscope) ในการแปลงภาพยนตร์จริงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น
โปรแกรมดังกล่าวทำให้ภาพที่ออกมาดูเหมือนภาพการ์ตูนที่ใช้คนวาดมากและมีความสวยงาม แต่โปรแกรมนี้มีข้อจำกัดคือ การแปลงภาพยนตร์จริงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นนั้น ต้องใช้คนวาดภาพการ์ตูนจากภาพยนตร์ประกอบด้วย โดยให้ผู้ใช้กำหนดเส้นขอบในบางส่วนของภาพ แล้วโปรแกรมจะวาดส่วนที่เหลือของภาพอย่างอัตโนมัติจากข้อมูลส่วนที่ใช้คนวาด การที่ต้องใช้คนวาดบางส่วนนั้น เป็นเพราะโรโทสโคพต้องใช้ข้อมูลภาพบางส่วน เพื่อสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีลายเส้น และรูปแบบที่ผู้สร้างการ์ตูนต้องการ

ดังนั้นโปรแกรมซอฟต์แวร์โอเพ่นตูนจะช่วยให้สามารถสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น ที่เหมือนกับการ์ตูนที่ใช้คนวาดจากภาพยนตร์จริง และได้แบบที่ใช้โปรแกรมทำงานให้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีคนวาดภาพการ์ตูน หรือใช้คนวาดน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้การสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ สามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก และประหยัดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น โปรแกรมดังกล่าวยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดศักยภาพในการทำงานด้านซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบการ์ตูนในอนาคตได้ด้วย

ปัจจุบันสองเยาวชนนักคิดศึกษาอยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 และเตรียมตัวนำผลงานดังกล่าวส่งเข้าประกวดในเวทีใหญ่อีกครั้ง กับเอเชีย แปซิฟิก ไอซีที อัลลิแอนซ์ อวอร์ด 2008 (เอพีไอซีทีเอ) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 12-16 พฤศจิกายนนี้ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ผลงานของสองเยาวชนไทยจะเข้าถึงเส้นชัยในเวทีต่างประเทศหรือไม่นั้นคนไทยคงต้องเอาใจช่วย เพื่อผลงานดีๆ และผลักดันบุคลากรที่จะเป็นอนาคตของชาติด้วย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/24/x_it_h001_226538.php?news_id=226538

ซอฟแวร์ฟรีหนีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์


ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ขืนควักเงินก้อนใหญ่ซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ชุดละเป็นหมื่น โดยไม่รู้ว่าจะเหมาะสมกับองค์กรตัวเองหรือเปล่า คงมีแต่เจ๊ง ไม่มีเจ๊า ทางที่ดีลองหาพวกซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส หรือที่เรียกย่อๆ ว่า โอเอสเอส มาลองใช้ก่อนจะดีกว่า ถ้าถูกใจก็ใช้ไปเลย ไม่ต้องรีรอ

ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มองว่า เจ้าซอฟต์แวร์คุณภาพแต่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายที่เรียกว่า "ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส" พวกนี้ เป็นตัวช่วยในยุควิกฤติเศรษฐกิจ หรือจะพ้นวิกฤติไปแล้วก็ใช้ได้ตลอด ไม่มีใครหวง

หลายคนมองว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก องค์กรขนาดย่อม แต่ ดร.วิรัชมีข้อมูลเด็ดมาบอกว่า องค์กรขนาดใหญ่เขาก็ใช้กัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงว่าโปรแกรมจะใช้กับชาวบ้านชาวช่องไม่ได้

“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปกว่า 300 ล้านบาท และปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) ก็เข้ามาปรึกษากับเนคเทคอยากใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบ้างเหมือนกัน” ดร.วิรัชเผย

เช่นเดียวกับ องค์กรขนาดใหญ่ด้านการสื่อสารอย่าง กสท โทรคมนาคม (แคท เทเลคอม) ทีทีแอนด์ที และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้นำซอฟต์แวร์ เลิร์น สแควร์ ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์สด้านการเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เนคเทคพัฒนาขึ้นมาใช้งาน

เหตุที่ทำให้องค์กรทั้งใหญ่น้อย หันมาสนใจซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส นอกจากความประหยัดแล้ว โอเพ่นซอร์สยังเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องจ้างบริษัทมาดูแลระบบ ทั้งยังสามารถปรับปรุง พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ตลอดเวลา

ส่วนเทรนด์โอเพ่นซอร์สปี 2552 ดร.วิรัช ซึ่งสวมหมวกนายกสมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทยอีกใบบอกว่า แนวโน้มที่จะเห็นได้ชัดคือ การนำโอเพ่นซอร์สไปใช้ในภาคการศึกษา ที่จะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบัน ขณะที่การใช้งานในภาคธุรกิจนั้น ยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งที่น่าจะเห็นในปี 2552 อีกอย่างคือ การรวมกลุ่มของผู้ใช้โอเพ่นซอร์ส ซึ่งจะเป็นการจัดตั้งชุมชนหรือคลับสำหรับโอเพ่นซอร์สตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ ดร.วิรัชมองว่า กลุ่มดังกล่าวนี้จะเกิดจากการใช้งาน เช่น อาจจะเป็นผู้ดูแลระบบของบริษัทที่ทดลองใช้แล้วชอบ เกิดการชักชวนผู้ดูแลระบบของบริษัทอื่น หรือเพื่อนที่ใช้โอเพ่นซอร์สตัวนี้ มารวมตัวกัน และอาจจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดโอเพ่นซอร์สนั้นๆ ออกไปได้อีก จนเกิดเป็นโอเพ่นซอร์สของตนขึ้น

แม้ปัจจุบันโอเพ่นซอร์สถูกพัฒนาและเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Fedora, Ubuntunclub, OpenSUSE, CentOS รวมถึงที่มักพบในไทยคือ จูมล่า (Joomla) และแมมโบ้ลายไทย (Mambo เวอร์ชั่นไทย) แต่กลับมีโอเพ่นซอร์สที่เป็นของไทยน้อยมาก

“คนไทยยังไม่คุ้นกับการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส ที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ทำให้ทางเนคเทคพยายามที่จะปรับพฤติกรรมของนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สไทย ด้วยการจัดแคมป์โค้ดเฟส” ดร.วิรัชอธิบาย

โค้ดเฟส เป็นกิจกรรมการเขียนโปรแกรมมาราธอนที่เนคเทคและสมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักพัฒนาโปรแกรมทั่วไปมีความสนใจการพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมากขึ้น และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาโปรแกรมที่ดี และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนทำให้กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สของประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น เริ่มมีครั้งแรกในปี 2549 และจัดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกว่า 6 ครั้งแล้ว

ดร.วิรัชกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการส่งเสริมศักยภาพของนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สไทย สร้างประสบการณ์การทำงานเป็นทีม แล้วยังได้เห็นของใหม่ ที่ไม่ใช่แค่โอเพ่นซอร์ส แต่มีการนำโอเพ่นซอร์สที่มีไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลายเป็นนวัตกรรม เช่นที่ทำกันในการประกวดโครงการลีนุกซ์ฝังตัว (Embeded Linux Project Contest 2008)

“นอกเหนือจากส่งเสริมการพัฒนาโอเพ่นซอร์สสัญชาติไทย การสร้างนวัตกรรมจากโอเพ่นซอร์สก็เป็นการเพิ่มมูลค่าได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ที่ผสานกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สออกมาวางขายในตลาดแน่นอน” ดร.วิรัชให้มุมมอง

สาลินีย์ ทับพิลา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/24/x_it_h001_226608.php?news_id=226608

Wednesday, October 15, 2008

โหด มัน ฮา ประสาสมองกล



ไม่รู้มันขำอะไรกันนักหนา เจ้าหุ่นยนต์ไอเชียร์ถึงระเบิดเสียงหัวเราะร่า แค่นั้นไม่พอประเคนมือทุบพื้นดัง "ปั๊กๆ" เล่นเอาคนยืนดูพลอยขำไปด้วย

หุ่นยนต์ไอเชียร์ (iCHEER ย่อมาจาก intelligent Companion Humanoid Entertainment and Education Robot) เป็นหุ่นตัวที่ 2 ที่สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต พัฒนาขึ้นตามหลังไอไทยสตาร์ (iThai Star) บนเรือนร่างหุ่นยนต์นำเข้าราคากว่าแสนบาทจากญี่ปุ่นมาพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ พูดง่ายๆ ทำให้มันมีสมองรู้จักคิดนั่นแหละ

นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยรังสิตแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น คือแทนที่จะเริ่มพัฒนากันตั้งแต่ระบบหุ่นยนต์ หลักสูตรไอซีทีของมหาวิทยาลัยรังสิตให้เน้นพัฒนาสมองกล และโปรแกรมการควบคุมหุ่นยนต์มากกว่า

“นักศึกษาในหลักสูตรไอซีทีต้องทำโครงงานจบการศึกษาที่แตกต่างจากที่อื่น ไม่ใช่แค่การทำระบบ ออกแบบเว็บไซต์ หรือสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น แต่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนจากวิชาพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมด้านพัฒนาหุ่นยนต์ โทรศัพท์อัจฉริยะ หรืออุปกรณ์เครือข่ายไร้สายต่างๆ รองรับการขยายตัวของตลาดเกม ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีมือถือ ตลอดจนเครือข่ายไร้สายและเทคโนโลยีหุ่นยนต์“ อาจารย์หนุ่มม.รังสิต กล่าว

ไอเชียร์ เป็นตัวอย่างหุ่นยนต์สมองกลที่นักศึกษาปี 4 หลักสูตรไอซีทีของม.รังสิตออกแบบคำสั่งให้เต้นเคลื่อนไหวร่างกายให้เข้าจังหวะเหมือนเชียร์ลีดเดอร์

“อีกไม่กี่เดือน ทีมเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยรังสิตจะมีสมาชิกใหม่คือ หุ่นยนต์ไอเชียร์สามารถเคลื่อนไหวร่างกายในท่าเชียร์ลีดเดอร์ต่างๆ ได้” อาจารย์นักพัฒนาหุ่นยนต์ของม.รังสิต ภูมิใจเสนอ

ฐิติพงศ์บอกว่า นักพัฒนาหุ่นยนต์ของม.รังสิตกำลังวิจัยความต้องการนำหุ่นยนต์ไปใช้งานในด้านต่างๆ เช่น เฝ้าบ้าน เนื่องจากหุ่นหลายชนิดติดตั้งกล้องที่สามารถดัดแปลงใช้สอดส่องดูหรือสามารถพัฒนาโปรแกรมให้หุ่นสามารถต่อเชื่อมสัญญาณโทรศัพท์มายังโทรศัพท์มือถือของเจ้าของบ้านเมื่อพบผู้บุกรุก

คอยจับตาดูผลงานของนักศึกษาปริญญาตรี ม.รังสิตเอาแล้วกัน

สาลินีย์ ทับพิลา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/15/x_it_h001_222034.php?news_id=222034

Tuesday, September 30, 2008

"ไซเคิลซอล"คอนเซ็ปต์จักรยานแสงอาทิตย์



"ไซเคิล ซอล" เป็นจักรยานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งยังมีหลังคาคลุม เพื่อกันแดดกันฝนให้กับผู้ขับขี่ ผู้ออกแบบคือ นายมิโรสลาฟ มิลเยวิก ชาวอังกฤษ

มิลเยวิก กล่าวว่า "หลังคาจักรยานติดแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนที่ล้อหลังติดมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ ขับขี่ได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 15 ไมล์ต่อชั่วโมง ล้อมีแรงต้านน้อย เพื่อที่เวลาถีบขึ้นไปยังที่ชันจะได้ถีบขึ้นไปได้ง่าย ถ้าวันไหนอากาศดี เพียงแค่ตั้งจักรยานทิ้งไว้ข้างนอก พลังงานก็จะชาร์จเข้ามาที่มอเตอร์ไฟฟ้า ถ้าวันไหนมีเมฆครึ้ม ก็เสียบปลักแทนได้ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง"

"ไซเคิล ซอล" ยังเป็นเพียงคอนเซ็ปต์จักรยาน ไม่ได้ผลิตขึ้นมาจริง มิลเยวิกหวังว่า จะมีนายทุนสนใจเข้ามาร่วมผลิต "ไซเคิล ซอลก็คล้ายกับจักรยานไฟฟ้า เพียงแต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีคุณภาพดีมาก แม้ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก มีแสงเพียงนิดเดียว แต่ก็สามารถเก็บแสงไว้ได้ แฮนด์จักรยานยังอยู่ทางด้านข้าง เพื่อที่เวลานั่งพิงไปข้างหลังจะได้บังคับสะดวกๆ ทั้งยังทรงตัวง่าย บังคับทิศทางเลี้ยวซ้ายขวาได้ตามความพอใจ" – เดลี่เมล์

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNak13TURrMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdPUzB6TUE9PQ==

โปรแกรมฝึกอ่านอังกฤษออนไลน์ใครก็เรียนได้ไม่เสียสตางค์กวดวิชา


ใครก็อยากเก่งภาษาอังกฤษกันทั้งนั้นระยะหลังผู้ปกครองที่มีฐานะเลยส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนสองภาษา และโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลกันตั้งแต่อนุบาล

ถ้าไม่มีเงินเรียนโรงเรียนอินเตอร์หรือกวดวิชาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่ง ยังมีของฟรีให้เลือก อดใจรออีกนิด นักวิจัยจากจากศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษให้ฝึกฝนกัน ไม่เฉพาะแต่นักเรียน ผู้ใหญ่ก็เรียนได้ผ่านเว็บไซต์โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

นายภาสพันธ์จิโนทา นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มจธ. เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ฝึกทักษะการอ่านนำทีมพัฒนาโดย ดร.พรนภิส ดาราสว่าง อาจารย์จากศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษน้อย สามารถเข้าใจเนื้อหาหรือความหมายของประโยคได้ง่ายขึ้น

ทีมวิจัยตั้งใจพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กลุ่มนักเรียนมัธยมขึ้นไปเข้ามาใช้ฝึกทักษะด้านการอ่านและการทำความเข้าใจเนื้อหาภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง โดยที่ผู้เรียนสามารถใช้บริการผ่านเว็บออนไลน์ที่ไหนก็ได้ โดยไม่เสียเงินหรือเวลาไปนั่งเรียนตามโรงเรียนกวดวิชาให้สิ้นเปลืองอีกต่อไป ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าว

บทเรียนฝึกทักษะการอ่านมีบทเรียนทั้งหมด6 บท ได้แก่ การฝึกอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง การอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อหาข้อมูลเฉพาะ การเดาเนื้อหาก่อนอ่านเรื่อง การเดาความหมายคำศัพท์จากเนื้อหารอบข้าง การเข้าใจเนื้อหาจากสื่อรูปภาพ และการตีความเนื้อหา

เนื้อหาในแต่ละบทจะมีแบบทดสอบก่อนเริ่มเรียนทั้งรูปแบบตัวเลือกตอบ และการตอบคำถามด้วยตัวเอง แบบทดสอบแต่ละบทจะมีจำนวนข้อทดสอบต่างกันตามความยากง่ายของเนื้อหาในบทเรียน เมื่อทดสอบเสร็จแล้วยังมีเกมมาให้ผู้เรียนเล่นเพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานก่อนที่จะเริ่มสู่บทเรียนของจริง

ยกตัวอย่างบทที่สอง ซึ่งเป็นการอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อหาข้อมูลเฉพาะ ระบบมีเกมจับผิดภาพ เพื่อทดสอบสายตาของผู้เรียน ในการมองรายละเอียดภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ ภายใต้เวลาที่กำหนด แบบทดสอบแต่ละข้อก็จะมีเวลากำหนดเช่นกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะการตัดสินใจที่ว่องไว โดยคำตอบนั้นถูกต้องด้วย

ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าวอีกว่าซอฟต์แวร์ฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้น แม้รูปแบบเมนูคำสั่งจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ทีมวิจัยพัฒนาให้คำสั่งหรือคำอธิบายเหล่านั้นสามารถพากย์เป็นภาษาไทยได้ เมื่อนำเม้าส์ไปคลิกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงตัวเนื้อหาแต่ละบทได้มากที่สุด

เสียงพากย์ภาษาไทยจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาได้ว่าบทเรียนนี้มีเนื้อหาที่ต้องเรียนอย่างไรบ้างและผู้ที่เรียนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาที่กำลังจะเรียน ก็จะช่วยให้ทำแบบทดสอบได้ดีขึ้นด้วย นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์กล่าว

โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยระหว่าง เดือนตุลาคม 2550-ตุลาคม 2551 หลังจากทีมวิจัยพัฒนาระบบแล้วเสร็จ จะนำบทเรียนนี้ไปเผยแพร่ที่ www.thaicyberu.go.th เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านโลกออนไลน์ได้ด้วยตนเอง

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/09/30/x_it_h001_223118.php?news_id=223118

Sunday, September 21, 2008

ฮีเลียมรั่ว "เซิร์น" ต้องปิดเครื่องเร่งอนุภาคซ่อม 2 เดือน


หลังทำให้ทั่วโลกตื่นเต้น กับการทดสอบปล่อยลำอนุภาค เข้าเครื่องเร่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด "เซิร์น" ได้ออกมาเปิดเผยความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับเครื่องทดลองอันทรงพลัง และอาจต้องหยุดดำเนินงานอย่างน้อย 2 เดือน

ทั้งนี้เซิร์น (CERN) หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ขององค์กรว่า ระหว่างการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ในส่วนสุดท้าย หรือบริเวณเซคเตอร์ที่ 34 (sector 34) ด้วยกระแสไฟฟ้าที่สูงถึง 5 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ โดยไม่ได้ปล่อยอนุภาคเข้าไปนั้น ได้เกิดเหตุขึ้น ที่ส่งผลให้ฮีเลียมปริมาณมากรั่วเข้าสู่อุโมงค์

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประเมินว่า อุบัติเหตุดังกล่าว น่าจะเกิดจากปัญหาในการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแม่เหล็ก 2 ตัว ซึ่งอาจละลายเมื่อกระแสสูง นำไปสู่ความผิดพลาดทางด้านกลไก แต่เซิร์นก็ย้ำว่า ได้ดำเนินการตามหลักความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อความมั่นใจว่า จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆ ต่อประชาชน

แต่จากการประเมินในเชิงลึก พบว่าจำเป็นต้องเพิ่มอุณหภูมิให้กับส่วนที่เสียหายเพื่อทำการเปลี่ยน และคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนหยุดการดำเนินงานของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไว้ก่อน

ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานคำแถลงของเจมส์ กิลลีส์ (James Gillies) โฆษกของเซิร์น ว่าผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปในอุโมงค์ที่ขดเป็นวงกลมยาว 27 กิโลเมตร อยู่ภายใต้พรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไว้ เป็นเวลาราว 36 ชั่วโมง เพื่อประเมินความเสียหาย หลังการดำเนินงานปล่อยอนุภาคครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

"มันเร็วเกินไปที่จะกล่าวเจาะจงลงไปว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดูคล้ายว่ามีความผิดพลาด ในการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแม่เหล็ก 2 ตัว ซึ่งหยุดสภาวะการเป็นตัวนำยวดยิ่งและเกิดละลาย ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดของกลไก และทำให้ฮีเลียมรั่วออกมา" เอพีรายงานคำแถลงของกิลลีส์ โดยเขาระบุว่าส่วนที่เสียหายนั้นต้องได้การเพิ่มอุณหภูมิให้สูงกว่าศูนย์องศาสัมบูรณ์ จึงจะซ่อมแซมได้

กิลลีส์กล่าวว่า ความผิดภพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นได้บ่อย กับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วไป แต่สำหรับกรณีนี้มีความซับซ้อนกว่ามาก เนื่องจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีดำเนินการที่ระดับอุณหภูมิเข้าใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ ซึ่งเย็นยะเยือกยิ่งกว่าอวกาศห้วงลึก ทั้งนี้เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้กับเครื่องเร่งอนุภาคอื่นๆ ก็ใช้เวลาเพียง 2-3 วันในการซ่อมแซม แต่เพราะนี่คือเครื่องจักรตัวนำยวดยิ่ง คุณจึงต้องใช้เวลานานที่จะทำให้ลดและเพิ่มอุณหภูมิเครื่อง ซึ่งหมายความว่าเรากำลังจะหยุดการดำเนินงานเป็นเวลา 2 เดือน โดยต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิ จากนั้นก็ซ่อม และลดอุณหภูมิอีกครั้ง" กิลลีส์แจง

ทั้งนี้เครื่องเร่งอนุภาคมูลค่านับล้านล้านบาท ซึ่งได้รับการออกแบบและก่อสร้างเป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษนั้น คือเครื่องเร่งอนุภาคให้ชนกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเครื่องเร่งอนุภาคนี้จะปล่อยลำอนุภาคโปรตอนจากนิวเคลียสของโปรตอนให้วิ่งวนรอบอุโมงค์ด้วยความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง จากนั้นให้ลำอนุภาคโปรตอน 2 ลำที่วิ่งสวนทางกันชนกัน แล้วเผยอนุภาคเล็กที่สุดซึ่งก่อตัวขึ้นครั้งแรกหลังเกิด "บิกแบง" (big bang) ซึ่งตามทฤษฎีระบุว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์และทุกสิ่ง

การทดลองของเซิร์นด้วยการจับอนุภาคชนกันนั้น ยังหวังที่จะได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับสสารมืด ปฏิสสารและอาจจะรวมถึงมิติพิเศษซึ่งซ่อนอยู่ในกาลอวกาศ และยังอาจได้พบอนุภาคในทางทฤษฎีที่เรียกว่า "ฮิกก์ส" (Higgs boson) หรือบางครั้งเรียกว่า "อนุภาคพระเจ้า" เพราะเชื่อว่าเป็นอนุภาคที่ทำให้เกิดมวลแก่อนุภาคอื่นๆ แล้วกลายเป็นสสารที่สร้างเอกภพขึ้นมา

นอกจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีแล้ว ยังมีเครื่องเร่งอนุภาคขนาดเล็กซึ่งใช้งานกันมาหลายทศวรรษ เพื่อศึกษาการสร้างอะตอม ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโปรตอนและนิวตรอนเป็นองค์ประกอบที่เล็กสุดของนิวเคลียสอะตอม แต่การทดลองได้แสดงให้เห็นว่า โปรตอนและนิวตรอนนั้นประกอบขึ้นจากควาร์กและกลูออน และยังมีแรงกับอนุภาคอื่นๆ อยู่อีก

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000111863

Monday, September 15, 2008

ยกมาโชว์ "รถยนต์ไฮโดรเจน" ฝีมือไทย เตรียมต่อยอดใช้จริง


ยลโฉมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของไทย ในงาน Thailand Research Expo 2008 นักวิจัยเผยเตรียมต่อยอดผลิตใช้จริงเชิงพาณิชย์ให้ทัน ก่อนต่างชาติส่งเข้ามาขายในไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แถมราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว พร้อมเดินหน้าวิจัยปั๊มไฮโดรเจนต้นแบบ ไว้รองรับ ใช้แสงอาทิตย์แยกน้ำให้ได้ไฮโดรเจน พลังงานที่ใช้สะอาด ไม่ก่อมลภาวะ

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของประเทศไทยที่จัดแสดงอยู่ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 (Thailand Research Expo 2008) ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในภาวะวิกฤติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

นาวาอากาศเอกเจษฎา คีรีรัฐนิคม หนึ่งในทีมงานผู้วิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ภายใต้บริษัท คลีนฟูเอล เอนเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รถยนต์ไฮโดรเจนคันดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) โดยอาศัยไฮโดรเจนเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า

"เมื่อก๊าซไฮโดรเจนและอากาศ ผ่านเข้าไปในเซลล์เชื้อเพลิงที่ทำด้วยแกรไฟต์และมีทองคำขาวเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ไฮโดรเจนจะแตกตัวให้อิเล็กตรอนและทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าส่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ เมื่ออิเล็กตรอนไหลวนครบวงจรจะกลับมารวมกลับไฮโดรเจนประจุบวกและออกซิเจนที่อยู่ในอากาศ ก็จะกลายเป็นไอน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศ จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งยังไม่มีเสียงที่ดังของเครื่องยนต์เหมือนรถยนต์ทั่วไปด้วย" นาวาอากาศเอกเจษฎา อธิบายหลักการ

เซลล์เชื้อเพลิงที่ติดตั้งในรถยนต์ต้นแบบนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8-10 กิโลวัตต์ ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับมอเตอร์รถยนต์ราว 5 กิโลวัตต์ ส่วนที่เหลือสามารถนำมาใช้กับเครื่องเสียงหรือเครื่องปรับอากาศภายในรถได้ และรถสามารถแล่นได้ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับถังบรรจุก๊าซไฮโดรเจนสำหรับป้อนเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง สามารถใช้ถังไฮโดรเจนได้ 2 รูปแบบ คือ แบบอัดความดันขนาด 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ซึ่งจะมีขนาดถังใกล้เคียงกับถังก๊าซแอลพีจีหรือเอ็นจีวีที่ใช้ในรถยนต์ทั่วไป ส่วนถังไฮโดรเจนอีกรูปแบบหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า ภายในมีผงโลหะเมทัลไฮไดรด์บรรจุอยู่ และกักเก็บไฮโดรเจนโดยให้เข้าไปแทรกอยู่ในโลหะ จึงไม่ต้องใช้ความดันสูงมาก และใช้พื้นที่น้อยกว่าถังแบบแรกในการเก็บไฮโดรเจนที่มีปริมาณเท่ากัน

ถังไฮโดรเจนที่ใช้กับรถต้นแบบเป็นอย่างหลัง บรรจุไฮโดรเจนได้ประมาณ 900 ลิตร วิ่งได้ระยะทาง 30-40 กิโลเมตร กินเวลาประมาณ 20 นาที ถ้าจะให้แล่นได้ไกลและนานกว่านั้นก็สามารถติดตั้งถังไฮโดรเจนเพิ่มได้อีก แต่เนื่องจากว่ารถต้นแบบมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม แต่หากเป็นรถยนต์นั่งทั่วไปจะมีน้ำหนักราว 800 กิโลกกรัม ดังนั้นจึงสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า โดยหากจะแล่นให้ได้สัก 100 กิโลเมตร อาจต้องติดตั้งถังไฮโดรเจนขนาดเดียวกันประมาณ 10 ถัง

ส่วนในเรื่องความปลอดภัยนั้นนาวาอากาศเอกเจษฎาบอกว่า ก๊าซไฮโดรเจนติดไฟได้เหมือนเชื้อเพลิงทั่วไป แต่โมเลกุลของไฮโดรเจนมีขนาดเล็กและเบากว่าก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ดังนั้นหากเกิดการรั่วซึม ก๊าซไฮโดรเจนก็จะลอยสู่อากาศได้รวดเร็วกว่า โอกาสที่จะเกิดอันตรายหรือเกิดระเบิดก็น้อยลง และหากเป็นถังไฮโดรเจนที่เก็บไฮโดรเจนโดยแทรกอยู่ในผงโลหะ ซึ่งใช้ความดันต่ำ โอกาสระเบิดจึงน้อยกว่าด้วย

นาวาอากาศเอกเจษฎา บอกว่า จุดเด่นของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนนี้คือขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ไม่เพิ่มมลพิษให้สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกอย่างก็สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ขณะนี้ทางสภาวิจัยแห่งชาติจึงเร่งผลักดันรถยนต์ไฮโดรเจนให้สามารถผลิตใช้จริงเชิงพาณิชย์ได้ คาดว่าอีกประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีรถยนต์ไฮโดรเจนจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว

"ดังนั้นเราจึงต้องเร่งพัฒนาของเราให้ทันต่างชาติ โดยอาจจะร่วมมือกับเอกชนรายอื่นให้รับหน้าที่ผลิตตัวถังรถ ส่วนเราก็จะผลิตและติดตั้งชุดอุปกรณ์เซลล์เชื้อเพลิง และหากมีรถยนต์ไฮโดรเจนเข้ามาจำหน่ายในไทยจริง ก็จะต้องมีปั๊มไฮโดรเจนเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2552 ทางเราก็จะเริ่มศึกษาวิจัยปั๊มไฮโดรเจนต้นแบบด้วย โดยการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงจะเรียกว่าเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืนอย่างแท้จริง" นาวาอากาศเอกเจษฎา แจงรายละเอียด

สำหรับโครงการวิจัยต่อยอดนี้ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาในโครงการนี้หลักๆ คือ พัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ และคอมเพรสเซอร์สำหรับเพิ่มความดันให้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อการกักเก็บไว้ด้วยความดันสูง และหากประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนออกมาขายให้คนไทยได้ใช้จริงก็น่าจะสนนราคาคันละประมาณ 10 ล้าน หรือถูกลงมากว่านั้นราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่รถยนต์ไฮโดรเจนของต่างชาติตกราคาคันละไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000108734

Thursday, September 4, 2008

นักบินอวกาศนาซ่าลองเดินในพื้นที่คล้ายดวงจันทร์


นักบินอวกาศขององค์การนาซ่า พร้อมเจ้าหน้าที่เทคนิค เข้าไปฝึกการขับยานสำรวจ "ลูนาร์ทรัก" ที่บริเวณทะเลสาบโมเสส รัฐวอชิงตัน โดยยานนี้จะใช้เมื่อนาซ่าส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในศตวรรษนี้

ทะเลสาบโมเสสมีลอนทรายหรือแซน ดูนที่มีแปลกออกไปจากที่อื่น โดยทรายมีความนุ่มละเอียดเพราะผสมกับขี้เถ้าภูเขาไฟ และคล้ายคลึงกับดินบนดวงจันทร์มาก

นายโรเบิร์ต แอมบรอส เจ้าหน้าที่ระ ดับสูงของนาซ่า กล่าวว่า "เชื่อไหมคุณ ทรายที่นี่คล้ายกับดินดวงจันทร์มาก ต่างกันแค่ที่นี่มีแรงโน้มถ่วง ขณะบนดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงเพียง 1 ใน 6 ของพื้นโลก"

สำหรับรถสำรวจ "ลูนาร์ทรัก" ที่นักบินอวกาศกำลังหัดลองขับกันอยู่มี 12 ล้อ หนัก 4,500 ปอนด์ บรรทุกนักบินอวกาศพร้อมชุดนักบินที่แต่ละชุดหนักร้อยกว่ากิโลกรัมได้ 4 คน ความเร็วสูงสุดคือ 10 ไมล์ต่อชั่วโมง สามารถเคลื่อนที่ได้ในทุกทิศทาง นักบินอวกาศจะขับยานเอง หรือสำนักงานนาซ่าบนโลกจะควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลก็ได้

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdOREEwTURrMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdPUzB3TkE9PQ==

Wednesday, September 3, 2008

กระจุกกาแลกซีชนกัน เผยให้เห็น "สสารมืด" กลางอวกาศ


การชนกันของกระจุกกาแลกซี ที่อยู่ไกลออกไป 5.7 พันล้านปีแสง เผยให้เห็น "สสารมืด" สสารที่เป็นองค์ประกอบเอกภพ 23% โดยกล้องฮับเบิล บันทึกหลักฐาน ไว้ได้ด้วยเทคนิค "เลนส์โน้มถ่วง"

นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบสสารมืด ซึ่งแยกตัวจากสสารปกติ ระหว่างการชนกันขนาดใหญ่ ของกระจุกกาแลกซี (Galaxy Cluster) 2 กลุ่มที่อยู่ไกลออกไป 5.7 พันล้านปีแสง ซึ่งบีบีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยได้รายงานเรื่องดังกล่าว ลงวารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophysical)

ทีมวิจัย อาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์จันทรา (Chandra X-ray telescope) ศึกษาวัตถุในอวกาศ ที่ชื่อ เอ็มเอซีเอสเจ 0025.4-1222 (MACSJ0025.4-1222) ซึ่งก่อตัวขึ้น หลังจากการชน ที่ให้พลังงานมหาศาล ของกาแลกซีคลัสเตอร์ขนากใหญ่ 2 กลุ่ม โดยกระจุกกาแลกซีแต่ละกลุ่มนั้น มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์นับพันล้านล้านเท่า

บีบีซีนิวส์ระบุด้วยว่า ทีมวิจัยเลือกใช้เทคนิค "เลนส์ความโน้มถ่วง" (gravitational lensing) เพื่อร่างแผนที่ของสสารมืด ด้วยกล้องฮับเบิล ซึ่งหากผู้สังเกตการณ์ มองไปที่กาแลกซี ซึ่งอยู่ไกลออกไป และมีสสารมืดอยู่ขั้นกลาง แสงที่ออกมาจากกาแลกซีนั้น จะบิดเบี้ยวไป ดูคล้ายเรากำลังมองผ่านเลนส์ขนาดเล็กๆ จำนวนมาก และเลนส์เหล่านั้น ก็คือชิ้นส่วนของสสารมืด และนักดาราศาสตร์ก็ใช้กล้องจันทรา เพื่อร่างแผนที่สสารทั่วไป ในกระจุกกาแลกซีที่รวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของก๊าซร้อน และส่องสว่างในย่านรังสีเอ็กซ์

ขณะที่กระจุกกาแลกซี ก่อให้เกิดวัตถุอวกาศ เอ็มเอซีเอสเจ0025 ด้วยการชนที่ความเร็วหลายล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ก๊าซร้อนของกลุ่มกาแลกซีทั้งสอง ก็ชนกันและลดความเร็วลง

อย่างไรก็ดี สสารมืดยังคงเคลื่อนที่ผ่านกันไป ในการชนดังกล่าว ซึ่งความจริงที่ว่าสสารมืดจะไม่ช้าลงเมื่อชนกันนี้ สนับสนุนแนวคิดที่ว่า อนุภาคของสสารมืดจะทำอันตรกริยาต่อกันด้วยแรงที่น้อยมากหรือไม่กระทำต่อกันเลย ทั้งนี้เมื่อตัดอันตรกริยาอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงออกไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เคยพบปรากฏารณ์ลักษณะนี้มาก่อนแล้ว ในโครงสร้างอวกาศที่เรียกว่า "กระจุกกระสุนปืน" หรือ "บุลเลตคลัสเตอร์" (Bullet Cluster) ซึ่งก่อตัว หลังจากการชนกันของกระจุกกาแลกซีขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม โดยบุลเลตคลัสเตอร์ดังกล่าว อยู่ห่างจากโลก 3.4 พันล้านปีแสง

การค้นพบสสารมืดล่าสุด ริชาร์ด แมสซีย์ (Richard Massey) จากหอดูดาวเอดินบะระ (Royal Observatory Edinburgh) สก็อตแลนด์ ผู้ร่วมศึกษาสสารมืดนี้ด้วย ให้ความเห็นกับบีบีซีนิวส์ว่า ช่วยคลายความกังวลเรื่องบุลเลตคลัสเตอร์ คือกรณีที่แปลกประหลาดลงไปได้ และการศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นคุณสมบัติของสสารมืดด้วย

"สสารมืดประกอบขึ้นเป็นเอกภพ มากกว่าสสารทั่วไปถึง 5 เท่า การศึกษาครั้งนี้ยืนยันว่า เรากำลังเข้าไปข้องเกี่ยวกับสสาร ที่มีความแตกต่างอย่างมาก ต่างไปจากสสารที่ประกอบเป็นเราขึ้นมา และเราก็ยังศึกษาการชนอันทรงพลังของกระจุกกาแลกซี 2 กลุ่มได้" มารุซา บราดาค (Marusa Bradac) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (University of California at Santa Barbara: UCSB) ให้ข้อมูล

จากการสังเกตทางดาราศาสตร์ชี้ว่า สสารมืดประกอบขึ้นเป็นเอกภพ 23% ส่วนสสารทั่วไป อาทิ กาแลกซี ก๊าซ ดวงดาว และดาเคราะห์นั้นประกอบขึ้นในเอกภพเพียง 4% ส่วนที่เหลืออีก 73% ของเอกภพสร้างขึ้นจากปริมาณลึกลับ "พลังงานมืด" (dark energy) ซึ่งส่งผลให้เอกภพขยายตัวด้วยอัตราเร่ง

ตามแบบจำลองทางทฤษฎีหนึ่งนั้น สสารมืดอาจประกอบขึ้นจากอนุภาคที่แปลกประหลาด "วิมป์ส" (WIMPS) หรืออนุภาคมีมวลที่ทำอันตรกริยาอย่างอ่อน (Weakly Interacting Massive Particles) ขณะที่ทฤษฎีอื่นเชื่อว่า สสารมืดประกอบด้วยสสารที่เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน มากกว่าที่จะเป็นสสารอื่นซึ่งยากจะเข้าใจ

สำหรับการทดลองทางฟิสิกส์อันทรงพลังของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์ อาจช่วยตอบคำถามนี้ได้ หลังการเดินเครื่องในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ด้าน แมสซีย์กล่าวว่า ทีมวิจัยของเขา ได้พบสิ่งที่อาจเป็นคำตอบว่า สสารมืดประกอบขึ้นจากอะไร จากการชนกันของกระจุกกาแลกซีนี้ โดยในทางอุดมคติแล้ว เขาต้องการหลักฐานมากกว่านี้ เพื่อศึกษาได้ในเชิงสถิติ แต่กล้องฮับเบิลก็ไม่สามารถทำงานได้เพียงไม่นานหลังจากที่ทีมวิจัยบันทึกภาพ เอ็มเอซีเอสเจ0025 ดังนั้น ทีมทีมวิจัยจึงยังไม่สามารถศึกษาภาพอื่นอีกได้ ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะศึกษาต่อหลังภารกิจซ่อมแซมกล้องฮับเบิลในเดือน ต.ค.นี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000104027

Monday, September 1, 2008

สวทช.เปิดเวทีประกวดทำสื่อวิทย์ "วัสดุรักษ์โลก"


สวทช. เปิดเวทีประกวดทำสื่อวิทยาศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" มอบทุนผลิตแก่ทีมนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ ฝ่ายจัดงานระบุ วัสดุแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด หากผู้ผลิตรู้จักสร้างสรรค์วัสดุและผู้ใช้รู้จักเลือก ด้านตัวแทนเยาวชนระบุเลือกทำสื่อเกี่ยวกับ "ไคติน-ไคโตซาน" เพราะเชื่อว่า วัสดุที่ได้จากธรรมชาติจะไม่ทำร้ายธรรมชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวโครงการ Science Communication Award ปีที่ 3 กรอบสาระการสื่อสารวิทยาศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" (Material for a Better World) เมื่อค่ำวันที่ 28 ส.ค.51 ณ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรงานออกแบบ (TCDC) และมอบทุนงวดที่ 1 แก่นักศึกษาที่ส่งผลงานเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือก เพื่ออุดหนุนการพัฒนาและผลิตชิ้นงานสื่อเพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบของมัลติมีเดีย อะนิเมชันและภาพยนตร์สั้น โดยผลงานนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ และแต่ละโครงการได้ทุนอุดหนุน 10,000 บาท

ทั้งนี้ ทางโครงการได้เปิดรับข้อเสนอโครงการของนักศึกษาตั้งแต่เดือน ก.ค.51 และประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาที่าผนการคัดเลือกได้ส่งเค้าโครงสาระทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำเสนอในชิ้นงานไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.

จากนั้นจะมีการมอบทุนสนับสนุนงวดที่ 2 อีก 10,000 บาท หลังนักศึกษาส่งตัวอย่างชิ้นงานที่พัฒนา (Demo) พร้อมรายงานผลการดำเนินงานในวันที่ 26 ก.ย. และจะตัดสินการประกวดในวันที่ 25 พ.ย. ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับรางวัล 30,000 บาท และคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานดีเด่นสูงสุด 1 รางวัลจากผู้ชนะเลิศทุกประเภท เพื่อไปดูงานที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นางมนธิดา สีตะธนี หัวหน้าโครงการ Science Communication Award สวทช. กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ภายในงานเปิดตัวโครงการถึงเหตุผลในการเลือกหัวข้อ "วัสดุรักษ์โลก" เป็นกรอบสาระการประกวดครั้งนี้ว่า ช่วงนี้มีกระแสในเรื่องการช่วยโลกและคนพูดถึงกันมาก แต่ก็พูดถึงแค่ถุงพลาสติกและการปิดไฟ จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะ หากรู้จักเลือกใช้วัสดุ

"วัสดุอยู่ในทุกอย่าง ถ้ารู้จักเลือกใช้วัสดุ จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้เร็วมาก มากกว่าแค่ถุงพลาสติก โดยคำนึงถึงตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคคำนึงถึงวัสดุตั้งแต่ก่อนใช้ หลังใช้ วัสดุจะเป็นตัวช่วยได้เยอะมาก เพราะมีอยู่รอบตัวเรา" นางมนธิดากล่าว

และคิดว่าสื่อจะมีอิทธิพลหากมีเยอะๆ และอย่างน้อยภายในโครงการนี้ นักศึกษาต้องพูดคุยกับเพื่อหรืออาจารย์ นักศึกษาทั้ง 20 กลุ่มได้เริ่มตระหนัก และกลุ่มเหล่านี้ก็จะสื่อในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยลงไประดับมัธยมได้ตรงประเด็น" นางมนธิดากล่าว

หัวหน้าโครงการประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า หากผลงานในจำนวน 20 โครงการนี้สามารถสื่อถึงการใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ดี ทาง สวทช.ก็จะนำไปเผยแพร่ต่อ พร้อมให้เหตุผลที่ไม่มีการประกวดสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ เนื่องจากยากต่อการนำไปเผยแพร่ต่อ ในขณะที่สื่ออะนิเมชัน มัลติมีเดีย และภาพยนตรสั้นนั้นสามารถเผยแพร่ได้ง่ายกว่า

ด้าน นายณัฐพล แป้งนุช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาของทั้ง 20 โครงการที่เข้าร่วมการประกวด เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กลุ่มของเขาซึ่งมีสมาชิกประมาณ 8-10 คนนั้น มีแนวคิดที่จะนำเสนอเรื่อง "ไคติน-ไคโตซาน" โดยเขามองว่าวัสดุที่มาจากธรรมชาติย่อมไม่ทำร้ายธรรมชาติ และก็มีใช้กับผลิตภัณฑ์ประจำวันทั่วๆ ไป อาทิ เครื่องสำอาง ยาสระผม เป็นต้น ทั้งนี้คาดหวังว่าอย่างน้อยๆ การทำสื่อของเขาจะทำให้คนดูได้รู้จักไคติน-ไคโตซาน มากขึ้น แล้วหันมาใช้กันมากขึ้น

สำหรับโครงการประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" นี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งให้การสนับสนุนนำนักศึกษาไปศึกษาดูงานที่เยอรมนี และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก ห้องสมุดเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และเนชั่น กรุ๊ป โดยนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกโครงการได้เข้าไปศึกษาดูงานในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการเหล่านี้

การประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ระดับนักศึกษานี้จึดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปี 2549 ซึ่งจัดประกวดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นมีกรอบสาระวิทยาศาสตร์คือ "บัคกี้บอล" (Bucky Ball) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์" (Science Film Festival) และมีการจัดโครงการต่อเนื่อง โดยปีถัดมามีกรอบสาระวิทยาศาสตร์คือ "ไบโอนิค" (Bionik) ทั้งนี้ผลงานในโครงการจะได้รับการเผยแพร่ผ่านเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย โดยปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 พ.ย.51.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000102257

Thursday, August 28, 2008

สวทช. อิมพอร์ตเกมโชว์วิทย์จากเกาหลี "ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด"


ชวนแฟนๆ รายการฉลาดสุดสุด และแฟนๆ ซีรีส์เกาหลี มาเจอกันกับ "ซพันจ์ - ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด" เกมส์โชว์แนววิทยาศาสตร์ รายการใหม่ล่าสุดที่นำเข้าจากแดนกิมจิ เริ่มตอนแรก 28 ส.ค.นี้ ทุกค่ำวันพฤหัสฯ ช่อง 9 ด้าน ผอ.สวทช. เผยจุดเด่นของรายการ คือชักชวนให้สงสัย และกระตุ้นความอยากรู้ของผู้ชม ให้เข้าใจวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ อย่างมีเหตุผล

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัวรายการใหม่ "ซพันจ์" (Sponge) ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด โดยมีนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.51 และมีสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตร ผอ.สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้สนับสนุน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านหลายกิจกรรม และการทำงานร่วมกับหน่วยงานและโรงเรียนต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสนใจวิทยาศาสตร์ และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านนี้ ซึ่งสื่อโทรทัศน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการเผยแพร่ข่าวสารหรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นสื่อที่เยาวชนและประชาชนจำนวนมากเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งหลายรายการที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย เช่น บียอนด์ ทูมอร์โรว์ ฉลาดล้ำโลก (Beyond Tomorrow), เมกา เคลเวอร์ ฉลาดสุดสุด (Mega clever)

สำหรับรายการ "ซพันจ์" ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด เป็นรายการเกมส์โชว์ยอดฮิต จากเกาหลีใต้ ในรูปแบบสารคดีเชิงวิทยาศาสตร์ ที่กระตุ้นผู้เข้าแข่งขัน และผู้ชมให้อยากรู้อยากเห็นในเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าตื่นเต้น โดยเตรียมนำมาออกอากาศต่อจากรายการ เมกา เคลเวอร์ ฉลาดสุดสุด ทางโมเดิร์น ไนท์ ทีวี ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. เริ่มตอนแรกวันพฤหัสบดีที่ 28 ส.ค.นี้ รวมทั้งหมดมี 42 ตอน

"รูปแบบรายการฟองน้ำอัจฉริยะ มีลักษณะเป็นเกมวิทยาศาสตร์ คล้ายๆ กับรายการ เมกา เคลเวอร์ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ใช้กลยุทธสร้างความสงสัย เพื่อชักชวนให้ค้นหาคำตอบ และรายการลักษณะนี้จะชักจูงให้คนหันมาสนใจดูรายการประเภทนี้กันมากขึ้น และสนใจที่จะทำความเข้าใจกับธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงมากกว่าความฉาบฉวยภายนอก ส่วนชื่อรายการ ฟองน้ำอัจฉริยะ สื่อถึงการเปรียบเทียบตัวเราให้เหมือนกับฟองน้ำ ที่พร้อมจะดึงดูดความรู้เข้าสู่ตัวเองอยู่เสมอ และนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์และถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อไป" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ผอ.สวทช. บอกอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจของรายการฟองน้ำอัจฉริยะนี้ อีกประการหนึ่งคือ เป็นรายการแรก ที่นำมาจากประเทศในเอเชีย คือประเทศเกาหลี และความเป็นเกาหลี ก็น่าจะเป็นสิ่งดึงดูดผู้ชมด้วยส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เนื้อหาสาระในรายการ จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม ได้เช่นเดียวกับรายการอื่นก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับความนิยมสูงอย่างน่าพอใจ และก็หวังว่าในอนาคตจะมีรายการลักษณะนี้ที่ผลิตโดยคนไทยเอง

อย่างไรก็ดี ยังเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัว ได้ใช้เวลาชมรายการโทรทัศน์ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น พ่อ แม่ ลูก สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการชมรายการนี้ ซึ่งเป็นการจุดประกายให้ประชาชนสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

นอกจากนี้ สวทช. ยังมีโครงการผลิตรายการ เคลเวอร์ แคมป์ (Clever Camp) ซึ่งเป็นรายการเรียลลิตี เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยให้เยาวชนผู้เข้าแข่งขัน เข้ามาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ที่เป็นภาระกิจของแข่งขันร่วมกันในบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในช่วงปิดเทอมเดือน ต.ค. และเตรียมนำออกอากาศทางโมเดิร์น ไนท์ ทีวี ในเดือน พ.ย.51

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000101285

Wednesday, August 27, 2008

หุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์


หมุนก่อนโลก
วิศวกรนำสัตว์หลายชนิดมาศึกษา เพื่อนำข้อดีมาใช้ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ อย่าง ดร.แอนเน็ต โฮซอย จากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษากล้ามเนื้อและเมือกเหนียวๆ คล้ายกับมายองเนสของหอยทาก ทำให้มันเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นซ้าย ขวา ไต่ขึ้นไปบนกำแพง ไต่ลงมา หรือไต่อยู่ที่เพดาน และยังไต่ได้เกือบทุกพื้นผิว เช่น ต้นไม้ กำแพง กระจก

ดร.โฮซอย กล่าวว่า "เรากำลังประดิษฐ์หุ่นยนต์โรโบสเนลเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทาง เหมือนกับหอยทาก โดยอาจปรับมาเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในการผ่าตัด เพื่อเคลื่อนที่เข้าไปในจุดที่เข้าไปยากมากๆ หรือใช้ในการขุดเจาะน้ำมัน ที่สำคัญของการประ ดิษฐ์หุ่นยนต์คือ เราต้องไม่เลียนแบบสัตว์มาทั้งดุ้น แต่เราต้องมีความเข้าใจในลักษณะพิเศษของสัตว์ ที่ทำให้มันสามารถทำอย่างที่มันทำได้"


นอกจากการศึกษาหอยทากของ ดร.โฮซอยแล้ว ยังมีการศึกษาหุ่นยนต์ตุ๊กแกของ ดร.โรเบิร์ต ฟูล จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ โดย ดร.ฟูลศึกษาไบโอเมคานิกที่ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวได้ เช่น ดูว่าสัตว์ประเภทใดวิ่งดีที่สุด คลานดีที่สุด ปีนดีที่สุด จากนั้นจึงวิเคราะห์ว่า ลักษณะทางชีวภาพใดที่ทำให้มันทำเช่นนั้น

ดร.ฟูล นำสัตว์ต่างๆ มาเดินบนเครื่องเดินสายพานเล็กๆ เพื่อดูการเดิน รวมทั้งสังเกตเมื่อพวกมันตกลงมาในแนวดิ่งแล้วมันจะทำอย่างไร หรือดึงขาแมลงสาบออกแล้วดูว่า พวกมันพยายามเคลื่อนไหวอีกได้อย่างไร

ส่วนหุ่นยนต์ตุ๊กแกนั้น ดร.ฟูล ศึกษาจิ้งจกและตุ๊กแกว่า ทำไมตีนของพวกมันเกาะอยู่บนวัสดุพื้นผิวเรียบได้ ทั้งยังเคลื่อนที่ได้เร็วมาก คือ 1 เมตรต่อ 1 วินาที จนพบว่า ตุ๊กแกเคลื่อนไหวในแนวดิ่งได้อย่างสบายๆ ก็เพราะมีขนเล็กๆ นับล้านเส้นอยู่ที่อุ้งเท้า และขนแต่ละเส้นมีตุ่มเล็กๆ อยู่จำนวนมาก โดยตุ่มนี้ทำให้ตีนตุ๊กแกยึดติดกับพื้นผิว และหลุดออกจากพื้นผิว อย่างเวลาก้าวเท้าเดิน ซึ่งวิทยาการของดร.ฟูล อาจนำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์ค้นหาและช่วยชีวิตได้

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdOakkzTURnMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdPQzB5Tnc9PQ==


Tuesday, August 26, 2008

จรวดทำลายตัวเอง หลังนำส่งดาวเทียมนาซาไม่สำเร็จ


จรวดขนดาวเทียมทดลองให้ "นาซา" ไปไม่รอด เข้าระบบทำลายตัวเอง หลังจากทะยานเบี่ยงทิศทาง ผิดเป้าหมาย เศษซากระเบิดตกลงมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้ชายฝั่งเวอร์จิเนีย

จรวดนำส่งดาวเทียม ในระดับวงโคจรย่อย ATK-ALV X-1 ของอัลลิอันต์ เทคซิสเต็มส์ อินส์ หรือ เอทีเค (Alliant Techsystems Inc. : ATK) ซึ่งนำส่ง 2 ดาวเทียมไฮเพอร์โซนิก ให้แก่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ถูกทำลาย หลังโคจรออกนอกทิศทาง

ตามรายงานผ่านเว็บไซต์ของนาซา ระบุว่า เหตุเกิดที่ฐานปล่อยจรวดวอลลอปส์ ของนาซา (NASA's Wallops Flight Facility) ที่มลรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อเวลา 05.10 น. ของวันที่ 22 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับเวลา 15.10 น. ในวันเดียวกัน ตามเวลาประเทศไทย

เมื่อจรวด ATK-ALV X-1 ทะยานตัวออกไปได้ เพียงแค่ 27 วินาทีเท่านั้น ก็เกิดการระเบิด ที่ระดับความสูง ประมาณ 3,000-3,600 เมตร

เคนต์ โรมิเกอร์ (Kent Romiger) อดีตนักบินอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งรั้งตำแหน่งรองประธาน ฝ่ายเทคโนโลยีอวกาศ ของเอทีเค เปิดเผยผ่านสเปซด็อตคอมว่า จรวด (ซึ่งเป็นรุ่นทดลอง) ถูกโปรแกรมไว้ว่า หากทะยานเบี่ยงไปจากทิศทางที่กำหนดไว้ จะสั่งไปสัญญาณไปยัง ระบบทำลายตัวเอง ซึ่งเป็นการป้องกัน เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ นาซาคาดการณ์ว่า เศษซากระเบิดส่วนใหญ่ ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ก็ยังมีรายงานเห็นเศษจรวด ตกลงสู่ภาคพื้นดินด้วย

อย่างไรก็ดี แม้เศษจรวดจะไม่ตกใส่ผู้คน แต่เศษที่ตกลงบนพื้น หรือท้องทะเลก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยทางนาซาแนะนำไม่ให้ประชาชนจับเศษดังกล่าว และโทรแจ้งศูนย์ฉุกเฉิน หากพบเห็น

ทั้งนี้ นาซาจ่ายให้แก่เอทีเค 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้าง "ไฮโบลต์" ดาวเทียมไฮเพอร์โซนิกเพื่อการวิจัย (Hypersonic Boundary Layer Transition : HYBOLT) และ "โซเร็กซ์" (Sub-Orbital Aerodynamic Re-entry Experiment : SOAREX) และจัดเตรียมการนำส่ง

ที่สำคัญ นาซาได้แสดงความผิดหวัง ที่เกิดความล้มเหลวในการนำส่งดาวเทียมครั้งนี้ และได้ตั้งทีมสอบสวนหาสาเหตุของการระเบิด ไปพร้อมๆ กับเอทีเค ซึ่งเป็นเจ้าของจรวด.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000100786

Sunday, August 17, 2008

"ต้นไม้ตดได้ไหม?" คำถามจาก "อาฟาง" สู่ไอเดียแยกคาร์บอนจาก CO2


นักเรียน ม.ปลายคิดบรรเจิดใช้สารนาโนแยกคาร์บอนจาก CO2 ชนะเลิศเขียนเรียงความ "ใช้นาโนลดโลกร้อน" พร้อมเสนอจินตนาการอื่นอีกเพียบ ทั้งให้ออกซิเจนเป็นอาหารต้นไม้ เสนอผลิตเสื้อนาโนที่ยืด-หดตามอุณหภูมิ ไม่เปื้อนง่าย ให้สวมใส่สบาย ไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ ลดปริมาณการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสนอให้ผลิตภัณฑ์นาโนย่อยสลายเองได้

"ต้นไม้ตดได้หรือเปล่า?" ณัฐวดี บุญโนนแต้ หรือ "อาฟาง" นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เปิดประโยคสนทนาแรกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ หลังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเขียนเรียงความหัวข้อ "นาโนเทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาโลกร้อน" ผ่านเว็บไซต์ "ไทยนาโน" (Thai-Nano.com ) ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 16 ส.ค.51

อาฟางเผยแนวคิดในเรียงความว่า ตั้งคำถามเล่นๆ กับเพื่อนว่า "ต้นไม้ตดได้ไหม" และเผยว่าได้ เพราะอากาศเสียจากต้นไม้คือคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต้นไม้ปล่อยออกมาในบางช่วงนั่นเอง จึงคิดต่อว่าจะจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรดี และอยากการได้อ่านแนวคิดรวบยอดจากคำนำหนังสือนาโนเทคโนโลยี ที่นำเสนอความคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย สหรัฐฯ และสวิส ก็ได้แนวคิดว่าน่าจะเอาสารที่มีความเล็กระดับอะตอม ไปแยกคาร์บอนออกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างไรก็ดี เธอไม่คิดว่าทุกอย่างที่เล็กลงแล้วจะดีเสมอ ดังนั้นการจะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ต้องเกิดประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัดและใช้ได้จริง ส่วนแนวคิดของเธอนั้นเธอเองมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น

นอกจากนี้อาฟางยังมีแนวคิดด้วยว่า เสื้อนาโนที่มีคุณสมบัติกันน้ำ-กันเปื้อนในปัจจุบันนั้น น่าจะพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่หดได้เมื่ออยู่ที่มีอากาศเย็นเพื่อกระชับร่างกายให้อบอุ่น และเมื่อออกกลางแจ้งหรืออยู่ในที่อากาศร้อนก็ขยายตัวเพื่อให้ผู้สวมใส่สบาย หากมีเสื้อผ้าแบบนี้ก็จะทำให้โรงงานไม่ต้องผลิตเสื้อผ้าออกมาก เพราะเราสามารถใส่เสื้อผ้าตัวเดียวได้ทุกโอกาส ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงงานสู่ชั้นบรรยากาศได้ ส่วนออกซิเจนที่เหลือจากการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ก็เอาไปเป็นอาหารให้ต้นไม้ เกิดประโยชน์ ไม่สูญเปล่า และยังมีอีกคิดคือพัฒนาผลิตภัณฑ์นาโนที่สามารถย่อยสลายเองได้

"หนูเป็นคนชอบคิด มีความคิดบ้าๆ บอๆ" อาฟางเผยเหตุผลในการส่งประกวดเรียงความ และบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า แนวคิดในการเขียนเรียงความครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการดูสารคดีเกี่ยวกับการย่อขนาด ตั้งแต่จักรวาล ลงมาสู่ดวงดาว โลก จนไปถึงอะตอมและสิ้นสุดที่ควาร์ก สารคดีดังกล่าวทำให้รู้ว่า "สิ่งที่เล็กที่สุดเป็นพื้นฐานของสิ่งที่ยิ่งใหญ่"

สำหรับผู้ได้รับรางวัลประกวดเรียงความคนอื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ม.ต้น ม.ปลาย และอุดมศึกษา ได้แก่
ระดับ ม.ต้น
รางวัลชนะเลิศ - ด.ช.สุวิทย์ พรมเสน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - ด.ญ.กิตติกานต์ ปานอยู่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - ด.ช.วัชรภัทร ด่านคงรักษ์
รางวัลชมเชย - ด.ญ.สายวรุณ ผิวนวล
รางวัลชมเชย - ด.ช.กิตติพงศ์ ทีภูเวียง

ระดับ ม.ปลาย
รางวัลชนะเลิศ - น.ส.ณัฐวดี บุญโนนแต้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - น.ส.กมลกร บินรัมย์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - นายสุทธิพันธ์ อารมย์แก้ว
รางวัลชมเชย - นายสุทธิ สีพิกา
รางวัลชมเชย - นายอภิสิทธิ์ แซงภูเขียว

ระดับอุดมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ - น.ส.อัจฉราภรณ์ แข็งแรง
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - น.ส.นัฐวี ธระวรรณ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - นายเกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง
รางวัลชมเชย - น.ส.อภิชญา จินาติ
รางวัลชมเชย - น.ส.พรประภา ม่วงประเสริฐ

ทั้งนี้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้สมัครผ่านเว็บไซต์ไทยนาโนในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. โดยไม่ต้องกรอกประวัติชื่อสถาบัน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโรงเรียนของเยาวชนแต่ละคน สำหรับผู้เป็นประธานในการมอบรางวัลครั้งนี้คือ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000096806

Tuesday, July 22, 2008

จุฬาฯประยุกต์ใช้นาโนเทคสร้างชุดตรวจฉี่หนูรู้ผลเร็ว

ศูนย์นาโนเทคจับมือจุฬาฯประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจิ๋วทำชุดตรวจโรคฉี่หนู ทดแทนชุดตรวจนำเข้าที่ราคาแพง ทั้งยังออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญหรือเครื่องมือพิเศษ

นพ.ดร.อมรพันธุ์เสรีมาศพันธุ์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่รวดเร็วและแม่นยำในผู้ป่วยติดเชื้อระยะแรกของโรคทำได้ยาก เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ตรวจมีราคาแพง ยังไม่แพร่หลายหรือครอบคลุมอาการของโรค ทีมวิจัยจึงพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนูในปัสสาวะขึ้นมาใช้งานเอง

ชุดตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนูในปัสสาวะที่พัฒนาขึ้นทำมาจากอนุภาคทองคำระดับนาโนเมตร สำหรับตรวจหาโปรตีนที่จำเพาะต่อแบคทีเรียซึ่งเป็นตัวการของโรคฉี่หนู นอกจากนี้การออกแบบชุดตรวจดังกล่าว ยังเน้นให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือเครื่องมือพิเศษใดๆ อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตต่อชุดถูกกว่าชุดตรวจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะทีมวิจัยนำทองคำมาสังเคราะห์ให้มีขนาดเล็กระดับนาโน จึงใช้วัตถุดิบในปริมาณน้อยนิดเท่านั้น

โรคฉี่หนูถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มโรคของมนุษย์ที่ได้รับเชื้อโรคมาจากสัตว์โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะสัตว์ แล้วปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางผิวหนัง อาจทำให้ผู้ได้รับเชื้อถึงขั้นเสียชีวิตหากรักษาไม่ทันหรือถูกต้องตามวิธี ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและจะสามารถช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อนี้ได้

ทั้งนี้ชุดตรวจหาเชื้อโรคฉี่หนูเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.และผู้ประกอบการในภาคเอกชน หากภาคอุตสาหกรรมจะนำไปพัฒนาและผลิตเชิงพาณิชย์ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากชุดตรวจต้นแบบที่สามารถพัฒนาได้มีความไวต่อการบ่งชี้โรคพอสมควร

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/22/x_it_h001_212339.php?news_id=212339

Monday, July 21, 2008

เทคโนประดิษฐ์-หุ่นยนต์พ่อครัวทำอาหารจัดโต๊ะได้หมด


เบื่อตื่นเช้ามาทำกับข้าวให้ลูกไปโรงเรียน หรือเปล่า ลองนี่สิ หุ่นยนต์พ่อครัวที่สามารถทอดไข่ดาว ทำแซนด์วิชได้ เผลอๆ อาจทำอาหารเย็นไว้รอ ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้าน

หุ่นยนต์ตัวใหม่พัฒนาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิค สามารถจดจำจาน ช้อน ทัพพี กระทะ ตะหลิว หม้อ ถ้วยชามรามไห ได้จากป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดบนภาชนะในห้องครัว ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อแยกประเภทอุปกรณ์ทำครัวให้หุ่นยนต์รู้จักเครื่องมือเครื่องไม้สำหรับนำมาใช้งานได้ง่ายขึ้น

มิเชล บีตซ์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ป้ายอิเล็กทรอนิกส์รับส่งข้อมูลไร้สาย หรือที่เรียกกันว่าอาร์เอฟไอดี ช่วยให้ระบบจดจำของหุ่นยนต์จำสิ่งของแต่ละประเภทได้ดีกว่าจักษุกล ซึ่งเป็นระบบประมวลผลด้วยภาพที่ค่อนข้างซับซ้อน และต้องออกแบบระบบใหญ่โตวุ่นวาย

หลังจากปรับมาใช้ป้ายอิเล็กทรอนิกส์แทนระบบจักษุกลแบบเดิมที่หุ่นยนต์รุ่นก่อนใช้ ผลปรากฏว่าหุ่นยนต์พ่อครัวรู้จักสิ่งของในครัวได้ทุกอย่าง และยังทำภารกิจพื้นๆ ได้โดยสังเกตการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ เช่น จัดโต๊ะอาหาร ซึ่งง่ายมาก แค่จำให้ได้ว่าถ้วย หรือจานใบไหนหายไปจากตู้ และมาปรากฏอยู่บนโต๊ะ หรืองานเก็บกวาดทำความสะอาดโต๊ะ ก็คล้ายกัน คือดูว่าจาน ช้อน ส้อม ถ้วย อันไหนหายไปจากโต๊ะแล้วไปอยู่ในอ่างล้างจาน

ทีมวิจัยกำลังหาทางเชื่อมต่อโปรแกรมเพื่อให้หุ่นยนต์รับคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบเดียวกับการค้นหาด้วยรูปภาพ ยกตัวอย่าง หุ่นยนต์สามารถค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ประเภทสอนให้ทำนั่นทำนี่ แล้วเปลี่ยนภาษาธรรมชาติให้เป็นคำสั่งที่หุ่นยนต์รู้จักโดยแปลงด้วยภาษาซอฟต์แวร์ชื่อ เวิลด์เน็ต (WorldNet)

หลังจากนั้น หุ่นยนต์จะนำคำสั่งมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ถือจาน 4 ใบมาวางบนโต๊ะ แทนที่จะเดินถือจานเที่ยวละใบ 4 เที่ยว หรือตอนที่หุ่นยนต์ออนไลน์หาข้อมูลอยู่ มันยังถ่ายทอดความรู้ที่มันเรียนได้ด้วย นักวิจัยวางแผนติดตั้งระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถแลกเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่าง สูตรทำอาหาร และเคล็ดลับการดูแลบ้าน กับหุ่นยนต์ตัวอื่น แต่สิ่งยากที่สุดคือทำให้หุ่นยนต์ตัวแรกมีระบบความรู้เหล่านี้เสียก่อน แล้วถึงค่อยใส่โปรแกรมให้มันถ่ายทอดความรู้

การออกแบบหุ่นยนต์ลักษณะนี้ไม่ใช่แค่นำเซ็นเซอร์ไปติดไว้ตามตัวเท่านั้น แต่ต้องฝังเซ็นเซอร์เข้ากับระบบเรียนรู้สภาพแวดล้อมการทำงานด้วย มันเหมือนช่วยให้หุ่นยนต์มีตามากขึ้น มีเซ็นเซอร์มากขึ้น และทำกิจกรรมที่ชาญฉลาดขึ้นในสภาพแวดล้อมต่างกัน

บีตซ์ และเพื่อร่วมทีมบอกว่า พวกเขาเลือกใช้ซอฟต์แวร์ระบบเปิดที่ชื่อว่า เพลเยอร์ (Player) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์มาตรฐานสำหรับควบคุมหุ่นยนต์ และเซ็นเซอร์ และยังบอกด้วยว่าจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์พ่อครัวให้ทำอาหารได้ในเร็ววัน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211636.php?news_id=211636

นศ.ตากอวดฝีมือหุ่นยนต์กู้ระเบิดยกจยย.ได้สบาย

มทร.ล้านนาตาก ทดสอบหุ่นยนต์กู้ระเบิด เคลื่อนที่ด้วยล้อตีนตะขาบเข้าถึงทุกซอกมุม แถมลากและยกจักรยานยนต์ได้สบาย
นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก (มทร.ล้านนา ตาก) พัฒนาต่อยอดผลงานหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดของของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยติดตั้งขาหน้าและหลังเพิ่มจากล้อตีนตะขาบ ให้เป็นฐานรากในการยกของหนัก และสามารถทำลายวัตถุต้องสงสัยด้วยกระสุนปืนแรงดันน้ำ

นักศึกษาเจ้าของผลงานคือ นายจักรพันธ์ ชูศักดิ์ นายวัชระ สะหาชาติ นายสถาพร ยอดปานันท์ และ น.ส.จุฑารัตน์ โยชุ่ม คาดหวังว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของตำรวจและทหาร ที่ปฏิบัติงานตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ เก็บกู้ ทำลายวัตถุอันตราย ระเบิดและสิ่งของต้องสงสัยในพื้นที่ได้ตามความคาดหมาย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากที่สุด

น.ส.จุฑารัตน์กล่าวว่าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ข้างต้น ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะคล้ายรถแบ็กโฮ ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบตีนตะขาบที่ทำด้วยแผ่นเหล็กอะลูมิเนียมกันความร้อนและโซ่ยนต์ รวมถึงแขนกลที่ติดตั้งอยู่ส่วนบนของตัวหุ่น ซึ่งถูกยึดด้วยปืนแรงดันสูง และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

หุ่นยนต์นี้ควบคุมด้วยรีโมทไร้สายในระยะไกลเกือบ2 กิโลเมตร มีความสามารถค่อนข้างจะอเนกประสงค์ สามารถปีนขึ้นบันได หรือทางเท้า เดินผ่านกองดิน กองทราย และน้ำท่วมขังระดับความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ทั้งยังชักลากรถเก๋งที่ใส่เกียร์ว่าง จักรยานยนต์ที่ล้ม หรือแม้แต่ซากศพออกมาจากสถานที่เกิดเหตุ

หุ่นยังมีมือกลที่จับสิ่งของได้หลายรูปทรงแต่ขนาดความกว้างต้องไม่เกิน 12 นิ้ว แม้แต่ลูกมะพร้าวก็ยังจับต้องได้ และยังสามารถแบกรับน้ำหนัก หรือยกสิ่งของได้มากถึง 80 กิโลกรัม

ส่วนกระสุนปืนที่ใช้ยิงทำลายวัตถุต้องสงสัยได้รับการสนับสนุนจากโรงงานวัตถุระเบิดของกรมสรรพวุธทหาร สามารถยิงเจาะเหล็กหนา 2 นิ้ว ประโยชน์ใช้งานคล้ายกับหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีราคาประมาณ 15 ล้านบาท ขณะที่หุ่นยนต์ต้นแบบมีต้นทุน 1.5 แสนบาทต่อตัว ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะส่งไปใช้เจ้าหน้าที่ฝึกใช้งาน และลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211732.php?news_id=211732

เอไอทีชี้บ่อน้ำมันไม่พลาดอาศัยซูเปอร์คอมพ์ช่วยคำนวณก่อนเจาะ

การค้นหาแหล่งน้ำมัน นอกจากจะเป็นเรื่องยากและใช้ทุนมหาศาลแล้วการขุดเจาะและนำน้ำมันขึ้นมาใช้ ยิ่งยากและซับซ้อนกว่า ทีมวิจัยเอไอทีศึกษาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ ช่วยค้นหาแหล่งน้ำมันจากแรงสั่นสะเทือนที่สะท้อนกลับ ระบุตำแหน่งแม่นยำก่อนลงเข็มเจาะ

ดร.พรามฮุย เจา หัวหน้าโครงการวิจัยศึกษาเทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซโพ้นทะเล สาขาวิชาวิศวกรรมวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ร่วมกับบริษัท Schlumberger ซึ่งดำเนินธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ศึกษาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการค้นหาบ่อน้ำมัน โดยเฉพาะการค้นหาแหล่งน้ำมันใต้ทะเลลึก ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างมาก

ในการขุดสำรวจจำเป็นต้องสร้างแบบจำลองของแหล่งน้ำมันเพื่อให้ทราบขนาดของหลุมเจาะ ความดันและศักยภาพในการเก็บน้ำมัน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้บริษัทน้ำมัน สามารถทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนอย่างมาก ดร.วรทัศน์ขจิตวิชยานุกูล คณะเทคโนโลยีชั้นสูง เอไอที หนึ่งในทีมงาน กล่าว

ที่ผ่านมาเอไอทีส่งนักศึกษาไปเรียนรู้เทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศเยอรมนีและออสเตรเลีย เพื่อเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน และการใช้งานร่วมกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ กระทั่งปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่พอสมควร

ปัจจุบันการสร้างแบบจำลองเพื่อการสำรวจหาทรัพยากรด้านพลังงาน ประเทศไทยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างที่ผ่านมา โดยเอไอทีร่วมกับศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ นำการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงผ่านเครือข่ายระบบกริด ช่วยให้การสร้างแบบจำลองหลุมขุดเจาะน้ำมันทำได้รวดเร็วขึ้น และสามารถสร้างแบบจำลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักวิจัยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในการด้านต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยา การออกแบบยา รวมถึงการออกแบบแอนิเมชั่นสามมิติ และการวิเคราะห์ทางการเงินของธนาคาร ที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังการประมวลผลมหาศาล ดร.ภุชงค์อุทโยภาศ ผู้อำนวยการศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ กล่าว

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระบบกริดเป็นการใช้พลังของหน่วยประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อกัน ทำให้ศักยภาพในการคำนวณทำได้รวดเร็ว โดยศูนย์ไทยกริดแห่งชาติพร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้ที่สนใจประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดังกล่าวมากขึ้น

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211633.php?news_id=211633

ไอทีโซน-ซอฟต์แวร์ผู้ช่วยเกษตรกรวิเคราะห์รู้ทันทีต้องเติมปุ๋ยอะไร

ราคาปุ๋ยที่ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้ต้นทุนค่าเพาะปลูกของเกษตรกรปรับขึ้นตาม ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม กระทรวงเกษตรฯ

ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ดินและปุ๋ย ทดสอบเบื้องต้นค่าปุ๋ยลดลง 500 บาทต่อไร่ ส่งให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศนำไปใช้งาน

ซอฟต์แวร์ดินไทย-ธาตุอาหารพืชและซอฟต์แวร์จัดการดิน-ปุ๋ยผลงานการพัฒนาร่วมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าปุ๋ยที่ปรับราคาเพิ่มบ่อยครั้ง ซอฟต์แวร์ทั้งสองจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร ทราบถึงสภาพความสมบูรณ์ของแปลงดิน และปริมาณปุ๋ยที่ต้องใช้ จึงลดการสิ้นเปลืองปุ๋ยส่วนเกินไปได้ส่วนหนึ่ง

"การพัฒนาโปรแกรมทั้งสองใช้เวลาเพียง3 เดือนเท่านั้น โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลดินเดิม ที่กรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจและแบ่งดินทั่วประเทศออกเป็นชุดดินต่างๆ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย" ฉลองเทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว

ซอฟต์แวร์ดินไทยฯรองรับการสืบค้นข้อมูลดิน ได้ตามขอบเขตการปกครองและตำแหน่งที่ตั้งแปลง ซึ่งเนื้อหาละเอียดถึงระดับหมู่บ้านรวมถึงชื่อวัดในหมู่บ้าน จากนั้นแสดงแผนที่ในรูปของสีที่แตกต่างกัน โดยแต่ละสีหมายถึงชุดดินหมายเลขต่างๆ รวมถึงรายละเอียดอื่นอย่างธาตุอาหาร คุณสมบัติทางเคมีของดินในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ยังแนะนำสูตรปุ๋ยและระยะเวลาใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับชุดดินต่างๆ โดยคำนึงถึงประเภทของพืชที่ปลูกบนชุดดินนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำ

ส่วนซอฟต์แวร์จัดการดินและปุ๋ยจะวิเคราะห์ดินของเกษตรกรเป็นรายแปลง จากการป้อนข้อมูลค่าวิเคราะห์ดินจากแปลงเพาะปลูก ทำให้ได้ข้อมูลเฉพาะของดินที่ละเอียดกว่าซอฟต์แวร์ดินไทยฯ ช่วยให้วิเคราะห์สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับความต้องการของดินในพื้นที่การเกษตรนั้นๆ

จากการติดตามผลในแปลงทดลองที่เกษตรกรบริหารจัดการใช้ปุ๋ยตามโปรแกรมแนะนำพบว่า สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ประมาณ 500 บาทต่อไร่ โดยที่ผลผลิตเท่าเดิม ฉลองกล่าว

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้แจกจ่ายซอฟต์แวร์ทั้งสอง ไปยังหน่วยงานในสังกัดระดับภูมิภาคแล้ว พร้อมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์ คาดว่าในปีงบประมาณ 2552 เกษตรกรทั่วประเทศจะสามารถใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ทั้งคู่ หรือสนใจติดต่อขอรับซอฟต์แวร์ดังกล่าว ได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการข้าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_it_h001_211634.php?news_id=211634

Sunday, July 20, 2008

กระหึ่มแดนมังกรเด็กไทยคว้า 2แชมป์โลก “RoboCup”


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ 2008 (RoboCup 2008) ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย ในรอบชิงชนะเลิศ หลังจากทีมPlasma RX จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายกมล จึงเสถียรทรัพย์ (อิ๊ก) นายชนินท์ จันมา (เล่ย) นายยุทธนา สุทธสุภา (อั๋น) นายปณัสม์ วิบุลพลประเสริฐ (นัท) และนางสาวนวรัตน์ เติมธนาสมบัติ (แหวน) ตะลุยเอาชนะคู่แข่งคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ทุกรอบ จนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้าย Plasma Rx จากประเทศไทย ยังโชว์ฟอร์มเยี่ยมเช่นเคย เอาชนะทีม Resko & Resquake ซึ่งเป็นทีมผสมระหว่างอิหร่านและเยอรมนี ทีม MRL จากประเทศอิหร่าน และทีม NuTech-R จากประเทศญี่ปุ่น โดยทีมจากประเทศไทยเก็บคะแนนและทิ้งห่างคู่แข่งและคว้าแชมป์โลกได้ 3 สมัยซ้อน หลังทีม Independent จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ครองแชมป์โลกติดต่อกันมา 2 ปีซ้อน ส่วนอันดับสอง คือ ทีม MRL จากประเทศอิหร่าน และอันดับสามคือ ทีมผสมระหว่างประเทศเยอรมนีและอิหร่าน
นอกจากนี้ทีมPlasma RX ยังได้รับรางวัล Best in Class in Mobility หรือรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษที่ผู้จัดมอบให้กับหุ่นยนต์กู้ภัยที่มีสมรรถนะสูงในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระ และเป็นครั้งแรกที่ทีมไทยได้รางวัลนี้

นางสาวนวรัตน์ เติมธนาสมบัติ หรือน้องแหวน ซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวในทีม ในฐานะหัวหน้าทีม เปิดเผยถึงชัยชนะในครั้งนี้ว่า “ภูมิใจที่ทำสำเร็จตามที่ต้องการ ตอนแรกค่อนข้างกดดันมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแชมป์ถึง 2 สมัยซ้อน และเป็นปีแรกของ Plasma Rx ที่เข้าร่วมการแข่งขัน จึงมีเวลาเตรียมตัวน้อย และทุกคนต่างก็คาดหวังเพราะไทยเป็นแชมป์มา 2 ปีซ้อน ชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทีมที่ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงสุด เช่น โปรแกรมการสร้างแผนที่จำลอง และการสร้างหุ่น Autonomous ในอนาคตอยากให้มีการนำหุ่นยนต์กู้ภัยไปใช้ได้จริง และหวังว่าการแข่งขันครั้งนี้จะกระตุ้นให้เด็กไทยได้พัฒนาความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ และก็อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยกันสนับสนุนเด็กไทย สำหรับรางวัลที่ได้มาทีม Plasma RX ตั้งใจว่าจะนำทูลเหล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า การแข่งขันรอบชิงขนะเลิศวันนี้แสดงถึงศักยภาพของไทยว่า เราคือแชมป์ตัวจริง แชมป์สองสมัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงว่าไทยมีความสามารถแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการประกาศศักดาให้นานาชาติให้ยอมรับมากขึ้น จากแต่เดิมที่เวลาเราไปพูดคุยกับใครมักจะไม่ได้รับการตอบสนอง แต่วันนี้หลายประเทศชื่นชมและมาขอเรียนรู้จากเรามากมาย รวมถึงสื่อมวลชนในสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มาเผยแพร่ข่าว ที่สำคัญสื่อมวลชนจากเมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ 2009 ได้มาบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยด้วยความสนใจเพื่อนำไปเผยแพร่ด้วย อย่างไรก็ตามสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และเครือซิเมนต์ไทยที่สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยทั้งระดับประเทศไทยและนานาชาติมีความภูมิใจในศักยภาพเด็กไทยอย่างมาก เพราะไม่เฉพาะประโยชน์ที่เด็กไทยและวงวิชาการที่จะได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถไปยังรุ่นต่อรุ่นแล้ว แต่ยังผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศที่สามารถนำศักยภาพความรู้ความสามารถของเด็กไทยไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศได้อย่างดียิ่ง

นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ผู้สนับสนุนการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship และส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Robocup 2008 กล่าวว่า SCG ยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติทึ่ง และยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น

“จากความสำเร็จของเยาวชนไทยที่ผ่านมาและในครั้งนี้ ทำให้ SCG ตั้งใจที่จะจัดเวทีแข่งขัน Thailand Rescue Robot ให้เป็นระดับนานาชาติ โดยจะเชิญประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Rescue 2008 มาร่วมแข่งขันในประเทศไทย และขณะนี้หลายประเทศได้ตอบรับร่วมการแข่งขัน คาดว่าการแข่งขันดังกล่าว ซึ่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม นี้ จะเน้นแนวคิด Show & Share เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้และและเปลี่ยนประสบการณ์จากนานาประเทศ” นางมัทนา กล่าว

ด้านการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็กซึ่งทีมเด็กไทยลงแข่งรวมทั้งหมด 3 ทีม คือ ทีมPlasma-Z จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมScuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสองทีมแรกสามารถฝ่าฟันคู่แข่งเข้าสู่รอบก่อนชิงชนะเลิศได้

โดยในรอบก่อนชิงชนะเลิศ ทีมเด็กไทยต้องแข่งขันกันเอง และทีม Plasma-Z เอาชนะทีมสกูบ้าไปได้ด้วยคะแนน 10ต่อ 0 เข้าไปชิงกับทีม CMU จากอเมริกาซึ่งเอาชนะทีม ZJU จากประเทศจีน โดยทีมสกูบ้าต้องลงแข่งขันกับทีมจากจีน ผลปรากฎว่าทีมสกูบ้าชนะได้ครองที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คู่ชิงชนะเลิศระหว่างไทยกับอเมริกาต่างฝ่ายต่างทำคะแนนสู่สี โดยทีมไทยนำไปก่อนในครึ่งแรก 1 ต่อ 0 ส่วนในครึ่งหลัง อเมริกาตีตื้นขึ้นมาเป็น 1 ต่อ 1 และยิงประตูนำไปเป็น 2 ต่อ 1 ก่อนที่ทีมเด็กไทยจะยิงประตูทำคะแนนไปได้อีก 3 ประตูซ้อน หมดเวลาทำให้ทีม Plasma – Z จากประเทศไทยชนะไปทีม CMU ไปด้วยคะแนน 4 ต่อ 2

นายธีระพล วัฒนเวคิน (เอ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม Plasma-z กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และก็เห็นว่าเด็กไทยหากเรามีความมุ่งมั่นและพยายามก็สามารถขึ้นมาสู่ระดับโลกได้ ชัยชนะครั้งนี้เป็นเพราะพวกเราสามมัคคีกันและต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตัวเองซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีม สำหรับทีมอเมริกาถือเป็นคู่แข่งเก่าเพราะเมื่อปีที่แล้วเราแพ้ได้รองชนะเลิศและถือว่าเป็นทีมที่มีความแข็งแกร่งมาก ปีนี้เราพยายามปรับปรุงและพัฒนาหุ่นของเราและเราก็ทำให้เห็นแล้วว่าเด็กไทยทำได้

ด้านผศ.ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาทั้งทีมหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอล กล่าวว่า รุ้สึกดีใจมากที่เด็กไทยทั้งสองทีมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตอนแรกยอมรับว่ากดดันมาก เพราะทีม Plasma RX ต้องแบกรับภาระในฐานะแชมป์เก่าของหุ่นยนต์กู้ภัย ส่วนทีม Plasma-Z ปีที่แล้วก็ได้ตำแหน่งรองปีนี้เราก็หวังว่าจะได้แชมป์ ตอนนี้เราก็ทำให้นานาประเทศได้รับรู้แล้วว่า เยาวชนไทยมีความเก่ง ความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น ๆ และก็หวังว่าความาสำเร็จครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยอื่นๆ ได้เห็นถึงศักยภาพว่า เราไม่ด้อยไปกว่าต่างชาติ”

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=170809&NewsType=1&Template=1

Saturday, July 19, 2008

"ส้วมอวกาศ" ภารกิจท้าทายสำหรับยานใหม่ของนาซา


ตัวแทนผู้รับเหมาก่อสร้าง "ส้วมอวกาศ" ประกาศรับปัสสาวะจากคนงานในศูนย์อวกาศ เพื่อพัฒนาระบบส้วมสำหรับ "โอไรออน" ยานใหม่ของนาซา โดยต้องการมากถึงวันละ 30 ลิตร ด้านเจ้าหน้าที่นาซาระบุ การสร้างระบบทำความสะอาดส้วม ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ความท้าทายสำหรับการสร้างยานโอไรออน (Orion) ยานอวกาศลำใหม่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่จะมาแทนกระสวยอวกาศแบบเดิม ซึ่งกำลังจะถูกปลดระวางนั้น คือการสร้างส้วมสำหรับนักบินอวกาศภายในยานลำใหม่ ตามรายงานของเอพีที่อ้างบันทึกภายในที่โพสต์ผ่านเว็บไซต์นาซาวอตช์ (Nasawatch.com)

ทั้งนี้แฮมิลตัน ซันด์สแตรนด์ (Hamilton Sundstrand) ผู้รับเหมาโครงการอวกาศของนาซากำลังหาปัสสาวะจากคนงานภายในศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนายานโอไรออนที่จะนำนักบินอวกาศขึ้นไปยังดวงจันทร์

มีความต้องการปัสสาวะ เพื่อใช้ทดลองสำหรับการออกแบบห้องส้วมในยานอวกาศมากถึงวันละ 30 ลิตร ซึ่งเป็นความต้องการทุกวันไม่เว้นหยุด โดยผู้ออกแบบยานโอไรออน ที่ต้องจอดในอวกาศนานถึง 6 เดือนระหว่างปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ จำเป็นต้องหาวิธีที่จะกำจัดน้ำปัสสาวะที่เก็บสะสมไว้ในส้วม

"ปัสสาวะเป็นสิ่งที่สกปรกมาก เพราะประกอบไปด้วยของแข็ง ซึ่งจะอุดตันช่องระบาย ดังนั้นการทำให้ระบบกำจัดของเสียสะอาดนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง" เอพีรายงานคำพูดของจอห์น ลิวอิส (John Lewis) หัวหน้าระบบสนับสนุนการดำรงชีพในยานโอไรออนของนาซา

ลิวอิสยังกล่าวด้วยว่านาซามีประเพณียึดถือมายาวนานแล้วในการนำตัวอย่างจากคนงานของนาซาเองเพื่อช่วยในการออกแบบห้องส้วมอวกาศที่ดีเพราะเราไม่สามารถผลิต "ฉี่ปลอม" ขึ้นมาได้

ทางด้านลีโอ มาโกว์สกี (Leo MaKowski) โฆษกบริษัทวินด์ซอร์ ลอคส์ คอนน์ (Windsor Locks, Conn.) ซึ่งเป็นบริษัทฐานในการผลิตส้วมสำหรับงานโอไรออน กล่าวว่าบริษัทต้องใช้ปัสสาวะปริมาณมาก โดยประมาณว่าวันหนึ่งต้องได้ตัวอย่างจากผู้บริจาคมากถึง 30 คนเพื่อศึกษาเรื่องความเป็นกรด

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000084722