Monday, September 1, 2008

สวทช.เปิดเวทีประกวดทำสื่อวิทย์ "วัสดุรักษ์โลก"


สวทช. เปิดเวทีประกวดทำสื่อวิทยาศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" มอบทุนผลิตแก่ทีมนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ ฝ่ายจัดงานระบุ วัสดุแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด หากผู้ผลิตรู้จักสร้างสรรค์วัสดุและผู้ใช้รู้จักเลือก ด้านตัวแทนเยาวชนระบุเลือกทำสื่อเกี่ยวกับ "ไคติน-ไคโตซาน" เพราะเชื่อว่า วัสดุที่ได้จากธรรมชาติจะไม่ทำร้ายธรรมชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวโครงการ Science Communication Award ปีที่ 3 กรอบสาระการสื่อสารวิทยาศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" (Material for a Better World) เมื่อค่ำวันที่ 28 ส.ค.51 ณ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรงานออกแบบ (TCDC) และมอบทุนงวดที่ 1 แก่นักศึกษาที่ส่งผลงานเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือก เพื่ออุดหนุนการพัฒนาและผลิตชิ้นงานสื่อเพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบของมัลติมีเดีย อะนิเมชันและภาพยนตร์สั้น โดยผลงานนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ และแต่ละโครงการได้ทุนอุดหนุน 10,000 บาท

ทั้งนี้ ทางโครงการได้เปิดรับข้อเสนอโครงการของนักศึกษาตั้งแต่เดือน ก.ค.51 และประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาที่าผนการคัดเลือกได้ส่งเค้าโครงสาระทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำเสนอในชิ้นงานไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.

จากนั้นจะมีการมอบทุนสนับสนุนงวดที่ 2 อีก 10,000 บาท หลังนักศึกษาส่งตัวอย่างชิ้นงานที่พัฒนา (Demo) พร้อมรายงานผลการดำเนินงานในวันที่ 26 ก.ย. และจะตัดสินการประกวดในวันที่ 25 พ.ย. ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับรางวัล 30,000 บาท และคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานดีเด่นสูงสุด 1 รางวัลจากผู้ชนะเลิศทุกประเภท เพื่อไปดูงานที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นางมนธิดา สีตะธนี หัวหน้าโครงการ Science Communication Award สวทช. กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ภายในงานเปิดตัวโครงการถึงเหตุผลในการเลือกหัวข้อ "วัสดุรักษ์โลก" เป็นกรอบสาระการประกวดครั้งนี้ว่า ช่วงนี้มีกระแสในเรื่องการช่วยโลกและคนพูดถึงกันมาก แต่ก็พูดถึงแค่ถุงพลาสติกและการปิดไฟ จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะ หากรู้จักเลือกใช้วัสดุ

"วัสดุอยู่ในทุกอย่าง ถ้ารู้จักเลือกใช้วัสดุ จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้เร็วมาก มากกว่าแค่ถุงพลาสติก โดยคำนึงถึงตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคคำนึงถึงวัสดุตั้งแต่ก่อนใช้ หลังใช้ วัสดุจะเป็นตัวช่วยได้เยอะมาก เพราะมีอยู่รอบตัวเรา" นางมนธิดากล่าว

และคิดว่าสื่อจะมีอิทธิพลหากมีเยอะๆ และอย่างน้อยภายในโครงการนี้ นักศึกษาต้องพูดคุยกับเพื่อหรืออาจารย์ นักศึกษาทั้ง 20 กลุ่มได้เริ่มตระหนัก และกลุ่มเหล่านี้ก็จะสื่อในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยลงไประดับมัธยมได้ตรงประเด็น" นางมนธิดากล่าว

หัวหน้าโครงการประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า หากผลงานในจำนวน 20 โครงการนี้สามารถสื่อถึงการใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ดี ทาง สวทช.ก็จะนำไปเผยแพร่ต่อ พร้อมให้เหตุผลที่ไม่มีการประกวดสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ เนื่องจากยากต่อการนำไปเผยแพร่ต่อ ในขณะที่สื่ออะนิเมชัน มัลติมีเดีย และภาพยนตรสั้นนั้นสามารถเผยแพร่ได้ง่ายกว่า

ด้าน นายณัฐพล แป้งนุช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาของทั้ง 20 โครงการที่เข้าร่วมการประกวด เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กลุ่มของเขาซึ่งมีสมาชิกประมาณ 8-10 คนนั้น มีแนวคิดที่จะนำเสนอเรื่อง "ไคติน-ไคโตซาน" โดยเขามองว่าวัสดุที่มาจากธรรมชาติย่อมไม่ทำร้ายธรรมชาติ และก็มีใช้กับผลิตภัณฑ์ประจำวันทั่วๆ ไป อาทิ เครื่องสำอาง ยาสระผม เป็นต้น ทั้งนี้คาดหวังว่าอย่างน้อยๆ การทำสื่อของเขาจะทำให้คนดูได้รู้จักไคติน-ไคโตซาน มากขึ้น แล้วหันมาใช้กันมากขึ้น

สำหรับโครงการประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ศาสตร์ "วัสดุรักษ์โลก" นี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งให้การสนับสนุนนำนักศึกษาไปศึกษาดูงานที่เยอรมนี และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก ห้องสมุดเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และเนชั่น กรุ๊ป โดยนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกโครงการได้เข้าไปศึกษาดูงานในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการเหล่านี้

การประกวดสื่อวิทยาศาสตร์ระดับนักศึกษานี้จึดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปี 2549 ซึ่งจัดประกวดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นมีกรอบสาระวิทยาศาสตร์คือ "บัคกี้บอล" (Bucky Ball) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์" (Science Film Festival) และมีการจัดโครงการต่อเนื่อง โดยปีถัดมามีกรอบสาระวิทยาศาสตร์คือ "ไบโอนิค" (Bionik) ทั้งนี้ผลงานในโครงการจะได้รับการเผยแพร่ผ่านเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย โดยปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 พ.ย.51.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000102257

No comments: