Friday, October 24, 2008
ซอฟแวร์ฟรีหนีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ขืนควักเงินก้อนใหญ่ซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ชุดละเป็นหมื่น โดยไม่รู้ว่าจะเหมาะสมกับองค์กรตัวเองหรือเปล่า คงมีแต่เจ๊ง ไม่มีเจ๊า ทางที่ดีลองหาพวกซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส หรือที่เรียกย่อๆ ว่า โอเอสเอส มาลองใช้ก่อนจะดีกว่า ถ้าถูกใจก็ใช้ไปเลย ไม่ต้องรีรอ
ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มองว่า เจ้าซอฟต์แวร์คุณภาพแต่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายที่เรียกว่า "ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส" พวกนี้ เป็นตัวช่วยในยุควิกฤติเศรษฐกิจ หรือจะพ้นวิกฤติไปแล้วก็ใช้ได้ตลอด ไม่มีใครหวง
หลายคนมองว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก องค์กรขนาดย่อม แต่ ดร.วิรัชมีข้อมูลเด็ดมาบอกว่า องค์กรขนาดใหญ่เขาก็ใช้กัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงว่าโปรแกรมจะใช้กับชาวบ้านชาวช่องไม่ได้
“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปกว่า 300 ล้านบาท และปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) ก็เข้ามาปรึกษากับเนคเทคอยากใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบ้างเหมือนกัน” ดร.วิรัชเผย
เช่นเดียวกับ องค์กรขนาดใหญ่ด้านการสื่อสารอย่าง กสท โทรคมนาคม (แคท เทเลคอม) ทีทีแอนด์ที และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้นำซอฟต์แวร์ เลิร์น สแควร์ ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์สด้านการเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เนคเทคพัฒนาขึ้นมาใช้งาน
เหตุที่ทำให้องค์กรทั้งใหญ่น้อย หันมาสนใจซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส นอกจากความประหยัดแล้ว โอเพ่นซอร์สยังเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องจ้างบริษัทมาดูแลระบบ ทั้งยังสามารถปรับปรุง พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ตลอดเวลา
ส่วนเทรนด์โอเพ่นซอร์สปี 2552 ดร.วิรัช ซึ่งสวมหมวกนายกสมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทยอีกใบบอกว่า แนวโน้มที่จะเห็นได้ชัดคือ การนำโอเพ่นซอร์สไปใช้ในภาคการศึกษา ที่จะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบัน ขณะที่การใช้งานในภาคธุรกิจนั้น ยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
สิ่งที่น่าจะเห็นในปี 2552 อีกอย่างคือ การรวมกลุ่มของผู้ใช้โอเพ่นซอร์ส ซึ่งจะเป็นการจัดตั้งชุมชนหรือคลับสำหรับโอเพ่นซอร์สตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ ดร.วิรัชมองว่า กลุ่มดังกล่าวนี้จะเกิดจากการใช้งาน เช่น อาจจะเป็นผู้ดูแลระบบของบริษัทที่ทดลองใช้แล้วชอบ เกิดการชักชวนผู้ดูแลระบบของบริษัทอื่น หรือเพื่อนที่ใช้โอเพ่นซอร์สตัวนี้ มารวมตัวกัน และอาจจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดโอเพ่นซอร์สนั้นๆ ออกไปได้อีก จนเกิดเป็นโอเพ่นซอร์สของตนขึ้น
แม้ปัจจุบันโอเพ่นซอร์สถูกพัฒนาและเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Fedora, Ubuntunclub, OpenSUSE, CentOS รวมถึงที่มักพบในไทยคือ จูมล่า (Joomla) และแมมโบ้ลายไทย (Mambo เวอร์ชั่นไทย) แต่กลับมีโอเพ่นซอร์สที่เป็นของไทยน้อยมาก
“คนไทยยังไม่คุ้นกับการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส ที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ทำให้ทางเนคเทคพยายามที่จะปรับพฤติกรรมของนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สไทย ด้วยการจัดแคมป์โค้ดเฟส” ดร.วิรัชอธิบาย
โค้ดเฟส เป็นกิจกรรมการเขียนโปรแกรมมาราธอนที่เนคเทคและสมาคมโอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักพัฒนาโปรแกรมทั่วไปมีความสนใจการพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมากขึ้น และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาโปรแกรมที่ดี และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนทำให้กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สของประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น เริ่มมีครั้งแรกในปี 2549 และจัดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกว่า 6 ครั้งแล้ว
ดร.วิรัชกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการส่งเสริมศักยภาพของนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สไทย สร้างประสบการณ์การทำงานเป็นทีม แล้วยังได้เห็นของใหม่ ที่ไม่ใช่แค่โอเพ่นซอร์ส แต่มีการนำโอเพ่นซอร์สที่มีไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลายเป็นนวัตกรรม เช่นที่ทำกันในการประกวดโครงการลีนุกซ์ฝังตัว (Embeded Linux Project Contest 2008)
“นอกเหนือจากส่งเสริมการพัฒนาโอเพ่นซอร์สสัญชาติไทย การสร้างนวัตกรรมจากโอเพ่นซอร์สก็เป็นการเพิ่มมูลค่าได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ที่ผสานกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สออกมาวางขายในตลาดแน่นอน” ดร.วิรัชให้มุมมอง
สาลินีย์ ทับพิลา
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/10/24/x_it_h001_226608.php?news_id=226608
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment