Friday, November 7, 2008

เปิดตัว "ไอ-โม" ยานยนต์สองล้ออัตโนมัติฝีมือคนไทย


สนช. เปิดตัวพาหนะ 2 ล้อทรงตัวอัตโนมัติ พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ขนาดเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา ขับขี่ง่าย ด้วยระบบควบคุมโดยสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ คล่องตัวแม้ในสถานที่คับแคบ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ไม่ก่อมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม และราคาถูกกว่านำเข้าหลายเท่าตัว

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด จัดงานเปิดตัว "ไอ-โม" (I-MO) พาหนะสองล้อทรงตัวอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานต่อยอดโดยฝีมือคนไทย ในระหว่างการจัดงานแนะนำ 10 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.51 ณ สยามพารากอน ซึ่งมีสื่อมวลชนมากมายให้ความสนใจ รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย

นายสุพร จิรัญญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-โมบิลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ไอ-โม หรือรถสองล้อทรงตัวอัตโนมัติ เป็นผลงานที่พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีเพียงบริษัทเสกเวย์ (Segway) ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ผลิตยานพาหนะในลักษณะนี้จำหน่ายกว้างขวางมาหลายปีแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ซึ่งนำเข้ามาในราคา 3-4 แสนบาท โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามียอดขายไปแล้วหลายร้อยคัน

"รถยนตร์สองล้อทรงตัวอัตโนมัติที่เราพัฒนาขึ้นใช้หลักการเดียวกับของเสกเวย์ ซึ่งเป็นหลักการที่มีสอนอยู่แล้วในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ต่างไปจากเสกเวย์ก็คือการออกแบบรูปทรงที่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย โดยเราประกอบขึ้นเองจากภายในประเทศ ทำให้มีราคาถูกลง ประมาณคันละ 80,000 บาท ซึ่งชิ้นส่วนที่นำมาใช้ก็มีทั้งที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ และบางอย่างก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ" นายสุพร กล่าว

ด้านนายพชรพล จิรัญญกุล วิศวกร อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้นำหลักการการควบคุมการทรงตัวแบบลูกตุ้มนาฬิกาหัวกลับ (inverted pendulum) มาใช้ เพื่อรักษาสมดุลของผู้ขับขี่ให้อยู่นิ่ง และเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้โดยไม่ล้ม โดยอาศัยการโน้มตัวของผู้ขับขี่ เป็นการเลียนแบบการเดินของคนเรา เวลาที่เราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เราก็โน้มตัวไปข้างหน้าก่อน จากนั้นก็ก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามไป เพื่อยันตัวไว้ไม่ให้ล้ม

นายพชรพล กล่าวต่อว่า พาหนะบุคคลลักษณะนี้คิดค้นและพัฒนาขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อราว 8 ปีก่อน และมีการผลิตจำหน่ายอย่างกว้างขวาง และเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็ผลิตพาหนะบุคคลที่ใช้หลักการเดียวกันแต่มีรูปทรงแตกต่างออกไป ซึ่งไอ-โม ก็เช่นเดียวกัน โดยที่เราได้ออกแบบเองทั้งหมด ทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ กลไกการควบคุมต่างๆ รวมทั้งระบบสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ ซึ่งเราได้ร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการพัฒนาไอ-โม ด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สนช.

ไอ-โม ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณล้อทั้ง 2 ข้าง กำลังขับเคลื่อนข้างละ 500 วัตต์ สามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ถึง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออน ชนิดเดียวกับที่ใช้ในคอมพิวเตอร์โน้ตบุค แต่ขนาดใหญ่กว่า และกำลังไฟมากกว่า 4 เท่า เมื่อชาร์จไฟครั้งหนึ่ง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 4 ชั่วโมง

ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ที่มีระบบสมองกลฝังตัวอัจฉริยะในการควบคุมการทำงานของระบบขับเคลื่อน ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่งของผู้ขับขี่และความเร็วในการเคลื่อนที่ เพื่อทำการประมวลผล แล้วจึงส่งสัญญาสำหรับควบคุมความเร็วของมอเตอร์ เพื่อรักษาสมดุลของผู้ขับขี่ ซึ่งความเร็วในการประมวลผลราว 50 ครั้งต่อวินาที เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ขับขี่สามารถรักษาการทรงตัวอยู่ได้ตลอดเวลา

"การควบคุมการเคลื่อนที่และความเร็ว ทำได้โดยการโน้มตัว โดยโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อเดินหน้า หรือโน้มตัวไปด้านหลังเมื่อต้องการถอยหลัง หากต้องการให้เคลื่อนที่เร็วขึ้นก็โน้มตัวให้มากขึ้น เมื่อต้องการบังคับให้หยุด ก็โน้มตัวกลับมาที่ตำแหน่งตั้งตัวตรง และเราสามารถยืนตัวตรงเพื่อหยุดอยู่กับที่ได้โดยไม่ต้องก้าวลงจากแท่นยืน เพราะไมโครคอนโทรลเลอร์จะคอยรักษาสมดุลของผู้ขับขี่อยู่ตลอดเวลา" นายพชรพลอธิบายวิธีการขับขี่ไอ-โมเบื้องต้น

นอกจากนี้ ไอ-โมยังสามารถใช้งานในสถานที่แคบๆ ได้คล่องตัว เนื่องจากสามารถหมุนรอบตัวเองได้โดยไม่ต้องเคลื่อนที่ ซึ่งการบังคับทิศทางและการเลี้ยวทำได้โดยการโยกจอยสติ๊ค (Joystick) ด้วยปลายนิ้วเท่านั้น

นายสุพร กล่าวตอนท้ายว่า เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในงานนี้ โดยในปีแรกตั้งเป้าผลิตจำนวน 200 คัน โดยเน้นจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลักเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การใช้งานในโรงงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ภายในหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์แสดงสินค้า สนามบิน และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000131915

No comments: