ทีมนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อวดซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานเครื่องคอมพิวเตอร์ หวังบันดาลให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกช่วยกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
รชต สุรัตตกุล นักศึกษาชั้นปี 4 จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นผลงานที่เข้าแข่งขันในโครงการอิมเมจิน คัพ 2008 ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3
“ขณะนี้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สามารถทำงานสอดรับกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ครอบคลุมทุกระบบ ทั้งเก่าอย่างวินโดว์ เอ็มอี หรือระบบใหม่อย่างซิลเวอร์ไลท์ อาร์ซี 1 จากเดิมที่รองรับเฉพาะวินโดว์เอ็กซ์พีเท่านั้น” รชตกล่าว
ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์เหมือนโปรแกรมทั่วไป ระบบจะจัดการควบคุมการทำงานเปิดปิดหน้าจอเมื่อไม่ใช้ภายใน 5 นาที รักษาสมดุลการทำงานของซีพียูอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี เพื่อนร่วมทีม กล่าวว่า เครื่องคอมพ์ที่ลงซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปแล้วสามารถตรวจสอบได้ว่าได้ใช้กระแสไฟฟ้าไปแล้วกี่บาท และยังดูเปรียบเทียบกันระหว่างค่าไฟก่อนติดตั้งและหลังติดตั้งได้ด้วย
ระบบเปรียบเทียบค่าไฟที่ทีมวิจัยนำมาใช้กับซอฟต์แวร์ เป็นการคำนวณโดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยขององค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาขึ้น และเริ่มนำมาใช้งานจริงเมื่อ 3 ปีก่อนจนทั่วโลกยอมรับในมาตรฐานการคำนวณค่าไฟ
“ประโยชน์ที่เกิดจากการนำซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานไปติดตั้งคือ อนาคตไทยจะมีความร่วมมือกับต่างประเทศทั่วโลกในด้านการช่วยลดการใช้พลังงาน เพราะสามารถนำผลคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าไปเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลการใช้พลังงานจากเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับชาติได้” ชินพงศ์กล่าว
ถึงเป้าหมายหลักคือสำนักงาน บริษัท และองค์กร แต่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์พีซีตามบ้านได้เช่นกัน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ระดับชาติขึ้น
ซอฟต์แวร์ประหยัดพลังงานคอมพิวเตอร์จะมาโชว์ความสามารถในงานเปิดบ้าน มจธ. ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับผลงานวิจัยทั้งของอาจารย์ นักศึกษา มาร่วมแสดงอีกมากมาย ทั้งการแข่งขันหุ่นยนต์ การแนะแนวศึกษาต่อ การโชว์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ การสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุนาโน เป็นต้น
กานต์ดา บุญเถื่อน
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/11/05/x_it_h001_228868.php?news_id=228868
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment