Saturday, November 8, 2008

เก็บตก "สิ่งทอนาโน" ในงาน "นาโนไทยแลนด์"


จัดงานครบ 3 วันเต็ม สำหรับ "นาโนไทยแลนด์" แม้ภาพรวมของงานจะโดน "สารอาหารบำรุงรากผม" ที่ได้พรีเซนเตอร์ระดับ "รัฐมนตรี" ออกมา "การันตี" คุณภาพ แต่ภายในงานก็ยังมีงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ได้ชม หลังจากเดินวนชมนิทรรศการอยู่หลายรอบ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็เห็นว่ามี "สิ่งทอนาโน" หลากหลายรูปแบบมาจัดแสดงในงานนี้

เริ่มตัวอย่างของ "สิ่งทอนาโน" ภายในงานการประชุมและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์" (NanoThailand Symposium 2008) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่บูธของบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี โซลูชัน จำกัด ที่ขนสารพัดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนาโนมาจัดแสดง อาทิ สบู่ เซรัมบำรุงผิว เจลอาบน้ำ แต่ที่สะดุดตาเราก็คือ "ถุงมือนาโน" ที่สวมใสโดย "พริตตี้" สาวสวยประจำบูธ

นายสุรพงษ์ ฉินทองประเสริฐ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ถุงมือดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ทีได้จากสิ่งทอซึ่งเคลือบ "นาโนซิลเวอร์" (nanosilver) ระหว่างกระบวนการทอก่อนตัดเย็บ ซึ่งทำให้ได้สิ่งทอที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความสะอาดและปลอดเชื้อ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากเกาหลีทั้งหมด

มาถึงบูธที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีตัวอย่างของสิ่งทอที่อยู่ในขั้นตอนของงานวิจัย แต่ดูเป็นความหวังสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ในอนาคต เริ่มจากเส้นใยผสมผงถ่านกะลามะพร้าวซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำให้ได้เส้นใยสีเทาๆ ที่มีคุณสมบัติดูดกลิ่น ดูดซับความชื้นและต้านแบคทีเรีย ซึ่งนำไปทอเป็นถุงเท้าได้

สำหรับสิ่งทอของสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ มีด้วยกันถึง 3 ผลงาน ซึ่งยังคงเป็นสิ่งทอในระดับงานวิจัยเช่นกัน นั่นคือ "เสื้อกันยุง" ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนแคปซูลผสมเข้ากับเส้นใยของสิ่งทอ เพิ่มคุณสมบัติในการดักเก็บกลิ่น ทำให้ฉีดกลิ่นตะไคร้ที่ยุงเกลียดและรักษากลิ่นได้นานขึ้น โดยกลิ่นที่ฉีดให้สิ่งทอที่ผสมนาโนแคปซูลนี้จะเลือนหายไปตามการซักครั้งละ 25% และเมื่อหมดกลิ่นก็ฉีดเพิ่มได้อีก ทั้งนี้นาโนแคปซูลจะคงอยู่ตามอายุใช้งานของเสื้อผ้า

ปกติเส้นใยโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) จะย้อมสีดิสเพอร์ส (Disperse dye) ได้ยาก แต่ทางสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ได้พัฒนาเส้นใยโพลีโพรพีลีนที่ผสมแร่ดินเหนียวนาโนหรือนาโนเคลย์ (nanoclay) ทำให้การย้อมสีติดได้ดีขึ้น และสุดท้ายคือสิ่งทอที่ผสมนาโนซิลเวอร์ในเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำผลงานมาจัดแสดงด้วย เนื่องจากจัดแสดงได้ลำบาก

ปิดท้ายด้วยตัวอย่างสิ่งทอนาโนจากไต้หวันของสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน (Taiwan Textile Research Institute) ซึ่งนำสิ่งทอหลายชนิดมาจัดแสดง อาทิ สิ่งทอที่ผสมสารหน่วงไฟซึ่งประยุกต์เป็นสิ่งทอสำหรับเฟอร์นิเจอร์ได้ สิ่งทอผสมสารป้องกันไฟฟ้าสถิต และสิ่งทอที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและกลิ่นไปพร้อมๆ กัน เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้กับสิ่งทอที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000132535

No comments: